ไปเจอบทความใน Facebook เรื่องราวที่มาที่ไปของ 3G
ว่ากันไปถึงเรื่องในอดีต คิดว่าน่าสนใจจึงขอเอามาแบ่งปันกันครับ
ยาวหน่อยแต่อ่านสนุก เข้าใจง่ายครับ
http://www.facebook.com/#!/note.php?not ... 903&ref=mf
เมื่อ 3G ไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยีเท่านั้นโดย Rood Thanarak ณ วันที่ 17 กันยายน 2010 เวลา 17:29 น.
เพื่อนฝูงหลายคนชวนผมคุยเรื่อง 3G อยู่บ่อยๆ บ้างก็อยากรู้ว่าทำไมมันซับซ้อน บ้างก็อยากรู้ว่าทำไมบ้านเราไม่มี บ้างก็อยากรู้ว่าใครขัดขาใคร ฯลฯ
ไหนๆวันนี้ 3G กำลังเป็นข่าวใหญ่ เลยขออนุญาตเล่า นิทาน เสียหน่อย ซึ่งการจะเข้าใจได้ก็ต้องย้อนอดีตทำความเข้าใจกันเล็กน้อย แต่ตั้งใจว่าจะเล่าแบบ สภากาแฟ ที่ไม่ต้องปีนบันไดฟัง
เรื่องมีอยู่ว่า ...
ย้อนเวลากลับไปหลายสิบปีก่อน ระบบโทรคมนาคมของบ้านเราบริหารงานกันโดย 2 องค์กรหลักคือ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (TOT) และ การสื่อสารแห่งประเทศไทย (CAT) หน่วยงานทั้งคู่เป็น รัฐวิสาหกิจ
โลกในวันนั้น (ไม่เฉพาะในไทย) บริหารทรัพยากรกันด้วยระบบ สัมปทาน หมายถึงระบบที่ รัฐ เปิดให้ เอกชน เข้ามาแข่งกันเสนอผลตอบแทนให้รัฐ เพื่อแลกกับ สิทธิ ในการเข้ามาหาประโยชน์จากทรัพยากรนั้น
ซึ่งในกรณีนี้คือ คลื่นความถี่
พอโลกหมุนมาจนรู้จักเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ รัฐไทย ก็เปิดสัมปทานให้ เอกชน เข้ามาลงทุนทำธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเอกชนก็ต้องส่งผลประโยชน์ให้รัฐ (ค่าต๋ง) ตามที่สัญญากันไว้
TOT ทำสัญญาสัมปทานกับ AIS
CAT ทำสัญญาสัมปทานกับ DTAC และ TrueMove
ดังนั้น ค่าต๋งให้รัฐ จึงส่งผ่านจาก AIS ไป TOT และจาก DTAC+TM ไป CAT ก่อนที่จะส่งต่อเข้ากระทรวงการคลังอีกทอดหนึ่ง
#------------ จริงๆในวันนั้นมันมีความซับซ้อนกว่านั้นตรงที่มีการควบรวมบริษัท ฯลฯ ซึ่งขอข้ามไป เอาเป็นว่าท้ายสุดแล้ว ในวันนี้มีบริษัทมือถือ 3 ราย ที่ทำธุรกิจสัมปทานอยู่
แล้วกาลเวลาผ่านไปอีก
โลกก็ได้รู้ว่าระบบ สัมปทาน มันไม่สามารถบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่าง มีประสิทธิภาพ ใครนึกคำว่าประสิทธิภาพไม่ออก ให้ลองนึกถึงสมัยที่การขอโทรศัพท์บ้านสักเบอร์ต้องกราบเท้าและใช้เวลาอย่างต่ำ 30 วัน แล้วจะเข้าใจ
