ผวาฟันด์โฟลว์ปั๊มฟองสบู่หุ้น จับตาคลื่นดอลลาร์ปี54
นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนประเมิน ดัชนี 1,200-1,400 จุด โซนอันตรายตลาดหุ้นไทยสู่ภาวะฟองสบู่ ชี้จับตาเงินทุนไหลเข้าปีหน้าเป็นตัวแปรสำคัญ เตือนจุดเสี่ยง 1,160 จุด ขณะที่เผยปัจจัยพื้นฐานในประเทศ ทั้งเศรษฐกิจ - การทำกำไรบริษัทจดทะเบียน
ยังแกร่ง เผย 9 เดือนแรก โชว์กำไร 4.27 แสนล้าน พุ่งเฉียด 30 % กบข.รับปีหน้าลงทุนลำบาก เหตุหุ้น 40-50 ตัว ราคาแพงแล้ว "ศุภวุฒิ"ชี้ปี 2554 ธปท.ต้องสกัดเงินไหลเข้า ล่าสุดหุ้นดิ่งผวาจีนสกัดฟองสบู่
กระแสความกังวลต่อภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชียรวมหุ้นไทยยังมีต่อเนื่อง แม้ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดจะลดความร้อนแรงลง จากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค จากความกังวลกรณีประเทศจีนออกมาตรการสกัดฟองสบู่ และอาจปรับขึ้นดอกเบี้ย จากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น รวมถึงความกังวลกรณีประเทศในภูมิภาคจะออกมาตรการสกัดเงินทุนไหลเข้าหรือฟันด์โฟลว์
ความกังวลถึงภาวะความผันผวนของเศรษฐกิจทั่วโลก หลังสหรัฐอเมริกาเดินหน้ามาตรการเพิ่มปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐฯเข้าระบบอีกระลอก(QE2) ซึ่งจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันปัญหาค่าเงินในประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ดร.อัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ย้ำว่า ธปท.ยังคงติดตามและเตรียมมาตรการจำนวนมากไว้รับมือสถานการณ์อย่างเข้มงวดและรอบคอบ เพื่อไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว โดยธปท.ไม่ได้เพิกเฉยต่อกระบวนการทำให้อัตราดอกเบี้ยกลับไปยืนในระดับปกติ และยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบเวลานี้ เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อในระยะยาว (อ่านรายละเอียดข่าว ธปท.เพิ่มมาตรการคุมเงินไหลเข้า... หน้า 14)
สำหรับตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวขึ้นร้อนแรงตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2553 ส่งผลให้ดัชนียืนเหนือระดับ 1,000 จุดได้เป็นครั้งแรก ตั้งแต่เกิดวิกฤติปี 2540 ทำให้ในรอบเกือบ 11 เดือนของปีนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นแล้วถึง 42 %
***ดัชนี 1,400 จุด เป็นฟองสบู่
"ฐานเศรษฐกิจ"ได้สำรวจไปยังนักวิเคราะห์หลักทรัพย์และนักลงทุน ที่คร่ำหวอดอยู่ในตลาดหุ้นมานาน ต่างมองตรงกันว่า ฟองสบู่ยังไม่ก่อตัวในตลาดหุ้นไทย แต่ก็ยอมรับว่า ขณะนี้ราคาหุ้นไม่ถูกและไม่แพงจนเกินไป ขณะที่มองตรงกันอีกว่า ความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้น คือ ปัจจัยจากภายนอก นั่นคือ เศรษฐกิจประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ยังชะลอตัว ซึ่งจะทำให้เงินทุนหนีเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย
นายกวี ชูกิจเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (มหาชน)(บมจ.) กล่าวว่า สำหรับสัญญาณหรือตัวบ่งชี้การเกิดฟองสบู่ในตลาดหุ้นไทย คือ ราคาหุ้นปรับขึ้นไปมากเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานรองรับ จนทำให้ระดับราคาต่อกำไรต่อหุ้น หรือพีอี เรโช อยู่ที่ 17 เท่า และดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นไปที่ระดับ 1,400 จุด
อย่างไรก็ตามปัจจัยที่จะต้องจับตา คือ กระแสเงินทุนไหลเข้าในปี 2554 และมาตรการของภาครัฐ ในการควบคุมการเกิดภาวะฟองสบู่กับเศรษฐกิจของประเทศ จากกระแสเงินที่ยังไหลเข้ามาต่อเนื่อง ที่สำคัญคือ การป้องกันไม่นำเงินร้อนที่เป็นเงินระยะสั้น มาใช้ในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง อาทิ การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะต้องมีการควบคุม เพื่อไม่ให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ซึ่งยอมรับว่าสัญญาณจากความเสี่ยงจากกลุ่มสถาบันการเงินก็ยังไม่มี เนื่องจากเอ็นพีแอลยังต่ำ และมีการควบคุมการปล่อยสินเชื่อ รวมทั้งเงินสำรองของธนาคารก็ยังสูงกว่าในช่วงเกิดฟองสบู่ในอดีต
