charonp เขียน:ไม่ทราบว่า asset play นี่หมายถึงหุ้นที่มีทรัพย์สินเยอะ ๆ แล้วราคาเมื่อเทียบกับทรัพย์สิน นี่ราคาถูกมากเหรอครับ พอจะยกตัวอย่าง หุ้นกลุ่มนี้ได้มั้ยครับ
ขอบคุณครับ
ออกตัวก่อนนะครับว่าไม่ค่อยถนัดกับกลุ่มนี้สักเท่าไรครับ เห็นว่าถามมาก็จะขออนุญาติอธิบายเพิ่มเติมละกันครับ เท่าที่ผมพอจะทราบก็มียกตัวอย่างเช่น QH เองถือหุ้น HMRPO อยู่ ประมาณ 1000 ล้านหุ้น , ถือ LHBANK อีกร้อยละ 26 (สัดส่วนการถือหุ้น), ลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ควอลิตี้ เฮ้าส์ อีกร้อยละ 26 ซึ่งถ้านับคร่าวๆแล้วมูลค่าหุ้นที่ถือก็น่าจะมากกว่ามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (ประมาณ 12900 ล้านบาท) ยังไม่นับรวมกับที่เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ให้เช่า (ทั้งที่พักอาศัยและสำนักงาน) อีกหลายรายการ (รายละเอียดเพิ่มเติม สามารถไปอ่านได้ใน 56-1 ของบริษัทในหัวข้อ Property ครับ)
เท่าที่ทราบบริษัทเองก็ถือครองทรัพย์สินพวกนี้มาหลายปี แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะปลด lock ทรัพย์สินพวกนี้เช่นการขายหุ้นที่ถืออยู่เพื่อนำมาตอบแทนคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นแต่ประการใดครับ
(ผิดถูกประการใด วานเพื่อนๆพี่ๆท่านอื่นช่วยแนะนำด้วยครับ)
นอกจากนี้ผมไปลองค้นบทความเก่าๆที่ น่าจะช่วยอธิบายเกี่ยวกับหุ้น Asset play ได้ดีมาฝากตามนี้ครับ (ขอขอบคุณพี่ สุมาอี้, พี่ Invisible Hand, พี่ yoyo ครับสำหรับความรู้ดีๆที่นำมาฝากเพื่อนๆน้องๆเสมอครับ
)
By P'สุมาอี้
0017: Asset Play
by DekisugiPosted on November 15, 2006
มีวิธีการลงทุนแบบหนึ่ง เรียกว่า Asset Play วิธีนี้คือการหาว่าบริษัทเป็นเจ้าของสินทรัพย์อะไรที่มีมูลค่าซ้อนเร้นอยู่หรือไม่ ถ้าราคาหุ้นในกระดานของบริษัทยังไม่ได้สะท้อนค่าของสินทรัพย์นั้น การเข้าไปซื้อหุ้นนั้นไว้ก็ถือว่าเป็นการซื้อของลดราคา
ตัวอย่างยอดนิยมของสินทรัพย์ที่มีมูลค่าแฝงก็คือ ที่ดิน เพราะที่ดินจะถูกลงบัญชีที่ราคาต้นทุนที่ซื้อมา และจะคงที่อยู่อย่างนั้นตลอดไปไม่ว่าจะอีกสักกี่สิบปี ถ้าคุณออกแรงสักนิดด้วยการตรวจดูที่ดินของบริษัทต่างๆ ในตลาดว่ามีอยู่กี่ไร่ นำมาคูณด้วยราคาประเมินของกรมที่ดินในปัจจุบัน คุณอาจพบที่ดินของบางบริษัทที่มีราคาประเมินสูงกว่ามูลค่าตลาดของทั้งบริษัทหักด้วยหนี้สิน หุ้นนั้นเสียอีก หุ้นเหล่านี้คือ Asset Play
