หน้า 1 จากทั้งหมด 1

ช้อปหุ้นพลังงาน 'ท็อปฮิต' ผ่าน 'MTrack Energy ETF'

โพสต์แล้ว: อังคาร ก.ค. 22, 2008 4:15 pm
โดย choosak
ช่วงที่ราคาน้ำมันและราคาพลังงานสูงเช่นนี้ ถือเป็น "ยุคทองของหุ้นกลุ่มพลังงาน" เห็นได้จากราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานที่ทะยานขึ้นอย่างโดดเด่นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลบวกต่อการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงาน ที่มีทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างชัดเจน

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : "หุ้นกลุ่มพลังงาน" เป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ประกอบด้วยหุ้นประมาณ 25 ตัว มีน้ำหนักประมาณ 35.67% ของดัชนีตลาดหุ้นไทย และมีน้ำหนัก 47% ในดัชนี SET50

ตั้งแต่ต้นปี 2551 ถึงปัจจุบัน (7 ก.ค.2551) เป็นเพียงไม่กี่ครั้งที่ดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานเคลื่อนไหวตรงข้ามกับราคาน้ำมันในตลาดโลกหลังจากที่ถูกนักลงทุนต่างชาติกระหน่ำเทขายออกมาอย่างหนัก

โดยดัชนีกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลง 12.09% จากระดับ 20,622.32 จุด ณ สิ้นปี 2550 มาอยู่ที่ 18,128.19 จุด ในขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันนั้นราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสวนทางขยับจากระดับ 97.91 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 141.71 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือปรับขึ้นไปแล้ว 44.73% ซึ่งหลายคนมองว่านี่คือโอกาสที่ดีในการที่จะเข้าไปลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานเลยทีเดียว

@ราคาพลังงานไม่มีถูก

"คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต" กรรมการ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย บอกว่า โลกเราใช้น้ำมัน 85 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประเทศไทยใช้ 800,000 บาร์เรลต่อวัน สำหรับสถานการณ์พลังงานในปัจจุบัน ถ้าจะพูดถึงน้ำมันต้องบอกว่าน้ำมันแพงแล้วเราก็อย่าไปหลอกตัวเองว่าราคาถูก

ดีมานด์กับซัพพลายของน้ำมันตึงตัว เรามีดีมานด์จากจีนและอินเดียซึ่งมีประชากรมากและกำลังโตเร็วเหลือเกิน และโตไม่หยุดในขณะที่ซัพพลายเข้ามาไม่ทัน เพราะฉะนั้นโดยพื้นฐานแล้วราคาน้ำมันต้องแพง เพราะเหตุว่าซัพพลายเข้ามาไม่ทันดีมานด์

นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันส่วนใหญ่นำมาใช้ในเรื่องของการขนส่งเป็นหลัก ในภาคการขนส่งไม่มีพลังงานอื่นที่จะมาทดแทนน้ำมันในภาคขนส่งได้ เพราะผู้ประดิษฐ์คิดค้นออกแบบเครื่องยนต์มาให้ใช้น้ำมัน

เพราะฉะนั้น เราจึงต้องใช้น้ำมันสำหรับการขับเคลื่อน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีตัวแทนและคิดว่าจะเป็นไปอย่างนี้ในอีก 20-30 ปีข้างหน้า เพราะเชื้อเพลิงอื่นเข้ามาแทนน้ำมันไม่ทัน เมื่อยังไม่มีพลังงานอื่นที่จะมาทดแทนน้ำมันได้ในภาคการขนส่งเมื่อไรที่ซัพพลายน้อยกว่าดีมานด์ ราคาก็ต้องปรับตัวขึ้นสูงแบบนี้

