http://www.bangkokbiznews.com/index.php
source:กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
date/time 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 09:30:00
มองทางออก ธุรกิจเพลง
ปรากฏการณ์ยอดขายเพลงซบเซาที่ยังดำเนินต่อเนื่อง ทำให้เกิดคำถามแก่ทั้งเหล่าผู้ฟังและคนทำงานในธุรกิจเพลงที่ว่า ธุรกิจเพลงได้ก้าวมาถึงทางตันแล้วใช่หรือไม่ และหากต้องการจะเดินหน้าต่อ เราควรก้าวไปในทิศทางใด
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ :
ทุกวันนี้ถ้าอยากจะหาเพลงฟัง คงมีคนเพียงไม่กี่คนที่ยอมลงทุนควักกระเป๋าจ่ายเงินซื้อซีดีเพลงราคาร้อยกว่าบาท ให้กับงานที่เรามักเรียกกันว่าเป็น 'เพลงตลาด' ร้องโดยศิลปินขายหน้าตา ที่ทั้งอัลบั้มมีเพลงเพราะพอฟังได้ไม่เกินสองเพลง โดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง ทั้งข้าวทั้งน้ำมันแข่งกันขึ้นราคา หลายคนคงจะหันไปเลือกซื้อแผ่นเอ็มพีสามเถื่อน หรือไม่ก็ดาวน์โหลดจากอินเทอร์เน็ตแบบฟรีๆ และไม่รู้สึกว่าสินค้าประเภทนี้ควรค่าแก่การเสียเงินให้เท่าใดนัก
ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดคำถามแก่ทั้งเหล่าผู้ฟังและคนทำงานในธุรกิจเพลง คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะสถาบันการศึกษาซึ่งมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่ออนาคตวงการเพลงของประเทศไทย จึงได้จัดวงเสวนาในหัวข้อที่ว่า ธุรกิจเพลงตายจริงหรือ เชิญผู้ที่รู้จริงในอุตสาหกรรมดนตรีไทยมาพูดคุย เพื่อร่วมกันตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ
เพลงดี มีอยู่น้อย
พลวิทย์ โอภาพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ร่วมอภิปราย ได้อธิบายถึงสภาพปัญหาของธุรกิจเพลงในปัจจุบันให้ฟังว่า แม้ดนตรีจะไม่เคยตาย แต่เพลงที่ดีนั้นมีจำนวนน้อยเต็มที และเพลงดีๆ เท่าที่มีอยู่ก็มักจะไม่ได้รับการส่งเสริมให้เผยแพร่ในวงกว้าง ทำให้ศิลปินที่มีความสามารถไม่สามารถแจ้งเกิดได้
ลูกศิษย์ทุกคนก็ถามว่า อาจารย์ผมพยายามทำเพลงกัน แบบที่ผมพูดได้ตรงๆ ว่าโคตรดีเลย แต่พอถึงเวลาไปเสนอที่ไหนเขาก็ไม่เอา ปัญหานี้ ผมอยู่ในวงการเพลงมาตลอด 20 ปี ได้ยินมาตลอด แล้วเราก็พูดกันอยู่แบบนี้ ไม่เคยเปลี่ยน อ.พลวิทย์ เล่า
ส่วนศิลปินที่มีความสามารถ พอได้เข้ามาสู่วงการธุรกิจเพลง ก็ไม่มีโอกาสสร้างงานตามความต้องการของตัวเอง เพราะงานเพลงเป็นงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้า หรือ Marketing Art ทำให้ปัจจัยเรื่องการตลาดและความต้องการของผู้ฟังกลายเป็นกำแพงขวางกั้นการสร้างงานที่ศิลปินไม่สามารถก้าวข้ามไปได้ เมื่อศิลปะต้องมาเจอกับการตลาด ศิลปะนั้นก็จะไม่สามารถดำรงจิตวิญญาณได้อีกต่อไป เพราะโดนชี้นำจากทั้งนายทุนและนักการตลาด เพลงที่ดีและสร้างออกมาจากความตั้งใจของนักทำเพลงจริงๆ ในปัจจุบันจึงหาได้ยาก เพราะถูกสั่งให้สร้างออกมาตาม โจทย์ ความชอบของตลาดผู้ฟัง ไม่ใช่ศิลปะที่ทำออกมาเพื่อความอิ่มเอมใจ ความสุขของผู้สร้างอีกต่อไป