ส่วนกระแสเงินร้อนของต่างชาติ แม้ว่าจะไหลเข้าตลาดหุ้นจนส่งผลต่อภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นนั้น เชื่อว่าไม่น่าจะมีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นกลุ่มคนไม่มาก และเปรียบได้กับเป็นกลุ่มคนมีเงิน เพียงส่งผลให้กำไรลดลงเท่านั้นหากฟองสบู่แตก ขณะที่ยอมรับว่าราคาหุ้นปัจจุบันจะเต็มมูลค่าแล้ว หากอิงจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯปีนี้ที่ระดับ 1,030-1,040 จุด
***หุ้นขึ้นอีก 200 จุด อันตราย
ด้านมุมมองของดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญการลงทุนในตลาดหุ้น กล่าวว่า ช่วง 2 ปีมานี้ (ปี 2552-2553 )หุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ราคาหุ้นตอนนี้จึงอยู่ในภาวะที่ต้องยอมรับว่าไม่ถูกแล้ว แต่ก็ไม่แพงจนเกินไป อย่างไรก็ตามในความเห็นส่วนตัวมองว่าหากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับขึ้นอีก 20 % (หรือดัชนีอยู่ที่ระดับ 1,200 จุด โดยคำนวณจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯวันที่ 16 พ.ย.53 ปิดที่ 1,000.73 จุด) ถือว่าอันตราย เพราะเป็นฟองสบู่แล้ว
อย่างไรก็ตามเมื่อดูจากปัจจัยในประเทศ ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจและปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียน(บจ.)เอง พบว่าหุ้นไทยมีความเสี่ยงไม่สูงที่จะเกิดภาวะฟองสบู่ หากแต่มีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกคือ เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและยุโรป ที่ยังชะลอตัว และการทยอยดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE2 ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่ ยังมีแนวโน้มเติบโตในระดับที่ค่อนข้างดี แม้จะชะลอตัวลงบ้างก็ตาม ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะจูงใจให้มีเงินลงทุนไหลเข้าในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งอาจจะดันให้ตลาดหุ้นเสี่ยงต่อการเกิดภาวะฟองสบู่ได้
นายยิ่งยง นิลเสนา รองเลขาธิการ กลุ่มงานบริหารเงินกองทุน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.)กล่าวว่า ปี 2554 คาดว่ากระแสเงินลงทุนยังคงไหลเข้าภูมิภาคเอเชีย ดังนั้นกบข.ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทย และตลาดหุ้นเกิดใหม่หรืออีเมอร์จิ้งมาร์เก็ต ที่ระดับ "มากกว่าตลาด" อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ปี 2554 การลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะยากขึ้น เนื่องจากหุ้นที่กบข.ลงทุน 40-50 ตัวนั้น ราคาเริ่มใกล้เต็มมูลค่าแล้ว
***ระวัง!สภาพคล่องล้น
นายแอนดรูว์ เยทส์ หัวหน้าฝ่ายขายหุ้นระหว่างประเทศ บล. เอเซีย พลัสฯ กล่าวว่า ในปีหน้าจะเห็นปัจจัยบวกหลายประการ แต่ปัจจัย สำคัญจะขึ้นอยู่กับตลาดต่างประเทศ รวมทั้งขนาดของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ และภาวะฟองสบู่ด้านสภาพคล่อง
ขณะที่คาดว่าปีหน้าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ จะขึ้นไปแตะ 1,200 จุด และอาจจะพุ่งขึ้นเหนือระดับดังกล่าวได้อย่างง่ายดาย ด้วยแรงหนุนจากสภาพคล่อง อย่างไรก็ดี ถ้าหากเกิดภาวะฟองสบู่ ปีหน้าก็จะจบลงอย่างเลวร้าย และดัชนีก็อาจจะดิ่งลงอย่างรุนแรงได้โดยง่ายก่อนสิ้นปี
