นักลงทุนดันโด:ValueWay วิบูลย์ พึงประเสริฐ
โพสต์แล้ว: เสาร์ ม.ค. 23, 2010 12:15 am
Value Way ฉบับวันที่ 25 มกราคม 2553
โดยวิบูลย์ พึงประเสริฐ
นักลงทุนดันโด
ในช่วงนี้มีหนังสือการลงทุนหลายเล่มออกวางจำหน่ายซึ่งตลาดหุ้นที่กำลังคึกคักช่วยให้ตลาดหนังสือในแนวลงทุนขายได้ดีขึ้น สัปดาห์นี้มีหนังสือแนะนำสำหรับนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าเล่มหนึ่งชื่อ นักลงทุนดันโด แปลจาก Dhandho Investor เขียนโดยโมห์นิช พาไบร (Mohnish Pabrai) แปลเป็นไทยโดยคุณพรชัย รัตนนนทชัยสุข ผู้มีผลงานแปลขายดีอย่างลงทุนแบบบัฟเฟต (Buffetology) และ นักลงทุนผู้ชาญฉลาด (Intelligent Investor)
โมห์นิช พาไบรเป็นคนเชื้อสายอินเดียที่พำนักอาศัยอยู่สหรัฐอเมริกา เขาเป็นผู้คลั่งไคล้ในวอร์เรน บัฟเฟตเป็นชีวิตจิตใจและคาดหวังว่าวันหนึ่งเขาจะมีผลงานการลงทุนได้ดีเท่ากับบัฟเฟต พาไบรศึกษาประวัติและวิธีการลงทุนของบัฟเฟตอย่างละเอียด เขาพบว่าในช่วงแรกของการลงทุน บัฟเฟตได้ตั้งกองทุนขึ้น (Buffet Partnership) โดยรวบรวมเงินจากผู้ใกล้ชิดเป็นจำนวน 150,000 เหรียญโดยมีเงินของบัฟเฟตเอง 100 เหรียญ ในช่วงสิบห้าปีที่กองทุนของบัฟเฟตบริหารงานอยู่มีผลตอบแทนการลงทุนกว่าปีละ 20% ในช่วงสุดท้ายเมื่อเลิกกองทุน บัฟเฟตมีเงินของเขาเองในกองทุนถึง 25 ล้านเหรียญ
พาไบรได้รับแรงบันดาลใจจากการบริหารกองทุนของบัฟเฟต ทำให้เขาตัดสินใจจัดตั้งกองทุนบริหารเงินของเขาเองบ้างในชื่อ กองทุนบริหารเงินลงทุนพาไบร (Pabrai Investment Funds) ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนทบต้นต่อปีได้สูงกว่า 28 เปอร์เซ็นต์หลังจากหักค่าธรรมเนียมต่างๆออกหมดแล้ว ถือว่าสูงมากสำหรับผลตอบแทนของกองทุนรวม
ดันโด (Dhando) เป็นภาษาอินเดียหมายถึงความมั่งคั่ง พาไบรบอกว่านักลงทุนส่วนใหญ่ถูกสอนว่า การหาผลตอบแทนสูงๆจะต้องเผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้นตามไปด้วย แต่การลงทุนแบบดันโดพลิกความเชื่อนี้โดยสิ้นเชิง โดยชาวพาเทลที่เป็นชุมชนของพาไบรได้ใช้แนวคิดดันโดในการบริหารธุรกิจให้มีผลตอบแทนสูงสุด ขณะเดียวกันจำกัดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับต่ำสุด หลักการของดันโดอยู่ที่การทำงานหนัก เก็บเงินให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเมื่อโอกาสมาถึงก็ทุ่มเดิมพันเพียงครั้งเดียวโดยแทบเป็นการเดิมพันโดยไตร่ตรองมาเป็นเวลานานหลายปี บางครั้งกว่าสามถึงห้าปีถึงจะลงมือสักครั้ง โดยการเฝ้ารอคอยธุรกิจที่สนใจอย่างอดทน มันเป็นกรณีคลาสสิคของการเดิมพันน้อยอย่าง เดิมพันหนักๆ ไม่เดิมพันบ่อย มันเหมือนการโยนเหรียญแบบออกหัว ผมได้เงิน ออกก้อย ผมเสียเงินนิดหน่อย
นอกเหนือจากนั้นพาไบรยังเปรียบเทียบการลงทุนแบบดันโดกับธุรกิจกลุ่มเวอร์จิน (Virgin) ของริชาร์ด แบรนสัน (Richard Brandson) โดยบอกว่าแนวทางการทำธุรกิจของแบรนด์สันคล้ายคลึงกับการลงทุนแบบดันโดอย่างมาก โดยเฉพาะการตั้งสายการบินเวอร์จิน แอตแลนติคทั้งๆที่แบรนด์สันไม่มีความรู้เรื่องสายการบินมาก่อนเลย และสุดท้ายสายการบินนี้มีชื่อเสียงและทำกำไรให้กับแบรนด์สันมาก แบรนด์สันมองเรื่องการจำกัดความเสี่ยง ความล้มเหลวต่อธุรกิจใหม่ๆของเขาแทบไม่มีความหมายอะไรต่อเขาเลย ต่อให้ธุรกิจครึ่งหนึ่งไปไม่รอด ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร เพราะธุรกิจเหล่านั้นแทบไม่ต้องใช้เงินลงทุน พาไบรบอกว่าเหล่ากองทุนรวมควรดูธุรกิจของเวอร์จินเป็นตัวอย่าง เพราะเป็นโมเดลแห่งอนาคต เวลาแบรนด์สันจะร่วมลงทุนกับบริษัทอื่น เขาจะดูธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำมาก แต่ให้ผลตอบแทนสูง มีคนมาขายความคิดให้เขาตลอดเวลา แต่เขาจะเลือกลงทุนในธุรกิจไม่กี่อย่างเท่านั้น เขาจะถือหุ้นในสัดส่วนที่มาก บางครั้งจะถือหุ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์โดยไม่ต้องลงเงินเลย หรือบางกรณีถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ทั้งๆที่ใช้เงินลงทุนน้อยมาก
ในหนังสือเล่มนี้ มีตัวอย่างการลงทุนในแนวดันโดอีกมาก อีกทั้งพาไบรจะบอกเล่าประสบการณ์การลงทุนของเขาเอง รวมถึงยกตัวอย่างการวิเคราะห์หุ้นที่เกิดขึ้นจริงด้วย นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าไม่ควรพลาดหนังสือเล่มนี้ด้วยประการทั้งปวง