free hold หรือ lease hold เป็นอย่างไร แถมบางกองทุน มีทั้ง lease hold ก่อน 30 ปี ต่อจากเมื่อครบกำหนดก็ยังมี Option เพื่อเลือกซื้อเป็น free hold ในอนาคต โดยกำหนดราคาซื้อไว้ชัดเจน หรือจะใช้ option เพื่อเป็น lease hold ต่ออีก 30 ปี แล้วซื้อเป็น free hold ในอนาคตได้อีกโดยกำหนดราคาซื้อไว้ชัดเจนอีกเช่นกัน เช่น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ Goldpf ที่บริหารโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมกสิกรไทย เป็นต้น เงื่อนไขเป็นได้ทั้ง lease hold และ Free hold พร้อมกัน แต่อาศัยเครื่องมือทางการเงินเข้าช่วยด้วยครับ
สำหรับข้อมูลรายละเอียดก็ติดตามอ่านกันดูครับ :lol:
เป็นการสัมภาษณ์ไว้ตั้งแต่ปี 2550 แต่น่าจะยังเป็นประโยชน์ในการศึกษาทำความเข้าใจได้ครับ
อ่านข้อดีและข้อเสียเพิ่มเติมได้ตามนี้ครับ มาจากคนที่กำกับโดยตรงคือผู้บริหาร กลต.ที่ให้สัมภาษณ์ไว้ในอดีตครับ เป็นข้อมูลที่น่าสนใจอีกเช่นกันครับ
http://www.sec.or.th/internetradio/insi ... ioId=00010
รายการ Inside ก.ล.ต.
(ประจำวันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550)
บทสัมภาษณ์
คุณมาดาสิรี สุนทรโยธิน
ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน
สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.
"ถ้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไปลงทุนในสิทธิการให้เช่า
ก็หมายความว่า กองทุนจะสามารถหาผลประโยชน์
จากอสังหาริมทรัพย์นั้นได้ภายในช่วงระยะเวลาที่เช่าเท่านั้น"
"ถ้าซื้อหน่วยไปแล้วมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงิน ก็สามารถ
ที่จะไปซื้อขายเปลี่ยนมือหน่วยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้"
"ราคาที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
จะขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อ ความต้องการขายในตลาด
และราคาก็อาจจะสูงกว่าหรือต่ำกว่าตอน IPO ก็ได้"
ผู้ดำเนินรายการ : ก.ล.ต. มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คะ
คุณมาดาสิรี : ก.ล.ต. ไม่ได้กำกับดูแลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่จะเกี่ยวข้องในฐานะที่ ก.ล.ต. กำกับดูแลกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งก็คือกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. แต่ก่อนอื่นคงต้องขออธิบายก่อนว่ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์มีลักษณะอย่างไร ถ้าเทียบกับกองทุนรวมทั่วไปที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จะมีความแตกต่างทั้งในด้านทรัพย์สินที่กองทุนรวมไปลงทุน และในด้านของรายได้ที่กองทุนรวมได้รับจากการลงทุน คือถ้าเป็นกองทุนรวมทั่วไปก็จะนำไปลงทุนในหุ้น พันธบัตร หรือตราสารหนี้ต่าง ๆ และรายได้ที่กองทุนรวมทั่วไปได้รับนั้นก็จะอยู่ในรูปของกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ เงินปันผล หรือดอกเบี้ยต่าง ๆ
แต่ถ้าเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จะไปลงทุนในอาคาร ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ พอลงทุนแล้วก็จะนำอสังหาริมทรัพย์นั้นออกให้เช่า โดยจะได้รับรายได้จากการให้เช่า และระหว่างการดำเนินงานถ้ากองทุนรวมมีรายได้หลังจากที่หักค่าใช้จ่ายแล้วก็จะเป็นกำไรของกองทุนรวม ซึ่งปัจจุบันเกณฑ์กำหนดว่าถ้ากองทุนรวมมีกำไร จะต้องมีการจ่ายคืนในรูปของเงินปันผล ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของกำไรสุทธิ ดังนั้น ก.ล.ต. จะกำกับดูแลในเรื่องของการจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงการจัดการกองทุนรวมประเภทอื่น ๆ ด้วย