ปัญหาสำคัญของการเล่นหุ้นด้วยวิธีนี้ก็คือ เราไม่รู้ว่าเมื่อไรราคาหุ้นในกระดานจะสะท้อนมูลค่าแฝงของสินทรัพย์นั้นเสียที ในบางกรณีผู้บริหารของบริษัทยังดำเนินงานแบบธุรกิจครอบครัวอยู่จึงไม่นำพาต่อหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของการเป็นผู้บริหารของบริษัทมหาชน ได้แก่ การ maximize shareholder’s value แม้พวกเขาจะรู้ดีว่าการขายที่ดินนั้นเสียแล้วย้ายโรงงานไปอยู่ในที่ที่ที่ดินราคาต่ำลงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าของบริษัท แต่ก็ไม่ทำเพราะเป็นความรู้สึกผูกพันกับสมบัติประจำตระกูล อย่างนี้แล้วนักลงทุนรายย่อยที่ไปเข้าไปซื้อหุ้นเอาไว้ก็บอกได้คำเดียวต้องรอจนเหงื่อแห้งครับ
การลงทุนในตลาดหุ้นมีต้นทุนของเงินทุนอยู่ราวปีละ 10% เสมอ ถ้าคุณถือหุ้น Asset Play ไว้เฉยๆ หนึ่งปีแล้วราคาไม่ไปไหน ก็ต้องถือว่าขาดทุนไปแล้ว 10% ไม่ใช่เสมอตัว ยิ่งถ้าต้องรออีก 10 ปี ผู้บริหารคนเก่าจึงจะแก่ตาย ผู้บริหารคนใหม่จึงจะสั่งขายที่ดิน ก็ต้องถือว่า คุณขาดทุนหุ้นตัวนั้นหมดทั้ง 100% แล้ว ดังนั้นถ้าดูแล้วไม่มีความชัดเจนว่าเมื่อไรราคาหุ้นในกระดานจะมีโอกาสสะท้อนมูลค่าที่แฝงอยู่ได้ การเล่นหุ้นด้วยวิธีนี้ก็นับว่าค่อนข้าง “ลมๆ แล้งๆ” ครับ
Asset Play จะได้ผลเฉพาะกับนักลงทุนรายใหญ่ที่สามารถซื้อหุ้นของบริษัทได้ในสัดส่วนที่มากพอที่จะเข้ามาควบคุมบริษัทได้เท่านั้น ถ้าคุณซื้อหุ้นจนเกิน 51% ไล่กรรมการชุดเก่าออกให้หมด ขายที่ดิน นำเงินสดที่ได้ไปใช้หนี้บริษัท เลิกบริษัท แล้วนำเงินที่เหลือเก็บเข้ากระเป๋า แบบนี้คุ้มค่าแน่นอนครับ
คุณอาจเคยได้ยินคำกล่าวที่สวยหรูว่า “ผู้ถือหุ้น คุณคือเจ้าของ” แต่ในความเป็นจริง ถ้าคุณและพวกอีกอย่างน้อย 24 คนมีปัญญาซื้อหุ้นรวมกันได้แค่ไม่เกิน 10% ก็ต้องขอบอกว่า คุณและพวกปราศจากอำนาจในการควบคุมบริษัทมหาชนโดยสิ้นเชิง แค่ขอเรียกประชุมผู้ถือหุ้นยังไม่ได้เลย ดังนั้น การเล่นหุ้นแบบ Asset Play ให้ประสบความสำเร็จดูจะมีข้อจำกัดมากสำหรับคนที่เป็นนักลงทุนรายย่อย ความเห็นส่วนตัวของผมคือ เวลาที่คุณซื้อหุ้น คุณควรซื้อความสามารถในการทำกำไรมากกว่าที่จะซื้อเพราะสินทรัพย์ (ถ้าคุณอยากได้โต๊ะและเก้าอี้สำนักงานเหล่านั้น ไปซื้อที่ชั้น 5 มาบุญครองก็ได้ครับ ไม่ต้องไปซื้อหุ้นหรอก) เพราะสิทธิในการได้รับส่วนแบ่งกำไรตามสัดส่วนที่หุ้นที่ตนเองถืออยู่เป็นสิทธิที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยมีเท่ากับผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่างแน่นอนโดยเสมอภาคกัน
ที่มา
http://dekisugi.net/archives/27
By P'Invisible Hand (25/3/2007)
หุ้นประเภทที่มีทรัพย์สินมาก และมีมูลค่าหุ้นต่ำกว่าราคาตลาดของมูลค่าทรัพย์สินมากนั้นมีจำนวนไม่น้อยครับ
