นำมาจากกระทิงเขียวครับ
http://www.bbznet.com/scripts/view.php? ... r=numtopic
ตะวัน สุรัติเจริญสุข
เมื่อเอกซเรย์ลงไปจนถึงแก่น จะพบว่า ธุรกิจในประเทศไทยไม่เคยหยุดนิ่ง
ทุนต่างชาติที่เคยได้เปรียบ เมื่อระยะเวลาหนึ่งผ่านไป
อาจจะถอยไปเพราะฟันกำไรไปมากพอ มีปัญหาฐานะการเงินของตัวเอง หรือต้อง "พับเสื่อ"
กลับบ้าน เนื่องจากเกมการแข่งขันรุนแรง มีการ "ชกใต้เข็มขัด"
กันทุกรูปแบบเพื่อชัยชนะ เกิดขึ้นอยู่เป็นระยะๆ
แต่เมื่อรวมๆ กันแล้ว ก็เป็นตัวเลขที่น่าตกใจ เพราะ "อริญญา เถลิงศรี"
กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอพีเอ็ม กรุ๊ป ที่ปรึกษาด้านงานบุคคลชั้นนำ ระบุว่า
ตัวเลขล่าสุดที่เอพีเอ็ม กรุ๊ปได้ศึกษา ปรากฏว่า ทุนต่างชาติกว่า 43%
แล้วที่เก็บกระเป๋ากลับบ้าน
เซย์กู๊ดบายจากพี่ไทย..........
แม้เหตุผลหลักๆ จะถูกยกให้เป็นเรื่องความต่างกันของวัฒนธรรม
แต่ต้องยอมรับว่าแนวโน้มการทำธุรกิจในไทยต่อไปก็ "ไม่ปกติ" นัก
ไม่ปกติ เพราะธุรกิจถูกควบคุมด้วยกลไกของรัฐเกือบทั้งหมด
ทำให้กลไกตลาดไม่สามารถทำงานได้อย่างเข้มแข็งด้วยตัวเองในหลายๆ ธุรกิจ
อย่างเช่นขณะนี้ รัฐได้เร่งปราบปรามหวยใต้ดินเพื่อเข้ามาในธุรกิจนี้เสียเอง
รัฐสร้างบ้านราคาถูกขายคอมพิวเตอร์ราคาถูก กำลังจะทำรถยนต์แห่งชาติราคาถูก
ปล่อยสินเชื่อราคาถูก เร่งแปรรูปรัฐวิสาหกิจขายให้กับนักลงทุน
และพยายามจะกำหนดทิศทางตลาดหุ้นด้วยกลไกรัฐ
กลุ่มทุนที่ใกล้ชิดกับอำนาจรัฐ เป็นผู้เปิดฉากสายการบินต้นทุนต่ำ หรือ "Low-Cost
Airlines" เข้าไปลงทุนในกิจการโทรทัศน์ ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ธนาคารพาณิชย์
โทรศัพท์มือถือ อสังหาริมทรัพย์ มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาล
กลไกเช่นนี้ทำให้ตลาดถูกขับเคลื่อนไปในลักษณะ "กึ่งผูกขาด"
ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วจะเหลือเพียงเบอร์ 1 และเบอร์ 2
หรือกลุ่มทุนที่แนบชิดกับรัฐเท่านั้นที่อยู่รอด
ต่างชาติที่ว่าแน่ๆ ทุนหนา เทคโนโลยีสูง การตลาดเจ๋ง จึงมีสิทธิแตกพ่ายได้เช่นกัน
ใครแพ้ "ศึกนอก" แพ้ "ศึกใน" มาไล่เลียงกัน
ออเร้นจ์ เอสเอ ผู้นำธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่อันดับ 1 ของอังกฤษในเครือฟรานซ์
เทเลคอม เขย่าวงการที่สุด เมื่อยอมขาดทุน 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 20,000
ล้านบาท เมื่อตัดสินใจขายหุ้น 39% หรือ 819 ล้านหุ้นใน "ทีเอ ออเร้นจ์"
ในราคารวมเพียง 1 บาท ให้กับเทเลคอมเอเซีย (TA)
เพื่อแลกกับการไม่ต้องใส่เงินเพิ่มทุนก้อนใหม่เข้าไปอุ้มกิจการอีก 6,000 ล้านบาท
และปลดหนี้สินระยะยาวกับบริษัท
