อสังหาฯ หาโอกาสท่ามกลางวิกฤต
หุ้นร่วง เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้ ทุกคนรู้สึกว่าประเทศไทยได้นั่งเครื่องย้อนเวลากลับไปเมื่อปี 2540
ซึ่งต้องเผชิญกับวิกฤต ต้มยำกุ้ง กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รับผลกระทบ หนักมากๆ เมื่อฟองสบู่แตก แต่มาวันนี้ดูเหมือนว่านักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างรับมือกับวิกฤตรอบนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะทุกคนตระหนักดีว่า ปี 2552 ไม่ใช่ปีที่ธุรกิจจะโรยด้วย กลีบกุหลาบ หลังเห็นสัญญาณร้ายมาตั้งแต่ปลายปี ที่ผ่านมา จึงได้เตรียมตัวอย่างพร้อมพรั่ง เพื่อที่จะ ฝ่าวิกฤตรอบนี้ให้ไปได้ฉลุย!!!
ดัชนีหุ้นตลาดหลักทรัพย์ยังอยู่ในช่วงขาลง ต่อเนื่อง หลังจากปีที่ผ่านมาดิ่งลงแรงถึง 47% จากปี 2550 แล้ว แต่นักลงทุนต่างชาติยังมีหุ้นพร้อมจะขายออกมาอีกจำนวนมาก เป็นตัวสะท้อนได้ดี ฟ้าไม่เปิดให้กับการระดมทุนในตลาดหุ้น ธนาคารพาณิชย์ก็เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ทั้งให้เงิน สนับสนุนผู้ประกอบการและให้กู้แก่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัย เหมือนกับบีบทางอ้อมที่จะให้การขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นไปอย่างระมัดระวัง เพราะ ทุกคนต่างเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า ปีหน้าตลาด ซื้อขายบ้านหดตัวแน่นอน แม้ดอกเบี้ยเงินกู้จะลดลง และจะได้รับประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาลใหม่สนับสนุนหลายด้านก็ตาม เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี 1 แสนบาท เพิ่มเป็น 2 แสนบาท
ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF) ระบุไว้ว่า จังหวะนี้ไม่ใช่เวลาเหมาะสมที่จะระดมทุน และจำเป็นต้องระงับแผนระดมทุนออกไป เดิมบริษัทตั้งใจจะออกเสนอขายหุ้นกู้วงเงิน 1,000 ล้านบาท ในไตรมาส 4 ปี 2551 แต่เมื่อสถานการณ์ ไม่เป็นใจ เศรษฐกิจไม่ดี และเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันกรณีปิดสนามบินสุวรรณภูมิของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงปรับแผนด้วยการ ลดวงเงินเสนอขายหุ้นกู้ลงเหลือ 500 ล้านบาท
ถึงกระนั้นก็ตาม บรรยากาศโดยรอบยังไม่เป็นใจ จึงระงับแผนการออกหุ้นกู้ออกไป โดยจะรอจนกว่าการเมืองจะมีเสถียรภาพ รวมถึงรอภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวไปพลางๆ ด้วย ซึ่งประเมินว่ากว่าเศรษฐกิจโลกจะ พ้นพงหนามคงจะเป็นช่วงไตรมาส 2 หรือย่างเข้าสู่ไตรมาส 3 ของปี 2552
แม้ว่าบริษัทจะชะลอการออกหุ้นกู้ดังกล่าวออกไป ก็ไม่ได้กระทบต่อแผนธุรกิจของ PF แต่ อย่างใด เพราะแรกเริ่มความตั้งใจในการออกหุ้นกู้เพื่อนำมาพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ แต่ปรากฏว่าภายใต้ภาวการณ์ปัจจุบัน ทุกบริษัท ทุกค่าย ไม่ใช่เพียงแค่ PF คงต้องชะลอการขยาย โครงการออกไปก่อน หรืออาจจะลดขนาดของโครงการในระดับที่เล็กลง ซอยย่อยออกไป ซึ่งหากเป็นในแนวทางนี้ ลำพังเงินกู้ในรูปแบบโปรเจกต์ไฟแนนซ์ ก็รองรับไว้ได้