ถ้าเป็นตลาดหุ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งตลาดอย่างสหรัฐอเมริกานั้นหุ้นส่วนใหญ่จะมีสัดส่วนการถือหุ้นของรายย่อยหรือ free float สูง เพราะหลายบริษัทมีอายุยาวนานคือเป็นผู้บริหารรุ่นที่ 2-3 แล้วและมีอาจจะมีการเพิ่มทุนจนทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่ลดลงมาเรื่อยๆ หุ้นตัวไหนที่มีสินทรัพย์ที่มีคุณภาพสูงแต่มีการบริหารที่ไม่ดีและผลกำไรต่ำ จะมีกองทุนหรือบริษัทอื่นเข้าไป take over เพื่อบริหารกิจการแทน หรือเข้าไป take over แล้วชำแหละบริษัทนั้นๆ ออกขายแยกส่วนและได้กำไรในจำนวนมากกลับไป
อาจจะฟังดูเหมือนว่าไม่ดีว่าทำไมตลาดอย่างสหรัฐถึงปล่อยให้มีการ take over แบบที่เจ้าของหรือผู้บริหารบริษัทเดิมไม่เต็มใจ หรือที่เรียกว่า hostile takeover ซึ่งดูผิวเผินแล้วไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่จริงๆ มันส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจมากครับเพราะมันช่วยให้การจัดการในสินทรัพย์ที่เป็นปัจจัยการผลิตซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ สินทรัพย์ที่ดีจะถูกเปลี่ยนมือหากเจ้าของสินทรัพย์นั้นใช้มันอย่างด้อยประสิทธิภาพไปยังเจ้าของใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพและ productivity ในระบบเศรษฐกิจสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น มีที่ดินอยุ่แปลงหนึ่งมีสภาพที่ดินอุดมสมบูรณ์มาก แต่เจ้าของที่ดินกลับปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าเพราะซื้อเก็งกำไร หากมีใครมาขอซื้อแล้วเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนและมีราคาสูง ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจากที่ดินพื้นนั้นก็สูงขึ้นและเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นกฎหมายต่างๆ ของตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้วแม้จะไม่สนับสนุนการทำ hostile takeover แต่ก็ไม่ได้มีการห้ามหรือตั้งข้อจำกัดอะไรมากมาย
นอกจากนี้ ข้อดีของการปล่อยให้มีการทำ hostile takeover อีกอย่างก็คือเป็นการบังคับให้ผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการให้ความสำคัญกับผู้ถือหุ้นรายย่อย รวมไปถึงราคาหุ้น กิจการที่ดีและปล่อยให้ราคาหุ้นต่ำกว่าพื้นฐานนานๆ ซึงอาจจะเกิดจากนโยบายบางอย่างที่ไม่เหมาะสม เช่น การมีกำไรสูงๆ แต่จ่ายปันผลต่ำและเก็บเงินสดในบริษัทไว้มากเกินความจำเป็น หรือการไม่ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลกับนักลงทุนหรือสภาพคล่องการซื้อขายหุ้น หุ้นเหล่านี้จะเป็นเป้าหมายการ take