เกาหลีใต้ กะ ไทย มีความคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ พร้อม ๆ กันครับ เมื่อประมาณ 15-20 ปีที่แล้ว แต่ ปัจจุบัน เกาหลี มี โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 20โรงแล้วครับ จำไม่ได้ แต่ประเทศไทย 0 สิ่งใดมีคุณอนันต์ ก็มีโทษมหันต์เหมือนกันครับ อยากให้ดูตรงนี้ครับ ทำไม ประเทศต่าง ๆ ในโลกถึงมีโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ ยุโรป มีเยอะครับ ไม่ใช่แค่รัสเซีย เหตุผล
ปัจจุบันโรงไฟฟ้าในประเทศใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า คิดเป็นสัดส่วนถึง 71% ของกำลังการผลิตรวมทั้งประเทศ (ราว 25,000 เมกะวัตต์)
ว่ากันว่าหากในอนาคตยังไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าประเภทอื่นเพิ่มเติม อาจต้องเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ขึ้นไปถึง 80%
กรณีดังกล่าวนับว่ามีความเสี่ยงสูง หากเกิดปัญหาไม่สามารถจัดหาก๊าซธรรมชาติมาป้อนได้ตามที่ต้องการ
ก่อนหน้านี้ ปรีชา การสุทธิ์ อุปนายกสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ว่า
ถึงเวลาแล้วที่เมืองไทยควรจะเริ่มวางแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อรองรับวิกฤติพลังงานที่อาจจะมีขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า
ปรีชาบอกว่า แม้เมืองไทยสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้เอง แต่ก็ใช้ได้อีกเพียง 20 ปีเท่านั้น รัฐบาลจึงควรเตรียมพร้อม ด้วยการออกกฎระเบียบให้เข้ากับหลักสากลและเป็นที่ยอมรับ พร้อมทั้งเร่งพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในอนาคต
ประเทศต่างๆในเอเชีย มีโครงการจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 50 โรง จากปัจจุบันที่มีอยู่แล้วทั่วโลก 441 โรง
ญี่ปุ่นปัจจุบันมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 50 โรง เกาหลีใต้มี 20 โรง อินเดีย 15 โรง จีน 9 โรง แม้แต่เวียดนามก็มีนโยบายจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วยเช่นกัน
ทวีปอเมริกาเหนือมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 121 โรง เฉพาะที่สหรัฐอเมริกาประเทศเดียวมีอยู่ 104 โรง
ยุโรปมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 205 โรง ฝรั่งเศสประเทศเดียวมีอยู่ถึง 59 โรง ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานนิวเคลียร์ถึง 80% ของไฟฟ้าที่ผลิตได้ในประเทศ
ทวีปเอเชียก็ไม่น้อยหน้า ล่าสุดมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 106 โรง
จีนปัจจุบันมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 9 โรง ผลิตไฟฟ้าได้ 2% ของกำลังไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งประเทศ อีก 15 ปีข้างหน้า จีนมีโครงการจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มอีก 30 โรง งบประมาณอีกกว่า 2 ล้านล้านบาท
ญี่ปุ่นปัจจุบันใช้ไฟฟ้า 25.5% จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีแผนว่า ภายในปี 2556 หรืออีก 7 ปีข้างหน้าจะผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพิ่มขึ้นเป็น 40.4%
โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ก่อสร้างใหม่ 3 แห่งในญี่ปุ่นกำลังจะแล้วเสร็จ และอีก 12 โรงกำลังอยู่ในขั้นตอนเตรียมการ
เทียบกับอินเดีย ซึ่งมีระเบิดนิวเคลียร์ในครอบครอง แต่ใช้วัตถุดิบแตกต่างจากชาติอื่น แทนที่จะใช้ยูเรเนียม-235 เป็นเชื้อเพลิงตั้งต้น อินเดียกลับเลือกใช้ทอเรียม-233 ซึ่งเบากว่า อินเดียมีธาตุสำรองชนิดนี้อยู่มากถึง 225,000 ตัน
ปรีชาบอกว่า ในแง่ความปลอดภัยและปัญหาสิ่งแวดล้อม ถ้าเมืองไทยมีกฎหมายที่สากลยอมรับก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะเวลานี้เทคโนโลยีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มีความปลอดภัยมากขึ้น ทั้งยังก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเวลาเพียง 6 ปี
