ให้เครดิต
http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=5557
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2536
"กองทุนรวม ขาใหญ่ ตลาดหุ้น!?"
โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข จิตติมา คุปตานนท์
การเกิดขึ้นของกองทุนรวมหรือบริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวม เป็นผลพวงจากการยกเครื่องโครงสร้างตลาดทุน ภายใต้ พรบ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2535 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นเครื่องมือประการแรกในการสร้างความแข็งแกร่งและเสถียรภาพตลาดทุน ด้วยการเพิ่มนักลงทุนประเภทสถาบันในรูปของกองทุนรวม
กรณีที่ กลต. ประกาศดำเนินคดี "เสี่ยสอง" ในข้อหาปั่นหุ้นเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2535 แล้วทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงอยู่ที่ระดับ 868.04 หรือลดลงกว่า 23.45 จุดเมื่อเทียบกับวันก่อนหน้านี้ ขณะที่มูลค่าการซื้อขายสูงถึง 10,692.54 ล้านบาท ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องหรือกว่า 33.87 โดยปิดที่ระดับ 834.17 ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 6,492.54 ล้านบาท ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2535 หากเปรียบเทียบกับวันที่ 5 พฤศจิกายน 2535 ซึ่งเป็นวันที่ดัชนีพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 963.03 ด้วยมูลค่าการซื้อขายถึง 20,314.23 ล้านบาท
หมายถึงว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ลดลงถึง 105 จุด ขณะที่มูลค่าการซื้อขายมลายหายไปกว่า 10,000 ล้านบาทในช่วงเวลาเพียง 10 กว่าวัน ซึ่งแน่นอนว่าแสดงถึงความเปราะบางของตลาดหุ้นไทยหรือ "อิทธิพล" ของขาใหญ่อย่างมิพักสงสัย??
เจ้าหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์ และผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะหน่วยงานภาครัฐบาล หรือเอกชนได้ร่วมมือกันแก้ไขวิกฤติการณ์ดังกล่าวหลายประการที่สำคัญ คือ "การจัดตั้งกองทุน" เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในตลาดหลักทรัพย์
ขณะเดียวกันก็ตรงกับปรัชญาการลงทุนของกองทุนรวมที่ต้องการซื้อหุ้นที่มีพื้นฐานดี แต่ต้นทุนราคาต่ำ ทำให้การไล่เก็บซื้อหุ้นในภาวะผันผวนระยะสั้นเช่นนี้ ก่อให้เกิดผลตอบแทนสูงในระยะยาวเมื่อตลาดหุ้นคืนสภาพปกติและปรับดัชนีหุ้นสูงขึ้นเมื่อปล่อยขายก็ทำกำไรมาก
นี่คือข้อดีของการบริหารความเสี่ยงแบบนักลงทุนสถาบันในรูปกองทุนรวม ที่มีความเป็นมืออาชีพพร้อมกับระบบข้อมูลที่ดี ทำให้การตัดสินใจแบบระยะยาวไม่หวือหวา เมื่อเจอดัชนีผันผวนเนื่องจากภาวะการเมืองในประเทศตอนข่าวปรับคณะรัฐมนตรีของชวน หลีกภัย ดัชนีหุ้นตกมากในเดือนพฤษภาคมปีนี้ ปรับตัวลดลงถึงระดับ 761.52 กองทุนรวมและกองทุนต่างประเทศก็นำตลาดด้วยการเข้าไปเลือกซื้อหุ้นที่น่าลงทุน ทำให้การปรับตัวดัชนีไต่ระดับ 900 จนทะลุหลักพันในวันที่ 20 กันยายน มีการลดต่ำของดัชนีหุ้นบ้างก่อนจะปรับฐานใหม่เป็นดัชนี 1037.54 จุดในวันที่ 6 ตุลาคมปีนี้ และไต่ดัชนี 1157 จุดในช่วงนี้ พร้อมมีการปรับพอร์ตของกองทุนรวมบางแห่ง ด้วยการขายหุ้นบางตัวที่ให้ผลกำไรสูงแล้วซื้อเก็บตัวอื่นที่น่าลงทุนเข้ามาในพอร์ต
