โค้ด: เลือกทั้งหมด
โลกในมุมมองของ Value Investor 21 พฤษภาคม
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
การลงทุนหรือเล่นหุ้นในตลาดนั้น ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดมักรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เหนื่อยและเครียด โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหุ้นเป็น “ขาลง” อย่างไรก็ตาม แต่ละคนน่าจะมีอาการดังกล่าวไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับวิธีการและเป้าหมายในการลงทุน ลองมาดูกันว่าการลงทุนหรือเล่นหุ้นแบบไหนจะทำให้เหนื่อยและเครียดกว่าปกติ
เรื่องแรกที่ผมเห็นว่าเป็นตัวทำให้รู้สึกเหนื่อยและเครียดมากก็คือ การพยายามทำ “ผลตอบแทนสูงสุด” นั่นก็คือ เขาพยายามทำผลตอบแทนสูงสุดในเวลาอันสั้น คนที่คิดและทำแบบนี้มักจะเหนื่อยหนักและเครียดจัด เพราะในบางช่วงบางตอนของชีวิตสิ่งต่าง ๆ อาจไม่เป็นไปตามที่คาด ตัวอย่างของเซียนระดับโลกที่ใช้กลยุทธ์นี้คนแรกก็คือ เจสซี ลิเวอร์มอร์ นักเก็งกำไรระดับโลก ซึ่งซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีระดับของความผันผวนของราคาสูงมากเช่นพวกสินค้าโภคภัณฑ์โดยใช้มาร์จินหรือการกู้เต็มที่และทุ่มเงินทั้งหมดลงในการลงทุนเพียงตัวเดียวไม่มีการกระจายความเสี่ยง ผลก็คือ ในบางช่วงบางตอนเขาสร้างกำไรหรือผลตอบแทนน่าจะเป็นพัน ๆ เปอร์เซ็นต์ในเวลาอันสั้นและทำให้เขาเป็นมหาเศรษฐี เป็น “เซเลบ” ระดับชาติในเวลาข้ามคืน แต่ในบางช่วงที่เขาคาดผิดหรือเหตุการณ์ไม่เอื้ออำนวย เขาก็ขาดทุนอย่างหนักจนล้มละลายภายในเวลาอันสั้นเช่นเดียวกัน ผลก็คือ เขาเหนื่อยและเครียดจัด และหลังจากการร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีและการเป็นคนล้มละลายประมาณ 3 รอบ เขาก็ฆ่าตัวตาย ทิ้งไว้แต่ตำนานของการเป็น “นักเก็งกำไรสุดยอด” ของโลกคนหนึ่ง
ในแวดวงของเซียนหุ้นแบบ VI ระดับโลกนั้น ชื่อของ ปีเตอร์ ลินช์ เป็นตำนานของผู้บริหารกองทุนรวมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกคนหนึ่ง ผลงานการลงทุนของเขาก็คือ เขาทำได้ปีละประมาณ 30% แบบทบต้นเป็นเวลาติดต่อกันประมาณ 13 ปี นี่เป็นผลตอบแทนที่สูงลิ่วจนไม่น่าเชื่อ แต่ ปีเตอร์ ลินช์ บอกว่าเขาต้องแลกมาด้วยชีวิตส่วนตัวที่เหนื่อยหนักแทบไม่มีเวลาพัก ไม่มีเวลาให้กับลูก ๆ ที่กำลังโต และเขากลัวว่าเขาอาจจะต้องตาย “ก่อนวัยอันควร” เนื่องจากการทำงานที่หนักเกินไป ซึ่งทำให้เขาตัดสินใจ “เกษียณก่อนกำหนด” และกลายเป็นตำนานที่ยืนยงต่อมาจนถึงทุกวันนี้