อาจารย์สุทัศน์ ยกส้าน ภาคีสมาชิกแห่งราชบัณฑิตยสถาน เคยอธิบายไว้ว่า ทอเรียม-233 เมื่อถูกยิงด้วยอนุภาคนิวตรอน จะไม่แตกตัวเหมือนยูเรเนียม-235
แต่ทอเรียมบางตัวจะกลายสภาพเป็นยูเรเนียม-233 เมื่อเชื้อเพลิงตัวนี้ได้รับนิวตรอนจะเกิดการแบ่งแยกตัว และเป็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ให้ปฏิกิริยาลูกโซ่ได้เช่นกัน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของอินเดียจึงใช้เชื้อเพลิงตั้งต้น แตกต่างจากประเทศอื่น
น่าสังเกตว่าทั้งที่ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีค่าใช้จ่ายสูงลิบ แถมยังมีความเสี่ยงจากกัมมันตรังสีที่รุนแรง แต่ประเทศต่างๆทั่วโลกต่างตั้งหน้าเร่งผุดโรงไฟฟ้าประเภทนี้
ผู้รู้บางท่านตั้งข้อสังเกตว่า การที่หลายประเทศทั่วโลกต่างหันมาใช้พลังงานนิวเคลียร์ผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นเพราะความต้องการใช้ไฟฟ้าของชาวโลกเพิ่มขึ้นตลอดเวลา
พลังงานนิวเคลียร์ไม่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซพิษอย่างอื่น เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก
ข้อสำคัญ การที่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ นับวันยิ่งมีแนวโน้มแพงขึ้น ยิ่งเร่งเร้าให้หลายประเทศหันมาสนใจผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์อย่างกว้างขวาง
แต่ในข้อดีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็มีข้อเสียตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นความหวาดหวั่นในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ความรู้ความเข้าใจของประชาชน แผนการอพยพเคลื่อนย้ายผู้คน ยามเกิดภยันตราย
และที่สำคัญ กระบวนการกำจัดกากกัมมันตรังสีจากเตาปฏิกรณ์ ปัญหาหนักอกของทุกประเทศที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ในทางทฤษฎี นอกจากต้องขุดหลุมลึก เพื่อเก็บกากกัมมันตรังสีให้มิดชิดไว้ในภาชนะห่อหุ้มที่แข็งแรงและทนทาน จากนั้นก็ภาวนา อย่าให้แผ่นดินบริเวณนั้นแตกแยก เป็นเวลานานนับหมื่นปี ต้องระวังปัญหาน้ำซึมเข้าไปยังบริเวณที่เก็บกาก เพื่อกันมิให้กัมมันตรังสีรั่วไหลออกสู่โลกภายนอก
หรือไม่อาจใช้วิธีลดปริมาณกากกัมมันตรังสี โดยการยิงกากด้วยอนุภาคนิวตรอน เพื่อเปลี่ยนสภาพยูเรเนียมให้เป็นธาตุที่เป็นภัยต่อชีวิตน้อยลง
แต่วิธีนี้นอกจากทำได้ยาก ยังสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมหาศาล
ดร.มนูญ อร่ามรัตน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูฯ เคยเปรียบเทียบไว้ว่า
ความเข้มข้นของแรงระเบิดประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับความเข้มข้นของโรงไฟฟ้าปรมาณู เพียง 2-5 เปอร์เซ็นต์ ก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้แล้ว เพราะนอกจากจะเกิดการหลอมละลายจากความร้อนที่สูงมาก ยังมีรังสีที่ถูกปลดปล่อยออกมา
หลักสำคัญจึงมีอยู่ว่า การจะใช้งานพลังงานนิวเคลียร์ ต้องมีบุคลากรซึ่งมีความรู้ความชำนาญกลุ่มหนึ่ง คอยควบคุมการเดินเครื่องให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูง
ยังต้องลงทุน สร้างอาคารครอบเตาปฏิกรณ์ที่ได้มาตรฐาน ป้องกันการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีได้ จึงจะเป็นหลักประกันในเรื่องความปลอดภัย
มองในเชิงปริมาณไฟฟ้าสำรองของประเทศ ช่วงปี 2554-2559 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) มีแผนรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านมาป้อนในระบบรวม 12,505 เมกะวัตต์
แบ่งเป็นซื้อจากลาว 3,985 เมกะวัตต์ พม่า 5,520 เมกะวัตต์ และจากจีน อีก 3,000 เมกะวัตต์
ที่มา
http://www.thairath.co.th/chksearch.php ... tent=11771
อนาคตค่าไฟฟ้าต้องแพงขึ้น ถ้าประเทศไทยยังใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า แม้จะมีก๊าซธรรมชาติเป็นของตัวเอง...แต่ก็น้อยนิด อีกไม่กี่ปี ก็หมดไป...
