ข้อดี/ข้อเสีย
ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น
Japan - Thailand Economic Partnership Agreement
1. JTEPA คือเอฟทีเอบวกความร่วมมือ
JTEPA ย่อมาจาก Japan Thailand Economic Partnership Agreement หรือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ประกอบด้วย
1.1 การเปิดเสรีสินค้า บริการ และการลงทุนให้แก่กันและกัน ในระดับที่ต่างฝ่ายต่างรับได้
โดยมีกลไกแก้ปัญหาหากการเปิดเสรีส่งผลกระทบรุนแรง และสำหรับสินค้า บริการ การลงทุนที่ฝ่ายใดยังไม่พร้อมเปิดในขณะนี้ก็สามารถเปิดเจรจาทบทวนเพิ่มเติมใหม่ได้ในอนาคต
1.2 ความร่วมมือ รวม 9 สาขา คือ เกษตร ป่าไม้ และประมง / การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์/ การสร้างเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ / บริการการเงิน / เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) / วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี พลังงาน และสิ่งแวดล้อม / วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) / การท่องเที่ยว / การส่งเสริมการค้าและการลงทุน ซึ่งมีเรื่องครัวไทยสู่โลก อุตสาหกรรมเหล็ก ยานยนต์ สิ่งทอ และการประหยัดพลังงานเป็นหลัก
ความตกลงนี้มีกลไกทบทวนปรับปรุงในอนาคต หากฝ่ายใดต้องการบอกเลิกก็สามารถทำได้เพียงแค่แจ้งอีกฝ่ายล่วงหน้า 1 ปี
2. ประเด็นละเอียดอ่อนที่มักมีการคัดค้านในเอฟทีเออื่นๆ
ไม่ปรากฏใน JTEPA กล่าวคือ ไม่มีการเปิดเสรีเกินกว่าที่ไทยให้ไว้ใน WTO ในภาคบริการโทรคมนาคม บริการการเงิน จัดซื้อจัดจ้างของรัฐ ทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะสิทธิบัตรยา ไทยไม่ต้องออกหรือแก้ พ.ร.บ.ใดๆ เพื่อให้ปฏิบัติตามได้
3. ภาคเกษตรจะถูกกระทบเหมือนเอฟทีเอที่เรามักพูดกันในอดีตหรือไม่
ไม่มีแน่นอน ตรงกันข้าม เกษตรกรไทยจะเป็นผู้ได้ประโยชน์เมื่อ JTEPA มีผลบังคับใช้ เพราะจะมีโอกาสขายสินค้าเกษตร เช่น พริกหวาน กล้วยหอม มะม่วง มังคุด สับปะรด ดอกไม้ ไก่ กุ้ง อาหารทะเลได้มากยิ่งขึ้น มาตรฐานสินค้าจะดีขึ้น สหกรณ์เกษตรไทยจะได้ติดต่อสัมพันธ์กับสหกรณ์เกษตรญี่ปุ่น สามารถขายตรง สินค้าไม่ถูกปฏิเสธ ตัดกำไรคนกลาง มีความเข้มแข็งมากขึ้น ส่วนที่เกรงว่าสินค้าเกษตรญี่ปุ่นจะทะลักมาตีตลาดสินค้าเกษตรไทยก็คงไม่เกิด เพราะผัก ผลไม้ เช่น หอม กระเทียม แอปเปิ้ลจากญี่ปุ่นมีราคาแพงมาก
4. ข้อดีมีอะไรบ้าง
- การสร้างความเชื่อมั่น JTEPA จะส่งสัญญาณให้นักลงทุนญี่ปุ่นมั่นใจและเพิ่มการลงทุนในไทย จะส่งสัญญาณให้นักลงทุนชาติอื่นๆ ลงทุนในไทยมากขึ้นเพื่อได้ตลาดญี่ปุ่น
