ไซฟ่อน นั้น ทำกันอย่างไร? และ จับสัญญาณการ ไซฟ่อน
โพสต์แล้ว: จันทร์ พ.ย. 08, 2010 12:16 pm
อ่านเจอในพันทิป เลยเอาฝากครับ :P
ไซฟ่อน นั้น ทำกันอย่างไร? และ จับสัญญาณการ ไซฟ่อน
http://www.pantip.com/cafe/sinthorn/top ... 93821.html
ไซฟ่อน นั้น ทำกันอย่างไร? และ จับสัญญาณการ ไซฟ่อน
http://www.pantip.com/cafe/sinthorn/top ... 93821.html
ไซฟ่อน นั้น ทำกันอย่างไร? และ จับสัญญาณการ ไซฟ่อน
ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/home/news ... list-1.php
***บทความนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับตลาดทุนแก่สาธารณชนเท่านั้น
ในการจะนำข้อมูลไปอ้างอิง ควรตรวจสอบความถูกต้องและเป็นปัจจุบันของกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องด้วย***
..
หากคุณเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียน วันดีคืนร้ายมีข่าวออกมาว่า ผู้บริหารคนหนึ่งยักย้ายถ่ายเทเงินของบริษัทไปเข้ากระเป๋าตัวเอง
คุณ จะรู้สึกอย่างไรคะ หากคุณเห็นว่าโกงได้โกงไป อย่าได้แคร์ ขอแค่มีผลงานดี ทำกำไรให้บริษัทเยอะ ๆ ราคาหุ้นจะได้ขึ้น แถมคุณยังพลอยฟ้าพลอยฝนได้เงินปันผลงามๆ ละก็ ดิฉันขอให้คุณเปลี่ยนความคิดเถอะค่ะ เพราะจากบทเรียนการยักย้ายถ่ายเทผลประโยชน์ หรือ ไซฟ่อน ที่เกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งทั่วโลกนั้น มักจบด้วยการล้มละลาย ราคาหุ้นรูดต่ำลงจนแทบไม่มีมูลค่า เช่นในกรณีของบริษัท Enron ที่สหรัฐอเมริกา ราคาหุ้นที่เคยสูงถึง 90 ดอลลาร์ ตกลงมาเหลือเพียง 15 เซนต์ ผู้ถือหุ้นสูญเสียเงินไปรวม 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ความเสียหายมากมายมหาศาลเกินกว่าจะเยียวยา วันนี้ ดิฉันจึงอยากพาไปรู้จักเรื่องราวของการไซฟ่อนกันให้ดีขึ้น เพื่อจะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ไว้ดูแลการลงทุนของคุณค่ะ
ไซฟ่อน นั้น ทำกันอย่างไร?
การ ไซฟ่อนเงิน (money siphoning) หมายถึง การยักย้ายถ่ายเทผลประโยชน์ของบริษัทไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวค่ะ โดยอาจจะทำผ่านช่องทางการทำธุรกิจปกติในรูปของการซื้อขายสินค้า หรือทรัพย์สิน การกู้หรือให้ยืมเงิน การค้ำประกัน ระหว่างบริษัทจดทะเบียนกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้บริหารหรือกิจการของบุคคลเหล่านี้ ซึ่งจากการที่ ก.ล.ต. ได้ศึกษาพฤติกรรมของบริษัทจดทะเบียนไทยในช่วงที่ผ่านมา พบว่า มีรูปแบบการไซฟ่อนที่พบบ่อย ๆ อยู่สามแบบด้วยกันค่ะ
แบบที่หนึ่ง
คือ การที่ บริษัทจดทะเบียนซื้อหรือขายสินค้า หรือทรัพย์สิน ราคาสูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะกับกรรมการ/ผู้บริหาร/ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือบริษัทในเครือ/บริษัทที่เกี่ยวข้องกับบุคคลเหล่านั้น เช่น บมจ. วนิดา ได้ลงทุนซื้อหุ้น 25% ของ บจก. มหศักดิ์ (เป็นบริษัทของคุณประจักษ์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บมจ. วนิดา) ในราคา 15 ล้านบาท ทั้งที่มูลค่าตามบัญชีเพียง 2 ล้านบาท โดยอ้างว่ามูลค่าที่จ่ายเพิ่มเป็นค่าความนิยมของ บจก. มหศักดิ์ แต่ในอีก 1 เดือนต่อมา บมจ. วนิดา ต้องตั้งสำรองเผื่อขาดทุนหุ้น บจก. มหศักดิ์ถึง 13 ล้านบาท และในปีถัดมา บจก. มหศักดิ์ ก็เลิกกิจการ เป็นต้นค่ะ