โลกจึงได้รู้จักคำว่า Privatization หรือการ แปรรูปรัฐวิสาหกิจ
โดยหลักการ มันคือการเปลี่ยนรัฐวิสาหกิจให้เป็น บริษัทเอกชน รัฐบาลยังเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ จะมากหรือน้อยก็เป็นกรณีๆไป
ซึ่งในทางทฤษฏีแล้ว เราเชื่อกันว่าการปรับเช่นนี้จะทำให้องค์กรเหล่านั้นถูก การแข่งขันในตลาด ผลักให้ มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยที่รัฐก็ยังเป็นผู้รับผลตอบแทนเช่นเดิม
ส่วนในโลกแห่งความเป็นจริงมันจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ เป็นเรื่องถกเถียงกันได้มาก สามารถเอาไปทำปริญญาเอกได้สบาย
เช่นนี้ เมืองไทยเราจึง แปรรูปรัฐวิสาหกิจ กับเขาบ้าง
TOT และ CAT กลายเป็นบริษัทเอกชน (ในทางกฏหมาย) มีกระทรวงการคลังถือหุ้น มีบอร์ดบริหารแต่งตั้งโดยรัฐบาล และถูก กำกับดูแล โดยกระทรวง ICT
เล่ามาเสียยาว เพื่อสรุปให้ฟังวัน ในวันนี้ มือถือทั้งสามค่ายในบ้านเราทำธุรกิจใต้ระบบสัมปทาน ต้องจ่ายค่าต๋งให้ TOT กับ CAT
ในขณะเดียวกัน TOT / CAT ก็ พยายาม ทำธุรกิจแข่งด้่วยบ้างในฐานะบริษัทเอกชน แต่ก็ไม่ได้สำเร็จเป็นกอบเป็นกำอะไร อย่างที่เราก็พอจะเดากันได้
จากนั้น โลกก็หมุนไปอีก
แวดวงโทรคมนาคมทั่วโลกเรียนรู้กันแล้วว่าการ privatization อย่างเดียวไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงมีการจัดตั้งระบบ Regulator ขึ้นเป็นผู้กำหนดกฏ กติกา ในการทำธุรกิจของทุกคนในตลาด
รัฐธรรมนูญ 2540 จึงกำหนดให้มี กทช. ขึ้นมาเป็น Regulator เป็นองค์กรอิสระ ไม่ขึ้นกับรัฐบาล มีอำนาจตรากฏ กติกา บังคับการทำงานของบริษัทโทรคมนาคมทุกเจ้าในตลาด ซึ่งหมายถึง AIS / DTAC / TM และ TOT กับ CAT ด้วยเช่นกัน
นั่นหมายความว่า ในวันนี้ ตลาดโทรคมนาคมบ้านเรามีบริษัทเอกชน 3 แห่ง ทำงานใต้ระบบ สัมปทาน ที่ต้องเชื่อฟังรัฐในฐานะเจ้าของสัมปทาน (ผ่าน TOT / CAT) ในขณะเดียวกันก็ต้องเชื่อฟัง กทช. ในฐานะ Regulator
ส่วน กทช. เองก็มีอำนาจออกกฏกติกา - แต่ก็ไม่สุด - เพราะถ้ามันไปขัดแย้ง (หรือถูกโยงให้ขัดแย้ง) กับ สัญญาสัมปทาน เมื่อไหร่ ก็ต้องฟ้องร้องกันไปว่าจะให้เอาอันไหนเป็นที่ตั้ง ระหว่างกติกาของ กทช. กับ ข้อกำหนดใน สัมปทาน
และนั่นคือที่มาที่ไปอย่างรวบรัด
ถึงความอิหลักอิเหลื่อของโครงสร้างอำนาจในแวดวงโทรคมนาคมไทย
........................
