มาแล้ว คุณพ่อ IMF ชงยาขมรอเวียดนาม!
กรุงเทพฯ -- เศรษฐกิจเวียดนามกำลังผันแปรอย่างรวดเร็วมาก จากเพียงไม่กี่เดือนก่อนหน้าที่ยังเป็น สุดยอด ในสายตานักลงทุนต่างชาติ ได้กลายมาเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายเริ่มกังขา และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund) ได้ยื่นมือเสนอวิธีการแก้ไข
การเข้าไปยุ่งเกี่ยวของไอเอ็มเอฟได้นำความหลังเก่าๆ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว กลับมาหลอกหลอนหลายประเทศในเอเชียอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย ที่ทนกล้ำกลืนยาขมของไอเอ็มเอฟนานหลายปี ต้องปิดธนาคาร และสถาบันการเงินหลายสิบแห่ง หนี้เสียในระบบคั่งค้างมาจนทุกวันนี้
การเข้าควบคุมเศรษฐกิจไทยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ทำให้สถาบันแห่งนี้เคยได้รับการขนานนามจากนักการเมืองของไทยว่า คุณพ่อไอเอ็มเอฟ
นายเบเนดิค บิงแฮม (Benedic Bingham) ผู้แทนไอเอ็มเอฟประจำเวียดนาม กล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า เวียดนามควรจะใช้นโยบายการเงินการคลังที่เคร่งครัดรัดกุม เพื่อแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจโอเวอร์ฮีต รัฐบาลควรขึ้นอัตราดอกเบี้ย ปรับปรุงภาคการธนาคารและผลักดันการปฏิรูปตลาด
เจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟ ได้เสนอดังกล่าวในการประชุมระหว่างรัฐบาล กับกลุ่มประเทศผู้บริจาคและนักลงทุน หลังจากสำนักจัดความน่าเชื่อถือหลายแห่งได้ปรับเศรษฐกิจเวียดนามเข้าสู่แดนลบ
"เงื่อนไขต่างๆ ทางเศรษฐกิจ ได้เข้าสู่ความยุ่งยากอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นในปีที่ผ่านมา ด้วยเศรษฐกิจที่ร้อนแรงภายใต้สภาพแวดล้อมด้านการเงินระดับโลกที่อ่อนตัวลง นายบิงแฮมกล่าวที่เมืองซาปา (Sapa) ทางตอนเหนือเวียดนาม
เงินเฟ้อทะยานขึ้นถึง 25% ในเดือน พ.ค.เทียบกับเดือนเดียวกันเมื่อปี 2550 โดยมีราคาน้ำมันกับราคาอาหารเป็นตัวฉุด การขาดดุลพุ่งขึ้นถึง 14,400 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้
นายบิงแฮม บอกว่า เงินเฟ้อ เงินทุนที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว การใช้จ่ายด้านการคลัง รวมทั้งการลงทุนของภาครัฐที่ขยายตัวอย่างสูง ล้วนเป็นปัจจัยทำให้เกิดปัญหาดุลชำระเงินในปัจจุบัน
นอกจากนั้น ยังมีข้อบ่งชี้ทางเศรษฐกิจหลายประการ ว่า นักลงทุนเริ่มมีความกังวล โดยชี้ไปยังตลาดหุ้นของประเทศ ที่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น
เจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟ กล่าวอีกว่า ปัญหาตลาดหุ้นกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ทรุดตัวอย่างรุนแรงนี้ยังทำให้เกิดแรงกดดันต่อค่าเงินด่งด้วย
นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งยังไม่เห็นด้วยกับไอเอ็มเอฟทั้งหมด แต่ก็เห็นพ้องกันว่า สถานการณ์ในปัจจุบันอาจจะทำให้เศรษฐกิจของคอมมิวนิสต์เวียดนามหันเหไปทางใดก็ได้ หากไม่มีการจัดการกับปัญหาต่างๆ อย่างระมัดระวัง
ปีที่แล้วทุกสารทิศเยินยอเวียดนามกำลังจะเป็น เสือ ตัวใหม่เนื่องจากเศรษฐกิจโตเร็วขยายตัวถึง 8% เป็นอันดับ 2 ในเอเชียรองจากจีนเท่านั้น
แต่เวลาเพียงข้ามปีเวียดนามต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรงจากหลักเดียวเพิ่มขึ้นเป็นสอง ขาดดุลการค้าเพิ่มทวี ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ตกลงเกือบ 2 ใน 3 ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับค่าเงินด่ง (Dong) และชะตากรรมของระบบธนาคาร
สำนักจัดความน่าเชื่อถือสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส (Standard & Poor's) รวมทั้งธนาคารเพื่อการลงทุนอีกหลายแห่ง ต่างทบทวนฐานะเศรษฐกิจของเวียดนามไปในแดนลบ
ภาพรวมทั้งหมดนี้ยิ่งเลวร้ายหนักขึ้นไปอีก เมื่อเกิดขึ้นในยุคที่กำลังวิตกกันไปทั่วว่า เศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ อาจจะทำให้การค้าของทั้งโลกปั่นป่วนและจะทำให้เกิดปัญหาไปทั่ว
สถานบันวิจัย Aseambanker Research บอกว่า ภาพที่เลวร้ายที่สุดอาจจะเป็นว่าเวียดนามจะเผชิญปัญหาเงินทุนไหลออก ทำให้เกิดปัญหาขาดดุลชำระเงินฉับพลัน ซึ่งจะผลักไสให้เวียดนามเข้าสู่อ้อมอกของไอเอ็มเอฟ
