เมื่อสหรัฐจวนเจียน 'เบี้ยวหนี้'
โพสต์แล้ว: ศุกร์ ก.ค. 01, 2011 9:16 pm
เมื่อสหรัฐจวนเจียน 'เบี้ยวหนี้'
http://www.posttoday.com/%E0%B8%A7%E0%B ... 5%E0%B9%89
http://www.posttoday.com/%E0%B8%A7%E0%B ... 5%E0%B9%89
เมื่อสหรัฐจวนเจียน 'เบี้ยวหนี้'
01 กรกฎาคม 2554 เวลา 08:02 น.
วันนี้คำว่า Defaults หรือไม่ชำระหนี้ได้ตามกำหนด กลายเป็นคำยอดฮิตอีกครั้ง หลังจากที่เคยติดหู ติดตา และติดปาก ชาวโลกมาแล้วช่วงหนึ่ง ระหว่างวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2551 และขณะนี้ประเทศที่ผูกติดกับคำว่า “เบี้ยวหนี้” มากที่สุด คือกรีซ ประเทศต้นเหตุของวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป
หากวัดกันที่ระดับหนี้สาธารณะแล้ว จะพบว่ากรีซยังห่างชั้นกับอีกหลายประเทศ ซึ่งมีระดับหนี้สูงจนน่าตกใจ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ซึ่งมีอัตราหนี้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สูงถึง 225.8% และสิงคโปร์ที่ 102.4%
อย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านี้บางแห่งมีระดับความน่าเชื่อถือสูงและมีเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่นไม่เหมือนกับกรีซที่ไม่เพียงประสบกับหายนะทางเศรษฐกิจ แต่การเมืองและภาคประชาชนยังย่อยยับเพราะความแตกแยกภายใน ยังผลให้นักลงทุนมีเหตุที่จะต้องกังวลกับกรีซ
อีกประเทศหนึ่งที่มีระดับหนี้สูงพอสมควร คือ 58.9% ของ GDP หรือในอันดับที่ 36 ของโลก
ที่ผ่านมาสหรัฐควรเป็นประเทศสุดท้ายที่นักลงทุนจะกังวลกับแนวโน้มที่สหรัฐอาจเบี้ยวหนี้
สหรัฐมีสถานะทางการเงินที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ไม่มีประเทศใดเหมือนและไม่เหมือนประเทศอื่น เนื่องจากเงินเหรียญสหรัฐมีฐานะเป็นสกุลเงินอันดับ 1 ของโลก มีสัดส่วนมากที่สุดในทุนสำรองของนานาประเทศ ขณะเดียวกันพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐผูกขาดฐานะพันธบัตรที่ปลอดภัยที่สุดในโลก จึงเป็นที่ต้องการมากที่สุดเช่นกัน
การที่เงินเหรียญและพันธบัตรสหรัฐมีสถานะที่สอดคล้องกัน ช่วยเสริมสภาพคล่องให้สหรัฐมาอย่างยาวนาน แม้แต่ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกตกต่ำที่สุด รากฐานนี้ของสหรัฐยังแข็งแกร่งและทำให้สหรัฐสามารถรั้งตำแหน่งมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกเอาไว้ได้ ที่สำคัญก็คือ ด้วยพลังอำนาจทั้ง 2 ประการนี้ ทำให้สหรัฐก่อหนี้สาธารณะได้อย่างมันมือ
อย่างไรก็ตาม ไม่มีสิ่งใดในโลกที่จีรังยั่งยืน หลังจากเกิดวิกฤตการเงินและภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก หลายประเทศเริ่มตั้งคำถามกับการผูกขาดฐานะดังกล่าวของสหรัฐ หลายประเทศเริ่มผละตัวจากเงินเหรียญและพันธบัตรสหรัฐ แม้จะยังไม่ถึงขั้นพลิกฟ้าคว่ำดิน เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างฉับพลัน แต่วันนี้สหรัฐอ่อนแรงไปมากในทางการเงิน
ด้วยเหตุนี้ภายในสหรัฐเองจึงเริ่มมีวิวาทะว่าด้วยการลดงบประมาณขาดดุล ลดหนี้สาธารณะด้วยการขีดเส้นตายระดับหนี้ของประเทศให้แคบลง จากที่เคยก่อหนี้ตามใจชอบเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะไม่ให้เกิดขึ้นในรูปแบบเดียวกับยุโรป
แม้ว่าแท้จริงแล้ววิวาทะนี้จะเกี่ยวพันกับประเด็นทางการเมืองระหว่างพรรคเดโมแครตกับพรรครีพับลิกัน แต่เมื่อพิจารณาที่แก่นแท้ของปัญหาแล้ว กล่าวได้อย่างเต็มปากว่าสหรัฐกำลังประสบกับปัญหาจริงๆ และยิ่งเป็นปัญหาเมื่อทั้งสองพรรคไม่ยอมอ่อนข้อให้กัน ในประเด็นกำหนดเพดานหนี้ของประเทศ หลังจากที่ระดับหนี้ทะลุ 14.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐแล้ว
