ข้อมูลที่ลำเอียง/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์แล้ว: เสาร์ ก.ค. 02, 2011 10:15 pm
โค้ด: เลือกทั้งหมด
โลกในมุมมองของ Value Investor 2 กรกฎาคม 54
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เวลาที่รับข้อมูลเข้ามา สิ่งที่ Value Investor จะต้องพิจารณาก่อนที่จะนำไปใช้หรือนำไปวิเคราะห์ต่อก็คือ ข้อมูลนั้นน่าจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ถ้าไม่ถูกต้อง มันน่าจะมากหรือน้อยเกินไป ดีเกินไปหรือแย่เกินไป วิธีที่จะดูนั้น หลักการสำคัญก็คือ ดูว่าคนให้ข้อมูล “รู้จริง” หรือมีข้อมูลจริงไหม นอกจากนั้น สิ่งที่สำคัญมากอีกข้อหนึ่งก็คือ คนที่ให้ข้อมูลมี “แรงจูงใจ” อะไรในการที่ให้ข้อมูลนั้น
เวลาที่มีนักเศรษฐศาสตร์มาบอกหรือพยากรณ์ภาวะเศรษฐกิจ ถ้าเขามาจากหน่วยงานที่มีนักเศรษฐศาสตร์ที่มักจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก และหน่วยงานนั้นไม่ได้อิงกับการเมืองในทางใดทางหนึ่ง ในกรณีแบบนี้ พวกเขาก็จะมีทั้งความรู้ ข้อมูล และไม่มีความ “ลำเอียง” ในการให้ความเห็นหรือพยากรณ์ ข้อมูลที่เราได้น่าจะเป็นข้อมูลที่เรานำไปใช้ได้อย่างสบายใจ อย่างไรก็ตาม พึงระลึกเสมอว่า การพยากรณ์เป็นศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนสูง แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์ที่เก่งที่สุดในโลกก็มักจะทำนายผิดอยู่บ่อย ๆ ดังนั้น เวลาที่เราอ่านหรือฟังคำพยากรณ์เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ ผมคิดว่าเราอย่าไปเชื่ออย่างปักใจว่ามันจะถูกต้องแม้ว่าแหล่งข้อมูลหรือคนที่ให้ข้อมูลจะเป็นที่น่าเชื่อถือมาก ๆ
นักเศรษฐศาสตร์หรือหน่วยงานที่อิงกับการเมืองในทางใดทางหนึ่ง อาจจะให้ความเห็นหรือพยากรณ์ภาวะเศรษฐกิจโดยมีความ “ลำเอียง” ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ความลำเอียงที่ว่านั้นมักจะออกมาในด้านที่ดีกว่าความเป็นจริง เหตุผลก็คือ ฝ่ายการเมืองนั้น อยากจะให้ภาพเศรษฐกิจที่ดี ๆ เพราะนั่นคือ “ผลงาน” ของเขาในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น เวลาดูหรืออ่านข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจากหน่วยงานรัฐ เราจึงควรจะดูว่ามันมาจากหน่วยงานไหน ในแวดวงของนักเศรษฐศาสตร์กันเองนั้น บางทีก็มีการพูดกันว่า ถ้ามาจากหน่วยงานนี้ ตัวเลขมักจะดูมองโลกในแง่ดีกว่าอีกหน่วยงานหนึ่งเสมอจนแทบจะเป็น “ธรรมเนียม”
ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนนั้นมักจะให้ข้อมูลและคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทในด้านที่ดีกว่าความเป็นจริงเสมอ เริ่มตั้งแต่ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ผมพบว่าแทบไม่มีบริษัทไหนบอกว่าตนเองนั้นฝีมือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ว่าที่จริงแทบทุกบริษัทจะบอกว่าตนเองเป็นบริษัทระดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรม บางบริษัทบอกว่าตนเองนั้นเป็นบริษัทที่เด่นมากในการผลิตหรือการดำเนินงานที่คู่แข่งไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้ พวกเขาอาจจะไม่ได้โกหก แต่พวกเขามักจะลำเอียงทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ด้วยท่าทีที่มั่นอกมั่นใจและด้วยความรู้ที่มีมากกว่าคนฟังหรือนักวิเคราะห์ของผู้บริหาร ทำให้คนฟังมักจะเชื่ออย่างสนิทใจว่ามันเป็นเรื่องจริง เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ข้อมูลผลประกอบการที่ “ดี ๆ” ในช่วงที่ผ่านมาเร็ว ๆ นี้ ที่แสดงให้คนฟังเห็น มักจะเป็นเครื่องยืนยันว่าสิ่งที่ผู้บริหารพูดนั้น เป็นความจริงอย่างแน่นอน
ภาพในอนาคตของบริษัทที่ผู้บริหารแถลงออกมานั้น มักจะยิ่งสดใสกว่าความเป็นจริง ผู้บริหารมีแรงจูงใจที่จะวาดภาพบริษัทให้ดูดี เพราะเขามีแรงจูงใจหลาย ๆ อย่าง เช่น เขาอยากจะเป็นผู้บริหารที่มีความสามารถได้รับการยกย่อง หรือ ผู้บริหารที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทอาจจะอยากให้คนมาซื้อหุ้นทำให้ราคาขึ้นไปและเขาอาจจะขายได้ราคาสูง เหล่านี้เป็นต้น
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประเมินว่าผู้บริหารพูด “เว่อร์” หรือลำเอียงมากไปแค่ไหน เหตุผลเพราะเราไม่ได้อยู่ในธุรกิจหรือเราไม่สามารถหาข้อมูลได้มากพอที่จะตัดสิน นักวิเคราะห์หรือนักลงทุนบางคนใช้วิธีดูผลงานที่ผ่านมาเทียบกับสิ่งที่ผู้บริหารเคยพูดไว้ว่าตรงหรือใกล้เคียงไหม ซึ่งผมคิดว่าเป็นวิธีที่พอใช้ได้ อย่างไรก็ตาม บางบริษัทอาจจะไม่มีข้อมูลที่ยาวพอ ทำให้เราใช้ข้อมูลนี้ได้ยาก วิธีที่น่าจะดีกว่าก็คือ ผมจะมองไปถึง “โครงสร้างของอุตสาหกรรม” ว่าบริษัททำธุรกิจอะไร ปัจจัยในการแข่งขันในอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร บริษัทอยู่ในตำแหน่งไหน? ได้เปรียบหรือเสียเปรียบคู่แข่งขันอื่นและการได้เปรียบนั้นเป็นการได้เปรียบชั่วคราวหรือถาวร สุดท้ายยังต้องดูอีกว่าในอนาคต 3-4 ปีขึ้นไป จะมีผู้เล่นรายใหม่ ๆ มาแข่งขันด้วยหรือไม่ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นตัวบอกว่า “คำคุย” ของผู้บริหารจะเป็นจริงหรือไม่ พูดง่าย ๆ ในการวิเคราะห์ว่าผู้บริหารลำเอียงไปมากน้อยแค่ไหน ผมจะพยายามตัดประเด็นเรื่องฝีมือของผู้บริหารออก แล้วมาดูในด้านของตัวอุตสาหกรรมและตำแหน่งของบริษัทในอุตสาหกรรมเป็นหลัก ถ้าตำแหน่งของบริษัทแย่หรือเสียเปรียบ แต่ผู้บริหารบอกว่าบริษัทของตนจะเอาชนะและแย่งชิงธุรกิจได้มากกว่าคู่แข่งมากด้วยเพราะฝีมือของผู้บริหารหรือพนักงาน ผมก็จะไม่มั่นใจเลยว่าเขาจะทำได้