ทีนี้มาเรื่อง 3G
กทช. จะทำระบบ 3G ในแบบ License (ใบอนุญาต) ซึ่งคล้าย แต่ไม่เหมือน กับระบบสัมปทาน เสียทีเดียว
ความถี่ เป็นของ รัฐ (เน้นว่า รัฐ ไม่ใช่ รัฐบาล)
กทช. ทำหน้าที่ให้ สิทธิ ในการใช้ความถี่ทำธุรกิจกับเอกชน
เอกชนมีหน้าที่ทำธุรกิจตามเงื่อนไขที่ใบอนุญาตกำหนด เช่น ต้องวางโครงข่ายเท่าไหร่ ยังไง รวดเร็วแค่ไหน ได้กำไรมาแล้วจะแบ่งเงินให้รัฐอย่างไร ฯลฯ
และเพราะเป็นระบบใหม่ ไม่ใช่สัมปทาน - คนเข้าประมูลจึงนับเป็น รายใหม่ ทั้งหมด มันคือการล้างไพ่ กำหนดเกมกันใหม่หมด
ซึ่งจะเห็นว่าแม้บริษัทที่เข้าประมูลจะเหมือน หน้าเดิม แต่จริงๆแล้วเป็น บริษัทใหม่ ไม่ใช่บริษัทที่ทำธุรกิจ 2G โดยตรง
Advance Wireless Network (3G) บริษัทลูกของ AIS (2G)
DTAC internet service (3G) บริษัทลูกของ DTAC (2G)
Real Move (3G) บริษัทลูกของ TrueMove (2G)
ควรกล่าวด้วยว่า จำนวนคนเข้าประมูลสามารถมีได้มากกว่านี้ แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเป็น รายเดิม ด้วย เพียงแต่เหตุผลบางอย่างจึงทำให้ไม่มีใครเข้ามาประมูล นอกจากผู้เล่นหน้าเดิมอย่างที่เห็น (บ้างก็ว่า กทช.ออกกฏไม่ดี ตั้งราคาแพงไป รัฐบาลมีนโยบายไม่ชัด ฯลฯ ก็แล้วแต่จะถกเถียงกัน)
หลายคนอาจสงสัยว่าถ้าเช่นนั้น ทำไม TOT และ CAT ไม่เข้าประมูลด้วย
คำตอบก็ง่ายมาก
เพราะ TOT ได้ สิทธิ เปิดให้บริการ 3G แล้วตั้งแต่ 9 ปีก่อนภายใต้ชื่อ ไทยโมบาย ที่ถูกผลักดันโดย เทพเทือก ยอดคนดีแห่ง ศอฉ. ในวันนี้
ส่วน CAT นั้นมี สิทธิ ทำธุรกิจ CDMA อยู่แล้ว ทั้งที่ทำด้วยตัวเอง และทำโดยการให้ Hutch เข้ามาทำ (แต่แล้วก็เจ๊ง) นั่นแหละ
เมื่อทั้งคู่มีสิทธิทำ 3G อยู่แล้ว จึงไม่ต้องมาประมูลให้เหนื่อย
เมื่อ 3G เกิดแล้ว คงเดาได้ไม่ยากว่าคนไทยส่วนใหญ่ก็จะ อัพเกรด ตัวเองไปใช้ 3G
เครือข่าย 2G ก็จะค่อยๆตายจากไปตามยุคสมัย อาจจะช้าหรือเร็วก็ขึ้นกับปัจจัยในธุรกิจ
ดังนั้นระบบ สัมปทาน ก็จะค่อยๆหายไปในที่สุด ซึ่งนั่นหมายถึง เงินสัมปทาน ก็จะค่อยๆหดหายไปอย่างไม่ต้องสงสัย
........................