ผู้ดำเนินรายการ : ก.ล.ต. กำกับดูแลกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ในเรื่องใดบ้างคะ
คุณมาดาสิรี : ก็มีหลายเรื่องนะคะ เรื่องแรกก็คือ เรื่องอสังหาริมทรัพย์ที่กองทุนรวมไปลงทุน คือเราจะกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ. ) ที่จัดตั้งกองทุนรวม อย่างเช่น จะต้องมีการวิเคราะห์ความเหมาะสมความเป็นไปได้ในการลงทุน ต้องดูว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นมีข้อพิพาทอยู่หรือไม่ มีทางเข้าออกที่ดีเหมาะสมตามสภาพของอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ หรืออสังหาริมทรัพย์นั้นสร้างเสร็จหรือยัง โดยเกณฑ์ระบุว่าต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างเสร็จอย่างน้อย 80% ซึ่งเรื่องนี้มีเจตนารมณ์ว่า ไม่ต้องการให้กองทุนรวมต้องเข้าไปรับความเสี่ยงจากการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์
เรื่องที่สอง ก็คือเรื่องการเปิดเผยข้อมูล เพราะในปัจจุบันจะมีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์อยู่ 2 แบบ แบบแรก ก็คือจะระบุไว้แล้วว่าเมื่อระดมทุนได้แล้วจะนำเงินไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ใด และแบบที่ 2 คืออาจจะอยู่ระหว่างการเจรจา ตอนที่เสนอขายนั้นอาจจะยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะลงทุนได้
ซึ่งถ้าเป็นแบบแรก ก็จะมีข้อดีสำหรับผู้ลงทุนมาก เพราะว่าตอนที่ บลจ.เสนอขายหน่วยลงทุนและมีการแจกหนังสือชี้ชวน จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างที่สำคัญเกี่ยวกับตัวอสังหาริมทรัพย์นั้น ตั้งแต่ชื่อ ที่ตั้ง ประเภทการใช้งาน อัตราการเช่าย้อนหลัง (ถ้ามี) รวมถึงนโยบายในการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์นั้น รายละเอียดการทำประกันภัย และเมื่อลงทุนแล้วจะมีการบริหารจัดการอย่างไร รวมถึงเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
ส่วนเรื่องที่สาม ที่เราให้ความสำคัญก็คือเรื่องราคาเพื่อให้มั่นใจว่าราคาที่กองทุนรวมจะเข้าไปซื้อ เช่า (หรือจำหน่าย) เป็นราคาที่เหมาะสมจริง ๆ จึงมีการกำหนดให้กองทุนจะต้องมีผู้ประเมินราคาทรัพย์สินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานเข้ามาประเมินราคาก่อน และราคาที่ซื้อขายหรือจำหน่ายนั้นก็จะต้องอ้างอิงกับราคาประเมินดังกล่าว
เรื่องสุดท้ายที่เราให้ความสำคัญก็คือเรื่องขอบเขตการดำเนินงานของกองทุนว่ามีวัตถุประสงค์ที่จะให้กองทุนลงทุนระยะยาว ไม่ได้มีลักษณะเป็น developer คือไม่ใช่ว่ากองทุนเข้าไปซื้อที่ดิน เพื่อก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์และขายออกนะคะ แต่สิ่งที่เราต้องการก็คือ กองทุนไปลงทุนและก็หารายได้จากการให้เช่าและมีรายได้ประจำเข้ามา อย่างเช่น ไปลงทุนในโรงแรม เราก็จะไม่ให้กองทุนเป็นผู้ประกอบการโรงแรมเอง แต่กองทุนจะต้องให้เช่ากับผู้ประกอบการอื่น และกองทุนรวมก็จะได้รับค่าเช่าเป็นผลตอบแทนจากผู้ประกอบการโรงแรมนั้น ซึ่งก็จะเป็น 4 เรื่องหลัก ๆ ที่เราให้ความสำคัญ
ผู้ดำเนินรายการ : กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์สามารถไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทใดได้บ้างคะ