อีก ตัวอย่างของการไซฟ่อนในรูปแบบนี้ที่มักเกิดขึ้น ก็คือ เรื่องของการซื้อที่ดินในราคาสูง โดยมักให้เหตุผลว่าเพื่อเตรียมขยายโรงงาน เช่น บมจ. วงศ์วิบูลย์ ซื้อที่ดินจาก บจก. พิสมัย (ซึ่งเป็นบริษัทที่ภรรยาประธานกรรมการ บมจ. วงศ์วิบูลย์ ถือหุ้นอยู่) ในราคา 50 ล้านบาท ซึ่งในเวลาต่อมา ปรากฏราคาประเมินของที่ดินแปลงดังกล่าวเพียง 18 ล้านบาท แถม บมจ. วงศ์วิบูลย์ยังประกาศยกเลิกแผนขยายโรงงาน เท่ากับที่ดินที่ซื้อมาไม่มีการใช้ประโยชน์ตามที่บอกไว้ตอนซื้อ แต่ได้มีการผ่องถ่ายเงินของ บมจ. วงศ์วิบูลย์ออกไปยังบริษัทที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารเรียบร้อยแล้วค่ะ
แบบที่สอง
คือ การที่ บริษัทจดทะเบียนให้กู้หรืออำนวยประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นใหญ่ในกิจการส่วนตัว แล้วขอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติอนุมัติ และภายหลังปรากฏว่า การให้กู้หรืออำนวยประโยชน์ดังกล่าวทำให้บริษัทจดทะเบียนได้รับความเสียหาย เช่น บมจ. ดาวระบำ ได้รับมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น (อาจเพราะผู้ที่โหวตออกเสียงส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเดียวกัน) ให้ปล่อยกู้แก่บริษัทส่วนตัวของคุณน้ำหวาน ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นเงินประมาณ 1,500 ล้านบาท เพื่อลงทุนโครงการแห่งหนึ่ง ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดย บมจ. ดาวระบำ จะไม่ได้เป็นผู้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว ต่อมาหลังวิกฤติเศรษฐกิจ โครงการดังกล่าวถูกเลื่อนไปไม่มีกำหนด บริษัทส่วนตัวของคุณน้ำหวานไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ได้ ทำให้ บมจ. ดาวระบำเสียหายค่ะ
แบบที่สาม
คือ การปลอมแปลงเอกสาร/หลักฐาน รวมถึงเปิดบริษัทขึ้นมาทำธุรกรรมซื้อขายลวง เพื่อไซฟ่อนเงินออกค่ะ เช่น คุณประจวบ ผู้บริหารของ บมจ. ไทยมนตรี ใช้ชื่อผู้แทน (นอมินี) เปิดบริษัทอีกแห่งหนึ่ง เพื่อส่งวัตถุดิบให้กับ บมจ. ไทยมนตรี โดยมีการโยกเงินออก เพื่อซื้อวัตถุดิบกับบริษัทดังกล่าว และจัดทำเอกสาร/หลักฐานปลอมขึ้นมา ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ได้มีการซื้อขายสินค้ากันจริง เป็นต้นค่ะ
ด้วย ผลกระทบจากการไซฟ่อน ที่เป็นผลเสียต่อตลาดทุนโดยรวม และถือเป็นการเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายอื่นนั้น ช่วง 5 -6 ปีที่ผ่านมา ก.ล.ต. จึงได้ดำเนินมาตรการเข้มในเรื่องนี้มาโดยตลอดค่ะ หากกรณีที่พบการกระทำผิด ก็ได้มีการกล่าวโทษผู้บริหารในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบในกิจการนั้น ๆ นอกจากนี้ ยังได้วางมาตรการในเรื่องของการป้องกันควบคู่กันไป ด้วยการเข้าไปติดตามดูข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด ซึ่งแหล่งข้อมูลที่จะช่วยชี้นำได้ว่า บริษัทอาจเริ่มมีความไม่ชอบมาพากลในเรื่องของการไซฟ่อน ก็คือ ข้อมูลงบการเงิน และการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน ค่ะ เนื่องจากที่ใดที่พบการไซฟ่อน ก็มักจะพบเรื่องของการตกแต่งงบการเงินด้วย ซึ่งดิฉันจะมีคำแนะนำเพื่อสังเกตพิรุธเรื่องนี้มาฝากกันในครั้งต่อไปค่ะ