- สินค้าเกษตร ญี่ปุ่นยกเลิกภาษีทันทีสำหรับ กุ้ง ผลไม้เมืองร้อน ผัก ผลไม้แปรรูป ผลไม้กระป๋อง ยกเลิกภาษีใน 5-10 ปีสำหรับปลาหมึก อาหารสุนัขและแมว ลดภาษีลงกว่าครึ่งหรือครึ่งหนึ่งในระยะแรกสำหรับอาหารทะเลสำเร็จรูป และไก่ต้มสุก นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังให้โควตาสำหรับ กล้วย แป้งมันสำปะหลัง กากน้ำตาล สับปะรดสด โดยไม่เสียภาษี
- สินค้าอุตสาหกรรม ญี่ปุ่นยกเลิกภาษีทันที สำหรับอัญมณี สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เคมีภัณฑ์ และยกเลิกภาษีใน 7 - 10 ปีสำหรับรองเท้าและเครื่องหนัง
สินค้าที่ลดภาษีทันทีคิดเป็นมูลค่าร้อยละ 80 ของสินค้าไทยที่เข้าญี่ปุ่นในปีที่ผ่านมา
- การค้าบริการ ไทยเปิดเสรีให้ญี่ปุ่นเพิ่มเติมจาก WTO เพียง 14 สาขา ขณะที่ญี่ปุ่นเปิดให้ไทยเพิ่มเติมหรือเปิดกว้างขึ้นจาก WTO ถึงกว่า 135 สาขา
- การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา สำหรับผู้ที่จบปริญญาตรีโดยทั่วไป ญี่ปุ่นยอมรับที่จะพิจารณาเทียบวุฒิปริญญาตรีที่ได้รับในประเทศไทยเทียบเท่ากับวุฒิปริญญาที่ได้ในญี่ปุ่น ทำให้คนไทยสามารถเข้าไปตั้งกิจการให้บริการในญี่ปุ่นได้หลายสาขา อาทิ สาขาโฆษณา โรงแรม ร้านอาหาร จัดเลี้ยง จัดการประชุม จัดทัวร์ รักษาความปลอดภัย ล่ามแปล บริการดูแลคนสูงอายุ สอนภาษา รำไทย ฯลฯ
สำหรับพ่อครัว-แม่ครัวไทย ซึ่งไม่ต้องจบปริญญาตรี ญี่ปุ่นยอมลดเงื่อนไขการเข้าเมืองเรื่องประสบการณ์ทำงานจาก 10 ปีเหลือ 5 ปี (รวมเวลาศึกษาด้วย เช่น ปวส. 3 ปี) ส่วนการรับพนักงานสปาและคนดูแลผู้สูงอายุไทยเข้าไปทำงานในญี่ปุ่นนั้น ทั้งสองฝ่ายตกลงจะเจรจารายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อหาข้อสรุปให้ได้ภายใน 2 ปีหลัง JTEPA มีผลบังคับใช้ และมีกลไกเจรจาอาชีพอื่นๆ ที่ไม่ต้องใช้ปริญญาต่อไป
- ความร่วมมือสาขาต่างๆ ภาคเกษตร ธุรกิจ SMEs การท่องเที่ยว ฯลฯ ได้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ที่จะต้องใช้ประโยชน์จากกลไกที่วางไว้ให้เต็มที่
5. ข้อเสียมีอะไรบ้าง
- เปิดเสรีภาคอุตสาหกรรมเหล็ก รถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผู้ประกอบการที่ต้องการให้คงภาษีปกป้องอุตสาหกรรมของตนอาจได้รับผลกระทบ แต่ก็มีเวลาปรับตัวระหว่าง 5-11 ปี ทั้งนี้เอกชนไทยก็ทราบดีว่าเป็นแนวโน้มของการเปิดเสรีในกรอบพหุภาคี (WTO) และอาเซียน (AFTA) อยู่แล้ว นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ยังได้เตรียมกองทุนเพื่อทำงานร่วมกับสภาหอการค้าฯ และสภาอุตสาหกรรมฯ ในการให้คำปรึกษาด้านการปรับตัว
- รายได้จากภาษีศุลกากร เป็นปกติที่ลดภาษีแล้วประเทศจะขาดรายได้ภาษีศุลกากร รายได้ส่วนที่รัฐบาลขาดไปคือรายรับส่วนที่ผู้ผลิตประหยัดได้จากการนำเข้าวัตถุดิบ ซึ่งจะทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ดีขึ้น รัฐบาลจะได้รายได้จากภาษีอื่นเพิ่มขึ้น เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล นอกจากนั้น การลดภาษีจะทำให้ผู้บริโภคซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่มีทางเลือก สินค้าและบริการราคาถูกลง คุณภาพดีขึ้น
- การขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นคงมีต่อไป เพราะถ้าไทยจะขายสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมให้ญี่ปุ่นมากขึ้นก็ยังคงต้องนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรมาขยายการผลิตด้วยเช่นกัน การขาดดุลควรมองภาพรวมเพราะหากขาดดุลกับประเทศหนึ่งเพื่อได้ดุลกับประเทศอื่นๆ และได้ดุลในภาพรวมก็ไม่เกิดความเสียหายใดๆ
- ข้อห่วงกังวลของ NGO
- NGO ขอให้เปิดเผยร่างความตกลงฯ ต่อสาธารณชน
> จัดส่งและแจกจ่ายสาระผลการเจรจาแก่รัฐสภาและสาธารณชนตั้งแต่ในช่วงระหว่างการเจรจา และเผยแพร่ข้อมูลผ่านสารคดีวิทยุ โทรทัศน์ กว่า 180 ตอน รวมทั้งผ่านเว็บไซต์
www.mfa.go.th/jtepa
> ให้ TDRI ศึกษาร่างความตกลงฯ ในทุกบท ทุกข้ออย่างละเอียดแล้ว ผลการศึกษากว่า 3 เดือน ไม่พบความเสี่ยง
> ส่งร่างความตกลงฯ ให้ประธานคณะกรรมาธิการต่างๆของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (การต่างประเทศ การพาณิชย์ การมีส่วนร่วมของประชาชน การอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว การเกษตรและสหกรณ์ การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน) และประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว
- NGO ร้องเรียนว่า JTEPA จะส่งเสริมให้ญี่ปุ่นนำขยะพิษเข้ามาทิ้งในไทย
> ใน JTEPA ไม่อนุญาตหรือยอมรับให้ญี่ปุ่นส่งขยะพิษหรือวัตถุอันตรายมาไทย และยืนยันสิทธิไทยที่จะใช้มาตรการป้องกันการนำเข้าของเสียอันตรายถึง 3 ชั้น ได้แก่ กฎหมายไทย (อาทิ พ.ร.บ. วัตถุอันตราย) กฎหมายระหว่างประเทศ (อาทิ อนุสัญญาบาเซล) และข้อยกเว้นด้านสุขอนามัยของคน พืช และสัตว์ และข้อยกเว้นด้านสิ่งแวดล้อมใน JTEPA ซึ่งเหมือนกับใน WTO
> สินค้า ของเสีย บางประเภทจากญี่ปุ่น อาทิ เครื่องยนต์เก่า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว อาจเป็นประโยชน์แก่ภาคธุรกิจที่นำไปใช้ต่อได้อีก
> TDRI เห็นว่า การด่วนสรุปว่า JTEPA จะทำให้ญี่ปุ่นเอาขยะมีพิษจำนวนมากมาทิ้งในประเทศไทยเป็นข้อสรุปที่ขาดเหตุผลและข้อเท็จจริงรองรับ และ พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ก็มีบทบัญญัติลงโทษผู้ฝ่าฝืนทั้งจำทั้งปรับ ตลอดจนมีมาตรการเพื่อความปลอดภัยของสาธารณะอื่นๆ
- NGO เกรงว่าไทยจะเสียเปรียบในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา
> JTEPA เพียงคงสถานะปัจจุบันไว้เท่านั้น ไทยไม่ได้ให้สิทธิพิเศษกับญี่ปุ่นในเรื่องนี้ และบทบัญญัติใน JTEPA เป็นไปตามกฎหมายไทยและ WTO ทุกประการ
- NGO ร้องเรียนว่าคนไข้ญี่ปุ่นจะแย่งหมอไทยจากโรงพยาบาลรัฐ
