หน้า 1 จากทั้งหมด 1

7 ความเชื่อของผู้แพ้

โพสต์แล้ว: ศุกร์ มี.ค. 25, 2011 11:08 am
โดย naijan
จิตวิสุทธิ์ พู่มนตรี นักวิเคราะห์การลงทุน สำนัก Quant ( [email protected] อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน )
นักลงทุนทุกท่านล้วนอยากเป็นผู้ชนะในเกมส์ที่เรียกว่าการลงทุน บางคนใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการศึกษาค้นคว้า เพื่อหาองค์ความรู้ หรือเครื่องมือที่จะช่วยให้ตนเองกุมความได้เปรียบในการแข่งขัน ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่ใช่นักวิเคราะห์หรือแม้แต่ผู้จัดการกองทุนทุกคนจะสามารถเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จได้ แม้ว่าคนเหล่านี้จะมีความรู้ ความเข้าใจ และมีประสบการณ์อยู่ในตลาดมาอย่างยาวนาน...อะไรคือสิ่งที่หายไป?

ผู้เขียนมีโอกาสได้อ่านหนังสือชื่อ The Winning Investment Habits of Warren Buffett and George Soros เขียนโดย Mark Tier แม้จะมีวิธีการลงทุนที่แตกต่างกัน แต่ Mark Tier ได้ชี้ให้เห็นถึง ปรัชญา ความเชื่อที่เหมือนกันระหว่างสองนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของโลก น่าตกใจว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นเส้นแบ่งระหว่างผู้แพ้และผู้ชนะออกจากกันไม่ใช่สิ่งที่ผู้ชนะมีและผู้แพ้ไม่มี แต่กลับเป็น “ความเชื่อ” ที่คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นความจริง ความเชื่อที่ไม่พบใน วอเรน บัพเฟทท์ หรือ จอร์จ โซรอส แต่มักจะพบในนักลงทุนส่วนใหญ่ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ความเชื่อดังกล่าวสามารถแบ่งออกเป็น “7ความเชื่อของผู้แพ้” ดังนี้

1. เชื่อว่าจะทำกำไรได้ต่อเมื่อรู้ทิศทางของตลาดในอนาคต แน่นอนว่าการรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าย่อมที่จะทำให้เกิดผลกำไร แต่ในความเป็นจริงไม่มีใครสามารถคาดเดาอนาคตได้ถูกต้องอยู่เสมอ แม้แต่จอร์จ โซรอส ยังกล่าวว่า ความสำเร็จทางการเงินของเขาช่างแตกต่างจากความสามารถในการพยากรณ์เหลือเกิน ดังนั้นสิ่งที่ผู้ชนะสนใจจึงไม่ใช่ข้อมูลในอนาคตแต่กลับเป็นข้อมูลที่เป็นความจริงในปัจจุบันนั่นเอง

2. เชื่อว่าเราสามารถคาดการณ์ตลาดได้ นักลงทุนที่อยู่ในตลาดมานานมักจะมีความเชื่อที่เหมือนกันคือ เชื่อว่าตนเองสามารถคาดการณ์ตลาดได้จากความรู้และประสบการณ์ของตน ย้อนกลับไปในปี2008 ปลายเดือนพฤษภาคม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างคาดว่ารายได้สุทธิของบริษัทจดทะเบียนจะสูงขึ้น และจากแนวโน้มของตลาดที่อยู่ในช่วงขาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2007 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์จะปรับตัวขึ้นไปเกิน 960 จุด นักลงทุนที่คิดและเชื่อตามนั้นต่างเพิ่มน้ำหนักการลงทุนเข้าไปในตลาดหุ้น ในอีกเพียงหนึ่งเดือนต่อมา ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ 768 จุด และปิดที่ 449 จุด ณ ปลายปี 2008... วอเรน บัพเฟทท์ กล่าวว่า การพยากรณ์อาจจะบอกถึงภูมิความรู้ของผู้พยากรณ์ แต่มันไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเลย

3. เชื่อว่าจะต้องมีคนอื่นที่สามารถพยากรณ์ทิศทางของตลาดได้ นักลงทุนหน้าใหม่ที่ขาดความรู้และประสบการณ์ มักจะแสวงหาผู้อื่นที่ตนเชื่อว่าสามารถคาดการณ์ทิศทางของตลาดในอนาคตได้ และสิ่งที่ตนต้องทำหลังจากนั้นคือการเชื่อและลงทุนตามการพยากรณ์ คำถามที่น่าสนใจคือหากมีใครคนหนึ่งที่สามารถจะพยากรณ์ได้จริง คนๆนั้นควรจะออกมาป่าวประกาศ หรือ ควรจะเงียบไว้แล้วลงทุนเองเพื่อสร้างผลกำไรมหาศาล
ดังนั้นจะรับฟังข่าวสารอะไร นักลงทุนจะต้องศึกษาเพิ่มเติม พิจารณาอย่างรอบคอบบนพื้นฐานของข้อมูลที่มีอยู่ ณ ขณะนั้น

