หมี /ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร 23 กันยายน 2551
โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ก.ย. 21, 2008 10:06 pm
โลกในมุมมองของ Value Investor
สิ่งที่นักลงทุนในตลาดหุ้นจะต้องเจอถ้าลงทุนมานานพอสมควรก็คือภาวะ “ตลาดหมี” ที่ราคาหรือดัชนีตลาดหุ้นตกลงมาอย่างหนักอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ การที่ดัชนีตลาดปรับตัวลดลงโดยทั่วไปนั้นมักจะไม่ใช่ตลาดหมีแต่เป็นภาวะที่ตลาดเกิดความผันผวนตามปกติ นิยามหรือคำเรียกภาวะที่ตลาดตกต่ำลงนั้นน่าจะแบ่งได้เป็นสามระดับดังนี้คือ ถ้าระดับการตกลงของตลาดหุ้นเท่ากับหรือต่ำกว่า 10% เรียกว่าหุ้นตกธรรมดา ถ้าหุ้นตกเกิน 10% แต่ไม่ถึง 20% เรียกว่าหุ้นปรับตัวหรือ Correction และถ้าตลาดหุ้นตกตั้งแต่ 20% ขึ้นไปก็เรียกว่าตลาดหมีหรือ Bear Market
ตามสถิติในตลาดหุ้นสหรัฐนั้น ตลาดหมีเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณหกปีต่อครั้ง ในตลาดหุ้นไทยนั้น เท่าที่ผมมองคร่าว ๆ เราน่าจะเจอกับตลาดหมีไม่ต่ำกว่า 6 ครั้งในช่วง 33 ปี หรือก็คือ ประมาณทุก ๆ 5-6 ปี เราก็จะเจอหมีสักปีหนึ่งหรือพูดง่าย ๆ หมีบ้านเรามาถี่พอ ๆ กับหมีที่ตลาดหุ้นอเมริกาเหมือนกัน
สาเหตุของการเกิดตลาดหมีนั้น ในอดีตที่พบมากมีอยู่หลายเรื่อง ในช่วงต้น ๆ ในยุคที่เรายังอิงอยู่กับมาตรฐานทองคำดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องของเงินฝืด เพราะในยุคนั้นการพิมพ์แบงค์หรือสร้างเงินขึ้นมาใช้ค่อนข้างจะถูกจำกัดด้วยปริมาณทองคำที่มีอยู่ และนั่นอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจขาดความสมดุลได้เป็นช่วง ๆ และก่อให้เกิดภาวะตลาดหมีขึ้น สาเหตุอันดับต่อมาที่ก่อให้เกิดภาวะตลาดหุ้นหมีค่อนข้างมากก็คือเรื่องของอัตราดอกเบี้ยซึ่งน่าจะอิงไปถึงเรื่องเงินเฟ้อด้วยนั่นก็คือ ตลาดหมีนั้นมักจะมากับภาวะอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้นสูงลิ่วและอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะยาว เช่นเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อก็มักจะสูงมากกว่าปกติมาก สาเหตุอันดับต่อมาก็คือเรื่องของความถูกความแพงของหุ้นโดยทั่วไป นั่นก็คือ ตลาดหมีนั้นมักจะมาในตอนที่ค่า PE ของตลาดสูงลิ่วเช่นสูงถึง 25-30 เท่า
นอกจากเรื่องของภาวะทางการเงินที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว สิ่งที่ก่อให้เกิดภาวะตลาดหมีบ่อยพอสมควรก็คือ เรื่องของภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นในประเทศหรือในโลกซึ่งมักจะลามไปยังประเทศอื่น ๆ ด้วย ภาวะวิกฤติที่สำคัญอันดับแรกก็คือ ภาวะสงคราม นี่คือสงครามที่คนกลัวว่าจะลุกลามใหญ่โตและกระทบกับสังคมทั่วโลก ถ้าจะพูดถึงรายชื่อสงครามที่เราพอจะจำกันได้ก็น่าจะรวมถึง สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามเกาหลี สงครามเวียตนาม สงครามอ่าวหรือสงครามซัดดัมบุกคูเวต เป็นต้น
