เงินบาทแข็งค่า : ผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม
27 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 12:29:00
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2550 เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาที่ระดับ 33.70 บาท/ดอลลาร์ฯ เป็นระดับที่แข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2549 นอกจากนี้ยังเป็นอัตราที่สูงกว่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งขันสำคัญในการส่งออกสินค้าเกษตร เช่น หยวนจีนแข็งค่าขึ้นร้อยละ 3.2 รูเปียอินโดนีเซียที่อ่อนค่าลงประมาณร้อยละ 1.6 ริงกิตมาเลเซียแข็งค่าขึ้นเพียงร้อยละ 2.7 เป็นต้น
ผลกระทบของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อภาคเกษตรกรรมนั้นแตกต่างกันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละสินค้า โดยปัจจัยที่ต้องพิจารณาคือ สัดส่วนการพึ่งพิงวัตถุดิบในประเทศ สัดส่วนการพึ่งพิงตลาดส่งออก และอัตราการทำกำไรของผู้ส่งออก ดังนั้นผลกระทบนั้นมีตั้งแต่น้อย ปานกลางไปจนถึงมาก อย่างไรก็ตามนับว่ายังเป็นโชคดีที่ในปี 2550 นั้นความต้องการสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวอย่างมาก เนื่องจากประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรสำคัญของโลกประสบปัญหาสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยและปัญหาภัยธรรมชาติ ตลอดจนโรคและแมลงศัตรู ดังนั้นการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2550 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ในปี 2551 เงื่อนไขที่เอื้อต่อการขยายตัวของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรจะหมดไป โดยการแข่งขันในตลาดโลกจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากประเทศคู่แข่งสำคัญในการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยจะหันมาขยายการผลิต ดังนั้นถ้าผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรยังต้องเผชิญกับปัญหาค่าเงินบาทอยู่เช่นเดียวกับในปีนี้ ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยก็จะตกอยู่ในฐานะที่ลำบากกว่าในปีนี้ โดยในที่สุดผู้ที่จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องคือ โรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรและเกษตรกร
ค่าเงินบาทแข็ง...กระทบผู้ส่งออก
ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร พ่อค้าคนกลาง ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร รวมถึงธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้องไม่เท่าเทียมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญคือ สัดส่วนการพึ่งพิงวัตถุดิบในประเทศ สัดส่วนของการพึ่งพิงการส่งออก และอัตรากำไรของผู้ส่งออก โดยแยกพิจารณาได้ดังนี้
1.กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ได้รับผลกระทบน้อย คือกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่พึ่งพิงวัตถุดิบในประเทศเป็นส่วนใหญ่ และตลาดส่วนใหญ่อยู่ในประเทศ เช่น พืชน้ำมัน โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน พืชตระกูลถั่วต่างๆ สุกรและผลิตภัณฑ์ ไข่ไก่ เป็นต้น ผู้ผลิตสินค้าเกษตรในกลุ่มนี้เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนน้อยที่สุด ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ยังได้รับอานิสงส์ในการนำเข้าปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้า โดยเงินบาทที่แข็งค่าส่งผลให้ราคานำเข้าปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรมีแนวโน้มลดลง กล่าวคือ ในระยะที่ผ่านมาราคาปุ๋ยเคมีและเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรที่นำเข้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน แต่การแข็งค่าของเงินบาทส่งผลช่วยให้ราคานำเข้าปุ๋ยเคมีสำคัญบางสูตรมีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ปุ๋ยเคมีสำคัญบางชนิดที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำมัน ราคาจะยังคงอยู่ในเกณฑ์สูงตามราคาน้ำมัน แต่ราคาก็ไม่พุ่งสูงขึ้นมากนัก
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ แม้ว่าราคานำเข้าปุ๋ยเคมีและเคมีภัณฑ์จะมีแนวโน้มลดลง แต่ราคาจำหน่ายปุ๋ยเคมีและเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง และบางประเภทกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรที่ใช้ปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรไม่ได้รับอานิสงส์จากการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอย่างเต็มที่ กล่าวคือ ราคานำเข้าปุ๋ยเคมีสูตรสำคัญในช่วงครึ่งแรกปี 2550 มีแนวโน้มลดลง แต่ราคาขายส่งตลาดกรุงเทพฯและราคาขายปลีกในตลาดท้องถิ่นยังคงอยู่ในระดับสูง และปุ๋ยเคมีบางสูตรยังมีการปรับราคาขึ้นในช่วงไตรมาสสอง