การที่เงินเหรียญสหรัฐและพันธบัตรสหรัฐมีความน่าเชื่อถือสูงที่สุด ทำให้การสูญเสียเครดิตแม้เพียงเล็กน้อยจะส่งผลสะเทือนอย่างรุนแรง หากสหรัฐถึงขนาดที่ไม่อาจชำระหนี้ได้ตามกำหนด แม้จะเป็นการยืดเวลาเพียงระยะสั้นๆ ไม่ถึงกับยื้อเวลาเหมือนกรีซ เพียงเท่านั้นก็เพียงพอแล้วที่จะบั่นทอนสถานะสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยและมีความคล่องตัวสูง
ถึงขั้นที่บั่นทอนอำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศ จนสั่นสะเทือนระบบเศรษฐกิจโลกไปด้วย เพราะส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นในสินทรัพย์สัญชาติสหรัฐ ถึงจะเริ่มกังขาสถานะดังกล่าวบ้างแล้วก็ตาม
ล่าสุด ความกังวลนี้เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น เมื่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่าสหรัฐควรกำหนดเพดานหนี้โดยเร็ว เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะจากภาวะ “ช็อก” ทางเศรษฐกิจที่จะลุกลามไปทั่วโลก
IMF ยังเตือนด้วยว่าหากสหรัฐไม่อาจสะสางประเด็นความขัดแย้งเกี่ยวกับเพดานหนี้ได้ ระดับความน่าเชื่อถือทางการเงินที่เคยอยู่ในระดับสูงสุดที่ AAA อาจถูกปรับลงมาอย่างแน่นอน
Moody’s บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินรับลูก IMF ในทันที โดยเตือนว่า หากสหรัฐไม่เร่งกำหนดเพดานหนี้ มีโอกาสสูงที่ปัญหาจะลุกลามจากพันธบัตรรัฐบาลไปถึงพันธบัตรระดับท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งภาคเอกชนยังต้องพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย
ก่อนหน้านี้ Moody’s ยังเคยเตือนว่าอาจต้องปรับลดระดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของสหรัฐจาก AAA หากแก้ปัญหานี้ไม่ลุล่วง ท่าทีล่าสุดแสดงให้เห็นว่า Moody’s จริงจังกับการลดเครดิตสหรัฐอยู่ไม่น้อย
ปัญหาก็คือ ทัศนะที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างพรรเดโมแครตกับพรรครีพับลิกัน
พรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลย้ำว่า ถึงเวลาแล้วที่สหรัฐควรขยายเพดานหนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการเบี้ยวหนี้ ซึ่งช่วยเสริมความน่าเชื่อถือที่เริ่มสั่นคลอนลงหลังวิกฤตการเงินโลก
ฝ่ายรีพับลิกันยืนยันว่าสหรัฐมีอิทธิพลอันดับ 1 ในโลกเศรษฐกิจ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามวินัยเหมือนนานาประเทศและไม่ควรเพิ่มเพดานหนี้
ทัศนะนี้สะท้อนความเห็นของชาวโลกเช่นกัน เพราะบางส่วนเห็นว่าสหรัฐควรปฏิบัติตามวินัยทางการเงินเหมือนประเทศอื่นๆ เสียที เพื่อความมั่นคงในระยะยาวของเศรษฐกิจโลก ในฐานะที่เงินเหรียญสหรัฐและพันธบัตรสหรัฐต้องเป็นเสาหลักไปอีกนาน
ส่วนอีกฝ่ายเห็นด้วยกับพรรครีพับลิกัน ที่ว่าสหรัฐอยู่ในฐานะที่ไม่ต้องผูกมัดตัวเองกับวินัยทางการเงิน เพราะสามารถปั๊มธนบัตรได้ตามใจชอบ ซึ่งมาตรการ QE2 ก็นับเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนถึงอำนาจทางการเงินของสหรัฐ
ไม่ว่าฝ่ายใดจะเห็นเป็นเช่นไร แต่ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง คือ หากสภาคองเกรสไม่ผ่านมติเห็นชอบให้ขยับเพดานหนี้ให้สูงกว่านี้ หากสภาคองเกรสไม่อาจลงรอยกันได้ภายในเส้นตายวันที่ 2 ส.ค.นี้ กระทรวงการคลังสหรัฐอาจต้องจำยอมเลื่อนการชำระหนี้ออกไป ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือหายนะด้านวิกฤตศรัทธาต่อสถานะทางการเงินของประเทศ
หากสถานการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นจริง คำเตือนของ IMF และ Moody’s จะกลายเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย เพราะหายนะที่เลวร้ายกว่าจะก่อตัวขึ้นในทันที
http://www.posttoday.com/วิเคราะห์/ต่าง ... เบี้ยวหนี้