ถัดจากเรื่องสงคราม วิกฤติที่มักก่อให้เกิดตลาดหมีที่รุนแรงในระยะหลังมักจะเกิดจากวิกฤติการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่งแล้วลามไปยังประเทศอื่น ๆ เป็นลูกโซ่อันเป็นผลจากการที่ระบบการเงินของโลกมีการเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด ตัวอย่างน่าจะเริ่มจากวิกฤติการณ์ค่าเงินเม็กซิโกตกต่ำในช่วงปี 2538 ตามด้วยวิกฤติต้มยำกุ้งที่เริ่มจากประเทศไทยของเราในปี 2540 และล่าสุดก็คือ วิกฤติการณ์ซับไพร์มและการล้มของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในสหรัฐที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงนี้
วิกฤติการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเมืองไทยครั้งแล้วครั้งเล่าซึ่งคนคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำให้หุ้นตกและเป็นตลาดหมีนั้น ผมเองกลับไม่ใคร่แน่ใจว่ามันเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน แน่นอน มันอาจจะทำให้หุ้นตกบ้าง แต่หลาย ๆ ครั้งมันก็ไม่ได้ตกมากและหลายครั้งมันก็ไม่ได้ทำให้หุ้นตกแม้ว่าจะมีการรัฐประหารซึ่งถือว่าเป็นวิกฤติการเมืองสำคัญ ตัวอย่างเช่นในช่วง รสช. ในช่วงปี 2535 หุ้นก็ไม่ได้ตกมากมายอะไร เช่นเดียวกับช่วงของ คมช. เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตลาดหุ้นก็ไม่ได้ถูกกระทบเลย และแม้แต่ในช่วงนี้เองที่เราดูเหมือนจะมีวิกฤติการเมืองของกลุ่มพันธมิตรที่ยึดทำเนียบรัฐบาลอยู่และคนพูดกันว่าหุ้นบ้านเราตกเพราะมีวิกฤติการเมือง แต่ถ้าดูกันจริง ๆ แล้ว หุ้นที่ตกนั้นก็ยังไม่ชัดว่าเกิดจากการเมืองในประเทศอย่างเดียว เพราะปัจจัยที่อาจจะมีผลมากกว่าก็คือ วิกฤติการเงินที่เกิดจากสหรัฐอเมริกาในขณะนี้ ว่าที่จริงการตกของหุ้นในบ้านเราในขณะนี้ก็ยังน้อยกว่าตลาดหุ้นในย่านเอเชียอื่นที่กำลังเจอกับตลาดหมีที่รุนแรงยิ่งกว่าตลาดหุ้นไทยเสียอีก
ทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องของสาเหตุของการเกิดตลาดหมีที่มีการพูดถึงและเชื่อกันในหมู่นักวิชาการและนักลงทุนทั้งหลาย แต่ผมเองนั้น หลังจากที่นั่งมองกราฟดัชนีหุ้นที่ผ่านมายาวนานผมกลับมีความคิดหรือความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งซึ่งอาจจะดูไม่ใคร่จะมีเหตุผล แต่ผมก็คิดว่าเราควรที่จะตระหนักไว้บ้าง นั่นก็คือ ผมเชื่อว่าตลาดหุ้นนั้น ในระยะยาวเป็นสิบ ๆ ปีขึ้นไปจะให้ผลตอบแทนในระดับหนึ่งเช่นเฉลี่ยปีละ 10% แต่ในความเป็นจริง ผลตอบแทนในแต่ละปีหรือแต่ละช่วงผลตอบแทนของตลาดกลับไม่แน่นอนเลย อาจจะมีช่วง 4-5 ปี ที่คนลงทุนไม่ได้ผลตอบแทนอะไรเลยหรือขาดทุนด้วยซ้ำ เช่นเดียวกันในบางช่วงซึ่งอาจจะยาวเป็น 7-8 ปีที่คนลงทุนได้ผลตอบแทนดีมากเช่นเป็น 15% ต่อปีโดยเฉลี่ย ประเด็นก็คือ ทุกช่วงที่เราได้ผลตอบแทนดีผิดปกติคือเกินกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวมาก ก็มักจะมีวันหนึ่งที่ตลาดหุ้นจะต้องปรับตัวลงอย่างแรงเพื่อที่จะ “ดึง” ผลตอบแทนการลงทุนให้กลับลงมาอยู่ในระดับปกติ จะเป็นวันไหนนั้นบอกยากแต่สุดท้ายก็มักจะเกิดเหตุการณ์อะไรบางอย่างที่เป็นเหมือนชนวนที่จุดระเบิดให้หุ้นตกลงมาและกลายเป็นตลาดหมีอย่างที่เราเห็นอยู่ ดังนั้น เมื่อเกิดภาวะตลาดหมีขึ้น ผมจึงรู้สึกเฉย ๆ ผมไม่โทษอะไรทั้งนั้น เพราะผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดหลังจากที่ตลาดหุ้นไทยและหุ้นในเอเชียและในโลกให้ผลตอบแทนที่ดีมากเกินกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวมายาวนานหลายปี
มองอีกมุมหนึ่ง ถ้าหุ้นตกลงมามากและทำให้ผลตอบแทนระยะยาวลดลงต่ำกว่าปกติ การเข้าลงทุนซื้อหุ้นก็อาจจะเป็นกลยุทธ์ที่ดี เพราะในอนาคตอีกหลายปีข้างหน้า ตลาดก็อาจจะให้ผลตอบแทนดีกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวเพื่อที่จะชดเชยกับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าปกติในช่วงที่ผ่านมา ด้วยความเชื่อแบบนี้ ผมจึงคิดว่า ถ้าเรามีเงินสดอยู่ในยามที่หุ้นตกลงมามาก กลยุทธ์ที่ดีก็คือ เราควรซื้อหุ้นและเก็บไว้จนตลาดปรับตัวขึ้นไปมากกว่าปกติ สิ่งนี้อาจจะ “พูดง่ายทำยาก” แต่ถ้าเราจะประสบความสำเร็จในการลงทุน เราต้องทำได้
สิ่งที่นักลงทุนในตลาดหุ้นจะต้องเจอถ้าลงทุนมานานพอสมควรก็คือภาวะ “ตลาดหมี” ที่ราคาหรือดัชนีตลาดหุ้นตกลงมาอย่างหนักอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ การที่ดัชนีตลาดปรับตัวลดลงโดยทั่วไปนั้นมักจะไม่ใช่ตลาดหมีแต่เป็นภาวะที่ตลาดเกิดความผันผวนตามปกติ นิยามหรือคำเรียกภาวะที่ตลาดตกต่ำลงนั้นน่าจะแบ่งได้เป็นสามระดับดังนี้คือ ถ้าระดับการตกลงของตลาดหุ้นเท่ากับหรือต่ำกว่า 10% เรียกว่าหุ้นตกธรรมดา ถ้าหุ้นตกเกิน 10% แต่ไม่ถึง 20% เรียกว่าหุ้นปรับตัวหรือ Correction และถ้าตลาดหุ้นตกตั้งแต่ 20% ขึ้นไปก็เรียกว่าตลาดหมีหรือ Bear Market
ตามสถิติในตลาดหุ้นสหรัฐนั้น ตลาดหมีเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณหกปีต่อครั้ง ในตลาดหุ้นไทยนั้น เท่าที่ผมมองคร่าว ๆ เราน่าจะเจอกับตลาดหมีไม่ต่ำกว่า 6 ครั้งในช่วง 33 ปี หรือก็คือ ประมาณทุก ๆ 5-6 ปี เราก็จะเจอหมีสักปีหนึ่งหรือพูดง่าย ๆ หมีบ้านเรามาถี่พอ ๆ กับหมีที่ตลาดหุ้นอเมริกาเหมือนกัน
