อยากรู้เรื่องวิกฤติการเงิน "กรีซ" ครับ เป็นมาอย่าง
โพสต์แล้ว: ศุกร์ พ.ค. 07, 2010 12:13 pm
จะกระทบมาถึงไทยเมื่อไหร่ครับ
เว็บบอร์ดเพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า
https://thaiviv3.mdsoft.co.th/./
ปัญหาที่กำลังจะเป็นวิกฤตของกรีซ
14 ธันวาคม 2552
รายการ Money Wakeup ครั้งที่ 19
ในช่วงสัปดาห์ที่หยุดไป มีเรื่องสำคัญหลายเรื่องเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลก หนึ่งในนั้น ก็คือ การประกาศลดอันดับ Rating ในกรณีของประเทศ Greece ลงเหลือ BBB+
ซึ่งเมื่อผนวกกับปัญหาการกู้ยืมหนี้สินจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากของดูไบ จนไม่สามารถชำระคืนได้ ทุกคนจึงเริ่มกลับมาจับตาและทบทวนเรื่อง ความเสี่ยงจากการกู้ยืมของภาครัฐในประเทศต่างๆ หรือที่เรียกว่าปัญหา Sovereign Debt อีกรอบหนึ่งอย่างละเอียด
วันนี้ก็เลยถือโอกาสเลือกเอาเรื่องนี้มาวิเคราะห์ให้ฟังครับ เพราะคิดว่า ประเด็นนี้จะเป็นประเด็นร้อนที่มีผู้กล่าวถึงอีกหลายรอบในช่วง 1 ปี ข้างหน้า
เกิดอะไรขึ้นที่ Greece
ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาที่มาจากการขาดดุลภาครัฐของรัฐบาลกรีซ ส่วนหนึ่งมาจากการต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ซึ่งในปีนี้คาดว่าระดับการขาดดุลการคลังของกรีซจะอยู่ที่ 12% กว่าๆ และจะอยู่ในระดับนี้อีก 3 ปีจนกระทั่งปี 2011 (มากกว่าระดับที่เหมาะสมที่ทางกลุ่มสหภาพยุโรปกำหนดไว้ทีระดับ 3% ถึง 4 เท่าตัว)
การขาดดุลเช่นนี้ จะส่งผลให้หนี้ภาครัฐของกรีซเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าจะอยู่ในระดับประมาณ 125% ของ GDP ในปี 2010 ซึ่งนับว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม Eurozone ที่มีหนี้ภาครัฐต่อ GDP เฉลี่ยอยู่ที่ 84% และจะเพิ่มสูงต่อไปในอนาคต
ไม่น่าแปลกในว่าทำไม กรีซจึงถูกถูกลด Rating ลงเหลือ BBB+ เพราะจากยอดหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น โอกาสที่รัฐบาลกรีซจะไม่ชำระคืนหนี้มีมากขึ้น
นอกจากนี้ กรีซก็ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกที่ต้องแก้ไข ก็คือ ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในระดับที่สูงมาก ซึ่งจากการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 14% ของ GDP สะท้อนถึงความเปราะบางที่มีอยู่แล้วในตัวของเศรษฐกิจของกรีซ ซึ่งส่งออกไม่ได้ และรัฐบาลใช้จ่ายเกินตัว
ต้องกังวลใจเปล่า และต้องกังวลใจเรื่องนี้กับประเทศอื่นๆ อีกหรือเปล่า
ที่คนกังวลใจกันก็คือว่า จะกระจายเปล่า น่ากังวลใจหรือไม่ มีประเทศอื่นๆ เหมือนกรีซ อีกหรือไม่ และ กรีซเหมือนกับกรณีของดูไบหรือไม่ ขอตอบไปทีละประเด็น
(1) เทียบกรีซกับดูไบ หนี้ที่กรีซกู้ยืมมาเป็นหนี้ภาครัฐโดยตรง ไม่ใช่หนี้ภาคเอกชนที่อาศัยชื่อของรัฐบาลเป็นคนรับประกันกลายๆ อย่างเช่นในกรณีของดูไบ ปัญหาของกรีซยังไม่ได้หนักหน่วงกับดูไบ และกรีซยังมีอีกช่วงหนึ่งก่อนที่จะดูแลแก้ไขก่อนที่ปัญหาจะลุกลามขึ้นเป็นวิกฤต