สถานการณ์ล่าสุด
หลังจากล้มลุกคลุกคลานมาหลายต่อหลายครั้ง กทช. ชุดนี้ก็ผลักดัน(ประสานประโยชน์?) ให้การประมูลใบอนุญาตกำลังจะเกิดขึ้นได้ ในวันที่ 20 กันยายน นี้
ถ้าประมูลกันได้ ก็จะเริ่มวางระบบกันภายในเดือนพฤศจิกายน คาดกันได้เลยว่าจะมี 3G ให้ใช้ภายในครึ่งปีแรกของ 2554
แต่ถ้ามันไม่เกิดในครั้งนี้ ด้วยเงื่อนไข เทคนิค ข้อกฏหมาย (กทช. หมดอายุ, ต้องรอ พรบ.อื่นๆก่อน ฯลฯ) เป็นไปได้มากที่เราอาจต้องรออีก 2-3 ปีกว่าจะประมูล ใบอนุญาต กันอีกครั้ง
ซึ่งถึงวันนั้น สัญญาสัมปทาน ก็อาจหมดอายุไปแล้ว ต้องวุ่นวายตั้งโต๊ะต่อสัญญาณกันอีกรอบ ฝุ่นตลบกันอีกหน
ณ วันนี้ CAT ได้ฟ้องศาลปกครองว่า กทช. ใช้อำนาจผิดกฏหมาย เนื่องจาก
กทช. ใช้อำนาจกฏหมายที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งโดน ฉีก ไปแล้ว พรบ.ความถี่นั้นจึงน่าจะโดนฉีกตามไปด้วย กทช. จึงไม่น่าจะมีอำนาจตามกฏหมาย (คนที่จะมีอำนาจตัวจริงควรจะเป็น กสทช. ที่จะจัดตั้งโดย พรบ. กสทช. แต่ พรบ. ที่ว่านี้ยังอยู่ในสภา)
การประมูลขัดกับมาตรา 47 วรรค 2 ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 (ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยคณะที่เลือกกันมาจากทีมงานรัฐประหาร)
การมี 3G จะทำให้ CAT เสียรายได้จากเงินสัมปทานที่ลดลงปีละ 30,000 ล้านบาท
ศาลปกครองมีคำสั่งระบุว่า; ร่างกฎหมาย กสทช. ได้ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เรียบร้อยแล้ว และยังได้ผ่านการพิจารณาแก้ไขของคณะกรรมาธิการร่วมแล้ว กำลังจะนำเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ดังนั้น จะเป็นอุปสรรคในการทำงานขององค์กรกสทช.ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงมีเหตุที่จะออกมาตราการหรือคุ้มครองชั่วคราวเพื่อบรรเทาทุกข์ โดยให้กทช.ยุติการใช้ประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 3จี ออกไปก่อน จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอี่น (อ้างอิง: มติชนออนไลน์
http://www.matichon.co.th/news_detail.p ... d=00&catid)
กทช. กำลังจะยื่นอุทธรณ์ ซึ่งจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ต้องติดตามกันต่อไป
........................
เรื่องราวทั้งหมดนี้ มีประเด็นที่ผมอยากบอกเล่าเพิ่มเติม เป็นประเด็นในภาพกว้าง ที่ไม่ต้องก้าวล่วงถึงคำสั่งศาล
เราทราบกันดีว่า TOT และ CAT นั้นมีสภาพอย่างไร เป็นองค์กร ธุรกิจ ที่มีประสิทธิภาพแค่ไหนในระบบตลาดทุนนิยมเสรี
เราปฏิเสธไม่ได้่เช่นกันว่า รัฐวิสาหกิจ คือกลุ่มคนที่มีจำนวนมาก และเทอะทะที่สุดกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยยุคนี้