สาเหตุของการเกิดตลาดหมีนั้น ในอดีตที่พบมากมีอยู่หลายเรื่อง ในช่วงต้น ๆ ในยุคที่เรายังอิงอยู่กับมาตรฐานทองคำดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องของเงินฝืด เพราะในยุคนั้นการพิมพ์แบงค์หรือสร้างเงินขึ้นมาใช้ค่อนข้างจะถูกจำกัดด้วยปริมาณทองคำที่มีอยู่ และนั่นอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจขาดความสมดุลได้เป็นช่วง ๆ และก่อให้เกิดภาวะตลาดหมีขึ้น สาเหตุอันดับต่อมาที่ก่อให้เกิดภาวะตลาดหุ้นหมีค่อนข้างมากก็คือเรื่องของอัตราดอกเบี้ยซึ่งน่าจะอิงไปถึงเรื่องเงินเฟ้อด้วยนั่นก็คือ ตลาดหมีนั้นมักจะมากับภาวะอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้นสูงลิ่วและอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะยาว เช่นเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อก็มักจะสูงมากกว่าปกติมาก สาเหตุอันดับต่อมาก็คือเรื่องของความถูกความแพงของหุ้นโดยทั่วไป นั่นก็คือ ตลาดหมีนั้นมักจะมาในตอนที่ค่า PE ของตลาดสูงลิ่วเช่นสูงถึง 25-30 เท่า
นอกจากเรื่องของภาวะทางการเงินที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว สิ่งที่ก่อให้เกิดภาวะตลาดหมีบ่อยพอสมควรก็คือ เรื่องของภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นในประเทศหรือในโลกซึ่งมักจะลามไปยังประเทศอื่น ๆ ด้วย ภาวะวิกฤติที่สำคัญอันดับแรกก็คือ ภาวะสงคราม นี่คือสงครามที่คนกลัวว่าจะลุกลามใหญ่โตและกระทบกับสังคมทั่วโลก ถ้าจะพูดถึงรายชื่อสงครามที่เราพอจะจำกันได้ก็น่าจะรวมถึง สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามเกาหลี สงครามเวียตนาม สงครามอ่าวหรือสงครามซัดดัมบุกคูเวต เป็นต้น
ถัดจากเรื่องสงคราม วิกฤติที่มักก่อให้เกิดตลาดหมีที่รุนแรงในระยะหลังมักจะเกิดจากวิกฤติการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่งแล้วลามไปยังประเทศอื่น ๆ เป็นลูกโซ่อันเป็นผลจากการที่ระบบการเงินของโลกมีการเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด ตัวอย่างน่าจะเริ่มจากวิกฤติการณ์ค่าเงินเม็กซิโกตกต่ำในช่วงปี 2538 ตามด้วยวิกฤติต้มยำกุ้งที่เริ่มจากประเทศไทยของเราในปี 2540 และล่าสุดก็คือ วิกฤติการณ์ซับไพร์มและการล้มของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในสหรัฐที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงนี้
วิกฤติการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเมืองไทยครั้งแล้วครั้งเล่าซึ่งคนคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำให้หุ้นตกและเป็นตลาดหมีนั้น ผมเองกลับไม่ใคร่แน่ใจว่ามันเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน แน่นอน มันอาจจะทำให้หุ้นตกบ้าง แต่หลาย ๆ ครั้งมันก็ไม่ได้ตกมากและหลายครั้งมันก็ไม่ได้ทำให้หุ้นตกแม้ว่าจะมีการรัฐประหารซึ่งถือว่าเป็นวิกฤติการเมืองสำคัญ ตัวอย่างเช่นในช่วง รสช. ในช่วงปี 2535 หุ้นก็ไม่ได้ตกมากมายอะไร เช่นเดียวกับช่วงของ คมช. เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตลาดหุ้นก็ไม่ได้ถูกกระทบเลย