นายอดัม เลอ เมซูริเอร์ (Adam Le Mesurier) ได้เขียนบทวิเคราะห์ให้แก่บริษัทที่ปรึกษา DSG Asia ระบุว่า เวียดนามอาจจะต้องเตรียมใช้นโยบายเพื่อขานรับวิธีการแบบไอเอ็มเอฟภายใน 6 เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งรวมทั้งการจัดการกับการเงินการคลังอย่างรัดกุมและลดค่าเงินด่ง
แต่บรรดาตัวแทนประเทศผู้บริจาคกับนักลงทุนจากสารทิศ ซึ่งประชุมกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วยังคงเชื่อมั่น และมองเศรษฐกิจเวียดนามในแง่บวก โดยชี้ไปที่ภาคส่งออกที่ยังเข้มแข็งทั้งอาหารและน้ำมันดิบ การลงทุนจากต่างประเทศยังไหลเข้าไม่หยุดยั้ง การท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง
ต่างชาติยังคงมองตลาดใหญ่ประชากร 85-86 ล้านคนอย่างเป็นบวก รวมทั้งมองเห็นพลังคนวัยแรงงานหนุ่มสาวซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ
มันเป็นเรื่องง่ายที่จะกล่าวอ้างว่า เวียดนามได้เปลี่ยนจาก 'เด็กโปสเตอร์' เป็น 'เด็กมีปัญหา'... นายฌอน ดอยล์ (Sean Doyle) ตัวแทนสหภาพยุโรปประจำเวียดนามกล่าว อันสะท้อนคำพูดของนักวิเคราะห์ของสำนักเอกชนรายหนึ่ง
** สถานการณ์พลิกผัน **
เมื่อเวียดนามเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ในเดือน ม.ค.2550 ทุนจากทั่วโลกหลั่งไหลเข้าไปใช้แรงงานราคาถูกในดินแดนที่เรียกว่า จีนน้อย (Mini China)
นักลงทุนรายย่อยในประเทศทุ่มเงินเข้าตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ และศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ฮานอยเก็งกำไร รัฐบาลขยายโครงการลงทุนของภาครัฐออกไปอย่างกว้างขวาง ทำให้เงินแพร่สะพัดในระบบ
แต่กังหันเศรษฐกิจเริ่มหมุนไม่ตรงทิศทางเมื่อสัก 6 เดือนก่อนหน้านี้
อัตราเงินเฟ้อขยายเป็นเลข 2 หลัก อันเป็นช่วงที่รัฐบาลได้พยายามผลักดันให้เงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ได้มีการใช้จ่ายใช้เข้าสู่ภาคเศรษฐกิจราว 6,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 8.4% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศหรือ จีดีพี
เมื่อเริ่มปีใหม่ 2551 ราคาสินค้าในตลาดก็เริ่มขยับตัวด้วยความเร็วสูง นำหน้าโดยราคาสินค้าหมวดอาหารและน้ำมันเชื้อเพลิง ความเดือดร้อนแพร่ลามอย่างรวดเร็ว คนงานก่อการนัดหยุดงานกว่า 300 ครั้งในไตรมาสแรกของปีนี้ขอค่าแรงเพิ่ม
นักวิเคราะห์ของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ (HSBC) กล่าวว่า ปัญหาค่าจ้าง-ราคา กำลังอยู่ในขั้นเริ่มแรกเท่านั้น แต่สถานการณ์จะแย่ลงอีกมากหากปัญหานี้ฝังแน่นอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเขาเชื่อว่าเงินเฟ้ออาจจะทะยานขึ้นถึง 30% หากไม่สามารถควบคุมราคาสินค้าได้
สัญญาณเตือนอีกตัวหนึ่งดังขึ้น เมื่อมูลค่าการนำเข้าที่พุ่งทะยานไปข้างหน้าได้ทำให้ตัวเลขขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 14,400 ล้านดอลลาร์ในเดือน พ.ค.จาก 12,000 ล้านดอลลาร์ตลอดปี 2550 ทั้งปี
ตลาดหลักทรัพย์เข้าสู่ตาจน เมื่อเกิดสภาวะขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง จากมาตรการดอกเบี้ยและการควบคุมการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนอันตรธานไป
ตลาดหลักทรัพย์เวียดนามที่เคยเป็น ตลาดหุ้นดีที่สุดของโลก เมื่อปีที่แล้ว เป็นตลาดที่การประกอบการ แย่ที่สุด ในปีนี้
สัปดาห์ที่แล้ว VN-index ดิ่งลงต่ำกว่าแนวรับทางจิตวิทยา 400 จุดเป็นครั้งแรก ดัชนีหุ้นเวียดนามทรุดลงอีก 1.5% หรือ -5.84 จุดเมื่อตลาดปิดการซื้อขายวันศุกร์ ทำให้ดัชนีเหลืออยู่เพียง 384.24 จุด
ดัชนี VN-index เคยทะยานขึ้นสูงถึง 1,170 จุดในเดือน มี.ค.2550 ก่อนจะค่อยๆ ดิ่งหัวลง และเศรษฐกิจต้องเผชิญปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง
นักลงทุนท้องถิ่นจำนวนมากหันไปซื้อทองเก็บเอาไว้แทน หลังจากค่าเงินด่งในตลาดแลกเปลี่ยนที่ไม่เป็นทางการทรุดลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยอัตราทรุดลงเป็น 18,500 ด่งต่อดอลลาร์ปลายสัปดาห์ที่แล้ว จากอัตราแลกเปลี่ยนทางการ 16,060 ด่ง
นักวิเคราะห์ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวว่า เงินด่งกำลังถูกดดันอย่างหนัก ปัญหานี้จะยังไม่ได้รับการแก้ไขจนกว่าตัวเลขขาดดุลการค้าจะลดลง
http://www.manager.co.th/IndoChina/View ... 0000067314