ตอนนี้ก๊าซไม่หมด ยังต้องยืมจมูกพม่าหายใจ นำเข้ามาจากพม่าเกือบ 30%
และอีก 4 ปีข้างหน้าก๊าซในอ่าวไทยจะอยู่ในขั้นร่อยหรอ จน ปตท.มีแผนต้องนำเข้า ก๊าซธรรมชาติเหลว ที่เรียกกันว่า LNG (Liquid Natural Gas) จากต่างประเทศเข้ามาใช้แทน
นี่คือสัญญาณเตือนภัยที่บอกให้เราได้รู้ว่า ค่าไฟฟ้า ค่าเอฟที จะต้องแพงขึ้นแน่
ดร.สีหศักดิ์ อารีราชการัณย์ ผอ.ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัทผู้ผลิตและนำเข้าพลังงาน บมจ.ลานนา รีซอร์ส ชี้ว่า...ราคา LNG ที่ซื้อขายในตลาดโลกจะผูกติดอยู่กับราคาน้ำมันดีเซล อยู่ที่ประมาณ 80% ของราคาน้ำมันดีเซล
คิดดูก็แล้วกัน...เอามาปั่นผลิตไฟฟ้า ค่าไฟจะแพงขึ้นแค่ไหน
ทางเลือกและทางรอดของประเทศไทยในขณะนี้ มีอยู่ 2 แนวทางที่จำเป็นต้องรีบคิดรีบ ทำเสียแต่วันนี้ นั่นก็คือ หันมาผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินให้มากขึ้น เพราะเป็นโรงงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ในราคาที่ถูก
กับอีกแนวทางหนึ่ง ต้องกล้าตัดสินใจที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เพราะเป็นโรงงานไฟฟ้าอีกแบบที่ผลิตไฟฟ้าได้ในราคาถูก ใกล้เคียงกับถ่านหิน
ดร.สีหศักดิ์ ย้ำว่า รัฐบาลต้องกล้าคิดกล้าทำกล้าตัดสินใจเสียแต่วันนี้ เพราะการสร้างโรงไฟฟ้าแต่ละโรงต้องใช้หลายปี โรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างน้อยก็ 3 ปี โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ใช้เวลา 10 ปี เป็นอย่างต่ำ
ต้องรีบคิดรีบทำ จะมาเอ้อระเหยลอยชาย ลอยตัวทำเป็นทองไม่รู้ร้อนเหมือนที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว
โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทย ในอนาคตระยะสั้นต้องเร่งสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นมาใช้ก่อน เพราะสร้างได้เร็วกว่า สามารถรับมือได้ทันต่อวิกฤติราคาก๊าซธรรมชาติที่แพงขึ้นในอนาคตอันใกล้
แต่ในระยะยาว เราจำเป็นต้องพึ่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไม่เช่นนั้นเราจะประสบ ปัญหาถูกกีดกันทางการค้า อันเป็นผลมาจากปฏิญญาเกียวโตได้ ที่ต้องการให้ทุกประเทศลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งทำให้โลกร้อน
นายเจน นำชัยศิริ รองประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นข้ามช็อตมองไกลไปถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก
หลายคนอาจจะสงสัยการไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะทำให้เราถูกกีดกันทางการค้าได้อย่างไร... โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกี่ยวอะไรกับภาวะโลกร้อน และเกี่ยวอะไรกับปฏิญญาเกียวโต
คำตอบก็คือ...ภาวะโลกร้อน เกิดจากมนุษย์บนโลกใบนี้ ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ออกมาจากปล่องควันโรงงานอุตสาหกรรม เป็นหนึ่งในก๊าซที่ทำให้โลกร้อนขึ้น
โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทุกชนิด ไม่ว่าจะใช้น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ล้วนแต่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศทั้งสิ้น นานาชาติจึงได้มีการเจรจา และ ลงนามในพิธีสารเกียวโต... โดยขั้นแรกจะบังคับให้ชาติอุตสาหกรรม 35 ประเทศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ปี 2533 ก๊าซเรือนกระจกมีเท่าไร...ปี 2555 ต้องลดให้ได้ 5.2%
ส่วนมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขั้นที่ 2 ซึ่งจะมีขึ้นในปี 2556-2560 ยังอยู่ในขั้นเจรจารอบใหม่ว่าจะเอากันยังไง จะบังคับลุกลามมาถึงประเทศกำลังพัฒนาอย่างเราหรือไม่...ยังไม่รู้
ตอนนี้ประเทศไทยยังไม่ถูกบังคับให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ต่อไปเราอาจจะโดนบังคับก็ได้ เพราะภาวะโลกร้อนเป็นปัญหา ของโลกที่ทุกประเทศต้องช่วยกัน นานาชาติอาจจะออกมาตรการกีดกันทางการค้า กับประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น เก็บภาษีสินค้าที่มาจากประเทศปล่อย ก๊าซเรือนกระจกมากในอัตราแพง เป็นต้น
ไฟฟ้าจากถ่านหินถึงจะมีราคาถูก แต่ก็มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามาก ไม่เหมือนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกแทบไม่มีเลย เพราะไม่มีการเอาเชื้อเพลิงมาจุดไฟเผาเหมือนโรงไฟฟ้าแบบอื่น
นี่คือเหตุผลที่สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มองว่า ในที่สุดแล้วโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะเป็นคำตอบสุดท้าย ที่คนไทยจะต้องพึ่งเป็นทางรอดของประเทศ
เพราะได้ทั้งไฟฟ้าในราคาถูก และทำมาค้าขายแข่งกับประเทศอื่นได้ โดยไม่ถูกมาตรการกีดกันทางการค้าเล่นงาน
เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบัน ยังไม่มีโรงไฟฟ้าแบบไหนที่สามารถผลิตไฟฟ้า ได้ราคาถูกเท่านิวเคลียร์ โดยไม่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ไฟฟ้าพลังลม มีต้นทุนหน่วยละ 3.4 บาท, พลังน้ำ 5.4 บาท, เซลล์ แสงอาทิตย์ 38.7 บาท
โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ หน่วยละ 1.72 บาท
เป็นตัวเลขต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยเฉลี่ย จากการศึกษาขององค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ของกลุ่มประเทศร่ำรวย 30 ประเทศ ที่นำค่าเชื้อเพลิง ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆทั่วโลก มาคำนวณหาต้นทุนค่าไฟฟ้าต่อหน่วย
ด้วยปัญหาโลกร้อนและวิกฤติน้ำมันที่เกิดขึ้น ดร.มนูญ อร่ามรัตน์ อดีตเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ให้ข้อมูลว่า ทำให้ปัจจุบันมีหลายประเทศหันกลับมาสนใจที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มขึ้น
หลังราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งไปเกินระดับ 60 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล มีการเร่งสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มขึ้นมา 25 โรงใน 10 ประเทศ
แม้แต่ประเทศที่เป็นเจ้าของบ่อก๊าซธรรมชาติยักษ์ใหญ่ของโลก อย่าง อิหร่าน ก็ยังสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขึ้นมา 2 โรง, อินเดีย เดิมมีอยู่ 14 โรง สร้างเพิ่ม 9 โรง, ญี่ปุ่น เดิมมี 54 โรง สร้างเพิ่มอีก 2 โรง รัสเซีย เดิมมี 31 โรง สร้างใหม่อีก 2 โรง, จีน เดิมมี 9 โรง สร้างเพิ่มอีก 2 โรง, ไต้หวัน เดิมมี 6 โรง สร้างเพิ่มอีก 2
ไม่เว้นแม้แต่ประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อนบ้านของไทย ตอนนี้เวียดนามมีโครงการสร้างแล้ว จะเปิดเดินเครื่องได้ในปี 2560, อินโดนีเซียมีทั้งก๊าซทั้งน้ำมันและถ่านหิน ก็กำลังลงมือสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
มาเลเซียมีทั้งน้ำมันและก๊าซ แม้ตอนนี้จะไม่มีแผน แต่ตั้งเป้าไว้ว่าราคาน้ำมันดิบทะลุ 100 เหรียญสหรัฐฯเมื่อไร จะเดินหน้าเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ประเทศเล็กๆ อย่างพม่า ที่มีทรัพยากรมากมายและไทยต้องพึ่งก๊าซธรรมชาติ เดิมมีโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ตอนนี้ต้องระงับโครงการไว้ชั่วคราว เพราะเงินหมด เนื่องจากไปซื้อเครื่องบินรบ และเรือรบจากจีนมากมายเป็นประวัติการณ์ จนฝ่ายความมั่นคงไทยยังผวา...กองทัพไทยจะสู้พม่าไหวหรือเปล่า
ส่วนประเทศไทยนั้นมีแผนมาตั้งแต่ปี 2509 คิดทำมารุ่นเดียวกับสนามบินหนองงูเห่า
มีการจัดเตรียมพื้นที่ไว้เรียบร้อย จะสร้างที่อ่าวไผ่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี มีการเซ็นสัญญาจ่ายเงินมัดจำค่าเชื้อเพลิงจากสหรัฐฯแล้ว... แต่เมื่อมีการสำรวจพบก๊าซในอ่าวไทย ก็มีเหตุต้องเลื่อนโครงการ และก็เลื่อนมาโดยตลอด
จนต้องขายใบจองค่าเชื้อเพลิงให้ประเทศอื่นไป
ถึงวันนี้ก๊าซ...ใกล้จะหมด ก็ยังไม่กล้าฟันธงคิดสร้าง ทั้งที่เราคิดมาก่อนจีน คิดมารุ่นราวคราวเดียวกับเกาหลีใต้...วันนี้เกาหลีใต้ มีแล้ว 19 โรง กำลังสร้างเพิ่มอีก 1 โรง
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์อันตรายแค่ไหน...ที่เกาหลีใต้ มีใครเป็นอะไรจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บ้างหรือเปล่า...ยังไม่เคยเป็นข่าวให้ได้เห็น ส่วนไทยนั้นยังงมโข่ง ซอยเท้าอยู่กับที่ เหมือนเมื่อ 50 ปีก่อน
เราไม่กล้าสร้าง จะด้วยกลัวมันระเบิด...หรือเพราะเกรงใจนายทุนค้าน้ำมัน ค้าก๊าซ ค้าถ่านหิน หากมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ น้ำมัน-ก๊าซ-ถ่านหิน ยอดขายลด กำไรหด...เลยต้องค้านไว้ก่อน
ที่มา :
http://www.thairath.co.th/news.php?sect ... tent=25793
ขอบคุณครับ อยากให้ทุกคนเปิดใจยอมรับครับ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไม่ใช่ระเบิด นิวเคลียร์ ครับ อยากให้ประเทศไทยพัฒนาขึ้นเจริญขึ้นครับผม