ระยะเวลาลงทุน/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์แล้ว: อาทิตย์ มิ.ย. 19, 2011 1:47 pm
โค้ด: เลือกทั้งหมด
โลกในมุมมองของ Value Investor 18 มิถุนายน 54
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
การซื้อหุ้นลงทุนแต่ละตัวนั้น นักลงทุนแต่ละคนก็มักจะมีแนวคิดคร่าว ๆ ว่าหุ้นตัวนั้นเขาจะ “ถือยาวหรือสั้น” แน่นอนว่าสำหรับบางคนแล้ว เขาแทบไม่คิด เพราะสำหรับเขา การซื้อหุ้นลงทุนนั้น ไม่มีคำว่ายาว นั่นเป็นเพราะเขาเป็น “นักเทรดหุ้น” หรือเล่นหุ้น “รายวัน” สิ่งที่เขาทำก็คือ คอยดูว่าตลาดหุ้นวันนั้นจะมีทิศทางอย่างไร หรือหุ้นตัวนั้นจะมีทิศทางอย่างไรในแต่ละนาทีหรือชั่วโมง เขาเก็งกำไรจากความผันผวนของราคาหุ้น และนี่คือนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากในตลาดหลักทรัพย์ที่มีเม็ดเงินลงทุนไม่มากและซื้อขายหุ้นเป็น “งานอดิเรก” นอกจากนักลงทุนรายย่อยเหล่านี้แล้ว คนที่ซื้อขายหุ้นรวดเร็วมากยังรวมถึง “ขาใหญ่” หรือนักลงทุนที่มีเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากที่เข้าไปซื้อขายหุ้น “รายวัน” ด้วยเม็ดเงินมหาศาล คนกลุ่มนี้ นอกจากจะเก็งกำไรจากความผันผวนของราคาหุ้นแล้ว บ่อยครั้งยังเป็นคนที่ “สร้างความผันผวน” ให้กับราคาหุ้นเองเพื่อให้ตนได้เปรียบในการเก็งกำไรจากการซื้อขายหุ้นนั้น
กลุ่มคนที่ “เล่นสั้น” นั้น ถ้าเป็นรายเล็กซึ่งการซื้อขายไม่สามารถมีอิทธิพลต่อราคาหุ้นได้นั้น ในบางช่วงบางตอนที่ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวขึ้นดีเป็นกระทิง พวกเขาก็อาจจะมีกำไรบ้าง แต่ในช่วงที่ตลาดหุ้นลงหรือขึ้น ๆ ลง ๆ พวกเขาก็มักจะขาดทุน และในระยะยาวแล้ว พวกเขาแทบจะต้องขาดทุนเสมอ เหตุผลก็คือ ค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายหุ้นจะ “กิน” ผลตอบแทนที่อาจจะทำได้จากการซื้อขายหุ้นหมด ส่วนรายใหญ่ที่เก็งกำไรหุ้นระยะสั้นนั้น เช่นเดียวกัน ในช่วงที่ตลาดหุ้นดี พวกเขาก็อาจจะมีกำไรมหาศาล แต่ในยามที่ตลาดหุ้นแย่ หลายคนก็เสียหายหนัก ในระยะยาวแล้ว คนที่ทำผลตอบแทนได้มหาศาลก็น่าจะมีจำกัด
ตัวอย่างของคนที่เล่นสั้นและประสบความสำเร็จอย่างสูงก็คือ จอร์จ โซรอส และถ้ามองย้อนหลังไปยาวกว่านั้น ก็อาจจะรวมถึงนักเก็งกำไรระดับโลกหลาย ๆ คนอย่าง เจสซี่ ลิเวอร์มอร์ เบอร์นาร์ด บารูช และ เจอราลด์ เลิบ เป็นต้น แม้ว่าบางคนจะล้มเหลวในช่วงท้าย ๆ ของชีวิต
กลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มี Time Frame หรือช่วงระยะเวลาการลงทุนค่อนข้างสั้นแต่ไม่ถึงกับเป็น Day Trader หรือเล่นหุ้นรายวันแต่น่าจะลงทุนในระยะเวลาเป็น “รายเดือน” หรืออาจจะหลายเดือน คนที่เล่นหุ้นแนวนี้มักจะมองถึง “พื้นฐาน” ของหุ้น ประกอบกับ “โมเมนตัม” หรืออาจจะเรียกว่าเป็น “แรงส่ง” ที่เกิดจากการเก็งกำไรของนักลงทุนกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงแรงส่งที่มาจาก “สตอรี่” หรือเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นของหุ้น พูดง่าย ๆ พวกเขาลงทุนโดยเน้นทั้งแนวพื้นฐานและแนวเท็คนิค เพื่อที่จะซื้อหุ้นที่มีพื้นฐานในเวลาที่มันกำลัง “ร้อนแรง” นักลงทุนหลายคนในกลุ่มนี้มี วิลเลียม โอนีล เซียนหุ้นที่ใช้กลยุทธ์ที่มีชื่อย่อว่า “CANSLIM” เป็นไอดอล นักลงทุนในกลุ่มนี้มักจะทำผลตอบแทนได้น่าประทับใจมากในช่วงที่ตลาดหุ้นคึกคักร้อนแรงอย่างที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในยามที่ตลาดหุ้นตกต่ำลง พวกเขาก็อาจจะ “เจ็บตัว” ไม่น้อยไปกว่านักเก็งกำไรกลุ่มอื่น ๆ
กลุ่มที่ลงทุนยาวเป็นปีหรืออาจจะ 2-3 ปีที่เป็นกลุ่มใหญ่พอสมควรก็คือกลุ่มที่เรียกว่าเป็น Value Investor “กระแสหลัก” นี่คือกลุ่มที่ยึดแนวทางของ เบน เกรแฮม บิดาของการลงทุนแบบ Value Investment กลยุทธ์การลงทุนของนักลงทุนกลุ่มนี้มักจะเน้นที่เรื่องของราคาหุ้นว่าต้องเป็นหุ้นที่ “ถูกมาก” เป็นหุ้นที่มี Margin of Safety หรือมีส่วนเผื่อความปลอดภัยสูง พวกเขามักเป็นนักลงทุนที่อนุรักษ์นิยมและไม่กล้าที่จะซื้อหุ้นที่มีค่า PE สูงที่เขาเห็นว่าเป็นหุ้นที่มีราคาแพงแม้ว่าหุ้นนั้นจะเป็นบริษัทที่มีคุณสมบัติยอดเยี่ยมก็ตาม
ผลงานการลงทุนของนักลงทุนสาย เกรแฮม นั้น น่าจะไม่หวือหวามากนักโดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหุ้นบูมมาก ๆ เนื่องจากหุ้นที่พวกเขาซื้อนั้นมักจะไม่ใช่หุ้นที่มีสตอรี่หรือมีเรื่องราวให้นักเก็งกำไรเข้ามาสนใจมากนัก อย่างไรก็ตาม ผลงานระยะยาวก็มักจะดีใช้ได้ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ในยามที่ตลาดหุ้นไม่ดีหรือ “ไม่ไปไหน” เป็นเวลานาน นักลงทุนในกลุ่มนี้น่าจะรักษาผลตอบแทนของตนเองได้ดีพอสมควรเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ
นักลงทุนกลุ่มที่มีระยะเวลาการลงทุนไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับวัฎจักร์หรือสถานการณ์ของตัวหุ้นหรือสภาวะทางเศรษฐกิจบางอย่าง อาจจะเรียกว่า “นักเล่นหุ้นตามสถานการณ์” นี่คือนักลงทุนที่น่าจะมี Time Frame ไม่เกิน 3-4 ปี และบ่อยครั้งอาจจะน้อยกว่านั้น ไอดอลของนักลงทุนกลุ่มนี้น่าจะเป็น ปีเตอร์ ลินช์ ซึ่งมีกลยุทธ์การลงทุนที่ “เล่นหุ้นได้ทุกรูปแบบ” โดยเน้นในด้านของพื้นฐานของตัวกิจการเป็นหลัก การเล่นหุ้นได้ทุกรูปแบบนั้นเกิดจากการที่ลินช์จัดกลุ่มหุ้นทุกตัวตามคุณสมบัติของบริษัท เช่น เป็นหุ้นโตเร็ว หุ้นที่อยู่ในกิจการที่เป็นวัฏจักร หุ้นทรัพย์สินมาก และหุ้นฟื้นตัวจากวิกฤติ เป็นต้น
