เมื่อวานเจอข่าวนี้พอดีเลยครับ
อ่านดูก็น่าเป็นห่วงนะครับ
คนไทยยังไม่กล้าที่จะลงทุน ในตราสารที่มีความเสี่ยง
มีเงินก็เอาไปฝากแบงค์ สลากออมสิน
พอจะใช้เงินก็ถอนออกไป เงินที่ออมไว้ก็น้อยลงไปอีก
##############
http://www.moneychannel.co.th/Menu6/Har ... fault.aspx
สถานะการออมของไทยเข้าขั้นวิกฤติ แนะรัฐบังคับออมเงินด่วน หวั่นเป็นปัญหาในอนาคต
Posted on Tuesday, January 20, 2009
ผศ.ดร.วรเวศน์ สุวรรณระดา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Hard Topic ทาง Money Channel ว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ศึกษาเรื่องการออมของคนไทยที่มีงานทำ พบว่า 50% ของผู้ที่มีงานทำ ยังไม่ได้คำนึงถึงการวางแผนการดำเนินชีวิตและการใช้เงินในอนาคต เนื่องจากบางคนมีรายได้น้อย บางคนมีรายได้ไม่สม่ำเสมอ และมีบางส่วนที่มีรายได้สูง แต่ก็ใช้จ่ายมาก ทำให้ไม่เหลือเงินออม
ผศ.ดร.วรเวศน์เผยว่า การที่คนไทยจำนวนมากยังไม่เริ่มออมเงินเพื่อวัยเกษียณตั้งแต่บัดนี้ จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันคนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 71 ปี โดยผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 69 ปี และผู้หญิงเฉลี่ย 75 ปี นอกจากนี้แต่ละครอบครัวก็มีบุตรน้อยลง ทำให้ลูกหลานที่จะดูแลในยามชราก็ลดลงตามไปด้วย
สำหรับกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ขณะนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า จะดำเนินการอย่างไร จะบังคับให้สมาชิกกองทุนประกันสังคมและข้าราชการ ซึ่งมีประมาณ 10 ล้านคน ออมเพิ่มขึ้น หรือให้แรงงานที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมที่มีอยู่ประมาณ 20 ล้านคน มีโอกาสได้ออมเงิน โดยส่วนตัวอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับแรงงานที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม เพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้มีหลักประกันในอนาคตด้วย
นางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย บอกว่า ขณะนี้การออมเพื่อวัยเกษียณของไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤติแล้ว โดยมีเงินออมเพื่อวัยชราอยู่ที่ 864,340 ล้านบาท จากผู้ออมทั้งหมด 10.5 ล้านคน ทำให้เฉลี่ยแล้วจะมีเงินออมคนละประมาณ 8 หมื่นบาทเท่านั้น ดังนั้น คนไทยทุกคนควรจะคำนึงถึงการออมเพื่อวัยเกษียณได้แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดความลำบากในอนาคต
นางวิวรรณแนะว่า คนไทยทุกคนควรจะตั้งเป้าหมายการใช้เงินออมหลังเกษียณ เพื่อที่จะออมเงินให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และควรเริ่มออมเงินตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน เนื่องจากเงินที่ลูกจ้างจะได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนประกันสังคมในยามเกษียณมีจำนวนค่อนข้างน้อย โดยแนะนำให้ออมเงินอย่างน้อย 10% ของเงินเดือน เมื่อมีเงินเดือนเพิ่มขึ้น ก็ค่อยเพิ่มสัดส่วนการออมให้สูงขึ้น เพราะผู้ที่เริ่มออมเงินได้เร็ว ก็จะมีเงินหลังเกษียณสูงกว่าผู้ที่ออมเงินช้า เช่น ถ้าเริ่มทำงานช่วงอายุ 25 ปี ออมเงินเดือนละ 1 หมื่นบาท อัตราผลตอบแทน 4% เมื่อเกษียณอายุ จะมีเงินออม 9 ล้านบาท แต่ถ้าเริ่มออมเงินในช่วงอายุ 35 ปี ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน เมื่อเกษียณแล้วจะมีเงินออมเพียง 5.08 ล้านบาทเท่านั้น
สำหรับผู้ที่มีรายได้ใกล้เคียงกับรายจ่าย ก็ควรที่จะหารายได้เพิ่ม และลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง เพื่อที่จะได้มีเงินออมไว้ใช้ในอนาคตด้วย
นางวิวรรณยอมรับว่า ปัญหาของคนไทยคือ ถ้าไม่มีการบังคับ ก็จะไม่ออมเงิน ดังนั้น จึงอยากให้ภาครัฐบังคับให้คนไทยออมเงิน หลังจากนั้นค่อยทำการส่งเสริมการออมในภายหลัง
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการผู้อำนวยการ บลจ.ไทยพาณิชย์ บอกว่า ปัจจุบันคนไทยยังออมเงินไม่มากพอ ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาในอนาคตได้ เนื่องจากขณะนี้ไทยมีประชากรวัยทำงานลดลง แต่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ทำให้กองทุนประกันสังคมมีรายรับลดลงและมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะเคยทำการศึกษา พบว่า
เงินกองทุนประกันสังคมของไทยจะหมดลงภายใน 30 40 ปีข้างหน้า