เพลงดี กับ เพลงโดน
ปีเตอร์ กัน อดีตผู้บริหารค่ายเพลงยักษ์ใหญ่โซนี่ มิวสิค ได้ให้มุมมองของนักการตลาดที่ทำงานในวงการเพลงมาร่วมยี่สิบปีว่า สาเหตุที่ตลาดเพลงในประเทศไทยซบเซาลงนั้น ไม่ใช่เพราะไม่มีคนผลิตเพลงดีๆ ออกมา แต่เป็นเพราะนักการตลาดในวงการอุตสาหกรรมดนตรีไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องในแนวคิดของคำว่า เพลงดี กับ เพลงโดน ต่างหาก
"เพลงดี คือผลงานที่มาจากนักดนตรี หรือหัวใจศิลปินที่ถูกต้อง แล้วทำงานเต็มที่ ทำงานออกมาจากใจ ไม่ได้ทำงานเพราะมีใครมาสั่งให้ทำว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้
ส่วนเพลงโดนนั้น เป็นหน้าที่ของพวกนักการตลาดหรือนักการจัดการ ว่าจะพาเพลงที่ดีนั้นไปอยู่ที่ไหน แล้วสามารถสร้างคุณค่าสูงสุดให้เกิดขึ้นมาได้ยังไง สาเหตุที่เราบอกว่าเพลงดีมักจะไม่ค่อยโดน เพราะว่าเรากำลังตั้ง Segment (กลุ่มผู้บริโภค) ผิด เพลงที่ดีมันต้องโดน แต่โดนให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ปีเตอร์ อธิบาย
ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในเรื่องการทำเพลงให้ดีกับการทำเพลงให้โดนใจผู้ฟังนี้เอง ทำให้เกิดการบริหารจัดการที่ผิดพลาด ศิลปินผู้ทำเพลงหรือโปรดิวเซอร์จึงมักจะได้รับคำสั่งมาจากฝ่ายการตลาด ว่าต้องทำเพลงแนวไหน เนื้อหาแบบใด แทนที่ศิลปินจะเป็นฝ่ายกำหนดรูปแบบเพลงและสร้างงานออกมาตามต้องการอย่างเต็มความสามารถ
ดังนั้นวิธีการแก้ไขคือจะต้องมีการแยกหน้าที่ให้ชัดเจน ระหว่างคนทำดนตรีและนักการตลาด ไม่ควรให้ฝ่ายการตลาดมามีอำนาจเหนือแนวทางการผลิตผลงานของศิลปิน แต่ควรทำหน้าที่เป็นผู้นำเอางานของศิลปินที่สร้างมาเสร็จแล้วไปจัดการทางการตลาดต่อไป
ปรากฏการณ์ ไม่เอาเพลงเชิงพาณิชย์
ตามทฤษฎีทางการตลาดพื้นฐานนั้น เดิมทีจะเน้นเรื่องการมองคุณค่าจากภายในหรือการสร้างจิตสำนึกแบบ inside out ที่เริ่มจากการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้ดี มีคุณภาพเหนือคู่แข่ง เพื่อให้สามารถยืนหยัดอยู่ในวงการได้ แต่ต่อมาการตลาดก็หันกลับมาเริ่มต้นด้วยการสร้างคุณค่าจากภายนอก หรือการมองแบบ outside in ด้วยการตั้งโจทย์การผลิตโดยมองพื้นฐานความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก ในธุรกิจดนตรีจึงเกิดการสร้างเพลงแบบที่เรียกว่า Commercial music หรือดนตรีเชิงพาณิชย์ ที่สร้างเพลงเฉพาะตามที่ผู้ฟังต้องการ
