16ยุทธ์ศาสตร์ พิชิตการลงทุน2:ValueWay มนตรี นิพิฐวิทยา
โพสต์แล้ว: อังคาร ธ.ค. 07, 2010 9:54 am
Value Way
มนตรี นิพิฐวิทยา
16 ยุทธ์ศาสตร์ พิชิตการลงทุน: ลงทุนให้ได้ผลตอบแทนรวมที่แท้จริงสูงสุด
การลงทุนนั้นมีภาพลวงตามากมาย ไม่มีภาพลวงตาใดที่น่ากลัวเท่าภาษีและอัตราเงินเฟ้ออีกแล้ว กฎการลงทุนที่สำคัญข้อแรกที่เซอร์ จอห์น เทมเพิลตัน หยิบยกมาเป็นอันดับแรกคือ การลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่แท้จริงให้สูงที่สุด นั่นคือผลตอบแทนจากการลงทุนหลังหักภาษีและผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อแล้ว
ภาพลวงการลงทุนอย่างอื่นนั้น หากเราพิจารณาให้รอบครอบก่อนการลงทุนก็ยังคงพอจะมองออกได้บ้าง แต่ภาพลวงตาจากอัตราเงินเฟ้อนั้นคาดหมายได้ยาก และเป็นอุปสรรคในการกำหนดแผนการลงทุนอย่างแท้จริง เพราะคนทั่วไปไม่เข้าใจว่าโลกนี้มีตัวการทำลายอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยที่เรามองไม่เห็น
อัตราเงินเฟ้อนั้นโดยความหมายแล้วคือการที่ราคาสินค้าต่างมีราคาสูงขึ้นทุกวันๆอย่างช้าๆ หรือในบางครั้งก็มีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่จำนวนเงินของเรานั้นมีเท่าเดิม หรือจะกล่าวได้ว่าเงินที่เคยซื้อสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งได้ในราคา 5 บาทเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว บัดนี้ไม่สามารถซื้อสินค้าอย่างเดิมนั้นในราคา 5 บาทอีกต่อไป
แท้จริงแล้ว “เงินเฟ้อ” คือการที่เงินมีมูลค่า(ไม่ใช่จำนวน)ลดลง ซึ่งอาจจะเกิดจากข้าวของ สินค้าต่างๆแพงขึ้น หรือจะเกิดจากน้ำมือของภาครัฐฯในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยปกติภาครัฐฯจะปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจนั้นมีเงินเฟ้อเล็กน้อย เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต แต่ภาครัฐฯนั่นก็คอยกำกับดูแลไม่ให้เงินเฟ้อสูงมากเกินไปจนควบคุมไม่ได้ จนเกิดฟองสบู่ในระบบเศรษฐกิจ และจะตามมาด้วยวิกฤติการ ซึ่งแน่นอนว่า “เงินเฟ้อ” นั้นมีอยู่ และจะอยู่คู่กับเราตลอดไป เพียงแต่จะมีอัตราสูงมากหรือน้อยเท่านั้นเอง
คุณๆเชื่อหรือไม่ว่า อัตราเงินเฟ้อเพียง3%ต่อปีสามารถลดมูลค่าของเงินในวันนี้ให้เหลือเพียง ครึ่งหนึ่งในอีก 20กว่าปีข้างหน้า และตลอด 10กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยประมาณ 3%ต่อปี และหากยังเป็นเช่นนี้อยู่ เงินที่ท่านมีอยู่เมื่อปี 2000 จะมีค่าลดลงเหลือครึ่งหนึ่งในราวปี 2023 มีหนึ่งล้านบาทจะมีค่าเพียงห้าแสนบาท มีร้อยล้านบาทจะเหลือมูลค่าเพียง ห้าสิบล้านบาท