บิล มิลเลอร์ ผู้บริหารกองทุนอีกคนหนึ่งที่เน้นการลงทุนในหุ้นไฮเท็คที่มีราคาหวือหวาและเป็นหุ้นที่ “เก็งกำไรสุด ๆ” โดยเฉพาะในช่วง 10 ปี ของทศวรรษ 1990 นี่ก็เป็นกลยุทธ์ที่ “เหนื่อยหนัก” เพราะหุ้นไฮเท็คนั้นเวลาที่ดีอาจจะดีสุดยอด แต่เวลาตกนั้นก็จะตกแบบน่าใจหาย ผลก็คือ ในช่วงที่ดีนับเป็นเวลาน่าจะเป็นสิบปี บิล มิลเลอร์ สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับกองทุนได้สูงมากยิ่งกว่าของ ปีเตอร์ ลินช์ และกำลังจะกลายเป็นตำนานในระดับเดียวกัน โชคไม่ดี ฟองสบู่หุ้นไฮเท็คแตกเสียก่อน ทำให้ชื่อเสียงของมิลเลอร์ ตกต่ำลงไปและอาจจะทำให้เขาเป็นเพียงคนที่ “เคยเป็นเซียน”
กลับมาที่นักลงทุนธรรมดาในบ้านเรา ผมคิดว่าคนที่หวังรวยเร็วและอาจได้เห็นตัวอย่างของเพื่อนหรือ “เซียน” หุ้นที่มีชื่อเสียงที่สามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนได้มโหฬารอย่างไม่น่าเชื่อในเวลาอันสั้น จึงหาทางเพิ่มผลตอบแทนของตนโดยการซื้อขายหุ้นที่เป็นหุ้นเก็งกำไรที่มีความผันผวนของราคาสูง ในเวลาเดียวกันก็ใช้มาร์จินในการลงทุนเต็มที่ และในเวลาเดียวกันไม่มีการกระจายความเสี่ยงที่เพียงพอ ทุ่มเงินซื้อหุ้นเพียงตัวสองตัว การลงทุนแบบนี้ ในภาวะที่ตนเองคาดการณ์ถูกและสถานการณ์เอื้ออำนวย ผลตอบแทนก็จะสูงลิ่วและอาจจะทำให้ “รวยไปเลย” อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ตรงกันข้าม เขาก็อาจจะ “แย่ไปเลย” แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ความเหนื่อยและความเครียดน่าจะมีอยู่ตลอดเวลา จิตใจและอารมณ์อาจจะผูกพันอยู่กับการขึ้นลงของราคาหุ้น ผมเองไม่แน่ใจว่าความสุขที่ได้จากการขึ้นของราคาหุ้นจะสามารถชดเชยกับความกังวลและความเครียดที่หุ้นตกลงมาจะคุ้มไหมโดยเฉพาะถ้าผลตอบแทนก็ไม่ได้สูงกว่าปกติไปมากมายนัก
คนที่ตั้งความหวังการลงทุนสูงกว่า 10-15% ต่อปีโดยเฉลี่ยแบบทบต้น เช่นหวังถึงปีละ 25-30 หรือแม้แต่ 40-50% ต่อปี คนที่หวังจะมีเงินที่ได้จากการลงทุนเป็น 10 100 หรือ 1000 ล้านบาท หรือตั้งเป้าจะมี “อิสรภาพทางการเงิน” ภายในเวลา 5-10 ปี หรือเมื่อตนเองอายุเพียง 30-40 ปี ทั้ง ๆ ที่เป้าหมายแบบนั้นโดยอัตราผลตอบแทนปกตินั้นเขาไม่สามารถจะบรรลุได้ อย่างไรก็ตาม เขาคิดว่าด้วยผลตอบแทนที่เขาทำได้ในช่วงเวลานี้ที่เขาทำได้สูงมาก เขาคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยากที่เขาจะทำได้ต่อไป และถ้าเป็นอย่างนั้น ความฝันของเขาก็จะเป็นจริง แต่นี่ก็จะเป็น “เป้าหมายที่เหนื่อยหนัก” ที่เขาสร้างให้กับตัวเอง และเขาอาจจะรู้สึกเหนื่อยและเครียดเมื่อสถานการณ์การลงทุนเริ่มพลิกผัน กลยุทธ์ที่ทำกำไรได้อย่างรวดเร็วไม่เป็นไปตามที่เคย บางทีเขากลับขาดทุนอย่างหนัก โดยรวมแล้ว การตั้งเป้าและใช้วิธีหรือกลยุทธ์ในการลงทุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้อาจจะยังอยู่ในระดับน่าพอใจแต่ก็ไม่เข้าใกล้เป้าหมายที่เคยฝัน แต่คำถามก็คือ “คุ้มไหม” กับการเหนื่อยหนักและความเครียดที่เกิดขึ้น