"ราคาน้ำมันที่ระดับกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลนี้ ใน 1-2 ปี ข้างหน้าคิดว่าจะเป็นอะไรที่หนีตรงนี้ไปไม่ได้ เพราะว่าน้ำมันใหม่ที่เราคิดว่ามันควรจะเข้ามามันก็ยังเข้ามาไม่ทันในอีก 2-3 ปีข้างหน้า แล้วไม่เห็นว่าจีนหรืออินเดียหรือบราซิลหรือเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ต่างๆ นี้จะมีการเจริญเติบโตที่ถดถอยไปมากมาย ถึงแม้ว่าเราจะรู้สึกว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มอ่อนแอลงนิดหน่อยก็ตาม

แต่ประเทศที่กำลังพัฒนาเหล่านี้ยังโตต่อไปได้เรื่อยๆ เพราะฉะนั้นดีมานด์และซัพพลายจะตึงตัวอยู่อย่างนี้ในระยะสั้น 2-3 ปีข้างหน้านี้ ราคาน้ำมันยังจะสูงและไม่น่าจะลงได้ นอกจากนี้ต้นทุนในการผลิตก็ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เพราะเหตุว่าการผลิตเครื่องไม้เครื่องมือก็ไม่ทัน เพราะฉะนั้นซัพพลายตึงเครียดหมด เมื่อซัพพลายตึงราคาก็ต้องขึ้น ต้นทุนก็สูงขึ้นนี่คือสถานการณ์สำหรับน้ำมัน"

คุณหญิงทองทิพ ยังบอกอีกว่า สำหรับก๊าซธรรมชาติปัจจุบันนี้เปรียบเสมือนสาวน้อยที่พึงปรารถนาของทุกๆ คนเพราะในเชิงของราคาเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันแล้วต้องถือว่าก๊าซนั้นถูก เพราะก๊าซถ้าเปรียบเทียบกันบนพื้นฐานของหน่วยของพลังงานเท่าๆ กัน ก๊าซมีราคาเพียง 60% ของน้ำมันเท่านั้น เพราะฉะนั้นคนถึงอยากใช้ก๊าซจึงทำให้เกิดธุรกิจใหม่คือ ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) คือการค้าขายก๊าซธรรมชาติเหลวซึ่งประเทศไทยเราก็สนใจเหมือนกัน ส่วนใหญ่ LNG จะใช้เป็นวัตถุดิบในการทำไฟฟ้า

โดยสรุปสถานการณ์พลังงานในปัจจุบันใน 2-3 ปีข้างหน้าไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน หรือก๊าซแพงขึ้นทั้งนั้นเพราะดีมานด์มากกว่าซัพพลาย ซึ่งเราต้องยอมรับความจริงอย่าไปหลอกตัวเองว่าน้ำมันถูก น้ำมันแพง ก๊าซก็แพงแต่แพงไม่เท่าน้ำมัน

ถ้าประชากรยังเติบโตน้ำมันก็ยังต้องใช้แล้วการเติบโตของประชากรโลกยังมีเฉลี่ยประมาณ 1% ต่อปี ที่สุดใน 20-30 ปีข้างหน้าพลังงานที่จะมาทดแทนน้ำมันยังมาไม่ทัน อย่างรถยนต์ไฮโดรเจนมีสักกี่คัน เพราะฉะนั้นในอีก 20-30 ปีข้างหน้าเราก็ยังต้องใช้น้ำมันแพงอยู่วันยังค่ำ

 

"อีกอย่างคือทุกๆ สังคมในโลกจะต้องผลิตทางเศรษฐกิจคือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) นั่นเอง เราพบว่าการใช้พลังงานมีความสัมพันธ์แนบแน่นมากกับการเจริญเติบโตหรือการผลิตของมนุษย์ เพราะฉะนั้นถ้าจีดีพีโตขึ้นเรื่อยๆ การใช้พลังงานไม่เฉพาะน้ำมันก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้น ถ้าคุณอยากจะลงทุนคุณก็ต้องดูว่าเมื่อไรที่จีดีพีโตเยอะๆ พลังงานจะมีดีมานด์มากซึ่งจะส่งผลต่อราคาพลังงานด้วยเช่นเดียวกัน"