ถ้าเราจะปล่อยให้ กลไกตลาด ทำงาน โดยเปิดให้มีการแข่งขันธุรกิจ 3G อย่างอารยะ แล้วให้ระบบสัมปทานค่อยๆตายจากประเทศนี้ไป
คำถามที่พวกเราทุกคนต้องคิดกันต่อในฐานะเจ้าของประเทศก็คือ เราจะเอาอย่างไรกับ TOT / CAT เพราะถ้าพูดกันตามตรง ก็เดาได้ไม่ยากว่าพวกเขาน่าจะยืนทัดทานกระแสการแข่งขันธุรกิจได้ยากเหลือทน
วันนี้ถ้าถอดตัวเลขเงินสัมปทานออกไป ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่า TOT / CAT จะยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองหรือไม่ และยืนยาวแค่ไหน
อย่าลืมว่ารัฐบาลถือหุ้นใน TOT / CAT
นั่นแปลว่าประชาชนไทยทุกคน เป็นเจ้าของ TOT / CAT
ถ้าทั้งคู่ขาดทุน ก็ต้องเอาเงินภาษีของคนไทยนี่แหละ ไปอุดหนุน (หรือไม่ก็กู้เงินมา ซึ่งแปลว่าให้ลูกหลานเราจ่ายแทนเรา)
ดังนั้นวันนี้ ต่อให้ CAT ไม่ฟ้อง วันหน้าก็ต้องมีปัญหาอยู่ดี
ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ คนไทยทุกคน ต้องช่วยกันคิดว่าจะเอากันอย่างไร เพราะเราหลบปัญหามานานเกินไปแล้ว
ปัญหานี้เป็นปัญหาพื้นฐาน และเป็นปัญหาโลกแตกในทุกประเทศที่ทำการ privatization
นายกรัฐมนตรี โคอิซูมิ ของญี่ปุ่น ก็เจอมรสุมการเมืองอย่างหนักหน่วงในเรื่องทำนองนี้ เมื่อครั้งพยายาม ปรับ กรมการไปรษณีย์ในประเทศให้คล่องตัวขึ้น
นอกจากนั้น
เราต้องยอมรับว่า รายได้หลัก ของรัฐบาลไทยในวันนี้ มี สัมปทาน เป็นส่วนสำคัญ (ผมไม่มีตัวเลขว่ากี่ % แต่จำได้ว่าเยอะพอควร)
ถ้าวันนี้ ค่าต๋ง เหล่านี้หายไป แล้วรัฐบาลไทยจะเอาเงินมาจากไหน (เพื่อไปซื้อเครื่องบินรบ)
...............................
สำหรับเรื่องฟ้องร้องกันในวันนี้
ไม่มีอะไรแปลกใหม่ เราเข้าใจกันแล้วว่า CAT / TOT นั้นเป็นสองบริษัทที่อิหลักอิเหลื่อ เพราะมองมุมนึงพวกเขาเป็นบริษัทเอกชน มีหน้าที่ทำกำไรสูงสุดให้ผู้ถือหุ้น แต่มองอีกมุม เขาเป็น (อดีต) รัฐวิสาหกิจ ที่เป็นเจ้าของสัมปทาน
แต่ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ทั้งสององค์กรก็ย่อม ไม่ต้องการ ให้มีคนทำ 3G เพิ่ม (อันนี้มองในมุมองค์กรเลยนะครับ ไม่เกี่ยวอะไรกับตัวบุคคลเลยก็ได้)
ถ้ามองเขาเป็นบริษัทเอกชน นี่แปลว่ากำลังจะมีการแข่งขัน เพิ่มขึ้น
ถ้ามองเข้าเป็นรัฐวิสาหกิจ นี่แปลว่าเขากำลังจะ สูญเสียรายได้ที่สำคัญ คือค่าสัมปทาน
เจ๊ง กับ เจ๊ง .. ว่างั้นแหละ
3G มันเลยไม่ได้เป็นเรื่องผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว
แต่มันมีเรื่องของ คน และ รัฐวิสาหกิจ เข้ามาเกี่ยวด้วย
วงการโทรคมมนาคม มันถูกผลักให้ ไปก่อน วงการอื่น(เช่น รถไฟ ไฟฟ้า ประปา ฯลฯ) แต่ก็ไปไม่สุด เมื่อเทียบกับวงการปิโตรเลียมอย่าง ปตท.
