โค้ด: เลือกทั้งหมด
โลกในมุมมองของ Value Investor 30 ธันวาคม 54
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
หนังสือการลงทุนที่ผมจะพูดต่อไปนี้ผมคิดว่าเป็นหนังสือคลาสสิค เหตุผลสำคัญก็คือ มันเป็นหนังสือที่เป็น “Original” นั่นคือ เป็นหนังสือเล่มแรก ๆ ที่เขียนเกี่ยวกับแนวความคิดที่สำคัญที่ต่อมาได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง หรือมันเป็นหนังสือที่เล่าเรื่องของบุคคลสำคัญได้อย่างมีแง่มุมที่แหลมคมเป็นบทเรียนสำหรับคนรุ่นใหม่ หรือมันเป็นหนังสือที่ประยุกต์ความรู้และวิชาการลงทุนมาเขียนให้คนทั่วไปอ่านอย่างเข้าใจได้ง่าย ต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นต้น
เล่มแรกก็คือ The Intelligent Investor โดย เบน เกรแฮม นี่คือสุดยอดหนังสือคลาสสิคที่พูดถึงการลงทุนแบบ Value Investment ซึ่งได้สร้าง Value Investor หรือนักลงทุนเน้นคุณค่าขึ้นทั่วโลก ว่าที่จริง มันสร้างสิ่งที่เรียกว่า “การวิเคราะห์หลักทรัพย์สำหรับการลงทุน” ของนักลงทุนทั่วไปให้เกิดขึ้น ทั้งนี้เพราะก่อนหน้าที่จะมีหนังสือเล่มนี้ การวิเคราะห์หลักทรัพย์นั้น ยังแทบจะไม่มีใครทำ นักลงทุนเล่นหุ้นโดยการฟังข่าวและอาจจะสนใจแต่เรื่องของภาวะเศรษฐกิจมากกว่าจะดูถึงมูลค่าพื้นฐานของกิจการ หนังสือเล่มนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของการลงทุนในหลักทรัพย์ ซึ่งนอกจากจะพูดถึงการวิเคราะห์คำนวณหาตัวเลขแล้วยังบอกถึงความสำคัญของจิตวิทยาการลงทุนของนักลงทุนด้วย
เล่มที่สองคือ Common Stocks and Uncommon Profits and Other Writings โดย ฟิลลิป ฟิสเชอร์ นี่เป็นหนังสือการลงทุนเล่มแรก ๆ ที่พูดถึงการลงทุนในกิจการที่ดีสุดยอด ซึ่งกลายเป็นแนวความคิดของกลุ่มนักลงทุนที่เน้นกิจการที่โตเร็วหรือที่เรียกว่า Growth Investment ซึ่งต่อมากลายเป็นแนวความคิดที่นักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนมืออาชีพส่วนใหญ่นิยมยึดถือเป็นหลัก
เล่มที่ 3 คือ A Random Walk Down Wall Street โดย Burton Malkiel นี่คือหนังสือที่เขียนขึ้นโดยอิงจากการศึกษาทางวิชาการลงทุนที่บอกว่า ตลาดหุ้นนั้นมีประสิทธิภาพสูงมากและมันสามารถกำหนดราคาของหลักทรัพย์ทุกตัวให้มีราคาที่เหมาะสม ดังนั้น ไม่มีใครสามารถที่จะหาหุ้นราคาถูกกว่ามูลค่าพื้นฐานได้อย่างต่อเนื่อง และดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์ที่จะไปวิเคราะห์หุ้นเป็นรายตัวแต่ควรลงทุนหุ้นให้กระจายไปหลาย ๆ ตัว เช่น ลงทุนในกองทุนรวมที่อิงดัชนีเป็นต้น หัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ก็คือ มันให้ข้อมูลและประวัติศาสตร์การลงทุนที่ดีมาก ทำให้นักลงทุนเข้าใจภาพใหญ่ของการลงทุนและสามารถตัดสินได้ว่าจะทำอย่างไรกับการลงทุนของตนเอง
เล่มที่ 4 คือ One Up On Wall Street โดย ปีเตอร์ ลินช์ กับ John Rothchild นี่เป็นหนังสือคลาสสิคที่ยังค่อนข้างใหม่ แต่สิ่งที่ทำให้มันเป็นหนังสือคลาสสิคนั้นน่าจะอยู่ที่ว่า มันถูกเขียนโดยนักบริหารกองทุนรวมหุ้นที่ประสบความสำเร็จ “สูงที่สุดในโลก” แต่สิ่งที่มันเผยออกมาก็คือ “คนธรรมดาก็สามารถที่จะทำได้” หนังสือเล่มนี้เขียนได้สนุกและอ่านง่าย มันมีตัวเลขน้อยมาก แต่อาศัย Common Sense หรือสามัญสำนึกมากกว่า และถ้าให้เดา ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะขายดีเป็นอันดับต้น ๆ ของหนังสือการลงทุนตลอดกาล