@กลุ่ม ปตท.ยังเติบโต

 เนื่องจากพอร์ตหุ้นทั้ง 10 ตัวที่ใช้สร้างผลตอบแทนเลียนแบบดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานนั้นเป็นหุ้นในกลุ่ม ปตท.อยู่ประมาณ 80% เฉพาะหุ้น 2 ตัวแรกที่ลงทุน คือ บมจ.ปตท.และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมก็คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70.74% ของดัชนีกลุ่มพลังงานทั้งหมดแล้ว ดังนั้นโอกาสการเติบโตและทิศทางธุรกิจของกลุ่ม ปตท.จะเป็นไปในลักษณะใดย่อมจะส่งผลต่อดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกัน

"ประเสริฐ บุญสัมพันธ์" กรรมการผู้จัดการ บมจ.ปตท. บอกว่า ทิศทางธุรกิจกลุ่มพลังงานยังคงเติบโตต่อเนื่องและมีการขยายการลงทุน เพราะว่าการใช้พลังงานยังใช้เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจยังเติบโต ราคาน้ำมันแพง ราคาพลังงานแพงแต่คนก็ยังใช้เพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะบางประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงอย่างจีนและอินเดียหรือประเทศกำลังพัฒนาที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมาก ถึงจะมีการอุดหนุนราคาบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด มีบางส่วนที่ไม่ได้อุดหนุน

แต่สุดท้ายเมื่อราคาน้ำมันแพง ราคาพลังงานแพงเขาอุดหนุนไปไม่ไหว ประเทศเพื่อนบ้านเรามาเลเซียต้องขึ้นราคาน้ำมัน 40% จีนขึ้น 18% บังกลาเทศขึ้นไป 40-60% ราคาน้ำมันสูง ราคาพลังงานสูงบริษัทพลังงานก็มีการเติบโตมีการขยาย มียอดขายเพิ่มขึ้น มีกำไรเพิ่มขึ้น มีการลงทุนกิจการมากขึ้น

 

กลุ่ม ปตท.ก็เช่นกันในภาพรวมถ้าราคาน้ำมันสูงขึ้น ปตท.ก็จะมีผลประกอบการและกำไรดีขึ้น แต่ต้องเข้าใจตัว ปตท.นิดหนึ่ง ในภาพรวมราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นไม่ได้หมายความว่าโดยทางตรง ปตท.จะมีผลประกอบการที่ดีขึ้น ต้องมาดูตัวธุรกิจ ปตท.ด้วย ซึ่งธุรกิจของ ปตท.มีทั้งธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจน้ำมันค้าขายน้ำมันทั้งในประเทศต่างประเทศ ธุรกิจการกลั่น ธุรกิจปิโตรเคมี ธุรกิจขุดเจาะสำรวจ

ในภาพรวมคือตัว ปตท.เองและบริษัทในกลุ่มถ้าราคาน้ำมันสูงขึ้น ผลประกอบการทั้งในส่วนของรายได้ทั้งในส่วนของกำไรก็จะดีขึ้น แต่บางธุรกิจอาจจะไม่ดี

ประเสริฐ ยกตัวอย่างให้ฟังว่า อย่างธุรกิจขุดเจาะสำรวจถ้าราคาน้ำมันแพงขึ้นเขาก็ขายของได้ในราคาที่แพงขึ้น อันนี้ก็มีผลประกอบการที่ดี เพราะฉะนั้นจะเห็นหุ้น บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมก็จะสูงขึ้นไปตามราคาน้ำมัน แล้ว ปตท.ไปถือหุ้น PTTEP อยู่ 66% ก็จะได้ประโยชน์อันนั้นกลับมาที่ตัว ปตท.