PF ไม่ได้ออก หุ้นกู้เราก็สามารถ อยู่ได้ เพราะภายใต้สมมติฐานเลวร้าย สุด ภาพรวมอุตสาห กรรมในปี 2552 คาด ว่าจะหดตัวประมาณ 30% หรืออย่างดีที่สุดก็หดตัวแค่ 10% ดังนั้นทุกค่ายต่างก็ต้องระมัดระวังในการจัดการกระแสเงินสด และพยายามรักษาอัตราหนี้ต่อทุน (ดีอี) ไม่ให้เกิน 1 เท่า ซึ่งก็ไม่น่าเป็นปัญหาสำหรับบริษัท
ขณะที่ PF มองการเติบโตอย่างระมัดระวัง ทางด้าน บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) หนึ่งในเจ้าแห่งอสังหาริมทรัพย์แนวสูง หรือคอนโดมิเนียม กลับมองว่าจะใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาส
โอภาส ศรีพยัคฆ์ ในฐานะผู้นำของ LPN ขยายความไว้ว่า วิกฤตครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสของ ผู้ประกอบการที่มีความแข็งแกร่งในด้านเงินทุน แบรนด์ การบริหารจัดการ ซึ่ง LPN เชื่อมั่นว่ามีคุณสมบัติเหล่านี้ครบถ้วน
เมื่อทุกคนมีความเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมจะมีการหดตัว จะทำให้ซัพพลายอสังหาริมทรัพย์เกิดการหดตัวมากกว่าความต้องการซื้อ ซึ่งจะกลายเป็นโอกาสของ LPN ที่ยังคงมีการลงทุนต่อเนื่อง โดยไม่มีแผนชะลอการลงทุนและเปิดโครงการใหม่
ในปี 2552 ตั้งเป้าหมายจะเปิดตัวโครงการใหม่ 6-8 โครงการ มูลค่ารวม 1 หมื่นล้านบาท และคาดว่าในแง่ของยอดขายปี 2552 จะมีจำนวน 1 หมื่นล้านบาท และรายได้จะมีจำนวน 8,300 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 10-15% จากปี 2551 ที่คาดว่าจะมีรายได้ 7,100 ล้านบาท
สำหรับแหล่งเงินลงทุนนั้น แม้ว่าตลาดทุน จะปิด แต่โดยปกติบริษัทมักจะระดมทุนด้วยการใช้สินเชื่อโครงการจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งถือว่า เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม เพราะบริษัทจะขอวงเงินเพื่อ ลงทุนในแต่ละโครงการ และเมื่อมีการเปิดขายบริษัทก็จะมีเงินมาชำระคืนให้กับสถาบันการเงิน โดยอัตราการหมุนเวียนของเงินค่อนข้างเร็ว ใช้เวลาเพียง 1-2 ปี ก็สามารถกลับมาสร้างเป็นรายได้ให้กับบริษัท
วิกฤตรอบนี้ไม่เพียงแต่จะใช้เป็นโอกาสใน การรุกธุรกิจ แต่ในแง่ระดมทุนกับสถาบันการเงิน ก็เรียกได้ว่าเป็นโอกาสของ LPN โดยได้รับเงื่อนไขในการกู้ดีขึ้น เพราะภาวะเช่นนี้สถาบันการเงิน ต่างพยายามรักษาลูกค้าดีๆ ไว้
อย่างไรก็ตาม ภาวะตลาดหุ้นที่ลดลงนี้อาจกระทบต่อบริษัทในแง่นักลงทุนต่างชาติซึ่งมี สัดส่วนการถือหุ้นค่อนข้างมาก ได้ทยอยขายหุ้น LPN ออกมา ล่าสุดเท่าที่ได้มีการตรวจสอบ (1-2 วันที่ผ่านมา) พบว่าต่างชาติถือหุ้นในบริษัท 35% เทียบกับก่อนหน้านี้ถือในสัดส่วน 37% ในส่วนนี้ อาจลดลงไม่มาก แต่การถือครองผ่านไทยเอ็นวีดีอาร์นั้น ลดลงเหลือ 15% จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 26
ราคาหุ้น LPN ที่ลดลงนั้นไม่ได้สะท้อนปัจจัยพื้นฐาน เพราะเกิดจากต่างชาติจำเป็นต้องขาย เพื่อนำเงินไปแก้ปัญหา เป็นสิ่งที่เขาเลี่ยงไม่ได้ แต่จะเห็นว่าสัดส่วนการถือครองไม่ได้ลดลงมาก เป็นการยืนยันว่าเขายังมีความสนใจถือลงทุนหุ้น เราอยู่ เพราะขณะนี้ให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงถึง 20%
http://www.posttoday.com/stockmarket.php?id=25833