คุณมาดาสิรี : มีหลากหลายประเภท ตั้งแต่อาคารสำนักงาน serviced apartment หรือโรงงานให้เช่า เมื่อลงทุนแล้วกองทุนก็จะต้องบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์นั้น ซึ่งก็จะมีงานที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย อย่างเช่น การหาผู้เช่า การเก็บค่าเช่า และการดูแลรักษาความสะอาด และความปลอดภัยต่าง ๆ ซึ่งเป็นงานประจำวัน โดยปกติ บลจ. ก็จะว่าจ้างบริษัทที่รับบริหารอาคาร ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยเฉพาะมาทำหน้าที่แทน และก็รับค่าธรรมเนียมจากกองทุนรวมไป
ผู้ดำเนินรายการ : รูปแบบการลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์มีกี่รูปแบบ และแต่ละรูปแบบนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไรคะ
คุณมาดาสิรี : โดยทั่วไปรูปแบบการลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จะสามารถจำแนกได้เป็น 2 รูปแบบ
รูปแบบแรก จะเป็นลักษณะที่กองทุนรวมนั้นไปซื้ออสังหาริมทรัพย์แล้วก็มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้น (ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า “Free Hold”) เช่น ซื้ออาคาร โดยทั่วไปพอเราซื้ออสังหาริมทรัพย์และบริหารจัดการไปสักระยะหนึ่ง และถึงเวลาที่กองทุนจะต้องเลิกหรือว่ามีเหตุที่จะต้องจำหน่ายออก กองทุนก็จะสามารถจำหน่ายอสังหาทรัพย์นั้นได้ ซึ่งผู้ถือหน่วยก็จะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากตัวอสังหาริมทรัพย์นั้นด้วย
รูปแบบที่ 2 จะเป็นลักษณะที่กองทุนไปลงทุนในสิทธิการเช่า หรือที่เรียกว่า การไปเซ้ง (“Lease Hold”) ซึ่งถ้าเป็นรูปแบบนี้ ณ วันที่กองทุนรวมลงทุน กองทุนจะต้องจ่ายค่าเช่าล่วงหน้าให้กับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเข้าใจว่ารูปแบบนี้เกิดจากการที่เจ้าของที่ดินซึ่งมีที่ดินอยู่ในศูนย์กลางธุรกิจ หรืออยู่ในทำเลดี ๆ ก็จะไม่ค่อยอยากจะขายที่ดินออกมา จึงจะทำในลักษณะให้เช่าที่ดิน และก็ให้ developer นั้นมาเช่าและก็ไปสร้างอาคาร พอหมดระยะเวลาการเช่าแล้วเจ้าของอาคารก็จะต้องส่งมอบตัวอาคารนั้นให้แก่เจ้าของที่ดิน หรือแล้วแต่จะตกลงกันว่าจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น ถ้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไปลงทุนในสิทธิการให้เช่าก็หมายความว่า กองทุนจะสามารถหาผลประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์นั้นได้ภายในช่วงระยะเวลาที่เช่าเท่านั้น ก็คือพอหมดระยะเวลาการเช่าก็ต้องคืนอสังหาริมทรัพย์นั้น โดยไม่สามารถจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างในแบบแรก ดังนั้น สิ่งที่ผู้ลงทุนจะได้รับก็จะรวมอยู่ในเงินปันผลที่ได้รับในระหว่างทาง ส่วนมูลค่าของสิทธิการเช่านั้นก็จะลดลงเรื่อย ๆ ตามระยะเวลาการเช่าที่เหลืออยู่ ซึ่งพอถึงวันที่ครบกำหนดการเช่าแล้ว มูลค่าของหน่วยลงทุนก็จะเหลือศูนย์บาท แต่ก็ต้องคิดย้อนไปว่าระหว่างทางที่เราลงทุนไปเราก็จะได้รับผลตอบแทนมาในรูปของเงินปันผล อันนี้ก็จะเป็นเรื่องที่มีความแตกต่างกันซึ่งผู้ลงทุนควรจะต้องเข้าใจ
ผู้ดำเนินรายการ : ความน่าสนใจของกองทุนอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ตรงไหนคะ
คุณมาดาสิรี : ประการแรก ถ้าเทียบกับการที่ผู้ลงทุนต้องการที่จะเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์สักชิ้น ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าจะต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่ถ้าเป็นกรณีที่เราลงทุนโดยการซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ เรามีเงินเท่าไร เราก็สามารถกันเงินบางส่วนออกมาลงทุนได้ โดยไม่ต้องใช้เงินจำนวนมาก และที่สำคัญก็คือเรามีมืออาชีพ ที่มีความชำนาญทางด้านนี้เข้ามาช่วยบริหารให้ ตั้งแต่การเลือกคัดเลือกอสังหาริมทรัพย์ การดูแลอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