และแม้แต่ในช่วงนี้เองที่เราดูเหมือนจะมีวิกฤติการเมืองของกลุ่มพันธมิตรที่ยึดทำเนียบรัฐบาลอยู่และคนพูดกันว่าหุ้นบ้านเราตกเพราะมีวิกฤติการเมือง แต่ถ้าดูกันจริง ๆ แล้ว หุ้นที่ตกนั้นก็ยังไม่ชัดว่าเกิดจากการเมืองในประเทศอย่างเดียว เพราะปัจจัยที่อาจจะมีผลมากกว่าก็คือ วิกฤติการเงินที่เกิดจากสหรัฐอเมริกาในขณะนี้ ว่าที่จริงการตกของหุ้นในบ้านเราในขณะนี้ก็ยังน้อยกว่าตลาดหุ้นในย่านเอเชียอื่นที่กำลังเจอกับตลาดหมีที่รุนแรงยิ่งกว่าตลาดหุ้นไทยเสียอีก
ทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องของสาเหตุของการเกิดตลาดหมีที่มีการพูดถึงและเชื่อกันในหมู่นักวิชาการและนักลงทุนทั้งหลาย แต่ผมเองนั้น หลังจากที่นั่งมองกราฟดัชนีหุ้นที่ผ่านมายาวนานผมกลับมีความคิดหรือความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งซึ่งอาจจะดูไม่ใคร่จะมีเหตุผล แต่ผมก็คิดว่าเราควรที่จะตระหนักไว้บ้าง นั่นก็คือ ผมเชื่อว่าตลาดหุ้นนั้น ในระยะยาวเป็นสิบ ๆ ปีขึ้นไปจะให้ผลตอบแทนในระดับหนึ่งเช่นเฉลี่ยปีละ 10% แต่ในความเป็นจริง ผลตอบแทนในแต่ละปีหรือแต่ละช่วงผลตอบแทนของตลาดกลับไม่แน่นอนเลย อาจจะมีช่วง 4-5 ปี ที่คนลงทุนไม่ได้ผลตอบแทนอะไรเลยหรือขาดทุนด้วยซ้ำ เช่นเดียวกันในบางช่วงซึ่งอาจจะยาวเป็น 7-8 ปีที่คนลงทุนได้ผลตอบแทนดีมากเช่นเป็น 15% ต่อปีโดยเฉลี่ย ประเด็นก็คือ ทุกช่วงที่เราได้ผลตอบแทนดีผิดปกติคือเกินกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวมาก ก็มักจะมีวันหนึ่งที่ตลาดหุ้นจะต้องปรับตัวลงอย่างแรงเพื่อที่จะ “ดึง” ผลตอบแทนการลงทุนให้กลับลงมาอยู่ในระดับปกติ จะเป็นวันไหนนั้นบอกยากแต่สุดท้ายก็มักจะเกิดเหตุการณ์อะไรบางอย่างที่เป็นเหมือนชนวนที่จุดระเบิดให้หุ้นตกลงมาและกลายเป็นตลาดหมีอย่างที่เราเห็นอยู่ ดังนั้น เมื่อเกิดภาวะตลาดหมีขึ้น ผมจึงรู้สึกเฉย ๆ ผมไม่โทษอะไรทั้งนั้น เพราะผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดหลังจากที่ตลาดหุ้นไทยและหุ้นในเอเชียและในโลกให้ผลตอบแทนที่ดีมากเกินกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวมายาวนานหลายปี
มองอีกมุมหนึ่ง ถ้าหุ้นตกลงมามากและทำให้ผลตอบแทนระยะยาวลดลงต่ำกว่าปกติ การเข้าลงทุนซื้อหุ้นก็อาจจะเป็นกลยุทธ์ที่ดี เพราะในอนาคตอีกหลายปีข้างหน้า ตลาดก็อาจจะให้ผลตอบแทนดีกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวเพื่อที่จะชดเชยกับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าปกติในช่วงที่ผ่านมา ด้วยความเชื่อแบบนี้ ผมจึงคิดว่า ถ้าเรามีเงินสดอยู่ในยามที่หุ้นตกลงมามาก กลยุทธ์ที่ดีก็คือ เราควรซื้อหุ้นและเก็บไว้จนตลาดปรับตัวขึ้นไปมากกว่าปกติ สิ่งนี้อาจจะ “พูดง่ายทำยาก” แต่ถ้าเราจะประสบความสำเร็จในการลงทุน เราต้องทำได้