over ซึ่งหากผู้บริหารไม่อยากให้ถูก take over โดยง่าย ก็จะต้องพยายามให้หุ้นตัวเองสะท้อนพื้นฐานที่แท้จริงในระดับหนึ่ง และเป็นมิตรกับผู้ถือหุ้นรายย่อยเพราะเมื่อมีการ ทำ hostile take over เกิดขึ้นแล้วต้องมีการโหวดแข่งกัน เจ้าของที่เป็นมิตรกับรายย่อยและมีประวัติการบริหารที่ดีจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นทั่วไปและทำให้การทำ hostile take over ไม่ประสบความสำเร็จได้
ตัวอย่างของลักษณะการ take over แล้วแยกสินทรัพย์ขายเป็นชิ้นๆ ผมแนะนำให้ดูหนังเรื่อง Pretty woman ครับเพราะบริษัทที่พระเอกคือ ริชาร์ด เกียร์ เป็นเจ้าของทำธุรกิจแบบนี้เลยครับ ในเรื่องเนื้อหาหลักคือพระเอกจะ take over บริษัทต่อเรือที่มีสินทรัพย์เป็นที่ดินจำนวนมากและกำลังจะได้ project ใหญ่จากรัฐบาลเพื่อแยกเป็นชิ้นส่วนขายครับ
แต่สำหรับเมืองไทย การเล่นหุ้นในลักษณะ asset play ก็มีความเสี่ยงมากพอสมควรเนื่องจากทางกฎระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นไม่สนับสนุนการทำ hostile takeover มากนัก และหลายๆ บริษัทผู้บริหารถือหุ้นเกิน 51% รวมทั้งหากมีรายการไม่ชอบมาพากลเช่นการใช้เงินสดจำนวนมากในบริษัทไปในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น ปล่อยกู้ในกับบริษัทในเครือ นำไปลงทุนในโครงการที่ให้ผลตอบแทนต่ำ หรือการขายสินทรัพย์ออกไปในราคาถูก ผู้ถือหุ้นรายย่อยมักจะไม่สามารถคัดค้านได้
บางครั้งการมีเงินสดหรือสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามากๆ หากธุรกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือมีการบริหารที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ เงินสดหรือสินทรัพย์นั้นอาจจะลดลงหรือเสื่อมมูลค่าไปได้ภายในระยะเวลาไม่นานนัก อย่างในกรณีของหุ้น Singer ที่ต้องมีการตั้งสำรองจำนวนมาก หรือ SPSU ที่เคยมีเงินสดต่อหุ้นสูงกว่าราคาหุ้นในกระดานแต่ท้ายสุดแล้วเงินสดต่อหุ้นก็ค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ
ดังนั้น การลงทุนในหุ้นโดยมอง Asset play เป็นอย่างเดียวนั้นอาจจะไม่เพียงพอ คงจะต้องพิจารณาปัจจัยด้านอื่นๆ โดยเฉพาะจริยธรรม ความสามารถของผู้บริหารและแนวโน้มธุรกิจในอนาคตประกอบด้วยครับ
ที่มา
http://bbznet.pukpik.com/scripts3/view. ... r=numtopic
(ขอขอบคุณ web กระทิงเขียว ด้วยครับ)
By P'yoyo (Thursday, February 21, 2008)
สำรวจความผิดพลาดของตัวเอง
การวิเคราะห์หุ้นรายตัวนั้นไม่ต้องบอกก็รู้ๆกันอยู่แล้วว่ามีความสำคัญมากแค่ไหนในการลงทุน แต่ผมเชื่อว่าหลายๆคนที่ลงทุนมานานแล้วยังรู้สึกว่าความสามารถในการลงทุนนั้นไม่ได้มีการพัฒนามากเท่าไหร่นัก เพราะอาจจะลืมวิเคราะห์ตัวเองไป