และเนื่องจากการทำเพลงแบบดนตรีเชิงพาณิชย์นี้ สามารถสร้างรายได้ให้กับนักลงทุนได้มากกว่า ปัจจุบันเพลงที่ทำเพียงแค่พอให้สามารถตอบโจทย์ทางการตลาดได้ จึงเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และเข้ามากินพื้นที่ในธุรกิจเพลงมากกว่าส่วนที่เป็นเพลงคุณภาพแบบงานศิลปะ เกิดเพลงแนวซ้ำๆ ทำนองคล้ายๆ กันจนผู้บริโภคเริ่มเบื่อ
ก่อนช่วงประมาณ ค.ศ.1995 สมัยนั้นมีแต่คำว่า อาร์เอส-แกรมมี่ แล้วเพลงก็ถึงจุดอิ่มตัว คนก็เบื่อเพราะเน้นตลาดเหลือเกิน มันเลยปะทุคำว่า อินดี้ ที่มาจาก independent Music แหกออกมา เพราะคนต้องการงานที่สร้างด้วยจิตวิญญาณจริงๆ กันมากขึ้น ปีเตอร์เล่า
แน่นอนว่าศิลปะที่ดีต้องมาจากใจของผู้ทำ แต่เมื่อการสร้างอัลบั้มเพลงดีๆ ออกมาต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก จึงเป็นไปไม่ได้ที่ศิลปะดนตรีจะตัดขาดตัวเองออกจากเรื่องการตลาด ทางออกจึงอยู่ที่การมองหาจุดร่วมตรงกึ่งกลางระหว่างฝ่ายการตลาดและศิลปิน ที่จะทำให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันและทำงานของตัวเองได้เต็มที่ อ.ปีเตอร์ เปรียบเทียบให้ฟังว่า งานเพลงที่เป็นศิลปะบริสุทธิ์เหมือนกับสีขาว ที่เราอาจนำมาปรับเปลี่ยนให้เป็นสีเทาจางๆ ได้ แต่การจะเปลี่ยนสีขาวจนกลายเป็นสีดำ จะทำให้งานเพลงเสียคุณค่าทางศิลปะไปในที่สุด
ปีเตอร์ชี้ทางว่า ถ้าเราพยายามจะทำสุดขั้วให้จากขาวเป็นดำ มันจะพัง แต่ถ้าทำให้เป็นเทาๆ พอไหว ใครจะรู้ว่าสักวันหนึ่งคนที่ฟังเทาอ่อนๆ อาจจะกลายมาฟังแบบขาวเลยสักวันหนึ่งก็ได้ นั่นก็คือเราได้บรรลุเป้าหมายของเรา
ในความเห็นเดียวกันนี้ ยังระบุว่า ความพยายามจะทำเพลง อินดี้ ให้เป็นเพลงตลาด หรือแปลงขาวให้เป็นดำของค่ายใหญ่นั้น อาจจะถือเป็นความผิดพลาด จนในที่สุดเพลงอินดี้ก็สูญเสียจิตวิญญาณของความเป็นศิลปินอิสระ คนฟังไม่สามารถแยกแยะได้อีกต่อไปว่าใครเป็น 'ศิลปินอิสระ' หรือใครเป็น 'ศิลปินเชิงพาณิชย์'
กุญแจหลักสำคัญในสายตาของผู้บริหารและนักการตลาด จึงเป็นการรู้จักปรับเปลี่ยนในปริมาณที่พอเหมาะ ซึ่งจะทำให้นักการตลาดสามารถทำงานได้ดี และศิลปินก็สามารถสร้างงานได้ตามต้องการ
เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ : ทางออกของธุรกิจเพลง
นรเศรษฐ หมัดคง นักวิจารณ์ดนตรีและดีเจคลับชื่อดัง ได้ชี้แนะถึงเทคโนโลยีที่อาจจะเป็นทางออกใหม่ของธุรกิจเพลงว่า ในอดีตเครื่องไม้เครื่องมือยังไม่ทันสมัย การจัดทำเพลงและบันทึกเสียงให้มีคุณภาพดีพอ ที่จะนำออกวางขาย ต้องใช้เงินนับแสนบาท ทำให้การทำงานเพลงต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมาก ศิลปินจึงต้องมุ่งไปยังนายทุน และเข้าไปสู่วงการธุรกิจเพลงที่ต้องพึ่งพิงสองค่ายยักษ์ใหญ่อย่างแกรมมี่และอาร์เอส ทำให้ธุรกิจเกิดการผูกขาดและขาดความหลากหลาย