ประการที่ 2 คือ ความมีสภาพคล่อง เทียบกันดูว่า ถ้าเกิดเราเป็นเจ้าของตึก มีเหตุที่เราจะต้องใช้เงิน หรือต้องจำหน่ายตึกออกไปคงไม่ใช่เรื่องง่าย และจะมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องมากมาย แต่ถ้าเป็นกรณีที่ไปซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ตามหลักเกณฑ์กำหนดว่ากองทุนอสังหาริมทรัพย์จะต้องไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งก็หมายความว่าถ้าซื้อหน่วยไปแล้วมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงิน ก็สามารถที่จะไปซื้อขายเปลี่ยนมือหน่วยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ แต่อย่างไรก็ดี มีอีกเรื่องหนึ่งที่อยากให้ผู้ลงทุนตระหนักไว้ ก็คือเรื่องของสภาพคล่องค่ะ เพราะการซื้อขายหน่วยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ก็เหมือนกับการซื้อขายหุ้นทั่วไป จะขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อ ความต้องการขายในตลาดนั้น ๆ ราคาที่ซื้อขายก็อาจจะมากกว่า หรืออาจจะน้อยกว่าราคาที่เสนอขายครั้งแรกก็เป็นได้
ส่วนประการสุดท้ายที่น่าจะสนใจก็คือ
กองทุนอสังหาริมทรัพย์จะมีข้อจำกัดว่า จะต้องจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ลงทุน อันนี้ก็จะถือว่าเป็นโอกาสที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ
ผู้ดำเนินรายการ : ผู้ลงทุนที่สนใจจะลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จะต้องเริ่มพิจารณาในเรื่องใดก่อนดีคะ
คุณมาดาสิรี : ควรจะเริ่มจากการศึกษาข้อมูล คือพอได้รับหนังสือชี้ชวนมาก็ควรที่จะดูรายละเอียดเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่กองทุนไปลงทุน โดยเริ่มตั้งแต่ว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์อะไร มีรายละเอียดอย่างไร มีอัตราการเช่าอย่างไร มีการกระจายผู้เช่ามากน้อยแค่ไหน เพราะว่าเรื่องนี้จะกระทบต่อรายได้ที่กองทุนรวมจะได้รับ
ประการที่สอง ก็คือต้องเข้าใจความเสี่ยงของการลงทุนประเภทนี้ อย่างที่เรียนนะคะว่ากองทุนอสังหาริมทรัพย์มีความแตกต่างจากกองทุนรวมที่เราคุ้นเคยกัน ความเสี่ยงที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็จะมีความแตกต่างกัน ที่สำคัญก็คือความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะการแข่งขันของความต้องการใช้พื้นที่ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่กองทุนไปลงทุนและให้เช่านั้น ถ้าความต้องการใช้พื้นที่มีน้อยลง นอกจากนี้ กองทุนยังได้รับผลกระทบจากหลาย ๆ เรื่อง ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจโดยรวม และความเสี่ยงในเรื่องของภัยพิบัติ ก็อาจจะมีผลกระทบต่อตัวอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งตรงนี้เราก็มีหลักเกณฑ์กำหนดให้มีการทำประกันภัยไว้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในส่วนนี้
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ จะต้องเข้าใจธรรมชาติของการลงทุนที่ได้เรียนไปว่า การลงทุนมี 2 รูปแบบ คือการที่ไปซื้อ หรือการไปลงทุนในสิทธิการเช่า สุดท้ายก็เป็นเรื่องของความเข้าใจคือ อยากให้ผู้ลงทุนเข้าใจว่าการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นการลงทุนระยะยาว และเราจะได้รับผลตอบแทนในลักษณะที่มีกระแสรายได้เข้ามา ผู้ลงทุนก็ควรพิจารณาว่ายอมรับผลตอบแทนและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องได้หรือไม่