ผมไม่แน่ใจว่าถ้าผมนั่งอยู่ตำแหน่งเดียวกับเขาเหล่านั้น ผมจะไม่ฟ้อง ไม่ทำทุกวิถีทางที่จะ เอาตัวรอด เพราะทุกคนมันต้องมองแยกส่วนแล้วเอาตัวรอดอยู่แล้ว เป็นธรรมชาติ
โปรดสังเกตว่าคำฟ้องอันแรก ฟ้องโดย สหภาพแรงงาน กสท. ไม่ใช่ตัวบริษัท กสท.เอง
และโปรดอย่าลืมว่า "ผู้บริหาร" ของ CAT/TOT เขาทำงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ "ของบริษัท" ที่ถือหุ้นโดยรัฐบาล
ดังนั้นเขาจึงต้องทำทุกอย่างเพื่อ "เอาตัวรอด" จะไปด่าแล้วคาดหวังให้เขา "ยอมตายเพื่อชาติ" มันคงไม่เข้าท่าเท่าไหร่ (เผลอๆโดนร้องขึ้นมาว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ต้องมีคดีความขึ้นมา ใครจะไปช่วยเขา)
ทีนี้มาเรื่องฟ้อง .. เขาฟ้องอะไรกัน
มีแง่มุมให้ฟ้องมากมายครับ ทั้งในระดับ เทคนิคกฏหมาย และในระดับ โครงสร้าง
เอาง่ายๆ ถ้ามอง CAT/TOT เป็นบริษัทเอกชน เขาก็อาจมองได้ว่า กทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐกำลังออ
กกติกาทำให้เขา เสียประโยชน์ ดังนั้นจึงต้องฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้ระงับคำสั่งปกครอง (โดย กทช.) ที่ทำให้เอกชนเสียประโยชน์หรือถ้ามองจากฐานคิดของรัฐวิสาหกิจ ก็ฟ้องได้อีกว่ามันจะทำให้รายได้สัมปทานหดหาย รัฐได้เงินน้อยลง เสียผลประโยชน์ของรัฐ บลาๆๆๆ
วันนี้ เขาฟ้องไว้ 3 ข้อ ซึ่งข้อแรกคือสิ่งที่ศาลให้ คุ้มครองชั่วคราว (ซึ่งไม่ได้แปลว่าตัดสินแล้วว่า ผิด หรือ ถูก)
รธน. 2540 แบ่งคลื่นความถี่ออกเป็นสองกลุ่ม
กลุ่มแรกบอกว่าเป็น โทรคมนาคม ให้มี กทช. เป็น regulator
กลุ่มสองบอกว่าเป็น วิทยุโทรทัศน์ เลยให้มี กสช. เป็น regulator
ผลคือกลุ่มสองผลประโยชน์โยงใยมากมาย ทำให้ตั้งกันไม่ได้เสียที
พอเกิด รัฐประหาร เพื่อดำรงไว้ซึ่งระบบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 19 กันยา 2549
คนเขียน รธน. 2550 เลยบอกว่า เฮ้ย ถ้าแม่งตั้งไม่ได้ ก็จับรวมกันซะเลยแล้วกัน
กทช. เลยรวมร่างกับ กสช. ออกมาเป็น กสทช.
และขณะนี้ หลายปีผ่านไป เราก็กำลังง่วนกับ กระบวนการร่างกฏหมาย พรบ. เพื่อสร้าง กสทช. เป็น regulator ทั้งวงการสื่อสารโทรคม และวงการวิทยุโทรทัศน์
สิ่งที่เขาฟ้องวันนี้คือ กทช. เกิดจาก รธน.2540 และใช้อำนาจจาก พรบ.ความถี่ ซึ่งเกิดจากรธน.2540
ในเมื่อวันนี้ รธน. 2540 โดนฉีกทิ้งไปแล้ว และ เรา กำลัง จะมี กสทช.
เราจึงควร รอ ให้มี กสทช. เสียก่อน ไม่งั้นมันจะผิดกฏหมายเพราะ
ไม่มีอำนาจตามกฏหมายรับรองให้ทำ หรือเกิดพรุ่งนี้มี กสทช. แล้วท่านเปลี่ยนใจไม่เห็นด้วยกับแนวทาง กทช. ในวันนี้ จะทำอย่างไร
ศาลท่านเลยบอกว่าสิ่งที่ร้องมามันเป็นจริง มีมูล ต้องไต่สวนกันต่อ ดังนั้น จึงต้องคุ้มครองผู้เสียหายจากคำสั่งปกครอง (ของ กทช.) เสียก่อนในวันนี้
แต่ในความเป็นจริงคือ ถ้าไปติดตาม พรบ. กสทช. ก็จะทราบได้ง่ายๆว่าคงตั้งกันไม่ได้ใน 2-3 ปีแน่ๆ ยิ่งสภาพ การเมืองไทยในสภา ทุกวันนี้ ยิ่งแทบเป็นไปไม่ได้
ประเด็นมันเลยต้องมีดีเบตกันว่า รธน.2540 โดนฉีกแล้ว พรบ.ประกอบ รธน.ถือว่าโดนด้วยหรือไม่
แต่ประเด็นพวกนี้มันเป็น เทคนิค ทางกฏหมาย ที่ผมคิดว่ามันสำคัญน้อยกว่าคำถามที่ว่า
ประชาชนไทย จะเอากันอย่างไรกับ รัฐวิสาหกิจ ในระยะยาว
............................