แต่ปัจจุบันศิลปินยุคใหม่มีทางออกที่ทำให้สามารถสร้างงานของตัวเองได้ เพราะเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์พัฒนาไปไกล นรเศรษฐเล่าว่า ตอนนี้หากนักศึกษาคนไหนพอจะมีเงินซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ McIntosh ก็สามารถทำงานเพลงคุณภาพอยู่ที่บ้านได้ ไม่ต้องลงทุนเป็นจำนวนมากหรือต้องเข้าไปอาศัยค่ายเพลงอีกต่อไป
ส่วนเรื่องช่องทางการจัดจำหน่าย แต่เดิมต้องอาศัยวิทยุหรือโทรทัศน์ให้ช่วยเปิดเพลงออกอากาศ ให้คนรู้จักเพลง ทว่าในปัจจุบันใครๆ ก็สามารถเผยแพร่งานของตนเองได้ง่ายๆ ผ่านทางเวบไซต์เช่น MySpace หรือ You tube ที่เปิดโอกาสให้ได้เผยแพร่งานออกสู่กลุ่มผู้ฟังทั่วโลกอย่างไร้ขีดจำกัด
ตอนนี้เทคโนโลยีกำลังจะเอาคืนค่ายใหญ่ๆ เอาคืนภาคอุตสาหกรรมใหญ่ จุดที่เรายืนอยู่ทุกวันนี้ จึงเป็นจุดที่ถ้าเราสามารถสร้างจุดสมดุลได้ก็จะเกิดการพัฒนา นรเศรษฐ กล่าว
อย่างไรก็ตาม มีคำถามตามมาว่า เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น แต่คุณภาพดนตรีกลับลดลง? ขณะที่ช่องทางการเพลงที่ไม่ต้องอาศัยต้นทุนสูง จากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และมีช่องเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต ทว่าความทันสมัยและความ ง่าย สวนทางกับภาพของงานดนตรี อย่างที่ อ.พลวิทย์ ให้ข้อสังเกตว่า ดนตรีที่นำมาเผยแพร่ในเวบไซต์นั้น ส่วนมากมักจะไม่ค่อยมีคุณภาพมากเท่าไหร่ เพลงจากโซนเอเชียหรือประเทศไทย จึงไม่ค่อยได้รับการยอมรับในแง่การเติบโต เกิดมาจากสื่ออินเทอร์เน็ต เช่น เวบไซต์ MySpace หรือการดาวน์โหลดอย่างในต่างประเทศ ในที่สุดแล้วเพลงในโลกออนไลน์ก็กลายเป็นงานที่ขาดคุณภาพ เพราะคนสร้างไปหลงกับความรู้และทักษะการใช้เทคโนโลยีจนไม่ใส่ใจกับศิลปะที่จะต้องใส่ลงไปในเพลงด้วย
อ.พลวิทย์ ยังเน้นย้ำเรื่อง 'เพลงดี' ต้องมาก่อน โดยการสร้างเพลงที่ดีจึงต้องหันกลับมาเริ่มจากการพัฒนาตัวศิลปินผู้สร้างงาน ซึ่ง 'ศิลปินที่ดี' ต้องเป็นผู้ที่มี competency ที่ปีเตอร์ กัน ให้แปลเป็นไทยว่า "คือตัวตน หรือความสามารถเฉพาะตัว" อันประกอบไปด้วยสามส่วนหลักๆ คือ ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (skill) และทัศนคติ (Attitude) ที่คนทุกวันนี้มักเข้าใจผิดว่าควรจะต้องเริ่มจากการไปหาความรู้ แล้วมาพัฒนาทักษะ จากนั้นจึงค่อยอบรมสร้างทัศนคติหรือจิตวิญญาณขึ้นมา
แต่วิธีการที่ถูกต้องเราต้องเริ่มจากการมีทัศนคติที่ถูกดีก่อน แล้วค่อยไปศึกษาหาความรู้ และเพิ่มพูนทักษะ เราถึงจะได้ศิลปินและงานที่ดี เพราะความรักในงานศิลปะดนตรีเป็นหัวใจสำคัญสูงสุดในการสร้างงานนั่นเอง
สังคมร่วมมือ