โบรกเกอร์และนักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์นั้น เราต้องรู้ว่าเขามีความลำเอียง ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ที่จะให้เราซื้อ ๆ ขาย ๆ หุ้นมากกว่าปกติ ดังนั้น เขาก็มักจะชอบแนะนำหุ้นที่กำลังมีราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นมากอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การให้ความเห็นเกี่ยวกับหุ้นจึงมักเป็นการแนะนำให้ซื้อหุ้นที่กำลังร้อนแรงและราคาอาจจะสูงเกินพื้นฐานไปแล้ว แต่ในความเห็นของเขานั้นกลับเห็นว่าหุ้นยังต่ำกว่าพื้นฐานและน่าลงทุนทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้าที่หุ้นจะร้อนและราคาหุ้นยังต่ำอยู่ พวกเขาไม่เคยพูดถึงเลยว่าเป็นหุ้นที่น่าสนใจ ข้อเตือนใจของผมสำหรับเรื่องนี้ก็คือ ราคาหรือมูลค่าพื้นฐานของหุ้นที่เกิดจากการคำนวณของนักวิเคราะห์นั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็น “มูลค่าในจินตนาการ” หมายความว่า คุณอาจจะให้ค่าเท่าไรก็ได้จากราคาเช่น 10 บาท ถึง 40 บาท ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะตั้งสมมุติฐานอย่างไรหรือให้คุณค่ากับบริษัทมากน้อยแค่ไหน ในยามที่ราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นร้อนแรง คุณจะให้ราคา 40 บาท คนก็เชื่อ แต่ในยามที่หุ้นตัวนั้นเงียบเหงานั้น บางทีคุณบอกว่า 10 บาท คนก็ยังบอกว่าไม่น่าสนใจ
เรื่องความลำเอียงในตลาดหุ้นนั้น ผมคิดว่ายังมีอีกมาก สิ่งที่เราควรเข้าใจก็คือ ตลาดหุ้นนั้น เป็นที่อยู่ของคนที่มักจะมองโลกในด้านที่บวกสูงกว่าคนปกติ เป็นที่อยู่ของคนที่มีความหวังหรือความฝันที่สูงกว่าคนทั่วไป พวกเขาฝันที่จะรวยอย่างรวดเร็วหรือสามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ ไม่ว่าเมื่อวานตลาดหุ้นจะเลวร้ายแค่ไหน ก่อน 10 โมงเช้าที่ตลาดเปิด คนเล่นหุ้นก็มักจะมีความหวังเสมอ การมองโลกที่สดใสกว่าปกตินั้น ผมคิดว่าทำให้คนในตลาดหุ้นส่วนใหญ่มี “ความลำเอียง” ที่จะมองการลงทุนหรือการซื้อขายหุ้นในแง่ที่ดีกว่าความเป็นจริง ถ้าลองถามคนที่ลงทุนเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ว่าเขาคิดว่าจะได้รับผลตอบแทน “ปีนี้” กี่เปอร์เซ็นต์ ผมเชื่อว่าคำตอบเฉลี่ยคงเป็นอย่างน้อย 20-30% ขึ้นไป ทั้ง ๆ ที่ผลตอบแทนต่อปีในอดีตของตลาดหุ้นนั้นเท่ากับประมาณ 10% เท่านั้น
ในฐานะของ Value Investor เราต้องพยายาม “ฉีก” ตนเองออกจาก “ตลาด” ความหมายก็คือ เราต้องเข้าใจเรื่อง “ความลำเอียง” ทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากเหตุจูงใจต่าง ๆ และธรรมชาติบางอย่างของคนโดยเฉพาะที่อยู่ในตลาดหุ้น การอ่านหรือฟังข้อมูลนั้น เราต้องรู้ “เบื้องหลัง” หรือ “วาระซ่อนเร้น” ที่อาจจะมีอยู่ เพื่อที่ว่าเราจะได้นำข้อมูลที่ได้รับมา “ปรับ” ให้ถูกต้องใกล้เคียงขึ้น การรับข้อมูลโดยไม่พิจารณาเพิ่มเติมนั้นเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวง เพราะบางครั้งมันอาจจะหมายถึงการที่เราถูก “หลอก” ให้สำคัญผิดใน “พื้นฐาน” ของบริษัท ซึ่งทำให้การตัดสินใจของเราผิดพลาดและเกิดความเสียหายร้ายแรงได้