ในส่วนของโรงกลั่นก็อยู่ที่ค่าการกลั่นจะมีส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันสุกกับราคาน้ำมันดิบถ้าต่างกันมากโรงกลั่นก็จะมีผลประกอบการดี ไม่แน่เสมอไปว่าราคาน้ำมันสูงแล้วค่าการกลั่นจะสูงต้องอยู่ที่ว่าตัวน้ำมันสุกและน้ำมันดิบมันต่างกันมากน้อยแค่ไหน

เพราะฉะนั้นในช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันสูงขึ้นไม่จำเป็นว่าโรงกลั่นจะต้องมีผลประกอบการที่สูงขึ้น ธุรกิจปิโตรเคมีเหมือนกันเมื่อตัวน้ำมันดิบสูงขึ้นจะทำให้วัตถุดิบที่ใช้ในเรื่องของน้ำมันมีต้นทุนที่สูงขึ้นด้วย จึงอยู่ที่ว่าราคาขายพลาสติกต่างๆ จะต่างจากต้นทุนที่เป็นน้ำมันมากน้อยแค่ไหน

แต่อย่าง บมจ.ปตท.เคมิคอล (PTTCH) มีผลประกอบการดีเพราะว่าวัตถุดิบที่ใช้ไม่ได้ใช้น้ำมันเป็นหลัก แต่ใช้ก๊าซธรรมชาติที่เอาไปเข้าโรงแยกก๊าซแล้วได้เป็นวัตถุดิบออกมาไปป้อนโรงงานปิโตรเคมีของบริษัท ก็ยังทำให้บริษัทยังมีส่วนต่างของมาร์จินสูงทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น แล้วตัวธุรกิจก๊าซธรรมชาติราคาน้ำมันสูงขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติสูงขึ้นแต่จะไม่ขึ้นเป็นสัดส่วน 1 ต่อ 1 แต่ไปผูกไว้ 1 ใน 3 เพราะฉะนั้นก๊าซธรรมชาติก็จะขึ้นตามราคาน้ำมันแต่ขึ้นช้ากว่า

โดยภาพรวมในธุรกิจ ปตท.มีความหลากหลายและทิศทางของ ปตท.ข้างหน้ายังขยายการลงทุนและใช้เงินลงทุนอีกมากก็ยังมีอัตราการเติบโตอยู่ ยังมีอนาคตอยู่แล้วต้องบริหารให้เกิดความพอดีกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

โดยมองการเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืน 5-6 ปีที่ผ่านมาเราโตปีละ 20% แล้วในอนาคตข้างหน้ายังเชื่อว่าจะมีอัตราการเติบโตที่สูง เพราะถ้าเราไม่เติบโตเราไม่มีความเข้มแข็งเราจะทำอะไรให้กับส่วนรวมไม่ได้ วันนี้ ราคาพลังงานยังทรงตัวในระดับสูง อัตราการใช้ที่เพิ่มขึ้นแล้วธุรกิจหลักของ ปตท.เรื่องก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเคมี ขุดเจาะสำรวจ โรงกลั่นยังเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นที่คนจะต้องใช้และบริโภค

@รู้จัก "ENGY"


"โชติกา สวนานนท์" กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทหารไทย อธิบายให้ฟังว่า "กองทุนเปิด MTrack Energy ETF" หรือ "ENGY" เป็นกองทุนรวมดัชนีที่มีนวัตกรรมใหม่เพื่อทำให้กองทุน ENGY มีลักษณะเหมือนหุ้นตัวหนึ่งที่ซื้อขายได้คล่องเหมือนหุ้นในตลาดตัวหนึ่ง ไม่เหมือนกับกองทุนรวมทั่วไปที่จะต้องรอราคาซื้อขาย ณ ตอนสิ้นวันในลักษณะของ "Exchange Trade Fund : ETF" คือกองทุนที่สามารถซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เหมือนหุ้นจัดเป็นกองทุนที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว

 

