ไหนๆก็คุยเรื่องสัญญาณเตือนภัยในอเมริกา ถ้าไม่พูดถึง สงครามสหรัฐ-อิรัก ก็คงเหมือนสุกี้ที่ไม่มีน้ำจิ้ม เลยเอาบทวิจารณ์จากนสพ.กรุงเทพธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องนี้มาให้อ่านกัน อ่านแล้วอย่างกับดูหนังของ Tom Clancy เลย
สหรัฐ - อิรัก : สงครามหน้าฉาก
วิษณุ บุญมารัตน์ สถาบันราชภัฏสวนดุสิต
การอ้างเหตุเพื่อการทำสงคราม ของประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ เพื่อขยายจักรวรรดิเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวในโลกมีมาแล้วตั้งแต่อดีต
ในสมัยกรีก นครรัฐเอเธนส์ที่อ้างตัวว่า เป็นประชาธิปไตย แต่อีกด้านหนึ่งกลับใช้การทำสงครามล่าอาณานิคมต่อนครรัฐใกล้เคียง เพื่อนำทรัพยากรจากประเทศเหล่านั้นมาหล่อเลี้ยงความมั่งคั่งให้กับตนเอง ในสมัยกลาง อ้างความเป็นศาสนาคริสต์โจมตีผู้ที่นับถือศาสนาอื่น ในสมัยสงครามเย็น ใช้แนวคิดการต่อต้านคอมมิวนิสต์มาเป็นตรรกะในการทำสงคราม และจนถึงปัจจุบันอ้างกลุ่มก่อร้ายมาเป็นเป้าหมายเพื่ออ้างความชอบธรรมในการทำสงคราม
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นในสงครามแต่ละครั้งมีเหมือนกันคือ ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะของประเทศที่ไม่ใช่ประเทศมหาอำนาจทั้งหลายนั่นเอง
ภายหลังสิ้นสุดสงครามเย็น ภายใต้กระบวนการโลกาภิวัตน์ ทำให้ลัทธิเสรีนิยมใหม่ และอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยแผ่ขยายไปทั่วโลก สงครามยังไม่จบสิ้น แต่ได้เปลี่ยนรูปแบบจากการทำสงครามโดยกองทหารมาเป็นการทำสงครามโดยกองทุน ผ่านบรรษัทข้ามชาติ การให้เงินช่วยเหลือจากสถาบันการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น World Bank ,IMF และกองทุนต่างๆ ภายใต้เงื่อนไขการครอบงำเชิงนโยบายภายในประเทศกำลังพัฒนา
การเข้าไปครอบครองโดยทุนของประเทศตะวันตก เป็นเสมือนกับการสถาปนาลัทธิจักรวรรดินิยมใหม่ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องอาศัยกองทหารเข้าไปควบคุม แต่ใช้กลไกและเงื่อนไขของลัทธิเศรษฐกิจแบบทุนนิยมดูดซับมูลค่าส่วนเกินจากประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ทำให้เกิดการต่อต้านและเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 เนื่องจากตึกเวิร์ลเทรด ถือเป็นสัญลักษณ์ของระบบทุนนิยม อันเป็นผลให้สหรัฐส่งกองกำลังไปโจมตีอัฟกานิสถาน และอิรัก
โดยอ้างว่า ประเทศเหล่านี้เกี่ยวข้องหรือให้การขบวนการโจรก่อการร้าย ความจริงนั้นการทำสงครามกับกลุ่มก่อการร้าย และการส่งกองทหารไปโจมตีอัฟกานิสถานกับอิรักของสหรัฐสาเหตุมีมาจากเหตุการณ์ 11 กันยายน จริงหรือ?