ในแต่ละปีผมจะพยายามตรวจดูว่าตัวเองมีความผิดพลาดในการลงทุนอย่างไรบ้าง เกิดจากอะไร และจะพยายามแก้ไขอย่างไร... ความผิดพลาดที่ผ่านๆมาของผมที่มักจะเกิดขึ้นจนทำให้ผลตอบแทนนั้นลดลงกว่าที่ควรจะเป็น มีคร่าวๆดังนี้
1. ตัดสินใจเร็วจนเกินไป... หลายๆครั้งเมื่อผมเจอหุ้นบางตัวที่ดูแล้วน่าสนใจมากๆ ผมมักจะรีบซื้ออย่างรวดเร็ว เพราะกลัวว่าจะมีคนมาไล่ซื้อก่อนทำให้ผมต้องซื้อหุ้นในราคาแพงขึ้น การตัดสินใจเร็วไปทำให้ผมขาดความรอบคอบ ไม่ได้ศึกษาตัวธุรกิจอย่างดีก่อนที่จะลงทุน
2. ลงทุนนอกกรอบความถนัดของตัวเอง .. ที่ผ่านมาผมมีหุ้นอยู่ 2 ประเภทที่มักจะสร้างกำไรให้ผมได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ได้แก่หุ้นขนาดเล็กเติบโตเร็ว หรรือหุ้นที่เป็นงานประมูล นักลงทุนแต่ละคนอาจจะมีความถนัดในหุ้นแต่ละประเภทแตกต่างกันไป การลงทุนในกรอบความถนัดของตัวเองนั้นจะทำให้โอกาสขาดทุนลดลง และโอกาสทำกำไรก็มากขึ้น มีหุ้นอยู่ประเภทหนึ่งที่ผมพยายามจะเข้าไปซื้ออยู่หลายรอบ คือหุ้นที่เรียกว่าเป็น Asset play (หุ้นที่มีสินทรัพย์หักด้วยหนี้สิน เยอะว่ามูลค่าหุ้นทั้งบริษัทอยู่มาก) ตลอชีวิตการลงทุนผมผ่านหุ้นประเภทนี้มา 3 ตัว ได้แก่ charan spsu brock
•ตัวแรก charan มีเงินสด+เงินลงทุนระยะสั้น-หนี้สินทั้งหมดประมาณ 70-80 บาทต่อหุ้น ในขณะที่หุ้นมีราคา 40 กว่าบาทเท่านั้น ... ผมก็ซื้อไปถือรอไป 2 ปี แล้วก็ขายหุ้นไปในราคาประมาณ 45 พอๆกับราคาที่ซื้อมา แม้จะไม่ได้ขาดทุนอะไร (ได้เงินปันผลมาปีละประมาณ 2-3 บาท) แต่ถ้าเอาเงินไปลงทุนในกลุ่มที่ถนัดผมจะได้ผลตอบแทนสูงกว่านี้มากๆ
•spsu เป็นบริษัทที่ทำการตลาดในกับรถซูซูกิ บริษัทมีบ.ร่วมเป็นโรงงานผลิตมอไซด์ซูซูกิ ซึ่งมีมูลค่าทางบัญชีสูงว่าเงินลงทุนที่บันทึกไว้มาก ผมลองเอาเงินสด + มูลค่าบริษัทร่วม - หนี้สินทั้งหมด ได้ประมาณ 12-14 บาทต่อหุ้น ตอนนั้นหุ้นราคาประมาณ 7 บาท... ผมซื้อไว้แล้วรอเวลา .. เมื่อเวลาผ่านไปธุรกิจของ spsu ก็แย่ลงเรื่อยๆ ส่วนแบ่งการตลาดถูกคู่แข่งทั้ง Honda และ Yamaha สุดท้ายผมก็ไปขายหุ้นราคาประมาณ 6 บาท เจ็บตัวอีกแล้ว
•brock อันนี้เพิ่งซื้อมาเมื่อต้นปีที่แล้ว... ผมมองมูลค่าที่ดินที่ภูเก็ตของบริษัทซึ่งมีอยู่สูงมาก จากการสอบถามคนรู้จักที่เชี่ยวชาญเรื่องที่ดินที่ภูเก็ตหลายท่าน ผมตีมูลค่าที่ดินของ brock (เฉพาะที่ภูเก็ตเท่านั้น .. จริงๆบริษัทยังมีที่ดินที่อื่นอีกมาก) ได้ประมาณ 3-4 พันล้านบาท ในขณะที่บริษัทนั้นมีเงินสดมากกว่าหนี้สินทั้งหมดของบริษัทซะอีก และบริษัทนั้นซื้อขายกันที่ราคาทั้งบริษัทประมาณ 1000 ล้านบาทเท่านั้นเอง ... ผมก็ซื้อไว้ประมาณ 1 บาทกว่าๆต่อหุ้น... แล้วก็ถืออยู่เกือบปีแล้วก็ขายไปที่ประมาณ 1 บาทกว่าๆต่อหุ้นเช่นกัน