ขอเสริมอีกนิดในเรื่องค่าใช้จ่ายของกองทุน เพราะว่ากองอสังหาริมทรัพย์จะมีคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องมากเป็นพิเศษจากกองทุนรวมทั่วไป ตั้งแต่มีผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์ที่จะเข้ามาดูแลอาคาร ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการติดต่อซื้อขาย ค่านายหน้าต่าง ๆ ค่าดูแลรักษาอสังหาริมทรัพย์ ค่าที่ปรึกษาต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งประเด็นนี้เนื่องจากในปัจจุบันไม่ได้มีการกำกับดูแลว่า ค่าใช้จ่ายใดบ้างที่ บลจ. จัดเก็บมากไปหรือน้อยไป ก.ล.ต. ไม่ได้กำกับดูแลในลักษณะนั้น แต่จะใช้วิธีให้ว่า บลจ. ต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เกี่ยวกับกองทุนอสังหาริมทรัพย์ไว้ในหนังสือชี้ชวน ซึ่งตรงนี้ก็อยากจะให้ผู้ลงทุนให้ความสนใจหนังสือชี้ชวนค่ะ
ผู้ดำเนินรายการ : ถ้าผู้ลงทุนสนใจจะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จะต้องทำอย่างไรบ้างคะ
คุณมาดาสิรี : นักลงทุนสามารถซื้อหน่วยลงทุนตอนเสนอขายครั้งแรก (IPO) เพราะกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นกองทุนรวมแบบปิด ซึ่งโดยปกติจะเสนอขายครั้งแรกครั้งเดียว ยกเว้นจะมีการเพิ่มทุนในภายหลัง และเมื่อเสนอขายแล้ว บลจ. ก็จะไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุน ถ้าผู้ลงทุนต้องการที่จะไปซื้อขายแลกเปลี่ยนหน่วยลงทุนก็ต้องไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ อย่างที่เรียนเมื่อสักครู่นะคะว่า ราคาที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์จะขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อ ความต้องการขายในตลาดและราคาก็อาจจะสูงกว่าหรือต่ำกว่าตอน IPO ก็ได้ ผู้ลงทุนจึงมีทางเลือก 2 ทาง ว่าจะซื้อตอน IPO หรือซื้อตอนไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้วก็ได้
ผู้ดำเนินรายการ : เมื่อช่วงปลายปี 2549 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการในการตั้งสำรอง 30% ซึ่งตรงนี้จะมีผลกระทบต่อกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์อย่างไรบ้างคะ
คุณมาดาสิรี : สำหรับกองทุนที่มีการจัดตั้งไปแล้วก็คงไม่ได้มีผลกระทบอะไร แต่สำหรับกองทุนที่มีแผนการที่จะจัดตั้งภายในปีนี้ ก็อาจจะกระทบบ้างเพราะว่าส่วนหนึ่งก็จะเป็นกองทุนที่ บลจ. มีกลุ่มเป้าหมายที่ผู้ลงทุนไทยและผู้ลงทุนต่างชาติ ซึ่งก็อาจจะกระทบในส่วนที่เป็นผู้ลงทุนต่างชาติเท่านั้น ถ้าหากเป็นกองทุนที่ บลจ. มีแผนที่จะจัดตั้งและก็เน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ลงทุนไทย คิดว่าไม่มีปัญหาอะไรกับเรื่องนี้
ผู้ดำเนินรายการ : เราได้รับทราบรายละเอียดเกี่ยวกับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์กันไปแล้วนะคะ ตั้งแต่บทบาทหน้าที่ของ ก.ล.ต. ประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และที่สำคัญก่อนจะตัดสินใจลงทุนจะต้องศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน และก็จะต้องรู้จักหลักการกระจายความเสี่ยงด้วยนะคะ
วันนี้ต้องขอขอบคุณแขกรับเชิญของเราค่ะ คุณมาดาสิรี สุนทรโยธิน ขอบคุณมากค่ะ
คุณมาดาสิรี : สวัสดีค่ะ