*** ดัชนี 1,160 จุด เข้าเขตเสี่ยง
นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนลูกค้าบุคคล บล.ไทยพาณิชย์ฯ กล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่เร่งการเกิดความเสี่ยงให้เกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นไทยปีหน้าที่สำคัญคือ กระแสเงินลงทุนของต่างชาติ ที่ไหลเข้าภูมิภาคเอเชีย จากมาตรการอัดฉีดเงินของ สหรัฐอเมริกา สำหรับปีนี้ยอมรับว่า ราคาหุ้น ณ ระดับดัชนีที่ 1,000-1,040 จุด เข้าใกล้ระดับเต็มมูลค่าแล้ว
อย่างไรก็ตามหากฟันด์โฟลว์ยังไหลเข้าหุ้นไทยต่อเนื่อง จนทำให้ระดับราคาหุ้นสูงขึ้นเกินปัจจัยพื้นฐาน หรือพี/อี เกิน 14 เท่าในปี 2554 ถือว่าเป็นความเสี่ยง ซึ่งอิงจากการเติบโตของกำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียน(บจ.) ปี 2554 ที่อัตรา 15 % หรือดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯที่ระดับ 1,160 จุด
ขณะที่หากประเมินกระแสเงินลงทุนต่างชาติ ที่จะไหลเข้าตลาดหุ้นไทยในปี 2554 ประมาณกว่า 80,000 ล้านบาท เชื่อว่าจะไม่ร้อนแรงเท่าปีนี้ ทั้งนี้เพราะปัจจุบันราคาหุ้นไทยถือว่าปรับขึ้นไปมากแล้ว ประกอบกับค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง ดังนั้น แรงจูงใจการลงทุนของต่างชาติเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาค คงไม่โดดเด่นมากนัก เมื่อเทียบตลาดหุ้นจีน เกาหลีใต้ ที่ปีนี้ยังปรับขึ้นไม่มาก
ด้านสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เผยผลสำรวจนักวิเคราะห์ล่าสุด โดยคาดการณ์ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯในปี 2554 ปิดที่ระดับ 1,133 จุด ประเมินดัชนีสูงสุดที่ 1,201 จุด และต่ำสุดที่ 907 จุด ขณะที่ประมาณการอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิบจ. ปีหน้าที่ 15 %
สำหรับผลประกอบการบจ.งวด 9 เดือนปี 2553 บล.เอเซีย พลัสฯ รายงานว่า บจ.จำนวน 441 บริษัทจากทั้งหมด 549 บริษัท มีกำไรสุทธิรวม 427,617.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 979,83.5 ล้านบาท คิดเป็น 29.72 % จากช่วงเดียวกันของปี 2552 ที่มีกำไรสุทธิ 329,634 ล้านบาท
*** "ปีหน้าธปท.ต้องสกัดเงินไหลเข้า
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ และประธานสายงานวิจัย บล.ภัทรฯ กล่าวว่า แนวโน้มระยะยาวเงินบาทน่าจะแข็งค่าต่อเนื่อง เพราะค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลง แม้ช่วงสั้นจะเห็นการอ่อนค่าของเงินบาทมาอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ตาม ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ข่าวการออกมาตรการคิวอี 2 ของสหรัฐฯ รวมทั้งปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศยุโรป และความเสี่ยงของไอซ์แลนด์ ที่เริ่มก่อตัวจนส่งผลถึงกรีซและประเทศอื่น ๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐฯ ยังยืนยันออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินต่อ นั่นหมายถึงจะมีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบต่อเนื่อง จะส่งผลให้เงินทุนยังไหลเข้าภูมิภาคเอเชีย รวมถึงไทยเช่นเดิม เพราะมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย( ธปท.) คงจะต้องมีการออกมาตรการควบคุมเงินไหลเข้า
"ไตรมาส 3 ปีนี้ เม็ดเงินต่างชาติได้ไหลเข้ามาในไทยมากถึง 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ บวกกับการเกินดุลบัญชีเกินสะพัด 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นว่า บาทจะยังคงแข็งค่าขึ้น ถ้าสหรัฐฯ อัดฉีดเงินเข้ามาอีก และจีนยังไม่ยอมร่วมมือ ในการปล่อยให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นบ้าง และถ้าไทยไม่ยอมก็ต้องไหลเข้าสู่สินค้าโภคภัณฑ์ไปเรื่อย ๆ สุดท้ายไทยก็ต้องรับภาระ และเอกชนน่าจะลำบากในการปรับตัว" ดร.ศุภวุฒิ กล่าว
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,584 18-20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
http://www.thannews.th.com/index.php?op ... Itemid=417