นอกจากจะต้องมีศิลปินดีๆ ที่สร้างเพลงมีคุณภาพออกมาได้แล้ว ธุรกิจเพลงจะเจริญเติบโตได้ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้ง 3 ภาคส่วนของสังคม ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
ปีเตอร์อธิบายว่า เช่นเดียวกับวิธีการสร้างความเจริญเติบโตของทุกวงการธุรกิจ อุตสาหกรรมเพลงเองก็ต้องการการส่งเสริมที่ถูกต้องจากภาครัฐ แนวทางการทำงานที่ถูกต้องจากภาคส่วนเอกชนที่เป็นเจ้าของอุตสาหกรรม และการสนับสนุนอย่างดีจากภาคประชาชน ในบ้านเรานอกจากทั้ง 3 ฝ่าย จะไม่ค่อยร่วมมือกันอย่างดีแล้ว ที่สำคัญคือศิลปะไทยมักจะขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งหากมีการวางนโยบายที่ดีเป็นกลไกสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการพัฒนาได้ ดังเช่นในประเทศเกาหลีที่อุตสาหกรรมบันเทิงในรอบห้าปีที่ผ่านมา สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ก็เพราะภาครัฐสนับสนุนและให้ความสำคัญ
นวัตกรรม 3 ด้าน : หัวใจของการพัฒนา
นอกจากต้องอาศัยความร่วมมือจาก 3 ภาคส่วนของสังคมที่เปรียบได้กับเก้าอี้ 3 ขาที่ขาดข้างใดข้างหนึ่งไปก็จะไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้แล้ว ปัจจัยที่สำคัญมากอีกประการคือการพัฒนานวัตกรรม 3 ด้าน ให้ก้าวเดินไปอย่างสมดุล
ได้แก่ นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต (infrastructure) เช่น การพัฒนาเครื่องคอมพิวเตอร์ Macintosh หรือเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต อย่างที่สองคือนวัตกรรมที่เป็นวิธีการในการผลิต และสุดท้ายคือนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการ ประเทศที่สามารถพัฒนานวัตกรรมทั้ง 3 ด้านให้ก้าวเดินไปอย่างสอดคล้องกันได้ ก็จะประสบความสำเร็จในการพัฒนา ดังเช่นในวงการเพลงของประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และอังกฤษ ที่ปีเตอร์กล่าวว่ามีการพัฒนาของนวัตกรรม 3 ด้านนี้อย่างเป็นระบบ ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการทำงานที่เป็นศิลปะ กับการใช้เทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการจัดการที่ถูกต้อง
ตัวอย่างของการพัฒนานวัตกรรม 3 ด้านอย่างไม่สมดุลที่เห็นได้ชัดเจนคือ วงการเพลงของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นายทุนต้องการจะปิดกั้นการใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในการเผยแพร่ผลงานเพลงเอาไว้
