หน้า 1 จากทั้งหมด 1

ทฤษฏีการลงทุน(2):ValueWay วิบูลย์ พึงประเสริฐ

โพสต์แล้ว: ศุกร์ พ.ย. 06, 2009 8:46 pm
โดย PERFECT LUCKY
Value Way ฉบับวันที่ 9 พฤศจิกายน 2552
โดยวิบูลย์ พึงประเสริฐ
ทฤษฏีการลงทุน (2)

จากวิกฤติซัพไพร์มที่เกิดขึ้นทำให้ทฤษฏีตลาดประสิทธิภาพ (Efficient Market Thoery) ซึ่งได้รับการยอมรับในวงการการเงินมานานลดทอนความน่าเชื่อถือลงไปมาก เพราะตลาดทุนและตลาดเงินเกิดความตกต่ำพร้อมๆกันทั่วโลก กองทุนที่ใช้หลักการทฤษฏีตลาดประสิทธิภาพโดยลงทุนในดัชนีหุ้นตลอดเวลา (Index Fund) ต่างพบว่ามูลค่าเงินลงทุนลดลงตามดัชนีหุ้นอย่างมาก ทั้งๆที่ในความเป็นจริงมูลค่าตลาดของหุ้นบริษัทเหล่านั้นไม่น่าจะลดลงไปมากขนาดนี้

ทฤษฏีการลงทุนที่กำลังเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบันซึ่งสามารถอธิบายพฤติกรรมและเหตุการณ์ของวิกฤติรอบนี้ได้ดีกว่าทฤษฎีตลาดประสิทธิภาพเดิมคือ ทฤษฎีการเงินเชิงพฤติกรรม (Behavioral Finance) ทฤษฏีนี้กล่าวถึงการตัดสินใจของมนุษย์ไม่ได้มีเหตุและผลเสมอไปเหมือนกับที่ตั้งสมมุติฐานไว้ในทฤษฎีดั้งเดิม มนุษย์มีแนวโน้มที่จะใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลในการตัดสินใจ โดยเฉพาะเมื่อการตัดสินใจนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินๆทองๆ

ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเรามีเงินในกระเป๋า 500 บาท ก่อนการตัดสินใจซื้อสิ่งของสักชิ้นหนึ่ง เรามักจะใช้เหตุผลในการเลือกซื้อของอย่างพินิจพิจารณา แต่ปรากฏว่าเงิน 500 บาทหายไป เราคิดว่าคงลืมไว้ที่ไหนสักแห่งเป็นแน่ พอเวลาผ่านไปเราลืมเรื่องเงินนี้ไปแล้ว จนวันหนึ่งเราเกิดค้นลิ้นชักพบเงิน 500 บาทที่หายไป เรามักคิดว่าเงินที่ได้เป็นเงินที่ได้มาฟรีและมีแนวโน้มที่จะใช้เงินก้อนนี้โดยไม่ระมัดระวัง ทั้งๆที่เป็นเงินจำนวนเท่ากับที่เคยมีอยู่ก่อนหน้านั้นเหมือนกัน

หรือมีการทดสอบในการตัดสินใจเลือกการรับเงิน 50 เหรียญตอนนี้หรือรอรับเงิน 100 เหรียญในอีกสองปีข้างหน้า คนส่วนใหญ่เลือกรับเงิน 50 เหรียญตอนนี้เลยทั้งๆที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนถึงปีละ 40 เปอร์เซนต์ถ้ารอไปอีกสองปี แต่ขณะเดียวกันถ้าเปลี่ยนแปลงระยะเวลาให้ยาวขึ้นโดยให้เลือกระหว่างรับเงิน 50 เหรียญในอีก 4 ปีข้างหน้ากับการรับเงิน 100 เหรียญในอีก 6 ปีแทน ในกรณีนี้แทบไม่มีใครเลือกรับเงิน 50 เหรียญเลย

ในเรื่องการลงทุนก็เช่นเดียวกัน นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลในการตัดสินใจในการลงทุน ในช่วงที่ตลาดตกต่ำ นักลงทุนมักจะพลอยหดหู่ มูลค่าการซื้อขายมักจะเบาบาง แต่เมื่อราคาหุ้นสูงขึ้น ตลาดหุ้นเริ่มคึกคักอีกครั้ง นักลงทุนเริ่มกล้าที่จะเข้าตลาดมากขึึ้น จนถึงระยะสุดท้ายที่ทุกคนมองโลกในแง่ดี  นักลงทุนในตลาดมีความมั่นใจอย่างเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันราคาหุ้นส่วนใหญ่มีราคาสูงเกินมูลค่าไปมาก เมื่อถึงจุดหนึ่งเกิดมีข่าวร้ายขึ้น แรงขายที่มาจากความตื่นตระหนกของนักลงทุนอาจทำให้ตลาดหุ้นพังทลายได้ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์แบลค์มันเดย์ในช่วงปี 1980  หรือวิกฤติซัพไพร์ม 2008 ที่ผ่านมา

ทฤษฎีการเงินเชิงพฤติกรรมยังสามารถนำมาทำนายทางเศรษฐศาสตร์อีกด้วย โดยนักเศรษฐศาตร์เชิงพฤติกกรรมสองท่านถึงกับได้รับรางวัลโนเบิลในช่วงหลายปีทีผ่านมา เป็นครั้งแรกที่ทั่วโลกให้การยอมรับในการศึกษาเศรษฐศาตร์เชิงพฤติกรรรม มหาวิทยาลัยชิคาโกในสหรัฐอเมริกา สถาบันซึ่งเป็นผู้เผยแพร่ทฤษฏีตลาดประสิทธิภาพไปทั่วโลกมานานหลายสิบปี ปัจจุบันกลับจ้างศาตราจารย์ริชาร์ด เทเลอร์ (Richard Thaler) นักเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมที่มีชื่อเสียงมาเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาตร์ร่วมกับอาจารย์อื่นๆที่ยังคงมีแนววามคิดในตลาดมีประสิทธิภาพ

จะเห็นว่าในวงการการเงินและสถาบันการศึกษาเริ่มมีการยอมรับว่าตลาดไม่ได้มีประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลาเสมอไป ในอนาคตทฤษฎีการเงินเชิงพฤติกรรมจะทดแทนทฤษฏีตลาดประสิทธิภาพได้หรือไม่คงต้องดูกันต่อไป