4. เชื่อว่าจะต้องมีเครื่องมือ หรือระบบที่สร้างผลกำไรอยู่เสมอ คล้ายกับความเชื่อในข้างต้น นักลงทุนบางท่านอาจจะเชื่อว่าขอเพียงแค่มีสุดยอดเครื่องมือไว้ในครอบครอง ตนเองก็จะสามารถสร้างผลกำไรมหาศาลได้ ปัจจุบันมีโปรแกรมซื้อขายหุ้นอยู่มากมายในท้องตลาด บางโปรแกรมอ้างว่าตนเองสามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าตลาดหลายเท่า ในความเป็นจริงแม้ว่าบางโปรแกรมจะสามารถสร้างผลกำไรได้จริงในอดีต แต่ไม่ได้มีอะไรรับประกันว่าผู้ใช้โปรแกรมจะได้ผลกำไรในอนาคต นักลงทุนจะต้องทราบว่า ไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นคำตอบให้กับทุกสถานการณ์ บางโปรแกรมอาจจะทำงานได้ดีในสถานการณ์แบบหนึ่ง แต่ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนไปโปรแกรมดังกล่าวอาจจะก่อให้เกิดผลขาดทุนมหาศาลแก่ผู้ใช้ก็ได้

5. เชื่อว่าข้อมูลภายใน (Inside Information) คือทุกสิ่ง วอเรน บัพเฟทท์ เริ่มต้นลงทุนจากการเป็นนักลงทุนธรรมดาคนหนึ่งไม่ได้มีสิทธิพิเศษอะไร แม้ว่าในปัจจุบันเขาจะสามารถเข้าถึงข่าวสารที่คนทั่วไปอาจจะไม่สามารถเข้าถึงได้ แต่ผลตอบแทนจากการลงทุนในอดีตของเขานั้นกลับสูงกว่าในปัจจุบัน ... วอเรน ได้กล่าวว่า แหล่งข้อมูลที่เขาชื่นชอบมากที่สุดคือแหล่งข้อมูลที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งก็คือ รายงานประจำปีของบริษัทนั่นเอง! และถึงแม้ว่าคุณจะมีข้อมูลภายในและเงินทุนมากมายเพียงใด คุณก็สามารถถังแตกได้ในหนึ่งปี ข้อมูลภายในแม้จะทำให้เรามีความได้เปรียบ แต่ต้องรำลึกไว้อยู่เสมอว่าภายในตลาดเองนั้นต่างมีข่าวลืออยู่มากมาย แม้จะเป็นข่าวสารที่ออกมาจากปากผู้บริหาร นักลงทุนเองต้องรับข่าวสารอย่างรอบคอบ และพิจารณาอย่างถี่ถ้วนอยู่เสมอก่อนตัดสินใจลงทุน

6. เชื่อว่าเราจะต้องกระจายการลงทุน!! (Diversifying) เราทุกคนถูกสอนว่าอย่าใส่ไข่ทุกใบไว้ในตะกร้าเดียวกัน แต่ใครที่ติดตามกลยุทธ์การลงทุนของ วอเรน บัฟเฟทท์ จะทราบว่า ตัววอเรนเองนั้นไม่ได้ใช้วิธีกระจายการลงทุน จอร์จ โซรอส เองก็เช่นกัน เคยมีคนกล่าวว่าในบางครั้งผู้ที่กระจายการลงทุนก็เหมือนกับการไม่รู้ว่าจริงๆแล้วตัวเองควรจะลงทุนในอะไร ผู้เขียนขออธิบายว่าหลักการหนึ่งของการกระจายการลงทุนนั้นมีขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนโดยนำผลตอบแทนจากหลักทรัพย์ตัวหนึ่งไปชดเชยผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากหลักทรัพย์อีกตัวหนึ่งที่มีลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกัน ดังนั้นผลตอบแทนที่ได้รับจึงอาจต่ำกว่าการถือครองหลักทรัพย์ที่ให้ผลกำไรเพียงตัวเดียว ความยากของแนวคิดนี้คือ แล้วเราจะหาหลักทรัพย์ตัวนั้นได้อย่างไร? วอนเรน บัฟเฟฟท์ ใช้เวลาและให้ความสำคัญกับการศึกษาหลักทรัพย์ตัวหนึ่งจนเข้าใจมันอย่างถ่องแท้ ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน นักลงทุนจะต้องเข้าใจว่าการกระจายการลงทุนนั้นมีข้อดีอยู่ แต่ถ้าหากนักลงทุนพบโอกาสในการลงทุนในหลักทรัพย์ตัวหนึ่ง จากการทุ่มเทความรู้และเวลาเพื่อศึกษาแล้วทำไมถึงไม่กล้าลงทุนในสิ่งนั้นอย่างเต็มที่ละครับ?