(2) มีประเทศอื่นเหมือนกรีซเปล่า ตอบว่า มี แต่ว่ารู้กันมานานแล้ว ว่าจะมีปัญหานี้เกิดขึ้น เพราะว่าเห็นชัดเจนว่ารัฐบาลของประเทศต่างๆ กำลังขาดดุลกันเป็นจำนวนมากเพื่อต่อสู้กับวิกฤตครั้งสำคัญ และทุกคนรู้ว่าพอรอดจากวิกฤตมาได้ ก็ต้องตามมาแก้ไขเรื่องปัญหาเรื่องหนี้ภาครัฐที่กู้มาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ตรงนี้คำถามสำคัญก็คือ มีหนี้มาก แล้วจะมีกำลังจ่ายคืนหรือไม่ เพราะดูเหมือนกับว่าจะ Max วงเงินเรียบร้อยแล้ว เช่นกรณีของไอส์แลนด์ (Iceland) ไปอุ้มแบงก์มากจนต้องถูกลด downgrade ลงกลายเป็น Junk bond ไปเรียบร้อยแล้ว
บางประเทศ เช่น อิตาลี โปรตุเกส หรือ ไอร์แลนด์ ซึ่งมีหนี้มาก สเปน อังกฤษ ซึ่งวิกฤตหนักหน่วงเป็นพิเศษ ก็เลยถูกจับตามองว่าจะถูกลดอันดับหรือไม่
(3) ต้องกังวลใจหรือไม่ ณ ปัจจุบัน ก็กังวลใจบ้าง แต่รู้ว่าหนี้เหล่านี้มาจากไหน และเท่าไร แต่ที่น่ากังวลใจจริงๆ ก็คือ ตอนนี้หนี้มาก แต่กระตุ้นเศรษฐกิจ ใช้จ่ายเงินไปแล้ว แต่เศรษฐกิจไม่ได้ดีมากอย่างที่คิด และจะต้องใช้จ่ายกันอีก
ส่วนจะมากน้อยแค่ไหนในช่วงต่อไป ขึ้นกับคุณภาพของการฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ออกมา ก็คงต้องบอกว่าน่ากังวลใจเหมือนกัน เพราะที่เคยคิดกันว่า ไตรมาสที่ 3 ฟื้นตัวดีนั้น ก็ไม่ได้ดีอย่างที่คิด ญี่ปุ่น สหรัฐ ต้องปรับประมาณการไตรมาส 3 ลง โดยญี่ปุ่นลดลงจาก 4.8% เหลือเพียง 1.3% และสหรัฐลดจาก 3.5% เหลือ 2.8% โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นภาครัฐ
ตรงนี้เลยมีการพูดถึงมาตรการกระตุ้นรอบใหม่ แต่คำถามก็คือ มี Room มีเงินเหลือแค่ไหนที่จะกู้ได้ และกระตุ้นไปแล้วจะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ถ้าภาคสถาบันการเงินยังไม่ทำงาน
ตรงนี้บทเรียนที่เป็นฝันร้ายที่ทุกประเทศอยากหลีกเลี่ยงก็คือ กรณีของญี่ปุ่นที่กระตุ้นไประหว่างปี 1990-2005 ประมาณ 13 แผน ทำให้หนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นจาก 60% ของ GDP เป็น 180% แต่เศรษฐกิจก็ไม่ไปไหน
(4) จะกระจาย ต้องระวังหรือเปล่า คำตอบ ก็คือ ไม่น่า เพราะว่ามีคนที่มีปัญหาหนี้ภาครัฐรอบนี้ เช่น สเปน อังกฤษ สหรัฐ อิตาลี ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วมี Rating ที่ดีมากแต่ต้นอยู่แล้ว ต่อให้ถูก downgrade แต่ก็ยังสูงอยู่ (สูงกว่าไทยด้วยซ้ำไป) ในส่วนของกรีซที่ทุกคนจับตามอง ก็เพราะ กรีซเป็นประเทศที่อ่อนแอที่สุดในกลุ่ม ก็เลยออกอาการก่อน แต่ประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วยังดีอยู่
ที่ต้องกังวลใจจริงๆ ว่าจะเกิดปัญหา ก็คือ ประเทศในกลุ่ม Eastern Europe ที่มีทั้งความเปราะบางของเศรษฐกิจ และมีหนี้มาก
ผลกระทบคืออะไร ต้องจับตามองอะไร
ผลกระทบมี 2 ส่วน ระยะสั้นกับระยะยาว โดยเกณฑ์ที่ทุกคนจับตามองก็คือ หนี้ภาครัฐที่ 60% ของ GDP ซึ่ง World Bank บอกว่าเป็นเกณฑ์สำหรับประเทศกำลังพัฒนา ว่ามีหนี้สูงแล้วหรือยัง ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้ว อาจจะมีหนี้เกินกว่า 60% ก็ได้ เช่น ญี่ปุ่นอยู่ที่ 220% ของ GDP เพราะประเทศที่พัฒนาแล้ว มีความสามารถในการจ่ายคืนมากกว่า