2.กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ได้รับผลกระทบปานกลาง คือกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่พึ่งพิงวัตถุดิบต่างประเทศ ตลาดส่วนใหญ่ส่งออก สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรกลุ่มนี้แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทจากการที่ผู้ส่งออกต้องขาดทุนกำไรจากส่งออก แต่ยังได้รับอานิสงส์จากการแข็งค่าของเงินบาทผ่านทางการนำเข้าวัตถุดิบ โดยเฉพาะอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ซึ่งต้องพึ่งพาการนำเข้าสัตว์น้ำทะเลแช่เย็นแช่แข็งโดยเฉพาะปลาทูน่า ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปลาทูน่ากระป๋อง อันเป็นสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย ผู้ประกอบการปลาทูน่ากระป๋องได้รับอานิสงส์ที่ราคานำเข้าปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็งมีแนวโน้มลดลง นับว่ามีส่วนช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการได้บางส่วน
3.กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ได้รับผลกระทบมาก คือกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่พึ่งพิงวัตถุดิบในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ตลาดส่วนใหญ่ส่งออก เช่น ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ไก่แปรรูป กุ้งแปรรูป เป็นต้น สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในกลุ่มนี้นับว่าเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด และเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทมาก เนื่องจากไม่ได้รับอานิสงส์จากการแข็งค่าของเงินบาทเนื่องจากใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตามบางสินค้าอาจจะได้อานิสงส์บ้างจากการนำเข้าปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีและเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรเท่านั้น แต่ยังต้องรับผลกระทบจากการที่เงินบาทแข็งค่า ซึ่งทำให้ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในกลุ่มนี้ขาดทุนกำไรจากการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนคือ ข้าว ยาง ผลิตภัณฑ์ไก่ กล่าวคือ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 มูลค่าการส่งออกข้าวในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีจำนวน 1,429 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.0 ขณะที่มูลค่าการส่งออกในรูปของเงินบาทเท่ากับ 50,054 ล้านบาท โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 14.4 เท่านั้น ส่วนมูลค่าการส่งออกยางในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 ในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีจำนวน 2,532 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9
ขณะที่มูลค่าการส่งออกในรูปของเงินบาทเท่ากับ 88,909 ล้านบาท ลดลงถึงร้อยละ 6.2 ส่วนผลิตภัณฑ์ไก่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 มูลค่าการส่งออกในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีจำนวน 401 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 ขณะที่มูลค่าการส่งออกในรูปของเงินบาทเท่ากับ 14,063 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.7 ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงครึ่งแรกปี 2550 เท่ากับ 4,692 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.2 ในขณะที่มูลค่าการส่งออกในรูปของเงินบาทเท่ากับ 164,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6
ประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ได้รับผลกระทบแล้วจะรับภาระนั้นไว้เพียงบางส่วนและผลักภาระที่เหลือให้กับโรงงานแปรรูปและเกษตรกร ดังนั้นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใดจึงขึ้นอยู่กับว่าสามารถผลักภาระให้กับโรงงานแปรรูปและเกษตรกรได้มากน้อยเพียงใด รวมทั้งยังขึ้นอยู่กับอัตราการทำกำไรหรือมาร์จิ้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในกลุ่มนี้มีอัตราการทำกำไรประมาณร้อยละ 15-20 ทำให้ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทไม่มากนัก ยกเว้นอุตสาหกรรมการแปรรูปเนื้อสัตว์และอุตสาหกรรมกุ้งและผลิตภัณฑ์กุ้ง ซึ่งมีอัตราการทำกำไรค่อนข้างต่ำมาก รวมทั้งการแข่งขันในต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์รุนแรง ดังนั้นสินค้ากลุ่มนี้จึงได้รับผลกระทบมาก
สำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็งได้แก่ กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่พึ่งพิงวัตถุดิบต่างประเทศ ตลาดส่วนใหญ่บริโภคในประเทศ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในกลุ่มนี้ไทยยังผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้า ดังนั้นการแข็งค่าของเงินบาทนั้นทำให้ราคาของสินค้าที่นำเข้ามีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะนมและผลิตภัณฑ์ ข้าวสาลีและผลิตภัณฑ์ ซึ่งการแข็งค่าขึ้นของเงินบาททำให้ต้นทุนราคาผลิตภัณฑ์นมและข้าวสาลีนำเข้าถูกลง แม้ว่าตั้งแต่ปี 2549 ราคาผลิตภัณฑ์นมและข้าวสาลีในต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้น อันเป็นผลจากปริมาณการผลิตนมและข้าวสาลีในประเทศผู้ผลิตสำคัญลดลง แต่การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็ช่วยลดผลกระทบจากการปรับขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์นมและข้าวสาลีได้บางส่วน ไม่เช่นนั้นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมในประเทศต้องเผชิญปัญหาราคานำเข้าที่แพงกว่าในปัจจุบัน
ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรปี50...โชคดีที่ยังมีปัจจัยบวก พึงระวังปี51
ถึงแม้ว่าผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรจะต้องเผชิญกับผลกระทบจากการที่เงินบาทแข็งค่า แต่ในปี 2550 นี้ยังโชคดีอยู่บ้างที่มีปัจจัยบวกที่ช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในช่วงครึ่งแรกปี 2550 ยังคงขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2549 กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในช่วงครึ่งแรกปี 2550 เท่ากับ 11,541 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.2 เนื่องจากประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายสำคัญของโลก โดยเฉพาะสินค้ากสิกรรม เผชิญกับปัญหาสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย และปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้ในปี 2550 นี้ความรุนแรงในการแข่งขันในตลาดโลกโดยเฉพาะสินค้ากสิกรรมของไทยลดลง ซึ่งนับเป็นโอกาสทองของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทย ดังนั้นแม้ว่าจะต้องเผชิญปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง แต่มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 ก็ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเมื่อพิจารณาถึงราคาสินค้าเกษตรสำคัญในประเทศก็ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ ในปีการผลิต 2550/51 ปัจจัยบวกที่เคยบรรเทาผลกระทบจากค่าเงินบาทนั้นมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากการที่ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้ประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรรวมทั้งประเทศไทยด้วยจะขยายการผลิต ซึ่งถ้าไม่มีปัญหาในเรื่องสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยและปัญหาโรคและแมลงศัตรูรบกวน การแข่งขันในตลาดโลกจะกลับมารุนแรงอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นถ้าค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่องก็จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร และผู้ที่จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องคือ โรงงานแปรรูปและเกษตรกร เนื่องจากมีแนวโน้มว่าราคาสินค้าเกษตรในปี 2551 จะอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ทางเลือกในการลดผลกระทบของผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในการเผชิญกับปัญหาการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท คือ
1.กระจายสกุลเงินในการส่งออก ปัจจุบันตลาดส่งออกอื่นๆก็เริ่มมีความสำคัญมากขึ้น ดังนั้นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรน่าจะดำเนินการเจรจากับคู่ค้าในการกำหนดราคาซื้อขายกันเป็นเงินสกุลอื่นๆนอกจากดอลลาร์สหรัฐฯ
2.กระจายฐานการลงทุนไปในต่างประเทศ ปัจจุบันผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรรายใหญ่ของไทยพยายามกระจายการลงทุนไปยังประเทศต่างๆ ทั้งในประเทศที่เป็นคู่ค้าและในประเทศคู่แข่ง เนื่องจากเป็นทางเลือกในการที่จะลดความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพึ่งพิงเฉพาะการลงทุนในประเทศ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากผลกระทบของค่าเงิน การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่างๆของประเทศคู่ค้า นอกจากนี้การไปลงทุนในประเทศคู่ค้ายังเป็นการประหยัดค่าขนส่งอีกทางหนึ่งด้วย