เซอร์ จอห์น เทมเพิลตัน กล่าวว่า “วัตถุประสงค์หลักที่แท้จริงของการลงทุนระยะยาว คือการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อ” หรือการรักษามูลค่าของเงินในวันนี้ให้ทรงคุณค่าต่อไปในวันข้างหน้า ผู้ใดที่ไม่ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของอัตราเงินเฟ้อและผลกระทบของมันนั้น จะส่งผลเสียต่อการลงทุนอย่างแท้จริง
ท่านยังกล่าวด้วยว่า “ความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของผู้คนทั้งหลายคือ การนำเงินส่วนใหญ่หรือทั้งหมดไปลงทุนในตราสารหนี้” ความจริงแล้วการลงทุนในตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ต่างๆ นั้นจัดเป็นเครื่องมือการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ แท้จริงมันมีความผันผวนหรือโอกาสในการขาดทุนต่ำ แต่มันไม่ได้รับประกันว่าจะปราศจากความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐฯด้วยเงินเริ่มต้น 1,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ในรอบ80ปีที่ผ่านมา (1930 – 2010) จะทำให้ได้รับเงินในต้นปี 2010 เท่ากับ 131,927ดอลล่าร์สหรัฐ หรือ 6.3%ทบต้นเฉลี่ยต่อปี ในขณะที่ลงทุนในดัชนีหุ้น S&P500 ด้วยเงินทุนเริ่มต้นเท่ากัน ในต้นปี 2010 เท่ากับ 1,281,420 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือ 9.4%ทบต้นเฉลี่ยต่อปี ไม่น่าเชื่อว่าผลตอบแทนที่ห่างกันแค่ 3.1%ต่อปีนั้นจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงมากกว่าหลายเท่าตัว
แต่อย่าลืมว่าผลตอบแทนดังกล่าวข้างต้นนี้ยังไม่ได้คิดผลกระทบจากเงินเฟ้อออกไปเลย หากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 80 ปีที่ผ่านมานี้เท่ากับ 3%ต่อปี ผลตอบแทนที่แท้จริงของการลงทุนในดัชนีหุ้น S&P500ก็จะเท่ากับเพียง 6.4%ต่อปีเท่านั้น ซึ่งมูลค่าเงินลงทุนจะใกล้เคียงกับการลงทุนในตราสารหนี้ขณะที่ยังไม่ได้หักผลกระทบเงินเฟ้อออกไป
ภาพลวงตาที่เห็นคือในปี2010เรามีเงิน 1,281,420 ดอลล่าร์สหรัฐ แต่มันมีมูลค่าเท่ากับ 131,927ดอลล่าร์สหรัฐเมื่อ 80 ปีที่แล้วนี่เอง
สำหรับบ้านเรานั้นอัตราเงินเฟ้อหากยังทรงตัวเฉลี่ยที่ 3%ต่อปี และผลตอบแทนจากตราสารหนี้ หรือเงินฝากที่เฉลี่ยอยู่ที่ 1.9%ต่อปีนี้ หากยังลงทุนในตราสารหนี้หรือร้ายกว่านั้นคือการฝากเงินที่ได้ผลตอบแทนต่ำๆอย่างนี้ มันเป็นเพียงการชลอการเสื่อมค่าของเงินของคุณไม่ให้มันเสี่ยมค่าเร็วกว่าที่ควรจะเป็นเท่านั้น ไม่ได้ทำให้เงินของคุณเพิ่มมูลค่าและเพียงพอต่อการดำรงค์ชีวิตในอนาคตแม้แต่น้อย
ท่านว่าทางแก้ก็คือ ทำความเข้าใจตัวเองว่ายอมรับความผันผวนได้แค่ไหน และเริ่มวางแผนการลงทุนที่กระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์อื่นๆที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตามความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้ แม้มันจะผันผวนกว่าแต่ในระยะยาวมันจะให้ผลตอบแทนที่แท้จริงที่สูงกว่า และปลอดภัยจากอัตราเงินเฟ้อ