ทฤษฏีการลงทุน:ValueWay วิบูลย์ พึงประเสริฐ
โพสต์แล้ว: ศุกร์ ต.ค. 30, 2009 11:35 pm
haValue Way ฉบับวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552
โดยวิบูลย์ พึงประเสริฐ
ทฤษฏีการลงทุน
ในโลกของการลงทุนสมัยใหม่ ทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคือทฤษฏีตลาดประสิทธิภาพ (Efficient Market Thoery) ทฤษฎีีนี้กล่าวถึงราคาของหุ้นในตลาดเป็นราคาที่เหมาะสมและสะท้อนข้อมูลต่างๆเรียบร้อยแล้ว การค้นหาหุ้นที่ทำผลตอบแทนเหนือการตลาดจึงไม่มีความจำเป็น เพราะในที่สุดผลตอบแทนจะเบี่ยงเข้าหาจุดสมดุลเสมอ ทฤษฎีนี้เชื่อว่าไม่มีใครสามารถทำผลตอบแทนได้มากกว่าตลาดหุ้นในระยะยาว ดังนั้นวิธีการลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนในดัชนีหุ้น
ทฤษฎีนี้ที่ได้รับการพิสูจน์ทางคณิตศาตร์โดยมาร์โควิชต์ จนผลงานทฤษฏีตลาดประสิทธิภาพทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาตร์ หลังจากนั้นมีการนำทฤษฏีนี้ไปประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางในวงการไฟแนนซ์ของโลก นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธุรกิจทุกคนต้องเรียนในเรื่องของทฤษฎีนี้ กองทุนดัชนีถือกำเนิดขึ้นรวมทั้งการออกตราสารการเงินต่างใช้ทฤษฎีนี้เป็นพื้นฐานในการคำนวณหามูลค่าของสินทรัพย์เหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นออปชั่นหรือตราสารอนุพันธ์อื่นๆ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทฤษฏีตลาดประสิทธิภาพได้รับการยอมรับอย่างมาก เพราะจากการสำรวจผลตอบแทนของกองทุนหุ้นในสหรัฐอเมริกาพบว่ามีกองทุนไม่ถึงครึ่งที่สามารถทำผลตอบแทนชนะตลาดหุ้นได้ในระยะยาว ซึ่งเป็นการทดสอบสมมุติฐานของทฤษฎีนี้ที่่ว่าไม่มีใครสามารถทำผลตอบแทนได้มากกว่าตลาดหุ้น รวมทั้งการลงทุนในดัชนีหุ้นทำได้ง่ายสะดวกและมีค่าบริหารจัดการที่ต่ำ เพราะไม่ต้องจ่ายจ้างนักวิเคราะห์หรือผู้จัดการกองทุนค่าตัวแพงๆมาทำการเลือกหุ้นที่จะลงทุน แม้แต่วอร์เรน บัฟเฟตยังแนะนำให้นักลงทุนลงทุนในกองทุนดัชนีหุ้นแทนที่จะเลือกกองทุนที่ต้องจ่ายค่าบริหารจัดการสูงๆ
ถึงกระนั้นก็ตาม วิกฤติซัพไพร์มที่เกิดขึ้นทำให้ความน่าเชื่อถือของทฤษฏีตลาดประสิทธิภาพลดน้อยลงไปอย่างมาก เพราะในอดีตทุกคนเชื่อว่าตลาดจะดูแลตัวมันเองได้โดยไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับมันมากนัก แต่ในความเป็นจริงภาวะตกต่ำของตลาดหุ้นอย่างรุนแรงนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะเมื่อนักลงทุนในตลาดเกิดความตื่นตระหนกต่อข่าวร้ายต่างๆที่เกิดขึ้น การเทขายหนีตายของนักลงทุนที่อยากออกจากตลาดพร้อมๆกันทำให้ตลาดหุ้นถึงกับพังทลายได้ ซึ่งเราได้เห็นแล้วในช่วงเดือนตุลาคมจนถึงต้นปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นลดลงไปถึงกว่า 50% ทั่วโลก และสุดท้ายนักลงทุนพบว่าตลาดหุ้นไม่ได้มีประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา
นอกจากนั้นการล้มละลายของบริษัทเงินทุนเลห์แมนบราเดอร์และธนาคารขนาดใหญ่อีกหลายแห่งในอเมริกาและยุโรปจากการลงทุนในตราสารซัพไพร์มแสดงให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพของราคาตราสารอนุพันธ์ต่างๆที่มีอยู่ในตลาดปัจจุบัน ค่าความเบี่ยงเบนของราคาตราสารเหล่านี้ไม่ได้เป็นไปตามการกระจายแบบปกติ (Normal Distribution) อย่างที่อธิบายในทฤษฎีนี้ เมื่อถึงจุดหนึ่งมูลค่าของทรัพย์สินทางการเงินเหล่านั้นต่างลดลงพร้อมๆกันในเวลาเดียวกันซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ
คำถามมีอยู่ว่าถ้าทฤษฏีตลาดประสิทธิภาพไม่ถูกต้องเสียแล้ว รวมทั้งไม่สามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงภาวะวิกฤติเช่นนี้ได้ จะมีทฤษฏีการลงทุนอื่นอีกหรือไม่ที่น่าจะใช้ได้ดีกว่าสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นหรือตราสารทางการเงินอื่นๆในอนาคต ฉบับหน้าเราจะมาศึกษาทฤษฎีีการลงทุนแบบอื่นว่าจะสามารถมาแทนที่ทฤษฏีตลาดประสิทธิภาพได้หรือไม่