โดยกองทุน ENGY นี้จะเป็นกองทุนที่มีนโยบายจะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุน ให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานมากที่สุด ในเบื้องต้นกองทุน ENGY จะเลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานทั้งหมด 10 ตัว จากหุ้นในกลุ่มพลังงานทั้งหมด 25 ตัว

อย่างไรก็ตาม หุ้น 10 ตัวแรกของกลุ่มพลังงานคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 97.98% ของดัชนีกลุ่มพลังงานแล้ว ซึ่งสามารถที่จะสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานได้ค่อนข้างดี จึงไม่จำเป็นต้องลงทั้งหมด 25 ตัว

โดยหุ้นทั้ง 10 ตัวที่ใช้สร้างพอร์ตลงทุนของกองทุน ENGY ประกอบด้วย 1) บมจ.ปตท. 2) บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม 3) บมจ.ไทยออยล์ 4) บมจ.บ้านปู 5) บมจ.ไออาร์พีซี 6) บมจ.อะโรเมติกส์และการกลั่น 7) บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง 8) บมจ.ผลิตไฟฟ้า 9) บมจ.โกลว์ พลังงาน และ 10) บมจ.เอสโซ่ (ประเทศไทย)

"หุ้น 10 ตัวนี้เป็นเพียงการลงทุนในเบื้องต้นเท่านั้น เพื่อที่จะสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานให้มากที่สุด แต่ในอนาคตหุ้น 10 ตัวนี้กลับมีน้ำหนักในดัชนีกลุ่มพลังงานลดลงเหลือ 95%

เราอาจจะต้องพิจารณาปรับเปลี่ยน โดยอาจจะลงทุนในหุ้นอื่นเพิ่มเติมเข้ามา เพื่อที่จะทำให้พอร์ตการลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานให้มากที่สุด"

โชติกา ยังบอกอีกว่า ข้อดีของการลงทุนผ่านกองทุน ENGY คือการกระจายความเสี่ยงเพราะไม่ใช่การลงทุนในหุ้นพลังงานตัวหนึ่งตัวใดเพียงตัวเดียว ซึ่งจะมีความเสี่ยงมากกว่า จะเห็นว่าหุ้นทั้ง 10 ตัวมีการกระจายตัวของธุรกิจภายในกลุ่มพลังงานอยู่แล้วพอสมควร นอกจากนี้ข้อดีอีกอย่างของกองทุน ENGY คือใช้เงินลงทุนน้อยกว่ามาก เพราะมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุน ENGY จะใช้ดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานมาหารด้วย 4,000 ซึ่ง ณ ระดับดัชนีปัจจุบันจะได้ราคาประมาณ 4.53 บาท

ในขณะที่หุ้นพลังงานส่วนใหญ่จะมีราคาแพง เช่น PTT 300 บาท PTTEP 170 บาท BANPU 450 บาท ถ้าจะซื้อลงทุนจะต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก แต่การซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนเปิด ENGY 100 หน่วยนั้น ใช้เงินประมาณ 500 บาทก็สามารถที่จะลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานได้แล้ว โดยเสียค่าธรรมเนียมในการซื้อขายผ่านโบรกเกอร์เพียง 0.10% เท่านั้น

"กองทุนเปิด ENGY นี้จะเสนอขายไอพีโอระหว่างวันที่ 21-28 ก.ค.2551 นี้ โดยผู้ลงทุนที่สนใจสามารถจองซื้อขั้นต่ำเพียง 10,000 บาท เท่านั้น"

สำหรับใครที่สนใจจะลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงาน เชื่อว่ากองทุนเปิด ENGY น่าจะก้าวเข้ามาเป็นอีกทางเลือกในการลงทุนให้กับคุณได้บ้าง ยิ่งถ้าใครมีใจให้พวกหุ้นกลุ่มพลังงานอยู่แล้ว ก็น่าจะชอบกองนี้

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/2008/07/2 ... 277940.php