แต่ในกลุ่มสหภาพยุโรป ก็ใช้เกณฑ์ 60% เช่นเดียวกัน ในการบังคับว่าประเทศสมาชิกจะต้องมีหนี้ภาครัฐไม่เกินเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งสำหรับกรีซ จะเกินไปเป็น 2 เท่าตัวของที่กำหนดไว้
1. ระยะสั้น การปรับลด Rating ในช่วงต้นๆ จะส่งผลกระทบต่อ ราคาของพันธบัตรและดอกเบี้ยที่ประเทศเหล่านี้ต้องจ่าย จะเห็นว่าในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พันธบัตร 2 ปีของกรีซต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 2% หมายความว่า ต้นทุนในการกู้ยืมของกรีซ จะเพิ่มขึ้น
ในช่วงต่อไป ประเด็นที่ต้องจับตามองก็คือ การปรับลดลงระหว่างที่เป็น investment grade และ non investment grade เพราะว่าถ้าพอปรับลดลงอีก เป็น non investment grade ตรงนี้จะส่งผลกระทบมากต่อกรีซ เพราะว่า
นักลงทุนสถาบันมีกฎเกณฑ์ว่า ไม่สามารถลงทุนในพันธบัตรที่เป็น non investment grade ตรงนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อเงินที่กรีซเคยกู้ยืมมา และจะกู้ยืมใหม่
ผลกระทบต่อคุณค่าของพันธบัตรรัฐบาลกรีซ จากที่สถาบันการเงินจะไม่สามารถใช่เป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน เพื่อกู้ยืมจากธนาคารกลางของยุโรป คือ ECB
แม้กระทั่งบริษัทเอกชนของกรีซ ก็จะถูกกระทบเพราะว่า Rating ของบริษัทเหล่านั้น จะสูงเกินกว่า Rating ของประเทศไม่ได้ ก็หมายความว่าบริษัทในกรีซจะกลายเป็น non investment grade ไปด้วย
ทั้งหมดนี้จะกระทบกับ เงินทุนที่จะไหลเข้าออก ทำให้เงินไม่ไหลเข้า ในขณะที่ประเทศต้องการเงินมาชดเชยปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และจะกระทบกับการลงทุนในประเทศอีกรอบ
2. ระยะยาว ปัญหา คือ ability to pay ว่าจะสามารถจ่ายคืนได้หรือไม่ และปัญหาเงินเฟ้อที่จะตามมา ถ้าควบคุมการใช่จ่ายไม่ได้ และจ่ายคืนโดยใช้เงินภาษีไม่ได้
ทางออกคืออะไร
การกลับไปมีวินัยการคลัง หรือ (Fiscal Discipline) นี่คือสิ่งที่ยุโรปบอก กรีซ ตรงนี้หลายคนมองว่า กรีซไม่เด็ดเดี่ยวพอที่จะควบคุมการใช้จ่ายของตนเองได้ ในขณะที่ประเทศที่หลายคนจับตามองอีประเทศคือ ไอร์แลนด์ ตอนนี้ได้ตัดสินใจลดเงินเดือนข้าราชการลง 5-15% ลดเงินเดือนนายกลง 20% ลดสวัสดิการเรื่องของบุตรลง ขณะที่กรีซแทบจะไม่ได้ลดอะไรลงเลย
ไม่น่าแปลกใจว่า ช่วงหลังนักลงทุน ตอบสนองอย่างดีต่อนโยบายของไอร์แลนด์ แต่ไม่ดีกับนโยบายของกรีซ ทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมของกรีซเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ต้นทุนของไอร์แลนด์เริ่มอยู่ตัว
ตรงนี้ก็เป็นบทเรียนให้กรีซและประเทศอื่นๆ ที่มีปัญหาหนี้ภาครัฐสูงเกินไป จะเรียนรู้ และนำมาทบทวนและเป็นทางออกจากปัญหานี้ในอนาคต
ก็ต้องติดตามกันต่อไปครับ อย่างที่บอกไว้แล้ว ประเด็นเรื่อง Sovereign debt นี้จะเป็นประเด็นร้อนที่ Set Trend ของปัญหาทางเศรษฐกิจในช่วง 1 ปี ข้างหน้า