3.การหันมาขยายตลาดในประเทศ เมื่อตลาดส่งออกเผชิญปัญหาการแข่งขันที่รุนแรง และปัญหาค่าเงินบาททำให้อัตราการทำกำไรของผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรลดลง การหันมาขยายตลาดในประเทศนับว่าเป็นแนวทางที่น่าสนใจของบรรดาผู้ส่งออก โดยผู้ส่งออกที่ประสบความสำเร็จในการหันมาขยายตลาดในประเทศ คือ น้ำผักและผลไม้ อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ปลาทูน่ากระป๋อง
4.กระจายธุรกรรมเพื่อลดการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ปัจจุบันผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรบางรายมีการกระจายธุรกรรมทางการค้าจากการส่งออกจากไทย โดยหันมาซื้อจากต่างประเทศและส่งออกไปยังประเทศที่สาม ทำให้ไม่ต้องมีปัญหาในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เช่น ซื้อขายเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นต้น
บทสรุป
การแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องของเงินบาทส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร โดยปัจจัยที่ต้องพิจารณาคือ สัดส่วนการพึ่งพิงวัตถุดิบในประเทศ สัดส่วนของการพึ่งพิงการส่งออก และอัตรากำไรของผู้ส่งออก โดยสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ได้รับผลกระทบน้อยคือ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่พึ่งพิงวัตถุดิบในประเทศและตลาดในประเทศ เช่น พืชน้ำมัน โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน พืชตระกูลถั่วต่างๆ สุกรและผลิตภัณฑ์ ไข่ไก่ เป็นต้น สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ได้รับผลกระทบปานกลางคือ กลุ่มสินค้าที่พึ่งพิงวัตถุดิบต่างประเทศและพึ่งพิงตลาดส่งออก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ส่วนสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ได้รับผลกระทบมากคือ กลุ่มสินค้าที่พึ่งพิงวัตถุดิบในประเทศและพึ่งพาตลาดส่งออก เนื่องจากไม่ได้รับอานิสงส์จากการนำเข้าวัตถุดิบ และยังต้องเผชิญกับปัญหาขาดทุนกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งกลุ่มสินค้านี้เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด โดยเฉพาะข้าว ยางและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อย่างไรก็ตามมีกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาทคือ กลุ่มสินค้าที่พึ่งพิงวัตถุดิบต่างประเทศ และพึ่งพิงตลาดอยู่ในประเทศ โดยเฉพาะนมและผลิตภัณฑ์นม และข้าวสาลีและผลิตภัณฑ์
ถึงแม้ว่าการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินบาทจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม แต่ยังโชคดีที่ในปี 2550 นี้มีปัจจัยเกื้อหนุน คือ ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรสำคัญเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความต้องการสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการที่ประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลกประสบปัญหาสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิตและปัญหาภัยธรรมชาติ ตลอดจนปัญหาโรคและแมลงศัตรูที่สร้างความเสียหายให้กับผลผลิต ดังนั้นประเทศคู่ค้าจึงหันมานำเข้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรจากไทย ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมาของปี 2550 ทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ต้องพึงระวังในปี 2551 คือปัจจัยเกื้อหนุนทางการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรจะหมดไป ในกรณีที่ประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรสำคัญของโลกต่างขยายปริมาณการผลิต โดยไม่ประสบปัญหาในเรื่องสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ ประเทศคู่ค้าเริ่มมีทางเลือกมากขึ้น ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในตลาดโลก ดังนั้นปัญหาในเรื่องผลกระทบของเงินบาทแข็งค่าก็จะเป็นปัญหาใหญ่ต่อผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทย
แนวทางที่ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยเร่งดำเนินการเพื่อลดผลกระทบคือ การกระจายสกุลเงินในการส่งออกเพื่อลดการพึ่งพิงเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ กระจายฐานการลงทุนไปยังต่างประเทศ หันมาขยายตลาดในประเทศ และการกระจายธุรกรรมโดยการหันมาเพิ่มการซื้อมาและขายไปให้กับประเทศที่สาม ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน
http://www.bangkokbiznews.com/2007/07/2 ... wsid=86505