> JTEPA เพียงคงสถานะปัจจุบันไว้เท่านั้น ชาวญี่ปุ่นที่ใช้บริการรักษาพยาบาลส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อาศัยในเมืองไทยอยู่แล้ว นอกจากนี้ คนไทยที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลจะได้ประโยชน์ในวงกว้าง ส่วนปัญหาบุคลากรสมองไหลเป็นปัญหาโครงสร้างในระบบของไทยเอง
- NGO ชี้ว่าหากเกิดปัญหา เอกชนญี่ปุ่นจะสามารถฟ้องรัฐบาลไทยผ่านอนุญาโตตุลาการได้
> เอกชนญี่ปุ่นจะฟ้องได้เฉพาะข้อพิพาทเกี่ยวกับการละเมิด JTEPA ในกรณีหลังจากเข้าตั้งกิจการแล้วเท่านั้น และต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและข้อจำกัดหลายประการ เช่น สาเหตุของข้อพิพาทต้องเกิดหลัง JTEPA มีผลบังคับใช้ ข้อพิพาทต้องไม่เกี่ยวกับการอนุญาตให้ลงทุนหรือการกำหนดเงื่อนไขการลงทุน ต้องมีการปรึกษาหารือก่อน นอกจากนี้ คำชี้ขาดจะตัดสินให้ไทยปรับกฎหมายหรือมาตรการอื่นนอกจากการชดเชยค่าเสียหายไม่ได้ ทั้งนี้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศในกรณีประเทศกำลังพัฒนา และสอดคล้องกับกฎหมายไทยและแนวทางการคุ้มครองการลงทุนที่ไทยทำความตกลงกับประเทศต่างๆ มาเกือบ 40 ประเทศแล้ว อีกทั้งเราต้องไม่ลืมว่าเอกชนไทยที่เข้าไปลงทุนในญี่ปุ่นก็จะได้รับสิทธิเช่นเดียวกัน
- NGO ยืนยันว่ารัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติมาจากการแต่งตั้ง จึงควรรอให้มีการเลือกตั้งก่อน
> ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
สรุป
เป็นความตกลงที่เปิดเสรีแบบต่างฝ่ายต่างรับได้ สิ่งที่ฝ่ายหนึ่งต้องการ แต่อีกฝ่ายยังไม่พร้อมก็เก็บไว้พูดกันใหม่ในอนาคต สาระส่วนใหญ่เป็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สร้างความสามารถในการแข่งขันให้ไทย TDRI ศึกษาวินิจฉัยแล้วสอบผ่าน ส่วนประโยชน์มากน้อยขึ้นอยู่กับการใช้ประโยชน์ของแต่ละภาคส่วน ภาคเกษตรและอุตสาหกรรม อัญมณี สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เครื่องหนัง ได้ประโยชน์ชัดเจน ภาคอุตสาหกรรมที่อาจถูกกระทบมีเวลาปรับตัว ภาคประชาชนจะได้เข้าญี่ปุ่นไปทำงานง่ายขึ้น สิงคโปร์ มาเลเซียกับฟิลิปปินส์ได้ลงนามแล้ว อินโดนีเซียกับเวียดนามกำลังเจรจากับญี่ปุ่น เมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนที่เจรจาแล้ว ไทยได้ความตกลงที่น่าพอใจ หากไทยลงนามช้าจะเสียเปรียบประเทศอาเซียนอื่นๆ ทั้งนี้ JTEPA จะเป็นกรอบที่สร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนญี่ปุ่นและต่างชาติในไทย และช่องทางการขยายผลประโยชน์ร่วมของกันและกันในอนาคต
สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อ
กระทรวงการต่างประเทศ
โทรศัพท์ 0 2644 6710 โทรสาร 0 2644 6711
อีเมล์
[email protected]
เว็บไซต์
http://www.mfa.go.th/jtepa/