การทำให้สุขภาพตลาดแข็งแรงประการที่สองคือ สร้างเสถียรภาพ โดยเปลี่ยนพฤติกรรมนักลงทุนรายย่อยสู่รูปของการสร้างนักลงทุนสถาบันให้เกิดขึ้น ซึ่งทางการไม่เพียงให้ใบอนุญาตการจัดการกองทุนรวมแก่บริษัทใหม่ถึง 7 แห่ง ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2535 เพิ่มเติมจากเดิมที่มีเพียงบริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวม เพียงแห่งเดียว
ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2536 ที่ประชุม กลต. ได้มีมติเห็นชอบให้สถาบันการเงินไม่ว่าจะเป็นบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ (รวมสาขาธนาคารต่างประเทศ) และบริษัทเงินทุนสามารถดำเนินการจัดการกองทุนส่วนบุคคล (PRIVATE FUND MANAGEMENT) ได้ นอกเหนือจากการรับประกันจำหน่ายตราสารหนี้ การให้ใบอนุญาตครบทั้ง 4 ประเภท คือการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ การเป็นที่ปรึกษาการลงทุนและการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ แก่บริษัทหลักทรัพย์และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ
ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการต่าง ๆ ของทางการ ล้วนแล้วแต่เป็นการเพิ่มนักลงทุนประเภทสถาบัน นอกเหนือจากการลดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันดำเนินกิจการ อันจะก่อให้เกิดตลาดการเงินที่มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพอย่างมิพักสงสัย
อย่างไรก็ตามบทบาทของ "กองทุน" ไม่ว่าจะเป็นกองทุนเปิด กองทุนปิด กองทุนส่วนบุคคลหรือเม็กซิกันทรัสต์ฟันด์ ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงนักลงทุนรายใหญ่หรือนักลงทุนสถาบันที่ทำให้ตลาดมีเสถียรภาพเท่านั้น เพราะ "การสร้างเงินออม" ก็เป็นอีกบทบาทที่สำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะ "กองทุนบำเหน็จกลาง" ซึ่งจะเป็นสถาบันเงินออมภาครัฐ คาดว่าจะมีบทบาทไม่น้อยในอนาคต มติคณะรัฐมนตรีที่ว่าการปรับเงินเดือนข้าราชการพลเรือนจาก บัญชีหนึ่งไปบัญชีสอง จะต้องผูกเอากองทุนบำเหน็จกลางไปด้วยอธิบายได้ชัดเจน
"ประเด็นเรื่องการบริหารนั้นเราต้องดูละเอียดรอบคอบ โดยหลักเราจะยึดความมั่นคงไว้ก่อน เป็นสถาบันเงินออมมากกว่าเป็นสถาบันการลงทุนเพื่อที่จะแสวงหาผลประโยชน์สูงสุด" รมว. คลัง ธารินทร์กล่าวถึงนโยบายกองทุนใหม่นี้
ประการที่สามคือ เสริมสร้างสภาพคล่องและพัฒนาตลาดรอง (SECONDARY MARKET) ของสิทธิ์ในการซื้อหุ้นเพิ่มทุน การพัฒนาตลาดโอทีซีหรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ และการพัฒนาตราสารแห่งหนี้เอกชน รวมทั้งสนับสนุนให้มีการทำ CREDIT RATING ให้กับกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานหรือบริษัทขนาดใหญ่ที่จะสามารถออกพันธบัตรในต่างประเทศได้