7. เชื่อว่าจะต้องเสี่ยงมากเพื่อผลกำไรที่มาก อีกสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนทุกท่านมักจะได้ยินกันคือ High Risk – High Expected Return นักลงทุนที่ชื่นชอบความเสี่ยงจึงแสวงหาหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงโดยหวังว่าตนเองจะได้รับผลตอบแทนที่สูงตามไปด้วย แต่หากพิจารณาจากผู้ที่ประสบความสำเร็จทางการเงินจะพบว่าเขาเหล่านั้นกลับเป็นผู้ที่พยายามยามจะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเสียด้วยซ้ำ (risk-averse) การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงไม่ใช่หมายถึงการไม่ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น แต่นักลงทุนที่เป็นผู้ชนะมักจะพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนการลงทุนอยู่เสมอว่าเขาจะทำกำไรได้เท่าไรหากคิดถูก ในทางตรงกันข้าม หากคิดผิดเขาจะขาดทุนเท่าไร ถ้าการลงทุนนั้นให้ผลกำไรที่สูงมาก ในขณะที่อาจจะขาดทุนเพียงนิดเดียว เขาจะตัดสินใจลงทุน หากท่านผู้อ่านสนใจแนวคิดดังกล่าวท่านผู้อ่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก นักลงทุนดันโด (The Dhandho Investor) อันเป็นรูปแบบหนึ่งของแนวคิดในข้างต้น การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเป็นหัวใจในการสั่งสมความมั่งคั่ง ดังนั้นนักลงทุนทุกท่านจงอย่าสูญเสียทรัพย์สินของท่านไปกับการลงทุนที่ท่านไม่มีความรู้ความเข้าใจ

นักลงทุนหลายๆท่านไม่สามารถที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุนได้ เพียงเพราะความเชื่อในการลงทุนที่ผิด จุดเริ่มต้นสำหรับการเปลี่ยนแปลงสู่ความสำเร็จนั่นคือ การสำรวจดูว่าตนเองนั้นมีความเชื่อที่ผิดเหล่านี้อยู่หรือไม่ เมื่อพบแล้วจงปรับเปลี่ยนความเชื่อดังกล่าว นอกจากนี้การศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้รู้จริงในสิ่งที่ตนเองทำและสนใจนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ผมหวังว่านักลงทุนทุกท่านจะได้รับประโยชน์จากบทความนี้และเป็นผู้ชนะในเกมส์แห่งการลงทุนในที่สุดครับ

ความคิดเห็นและข้อความต่างๆในบทความนี้เป็นทัศนะของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
thanks khun from pantip
ขอบคุณ คุณจิตวิสุทธิ์ พู่มนตรี
http://www.pantip.com/cafe/sinthorn/top ... 79577.html

Re: 7 ความเชื่อของผู้แพ้

โพสต์แล้ว: ศุกร์ มี.ค. 25, 2011 11:23 am
โดย naijan
ทบทวนดูตัวเอง เข้าข่ายหลายข้อเลยครับ
:oops: :oops: :oops: :oops: :oops:

Re: 7 ความเชื่อของผู้แพ้

โพสต์แล้ว: ศุกร์ มี.ค. 25, 2011 2:59 pm
โดย สิบพัน
นึกถึงหลักกาลามสูตรเลยค่ะ งี้ก็ต้องห้ามเชื่อบทความนี้ด้วยป่ะคะ...ต้องพิสูจน์เอง o_O

Re: 7 ความเชื่อของผู้แพ้

โพสต์แล้ว: ศุกร์ มี.ค. 25, 2011 4:26 pm
โดย pdGrff
5. เชื่อว่าข้อมูลภายใน (Inside Information) คือทุกสิ่ง!!! อันนี้เห็นด้วยมากค่ะ มันทำได้แค่ในระยะสั้นเท่านั้นเอง

Re: 7 ความเชื่อของผู้แพ้

โพสต์แล้ว: ศุกร์ มี.ค. 25, 2011 6:22 pm
โดย papekaped
ของผมก้อเข้าไปหลายข้อเหมือนกันไม่ต่ำกว่า ห้าข้ออะ

Re: 7 ความเชื่อของผู้แพ้

โพสต์แล้ว: เสาร์ มี.ค. 26, 2011 12:07 am
โดย ถุงเงินเก่า
ส่วนตัวว่าบางข้อนึกว่าจะหายแล้ว แต่พอถึงเวลาหนึ่งกลับเกิดเชื่อขึ้นมาใหม่อีก :oops:

Re: 7 ความเชื่อของผู้แพ้

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ มี.ค. 27, 2011 1:26 am
โดย todsapon
มิน่าล่ะกูชอบกระจาย ถึงขั้นมีกฎว่าจะไม่ถือหุ้นเกิน 40% ของพอร์ต ตัวไหนไม่ค่อยมั่นใจนักก็ซื้อน้อยหน่อย ตอนนี้ในพอร์ตมีอยู่ราว 5-6 ตัว

Re: 7 ความเชื่อของผู้แพ้

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ มี.ค. 27, 2011 2:32 pm
โดย thalucoz
ขอบคุณครับ :P