####
ในกรณีที่บริษัทให้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นเดิมซื้อหุ้นเพิ่มทุน บริษัทจะกำหนดวันหนึ่งขึ้นมาเป็นวัน cut off เรียกว่าใครที่เข้าไปซื้อหุ้นหลังวันนั้นจะถือว่า “มาช้า” หมดสิทธิ์ได้รับจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน วิธีดูง่ายๆก็คือ ต้องซื้อหุ้นของบริษัทก่อนที่จะขึ้นเครื่องหมาย XR (eXcluding Rights) นั่นเอง
ในวันแรกที่หุ้นขึ้นเครื่องหมาย XR ราคาหุ้นในกระดานจะร่วงลงอย่างมีนัยสำคัญ (นี่แสดงให้เห็นว่า “สิทธิ์ในการได้รับจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน” เป็นสิ่งที่มีมูลค่า ผู้ถือหุ้นเดิมจึงเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ ถ้าบริษัทเลือกเพิ่มทุนแบบ PO)
นักลงทุนควรจะหัดคำนวณราคาใหม่ในทางทฤษฎีหลังวัน XR ให้เป็น เพื่อจะได้รู้ว่าราคาที่ร่วงลงไปนั้นถูกหรือแพงเกินไป เรื่องนี้บางคนบอกว่างงทุกที จริงๆแล้วเรื่องนี้ไม่น่างง ถ้าหากนักลงทุนยึดหลักการที่ว่า “กลทางการเงินใดๆ ต้องไม่สามารถทำให้มูลค่าของบริษัทเพิ่มขึ้นได้” เรื่องนี้ก็จะเป็นเรื่องง่าย หมายความว่า ถ้าบริษัทไหนคิดเล่นตลกด้วยการจัดโครงสร้างของหุ้นเพิ่มทุนให้นักลงทุนเข้าใจผิดคิดว่าหุ้นเพิ่มทุนมีราคาถูก ลูกไม้นั้นจะต้องหลอกนักลงทุนไม่ได้ มูลค่าบริษัทหลังเพิ่มทุนจะต้องมีค่าเท่าเดิมอยู่ มาดูตัวอย่างกันดีกว่า
สมมติว่าเดิมบริษัทมี 100 ล้านหุ้น ราคาในกระดานหุ้นละ 10 บาท (แสดงว่าบริษัทมีมูลค่าเท่ากับ 1,000 ล้านบาท) ต่อมาบริษัทเพิ่มทุนในอัตรา 1 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ โดยให้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นเดิมซื้อหุ้นใหม่ในราคาหุ้นละ 3 บาท (มัดมือชกกันสุดๆ) เท่ากับว่าออกหุ้นเพิ่มทุน 200 ล้านหุ้น และบริษัทจะได้รับเงินจากการเพิ่มทุนทั้งสิ้น 600 ล้านบาท และหลังเพิ่มทุนแล้วบริษัทจะมีหุ้นทั้งหมด 300 ล้านหุ้น อย่างนี้ ราคาหุ้นหลังขึ้นเครื่องหมาย XR ควรเป็นเท่าไร?
ก่อนเพิ่มทุนบริษัทมีมูลค่า 1,000 ล้านบาท เมื่อบวกกับเงินเพิ่มทุนที่จะใส่เข้ามาในบริษัทอีก 600 ล้านบาท หลังวัน XR บริษัทก็ควรมีค่าเท่ากับ 1,600 ล้านบาท ไม่ควรจะมากไปกว่านี้ (กลใช้ไม่ได้ผล) แต่เนื่องจากหลัง XR บริษัทมีหุ้นเพิ่มเป็น 300 ล้านหุ้น ดังนั้นมูลค่าบริษัทต่อหุ้นก็ควรจะเป็น 1600/300 หรือเท่ากับ 5.33 บาทต่อหุ้นในวันแรกที่ XM นั่นเอง
ถ้าวันนั้นตลาดไม่ได้มีข่าวสำคัญอย่างอื่นเข้ามา หุ้นก็ควรมีราคาเหลือแค่ 5.33 บาทตั้งแต่เปิดตลาด ถ้าสูงกว่านั้นก็ยังแพงเกินไป ถ้านักลงทุนคำนวณล่วงหน้าไม่เป็น เห็นราคาหุ้นเปิดมาเหลือแค่ 7 บาทอาจเข้าใจผิดคิดว่าหุ้นถูก เข้าไปรับ สิบนาทีต่อมาร่วงต่อเหลือแค่ 5.33 บาท น้ำตาจะเช็ดหัวเข่า
บางคนอาจแย้งว่า แล้วไม่ให้มูลค่าการเติบโตเลยหรือ บริษัทเพิ่มทุนเพราะมีโครงการขยายกิจการ มูลค่าของบริษัทหลังเพิ่มทุนจึงน่าจะเพิ่มขึ้นได้มากกว่าเงินสดที่ใส่เข้ามา คำตอบก็คือ “ไม่” ครับ เพราะโดยมากแล้ว ก่อนที่จะถึงวัน XR บริษัทมักมีการสื่อสารกับนักลงทุนเรื่องแผนการเติบโตมาก่อนแล้ว ราคาหุ้นก่อนวัน XR จึงมักรวมความคาดหวังของนักลงทุนเกี่ยวกับแผนการเติบโตไว้ในราคาเรียบร้อยแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องให้พรีเมี่ยมเพิ่มอีกในวัน XR ครับ