การลงทุนโดยคอยเปรียบเทียบผลงานกับเพื่อนฝูงหรือคนรู้จัก เป้าหมายก็คือ สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าหรือมีเงินมากกว่าหรือมีพอร์ตใหญ่กว่า มีคนยอมรับมากกว่า หวังมีชื่อเป็น “เซียน” คนหนึ่งในแวดวงการลงทุน เหล่านี้ทำให้กลยุทธ์หรือวิธีการลงทุนอาจจะเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด นี่เป็นความคิดที่ทำให้ “เหนื่อยหนักและเครียด” บางทีแม้ว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าประทับใจมาก แต่เมื่อไปเทียบกับอีกคนหนึ่งที่บางทีก็ไม่ “เก่งกว่า” แต่เรากลับ “แพ้เขา” ความทุกข์ก็เกิดขึ้น ธรรมชาติของคนก็มักชอบที่จะเปรียบเทียบกับคนที่อยู่เหนือกว่าแล้วก็ต้องการเอาชนะ ดังนั้น การเปรียบเทียบนั้น ส่วนใหญ่ก็มักจะนำความเหนื่อยและความเครียดมาให้เสมอ
ผมเองผ่านชีวิตการลงทุนมายาวพอสมควร ผ่านสถานการณ์ตลาดหุ้นมาทุกรูปแบบทั้งที่ดี ดีเยี่ยม เลว เลวร้ายจนเป็นวิกฤติ เป็นแบบนี้มาหลายครั้ง ผมพยายามทบทวนความรู้สึกย้อนหลังไปในสถานการณ์ต่าง ๆ ในอดีตแล้วก็พบว่า ความเหนื่อยและความเครียดนั้น บ่อยครั้งไม่ได้สัมพันธ์กับผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุน ช่วงที่ลงทุนแล้วมีความสุขที่สุดดูเหมือนว่าจะเป็นช่วงที่ “ลงทุนอยู่คนเดียว” ตลาดเหงาหงอย ไม่มีเวบไซ้ต์การลงทุน ข่าวเกี่ยวกับหุ้นแทบไม่มี ราคาหุ้นขึ้นลงน้อยมากในแต่ละวัน แต่ผลตอบแทนที่ได้ในรอบปีก็ “น่าประทับใจ” ที่ 20% ที่สำคัญ บริษัทที่เราลงทุนก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง เอาชนะคู่แข่งได้และเติบอย่างมั่นคง อนาคตระยะยาวสดใส บางทีเราอาจจะส่งต่อให้ลูกหลานได้อย่างภาคภูมิใจ ราคาหุ้นก็ขึ้นมาบ้างตามฐานะของกิจการ ดัชนีหรือผลตอบแทนของตลาดเป็นเท่าไรหรือ? เออ นึกไม่ออก! ใครแคร์? เพื่อนคนนั้นทำได้กี่เปอร์เซ็นต์? ไม่รู้ ไม่ได้คุยกัน เรามีพอร์ตเท่าไรแล้ว? โอ้ว์ มากขึ้นทีเดียว ดีใจ! ถ้าเป็นแบบนี้อีกหน่อยก็สบาย ไม่ต้องทำงานก็ได้ แต่ตอนนี้ก็ทำไปก่อน ไม่ทำแล้วจะไปบอกญาติพี่น้องยังไง ทำงานยังไงก็ได้เงินเดือนใช้จ่าย ไม่ต้องไปกินพอร์ต พอร์ตจะได้โตไปเรื่อย ๆ ฯ ล ฯ บางทีผมคิดว่า การที่จะมีความสุขและไม่เหนื่อยจากการลงทุนก็เป็นศิลปะที่ต้องเรียนรู้ด้วยเหมือนกัน