หลายคนวิเคราะห์ว่า ศึกในที่ออเร้นจ์ เอสเอ เจอ คือ การบริหารงานสไตล์ Family
Business Network ของ "เจียรวนนท์" ลักษณะธุรกิจต้องใช้ "คอนเนคชั่น"
กับหน่วยงานของรัฐ และบริษัทมีภาระหนี้จำนวนมหาศาลที่ไม่มีทางออก
ธุรกิจโทรศัพท์มือถือสู้กันทุกรูปแบบจนแทบจะไม่เหลือกลยุทธ์ให้ใครสร้างความแตกต่าง
เพื่อใช้เป็นจุดขายเหนือคู่แข่ง ยกเว้นสงคราม "ราคา"
ปัจจุบัน AIS มีฐานลูกค้าในมือเกือบ 13.50 ล้านเลขหมาย DTAC มี 6.7 ล้านเลขหมาย
Orange มีเพียง 1.9 ล้านเลขหมาย ในขณะที่ Hutch มีฐานลูกค้าในมือไม่ถึง 5
แสนเลขหมาย การต่อสู้อยู่บนพื้นฐานที่เบอร์ 3 เบอร์ 4 ยากที่จะสร้าง Economy of
Scale ทางธุรกิจแข่งกับรายใหญ่
ในขณะที่ธุรกิจนี้ต้องอัดเงินเข้าไปหล่อเลี้ยงนวัตกรรมที่ต้องพัฒนาก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา
แต่ราคาขายต่อหน่วยมีแต่ลดต่ำลง
ท้ายที่สุดแล้วกฎข้อสุดท้ายแห่งชัยชนะวัดกันที่ "ต้นทุน" ใครต่ำที่สุด
อาจกล่าวได้ว่า "เจียรวนนท์" ในเจเนอเรชั่นที่ 3 กำลังถูกท้าทายครั้งสำคัญ
ไม่มีศึกคราใดจะหนักหน่วงเท่าศึกในครั้งนี้ ไม่เพียงบริษัทแม่ออเร้นจ์
จะถอนการลงทุนจากทีเอเท่านั้น Nynex Network Systems บริษัทสื่อสารอันดับต้นๆ
ของสหรัฐซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนรุ่นบุกเบิกของ TA
ก็ยอมขาดทุนขายหุ้นทั้งหมดคืนให้กับกลุ่มซีพี เมื่อไม่นานมานี้
พันธมิตรที่เคยร่วมสู้กันมายอมยกธงขาวถึง 2 ราย โดดเดี่ยว "ซีพี"
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บอกว่า ในระยะยาวแล้ว TA ยังมีหนี้สินจำนวนมากถึง 6.87
หมื่นล้านบาท และอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนปีใน 2546 สูงถึง 25 เท่า
และมีโอกาสเพิ่มขึ้นอีกหลังจากซื้อหุ้นเพิ่มในทีเอ ออเร้นจ์
เป็นคำยืนยันว่าธุรกิจสื่อสารของซีพีกำลังตกที่นั่งลำบาก
ศุภชัย เจียรวนนท์ บอกว่า หากทีเอ ออเร้นจ์ ไม่สามารถรีไฟแนนซ์หนี้ได้ภายในวันที่
29 ก.ย.47 ทีเอ ก็จะไม่ซื้อขายหุ้นดังกล่าว และข้อตกลงสัญญาต่างๆ
ก็จะไม่เกิดผลบังคับแต่อย่างใด
ภายหลังบริษัทแม่ของออเร้นจ์โอนหุ้นให้ทีเอจะเข้าไปถือหุ้นใหญ่ 83% ในทีเอ ออเร้นจ์
ในระยะต่อไปเมื่อมีการเพิ่มทุนตามเป้าหมายอีก 6,000 ล้านบาท ทีเอ
ก็จะเป็นผู้ถือหุ้นเกิน 90% และในอนาคตจะเปลี่ยนชื่อ ทีเอ ออเร้นจ์ เป็น "ทรู
โมบาย" เพื่อให้สอดคล้องกับแผนที่จะใช้ชื่อ "ทรู" ดำเนินกิจการต่างๆ ของกลุ่มทีเอ
ส่วนอุตสาหกรรมการเงินของไทย และธุรกิจหลักทรัพย์ ก็เป็นยิ่งกว่าสนามปราบเซียน
กลไกของรัฐมีส่วนเข้ามากำหนดเกมการแข่งขัน
จนทุนต่างชาติต้องล่าถอยออกไประลอกแล้วระลอกเล่า