ดังกรณีของเจ็ดหุ้นยักษ์ใหญ่ที่จะเสริมสภาพคล่องตลาดหุ้นไทยในปีหน้า ได้แก่ บริษัทเทเลคอมเอเชีย ซึ่งเพิ่มทุน 223 ล้านบาท บริษัททีทีแอนด์ที บริษัทน้ำมันบางจากซึ่งมีจุดทะเบียน 5,220 ล้านบาท แต่คาดว่าจะกระจายหุ้น 20% บริษัทปิโตรเคมี บริษัทผลิตไฟฟ้า(ระยอง) บริษัทชินวัตรแซทเทิลไลท์ ทุนจดทะเบียน 1,700 ล้านบาทแต่จะกระจายหุ้น 300 ล้านบาท และบริษัทไทยออยล์ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 12,000 ล้านบาท แต่จะกระจายหุ้น 25%
หลังจากแสงเงินแสงทองเริ่มเจิดจ้าจากนโยบายเปิดเสรีตลาดเงินตลาดทุน เสถียรภาพที่มุ่งสร้างนักลงทุนสถาบันมาก ๆ เพื่อให้ดุลยภาพ ทำให้ในปีหน้ากองทุนเปิด กองทุนส่วนบุคคล (ไพรเวท์ ฟันด์) และการเปิดเสรีที่จะให้กองทุนไทยไปขายต่างประเทศได้ ก็จะทำให้ความมั่นใจของนักบริหารกองทุนรวมต่างก็พุ่งขึ้นสูง บ้างก็วาดหวังผลตอบแทนภายในระยะห้าปีว่าจะต้องไม่ต่ำกว่า 20% แน่นอน
จุดขายของแต่ละกองทุนจึงแข่งขันกัน จนกระทั่งในอนาคต ตลาดกองทุนรวมอาจจะทำการตลาดสินค้าเป็นแบบคอนซูเมอร์ โปรดักส์เหมือนที่เกิดขึ้นในอเมริกา ปัจจุบัน ยากที่จะปฏิเสธว่า บลจ. ที่มีแบงก์ใหญ่ถือหุ้นอยู่ไม่ว่าจะเป็น บลจ. กสิกรไทย บลจ. ไทยพาณิชย์ จะได้เปรียบในเชิงการแข่งขัน เนื่องจากมีเครือข่ายสาขาเป็นตัวแทนส่งคำสั่งซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนมากกว่า บลจ. ที่มีแบงก์เล็กเป็นหุ้นส่วน
การมีแบงก์หนุนหลังยังมีข้อดีในแง่ที่มีโอกาสในการธุรกิจกับสถาบันต่างประเทศในอนาคตที่ทางรัฐบาลเปิดให้มีการขายให้ได้ นอกจากนี้ฐานข้อมูลวิจัยที่สมบูรณ์ถูกต้องจากในและต่างประเทศจะมีมาก
สำหรับกองทุนเล็กซึ่งได้เปรียบในแง่ความคล่องตัวเข้า-ออกได้เร็ว ส่วนกองทุนรวมที่ไม่มีเครือข่ายของแบงก์ช่วย จะเสียเปรียบเชิงการตลาดบ้าง แต่อาศัยจุดเสริมด้านอื่น ๆ ช่วยจูงใจ และลักษณะการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกับธนาคารขนาดเล็กบางแห่งจะเกิดขึ้น เช่น บล. กองทุนรวมซึ่งจับมือกับธนาคารขนาดเล็กอย่างธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ ออกกองทุนเปิดใหม่ชื่อ "สตางค์แดง" เมื่อ 26 ตุลาคมที่ผ่านมานี้
ขณะนี้ ผู้บริหารกองทุนต่างประเทศอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจาก กลต. ที่จะได้รับอนุญาตบริหารความเสี่ยงที่ถูกดีไซน์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์กองทุนใหม่ ๆ เช่น กองทุนเปิด-ปิด กองทุนตราสารหนี้ กองทุนหุ้นบลูชิพ กองทุนหุ้นอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ อันหลากหลายที่ตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่ยอมรับความเสี่ยงและผลตอบแทนในระดับมาก-น้อยต่างกัน
"แต่อย่างไรก็ตามกองทุนที่ขยายตัวเร็วเกินไป ก็อาจจะทำให้กองทุนรวมกลายเป็น MARKET MAKER ตลาดควรจะเป็นพหุนิยม เช่น บริษัทประกันชีวิตซึ่งเป็นสถาบันเงินออมระยะยาว การขยายตัวผมคิดว่าควรจะมีดุลยภาพด้านกำหนดราคาและชี้ขาดตลาด" ดร. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ให้ความเห็น
เป็นที่คาดหวังว่า จากนี้ไปตลาดหุ้นไทยในมือกองทุนรวมซึ่งเป็นนักลงทุนสถาบัน "ขาใหญ่" จะพัฒนาตลาดทุนอย่างมีเสถียรภาพ ความเป็นธรรมและแข็งแรงยิ่งกว่าที่เคยมีมาในอดีต มิใช่เพื่อแสวงหาผลประโยชน์โอนย้ายถ่ายหุ้น หรือลงทุนให้หุ้นนอกตลาดซึ่งอยู่ในเครือ