ความล่มสลายของอุตสาหกรรมดนตรีในช่วงประมาณ 4 ปีที่ผ่านมา เกิดมาจากนวัตกรรมการจัดการที่ผิดพลาดของฝั่งอเมริกา นักกฎหมายอเมริกันเลยแหละที่พยายามงก สงวน กันไว้ไม่ให้เพลงเข้าสู่ในกระแสดิจิทัลหรือการดาวน์โหลด ล็อกไว้อยู่ตั้งนาน เพราะถ้าเพลงเข้าสู่ยุคดิจิทัล ปริมาณมันจะเพิ่มขึ้นมหาศาล ต้องเกิดการปรับ infrastructure และข้อตกลงใหม่หมด เรื่องการให้เพลงดาวน์โหลดได้ฟรี มันจึงควรจะเกิดตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว ไม่งั้นป่านนี้เราคงไม่เละเทะกันขนาดนี้หรอก เพราะคุณไปขวางคนเอาไว้ ผมถึงบอกว่านวัตกรรม 3 ตัวนี้ ต้องวิ่งไปด้วยกันตลอด ต้องเกิดการจัดการบริหารให้สมดุล ปีเตอร์กล่าว
อดีตผู้บริหารค่ายเพลง ยังมองอีกว่า แนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องเทปผีซีดีเถื่อน ที่เป็นประเด็นหนักอกคนทำเพลงทุกวันนี้ ทางออกอยู่ที่การพัฒนานวัตกรรมด้านที่สอง ซึ่งเป็นเรื่องของวิธีการในการผลิต จะต้องทำเพลงให้มีคุณภาพดีอย่างที่เรียกได้ว่า เจ๋งจริง ดีจนกระทั่งมีความแตกต่างเกิดช่องว่างระหว่างคู่แข่งคนอื่นๆ ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลงานเพลง และทำให้คนเกิดความรักในผลงานนั้นๆ
"ถ้าเพลงมันดีพอ เข้าไปในจิตใจคนได้เร็ว พอเขาจะรักเพลงนั้นมากพอ เห็นคุณค่ามันสูงพอที่จะจ่าย ถ้าไม่ชอบเอามาแจกฟรีก็ไม่เอา แต่ถ้าชอบมากราคาเท่าไรเราก็ซื้อ นั่นแหละผมถึงจะเรียกว่าเป็นนวัตกรรม เราต้องสมดุลให้ดีระหว่างนวัตกรรม 3 อย่าง ดูว่าเพลงดีมันดีจริงหรือเปล่าเสียก่อน แล้วค่อยมาหาตัวที่สองคือนวัตกรรมการตลาดหรือการจัดการ ถึงจะแก้ปัญหาได้
เมื่อให้วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดฟันธงว่า ธุรกิจเพลงไทยตายแล้วหรือยัง ปีเตอร์ก็ได้ลงความเห็นว่ายังไม่ตายแน่นอน แต่อยู่ในสภาพที่เรียกว่า ดูงงๆ หยุดพักตัว และดู ถดถอย ลงไปจากเดิม ซึ่งก็เกิดจากสาเหตุทั้งหมดดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น
แต่น่ายินดีว่าปัจจุบันสัญญาณด้านบวกได้เริ่มแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง 'ความต้องการของตลาด' ที่ดูจะเรียกร้องหาเพลงที่มีคุณภาพมากกว่าเดิม หรือแนวทางของค่ายใหญ่ๆ ที่เริ่มจะหันมาหาทางนำเพลงเข้าสู่กระแสดิจิทัล วงการเพลงไทยจึงน่าจะพัฒนาต่อไปและรอดพ้นจากภัยคุกคามครั้งนี้ได้ หากได้รับการจัดการด้วยวิธีการแก้ไขที่เหมาะสม
อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่วิทยากรทั้ง 3 ท่าน เน้นย้ำว่าจะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาธุรกิจเพลงไทยคือ เราต้องหันมาเริ่มจากการพัฒนาคนที่มีคุณภาพ สร้างศิลปินที่มีจิตวิญญาณรักในงานดนตรีอย่างแท้จริง เหนือสิ่งอื่นใดภาคธุรกิจก็ต้องมองเห็นความสำคัญของงานศิลปะและมีระบบการจัดการที่เหมาะสม
ไม่อย่างนั้นแล้ว วงการเพลงไทยถึงแม้จะยังไม่ตายแต่สภาวะ ดูงงๆ หยุดพักตัว และดู ถดถอย' นี้อาจอยู่คู่เราไปอีกนานจนกลายเป็นสภาพอย่างที่เรียกกันว่า ไม่ตายแต่เลี้ยงไม่โต ก็เป็นได้