ผลงานการลงทุนในแบบของปีเตอร์ ลินช์ นั้น ผมคิดว่าคนที่ทำได้ดี นั่นคือ สามารถซื้อขายหุ้นได้ถูกต้องตามคุณสมบัติของบริษัท น่าจะได้กำไรหรือผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำ เฉพาะอย่างยิ่งหุ้นวัฏจักร์และกลุ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม การที่จะทำเช่นนั้นได้ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายโดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนที่ไม่ได้ศึกษาหรือมีความรู้ความสามารถพอ ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ถ้าเป็นการเข้าไปซื้อขายหลังจากที่หุ้นปรับตัวขึ้นมามากแล้ว นักลงทุนก็อาจจะขาดทุนได้ และนี่ทำให้การลงทุนแบบนี้ก็มีความเสี่ยงไม่น้อย
กลุ่มสุดท้ายก็คือ นักลงทุนที่ลงทุนยาวมากคือ ประมาณตั้งแต่ 3-4 ปีขึ้นไป ไอดอลของกลุ่มนี้ก็คือ ฟิลลิป ฟิสเชอร์ และ วอเร็น บัฟเฟตต์ นี่คือนักลงทุนที่เน้นลงทุนในกิจการที่ดีเยี่ยมที่สุดในประเทศ พวกเขาจะไม่ใคร่สนใจหุ้นของกิจการที่ “หาจุดเด่นไม่ค่อยได้” แม้ว่าจะมีราคาถูก หรืออาจจะมีสตอรี่ที่น่าสนใจ เป็นบริษัทที่กำลังอยู่ในวัฏจักร “ขาขึ้น” หรือแม้แต่บริษัทที่ “กำลังฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด” สิ่งที่พวกเขามองก็คือ ความสามารถในการแข่งขันหรือความได้เปรียบที่ยั่งยืนที่บริษัทมีต่อคู่แข่ง ความเข้มแข็งทางการเงิน การเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมและบริษัท เหล่านี้เป็นต้น ส่วนราคาหุ้นนั้นก็สนใจว่าต้องไม่แพง แต่ราคาหุ้นที่ถูกมากนั้นไม่ใช่ประเด็นหลักในการเลือกหุ้น
นักลงทุนที่เน้นในหุ้นแบบซุปเปอร์สต็อคและถือหุ้นยาวนานนั้น น่าจะมีน้อยมาก เหตุผลก็อาจจะเป็นเพราะว่ามันเป็นกลยุทธ์ที่ “น่าเบื่อ” นอกจากนั้น กิจการที่เป็น “ซุปเปอร์” จริง ๆ ในประเทศไทยและอยู่ในตลาดหุ้นก็อาจจะมีไม่มาก เหนือสิ่งอื่นใด การปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นก็มักจะไม่หวือหวาในระยะเวลาอันสั้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงเร็ว ๆ นี้ หุ้นซุปเปอร์สต็อคก็มีผลงานค่อนข้างดี ทำให้ผลตอบแทนของนักลงทุนก็โดดเด่นพอสมควรโดยที่ความเสี่ยงไม่สูงนัก
เป็นเรื่องยากที่นักลงทุนคนหนึ่งจะมี Time Frame หรือกลยุทธ์แน่นอนเพียงแนวเดียว อย่างไรก็ตาม นักลงทุนที่มุ่งมั่นและมีประสบการณ์มากแล้วก็มักจะมีจุดเน้นของตนเองที่พอบอกได้ว่าเขาเป็นนักลงทุนแนวไหน การเลือกตำแหน่งของตนเองผมคิดว่าจะเป็นตัวตัดสินผลงานระยะยาวของการลงทุน เพราะมันเป็น “ยุทธศาสตร์” ที่จะกำหนดสิ่งต่าง ๆ ที่เราจะเดินไป