การเพิ่มทุนที่ดีไม่ควรเป็นการเพิ่มทุนที่เซอร์ไพรส์ตลาด บริษัทที่ดีควรมีการสื่อสารกับนักลงทุนเรื่องแผนการเติบโตมาก่อนที่จะประกาศเพิ่มทุน (แม้ว่าจะยังบอกรายละเอียดของหุ้นเพิ่มทุนไม่ได้ก็ตาม) บริษัทที่เพิ่มทุนแบบเซอร์ไพร์ส ผมถือว่าเป็นสัญญาณเชิงลบครับ
ปกติแล้ว บริษัทที่คิดจะเพิ่มทุนจะมีการวางแผนล่วงหน้ามาก่อน คือต้องพยายามขายแผนการเติบโตให้นักลงทุนตื่นเต้นให้ได้ ก่อนที่จะประกาศเพิ่มทุนเพื่อให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปรอล่วงหน้า เมื่อก่อนนี้ ผมมักรู้สึกไม่ดีกับบริษัทที่พยายาม “ตีปี๊บ” อย่างหนักก่อนเพิ่มทุน แต่ตอนหลัง ผมเข้าใจได้ว่า นั่นเป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะเป็นการปกป้อง wealth ของผู้ถือหุ้น “เดิม” ที่ถือหุ้นของบริษัทมานานซึ่งรวมถึงรายย่อยเดิมด้วย
เนื่องจากการเพิ่มทุนมักจะทำให้ EPS ลดลงในระยะสั้น ถ้าบริษัทไม่มีการสื่อสารใดๆทั้งสิ้นกับตลาดเลย เมื่อประกาศเพิ่มทุน ราคาหุ้นจะร่วงลง ทำให้คนที่เข้ามาทีหลังสามารถซื้อได้ถูกกว่าเดิมมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมกับรายย่อยที่เป็นแฟนพันธ์แท้ที่เหนียวแน่นของบริษัทมาแต่เดิม
เช่น ถ้าแต่เดิมหุ้นของบริษัทมีราคาอยู่แถวๆ 6 บาทมาตลอด ถ้าไม่สื่อสารแต่เพิ่มทุนเฉยๆเลย หุ้นอาจตกเหลือ 3 บาท ผู้ถือหุ้นเดิมก็เจ็บปวด แต่ถ้าตีปี๊บให้หุ้นขึ้นไปที่ 18 บาทก่อน เมื่อเพิ่มทุนแล้ว หุ้นอาจตกลงมาเหลือแค่ 10 บาท อย่างนี้แม้จะตกลงมา ผู้ถือหุ้นเดิมก็ยังมีกำไรอยู่ เป็นต้น บริษัทควรปกป้อง wealth ของผู้ถือหุ้นเดิมก่อนด้วยการขายหุ้นเพิ่มทุนให้ได้ราคาสูงสุด once ที่ผู้ถือหุ้นใหม่ยอมจ่ายแพงเพื่อเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นแล้ว ในอนาคตจึงค่อย treat พวกเขาเหล่านั้นให้ดีเท่าๆกับผู้ถือหุ้นเดิมคนอื่น จึงจะถือว่าปกป้องผู้ถือหุ้นอย่างแท้จริง
ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า หุ้นที่เพิ่มทุนส่วนใหญ่มักจะวิ่งกันก่อนที่จะเพิ่มทุน และพุ่งสู่จุดสูงสุดในช่วงที่ใกล้จะเพิ่มทุนหรือหลังจากนั้นเล็กน้อย ต่อจากนั้น ราคาหุ้นก็จะมักจะร่วงลง เพราะเมื่อเพิ่มทุนเสร็จแล้วบริษัทก็มักจะเลิกตีปี๊บทำให้หุ้นขาดข่าวกระตุ้น ประกอบกับ EPS ก็กำลังจะลดลงชั่วคราวเพราะตัวหารเพิ่มขึ้นด้วย การซื้อหุ้นในช่วงที่เพิ่มทุนหรือหลังเพิ่มทุนใหม่ๆ จึงมีโอกาสขาดทุนในระยะสั้นได้มาก
ส่วนใหญ่แล้ว คนที่ฟังบริษัทตีปี๊บแล้วรู้สึกตื่นเต้นได้ง่าย มักเป็นคนที่ติดดอยในเกมนี้เสมอ เรื่องนี้โทษใครไม่ได้ ต้องโทษตัวเองที่ “เคลิ้ม” ง่าย
ถ้าอยากเล่นเกมนี้ให้ได้ตังค์ ต้องหันมาเป็นนักลงทุนที่มีความคิดที่เป็นอิสระ กล่าวคือ ตัดสินใจได้เองว่า บริษัทมีอนาคตหรือไม่ โดยไม่เกี่ยวกับว่า ช่วงนั้นจะต้องมีใครมาตีปี๊บให้ฟังบ่อยๆหรือเปล่า
เครดิต
http://www.sarut-homesite.net/%E0%B9%80 ... %E0%B8%81/