เล่มที่ 5 คือ Technical Analysis of Stock Trends โดย Robert Edwards และ John Magee นี่คือหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับการวิเคราะห์ทางเทคนิคที่เป็นเหมือน “คู่มือ” มาตรฐานของนักวิเคราะห์ทางเทคนิค มันอธิบายการวิเคราะห์อย่างยืดยาวและครอบคลุมคล้าย ๆ กับหนังสือ Securities Analysis ของ เบน เกรแฮม ที่พูดถึงเรื่องการวิเคราะห์หุ้นแบบพื้นฐาน ส่วนตัวผมเองก็ไม่ได้เคยอ่านหนังสือเล่มนี้เนื่องจากไม่ได้เชื่อถือในเรื่องของการวิเคราะห์ทางเทคนิค อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ทางเทคนิคน่าจะต้องรู้จักมันเป็นอย่างดี
เล่มที่ 6 คือ Reminiscences of a Stock Operator โดย Edwin Lefevre นี่เป็นหนังสือที่เขียนเป็นแบบนิยาย แต่น่าจะอิงหรือเป็นการเล่าเรื่องราวและชีวิตการลงทุนของ Jesse Livermore ซึ่งเป็นนักเล่นหุ้นและเก็งกำไรระดับโลกที่มีชีวิตที่มีสีสัน เคยร่ำรวยระดับประเทศและล้มละลายหลายครั้งจนสุดท้ายฆ่าตัวตาย หนังสือบอกให้เห็นถึงการเริ่มต้นเข้าสู่การเล่นหุ้นในฐานะของเด็กยากจนต่ำต้อยจนก้าวขึ้นสู่ “ราชันย์” ในวงการหุ้นและหลักทรัพย์ในสมัยที่ตลาดอเมริกายังไม่ได้พัฒนาแบบทุกวันนี้แต่คล้าย ๆ กับประเทศกำลังพัฒนาที่ยังไม่มีกฎระเบียบในการควบคุมธุรกิจมากนัก
เล่มที่ 7 คือ Buffet: the Making of an American Capitalist โดย Roger Lowenstein นี่คือหนังสือที่บอกเล่าประวัติและผลงานของบัฟเฟตต์อย่างละเอียดเป็นเล่มแรก ๆ และนั่นอาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มันเป็นหนังสือคลาสสิค และแม้ว่าเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว บัฟเฟตต์จะอนุญาตและร่วมมือในการเขียนหนังสือประวัติของตนเองชื่อ the Snowball โดย Alice Schroeder เราก็คงต้องดูกันต่อไปว่ามันจะกลายเป็นหนังสือคลาสสิคได้หรือไม่ เหตุผลก็คือ ประวัติของบัฟเฟตต์นั้นมีการพูดถึงกันมามากก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้ the Snowball อาจจะไม่เด่นมากอย่างที่คาด
เล่มที่ 8 The Money Master และ The New Money Master โดย John Train นี่เป็นหนังสือที่นำเสนอประวัติและกลยุทธ์การลงทุนของเซียนหุ้นแถวหน้าแห่งยุคสมัยหลาย ๆ คนในเล่มเดียวกัน และก็เช่นเคย มันเป็นหนังสือเล่มแรก ๆ ที่เขียนได้ดีและมีมุมมองที่เฉียบคม ดังนั้น มันจึงกลายเป็นหนังสือคลาสสิค แม้ว่าจะมีหนังสือแนวนี้ออกมาในภายหลังมันก็เป็นเพียงผู้ตามและก็คงยากที่จะกลายเป็นหนังสือคลาสสิคได้
สุดท้ายก็คือคำถามที่ว่า เราจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องอ่านหนังสือคลาสสิคถ้าจะเป็นนักลงทุนที่มุ่งมั่น คำตอบของผมก็คือ ไม่จำเป็น เพราะบ่อยครั้ง หนังสือคลาสสิคก็ “อ่านยาก” เนื่องจากบางเล่มก็เก่ามากและใช้ภาษาสำนวนที่ค่อนข้างเก่า บางเล่มนั้นผู้เขียนก็ไม่ได้ใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายเนื่องจากเขาอาจจะเป็นนักวิชาการมากกว่านักเขียน แต่สิ่งสำคัญก็คือ ถ้าเนื้อหาในหนังสือคลาสสิคนั้นมีความสำคัญต่อความเข้าใจของเรามาก เราจะต้องหาหนังสือที่ Simplify หรือเขียนอธิบายแนวความคิดนั้นอย่างง่ายมาอ่าน ซึ่งก็โชคดีที่ปัจจุบันมีหนังสือแบบนี้มากมายทำให้เราไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือคลาสสิคเราก็ยังเข้าใจแนวคิดของมันได้ อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังคิดว่า ถ้าจะให้ดี เราก็ควรจะอ่านหนังสือคลาสสิคด้วย สักจบหนึ่งก็ยังดี เพื่อที่จะได้ “คุย” ได้ว่า เราเคยอ่านมาแล้ว