หุ้น Asset Play ไม่ได้มีอะไรผิดครับ มันไม่ใช่ว่าเป็นหุ้นกลุ่มที่ไม่ดี หลายๆบริษัทที่เข้าข่าย Asset play ก็จัดว่าเป็นบริษัทที่ดีที่กำลังรอเวลาจะดีขึ้นมากๆในอนาคต เพียงแต่ผมไม่มีความสามารถพอที่จะคาดการณ์ได้ว่าเมื่อไหร่ สินทรัพย์มหาศาลที่บริษัทเก็บไว้อยู่ จะแสดงมูลค่าของมันออกมาให้เห็นได้ชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้นักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้นจนทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นได้
3. หุ้นที่ผมขาดทุน ส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นที่ผมไม่ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหาร เพราะการเพียงนั่งอ่านข้อมูลเพียงอย่างเดียวอาจจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทได้พอสมควร แต่ข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถของผู้บริหาร หรือข้อมูลเชิงลึกหลายๆอย่างเกี่ยวกับธุรกิจและบริษัทนั้น จะหาได้ยากมากถ้าไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้บริหาร ที่ผ่านมาผมก็ไม่ค่อยจะเข็ดเท่าไหร่.. เพราะผิดข้อนี้ซ้ำๆอยู่หลายรอบ เนื่องจากหุ้นบางตัวเราหาโอกาสได้พูดคุยกับผู้บริหารได้ยาก (จะมีก็เฉพาะงานประชุมผู้ถือหุ้นเท่านั้น) หลายครั้งผมอ่านข้อมูลหุ้น หรือข่าวบางชิ้นก็ทำให้อยากซื้อหุ้นทันที เพราะรู้สึกว่ากว่าจะรอให้ประชุมผู้ถือหุ้นก็คงไม่ทันการณ์ แต่สุดท้ายก็ต้องมาเจ็บตัวเพราะหุ้นพวกนี้เป็นประจำ... ตอนนี้ผมเลยพยายามตั้งกฏขึ้นมาให้ตัวเองว่า "การลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งอย่างมีนัยสำคัญ (เช่นเกิน 10% ของเงินลงทุน) ผมจะต้องได้คุยกับผู้บริหารก่อนเสมอ"
ยิ่งเราพบจุดอ่อนตัวเองและหาทางแก้ไขจุดอ่อนของเรามากเท่าไหร่ เราก็จะมีฝีมือในการลงทุนที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ผลตอบแทนที่จะได้รับนั้นก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน.... การปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอนั้นสำคัญไม่เฉพาะเรื่องของการลงทุนเท่านั้นนะครับ ลองประยุกต์เอาไปใช้กับเรื่องนิสัยส่วนตัว การทำงาน หรือครอบครัว และจะรู้ว่าชีวิตคนเรานั้นสามารถพัฒนาได้ตลอดเวลา และเราก็พร้อมที่จะเป็นนักลงทุนที่มีคุณภาพทั้งในแง่การเงินและการใช้ชีวิตครับ
ที่มา
http://www.yoyoway.com/