การจะตอบคำถามหนักๆเหล่านี้ได้ ต้องอาศัย หลักคิดทางการเมือง ที่มั่นคงในสังคมนั้นๆเป็นอย่างยิ่ง
เราจะยึด ตลาดเสรี เป็นสำคัญ - เพื่อให้คนเก่งกว่านำพาสังคมก้าวต่อไปโดยไม่ต้องสนใจคนอื่นมากเกินควร
เราจะยึดรัฐราชการเป็นสำคัญ - เพื่ออุ้มคนจำนวนมากให้เดินไปด้วยกันอย่างช้าๆ
เราจะยึดเอา อำมาตย์ เป็นแกนกลาง - เพื่อแก้ปัญหาโดยไม่ให้กระทบคนชั้นสูงเป็นหลัก
หรือเราจะหาอะไรบางอย่างที่มัน กึ่งๆ แบบไทยๆ
อย่างที่เรามักฝันว่ามันมีอยู่จริง ...
ปัญหาหนักๆเหล่านี้ต้องอาศัยการศึกษา การถกเถียง และการกำหนด นโยบาย ของชาติอย่างรอบคอบ มองต่อกันไปในระยะยาว
นโยบายเหล่านี้ จึงไม่สามารถกำหนดขึ้นได้ด้วยการ ฉีก กฏหมายเก่าทิ้ง แล้วก็ เขียน กฏหมายใหม่ขึ้นมากันดื้อๆ
โดยส่วนตัว
ผมเชื่อว่าปัญหานี้แก้อย่าง ถาวร ไม่ได้ด้วยการ มองแยกส่วน ของตัวละครแต่ละตัว ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเอกชน รัฐวิสาหกิจ ศาล กทช. หรือรัฐบาล
เราต้องตอบคำถาม "ในหลักการทางสังคม" กันก่อนว่า จะเอาอย่างไรกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ จะเอาอย่างไรกับการจัดสรรคลื่นความถี่ จะเอาอย่างไรกับนโยบายเศรษฐกิจ
จากนั้น จึงค่อยมานั่งแก้ "เทคนิคทางกฏหมาย" ที่มันติดขัดล็อกกันอยู่ในตอนนี้ให้เป็นไปตามแนวนโยบาย
ด้วยเหตุนี้
กรณี 3G ไม่ได้สะท้อนปัญหาด้านการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศไทยเพียงอย่างเดียว
แต่มันสะท้อนปัญหาการ จัดการทรัพยากร และปัญหาเชิง นโยบายรัฐ ที่โยงใยลึกซึ้งกว่าที่เห็นมาก
นอกเหนือจากเรื่องผลประโยชน์มหาศาลแล้ว
3G ยังโยงใยปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไปด้วยในตัว
เรื่องทำนองเดียวกันนี้ ก็กำลังเกิดขึ้นกับ "ทรัพยากร" อื่นๆของประเทศนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางระบบราง (การรถไฟ) ระบบพลังงาน (การไฟฟ้า+ น้ำมัน) การจัดการน้ำ (การประปา) ป่าไม้ ถนน ที่ดิน สินค้าเกษตร ฯลฯ
เพียงแต่สิ่งเหล่านั้น มันไม่ได้ "ป๊อบ" ในกลางใจชนชั้นกลาง เหมือนเช่นเรื่องคลื่นความถี่และเทคโนโลยี 3G เท่านั้น
ถามว่า ... แล้วเราจะหวังให้ปัญหาเชิงโครงสร้างนี้ถูกแก้ไขได้ จริง และ รวดเร็ว งั้นหรือ
เราจะหวังกันได้แค่ไหน ?
ในเมื่อไม่กี่เดือนก่อน เรายังเอาปืนไล่ยิงหัวกันบนถนนอยู่เลย ....