การที่สหรัฐ ก่อสงครามกับประเทศอย่างอัฟกานิสถานและอิรัก โดยใช้ตรรกะว่า เป็นการทำสงครามเพื่อตอบสนองต่อระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม คงจะไม่เพียงพอที่จะอธิบายให้เหตุผลได้อย่างครอบคลุม โดยเฉพาะเหตุการณ์นี้และอาจเป็นเหตุผลที่ง่ายเกินไป ซึ่งการสร้างวาทกรรมเพื่อหลุดจากการครอบงำของตะวันตกของกลุ่มนักวิชาการสายเศรษฐศาสตร์การเมือง นักทฤษฎีแบบพึ่งพา รวมทั้งนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกระแสหลัก ถึงแม้การทำสงครามครั้งนี้อยู่บนฐานของความต้องการยึดครองดินแดน เพื่อหวังครอบครองน้ำมันของประเทศตะวันออกกลางอย่างอิรัก และอัฟกานิสถานก็ตาม แต่ควรมองตรรกะการทำสงครามของสหรัฐให้ลึกลงไปกว่านี้
ในที่นี้ผู้เขียนเสนอว่า การทำสงครามสหรัฐ - อิรัก เป็นการทำสงครามหน้าฉากปิดบังการดิ้นรน
เพื่อรักษาสถานะความเป็นประเทศมหาอำนาจหนึ่งเดียวของสหรัฐ จากภัยคุกคามที่แท้จริงคือ การเติบโตและการขยายอิทธิพลของประเทศจีน
เป็นที่ทราบกันดีว่า นับตั้งแต่จีนได้เปิดประเทศ ระบบเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของจีนเติบโตขึ้นมาก มีผลต่อความมั่นคงและมั่งคั่งของสหรัฐอย่างยิ่ง การทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่สหรัฐกระทำต่ออัฟกานิสถานและอิรัก จึงเป็นข้ออ้างในการทำสงครามลวงของสหรัฐเพื่อปิดล้อมจีน เพื่อสกัดกั้นการเจริญเติบโตทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจในระดับโลก เพราะจีนกำลังขยายบทบาทตัวเอง โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียขึ้นเป็นผู้นำแทนที่ญี่ปุ่น
โดยเฉพาะบทบาทภายหลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในเอเชียปี 2540 จีนได้แสดงบทบาทผู้นำ โดยเฉพาะการไม่ลดค่าเงินหยวน ในขณะที่ญี่ปุ่นกำลังอ่อนเปลี้ยเพราะเศรษฐกิจภายในของตัวเอง ไม่มีหวังที่ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในการกอบกู้เศรษฐกิจเอเชียได้
สหรัฐตระหนักถึงอานุภาพการขยายตัวทางอำนาจของจีนเป็นอย่างดี ในกรณีสงครามเวียดนาม ถ้าเวียดนามไม่มีจีนให้การสนับสนุนไม่มีทางที่จะชนะสหรัฐได้ สหรัฐจึงจับตาดูการเจริญเติบโตของจีนอย่างระมัดระวัง ดังนั้นการที่สหรัฐ อ้างเหตุปราบการก่อการร้ายไปโจมตีอัฟกานิสถานและอิรัก จึงมิใช่เป็นความบังเอิญ แต่เป็นการวางแผนมาเนิ่นนานมาแล้ว
นี่เองจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมในยุคหลังสงครามเย็น ที่เชื่อกันว่าระบบเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์จะใช้การทำสงครามทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยบรรษัทข้ามชาติไปยึดดินแดนแทนการใช้กองทหารนั้น แต่ทำไมสหรัฐ กลับขวนขวายกระตือรือร้นทำสงคราม โดยใช้กองทหารเข้ายึดดินแดน ซึ่งเป็นรูปแบบการล่าอาณานิคมแบบเก่าๆ เนื่องจากการทำสงครามในครั้งนี้เป็นการเริ่มสงครามยุคหลังการล่าอาณานิคมใหม่นั่นเอง
เหตุผลที่สนับสนุนสมมติฐานดังกล่าวมี 2 ประการคือ
ประการแรก ระบบเศรษฐกิจแบบการล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจโดยการใช้ตลาดเสรี และการส่งออกทุนข้ามชาติใช้ไม่ได้กับประเทศที่รู้ทันเจตจำนงค์ที่แท้จริงในการเข้ามาครอบงำของสหรัฐ และประเทศที่มีประเทศยักษ์ใหญ่หนุนหลังอยู่ เช่น อัฟกานิสถานและอิรัก ซึ่งมีรัสเซียหรือสหภาพโซเวียตในอดีตคอยช่วยเหลือ โดยเฉพาะการค้าอาวุธซึ่งมีต่อกันมาเนิ่นนานแล้ว ดังนั้นการแผ่อิทธิพลของสหรัฐ จึงไม่สามารถครอบคลุมได้ทั้งโลก เพราะถูกประเทศเหล่านี้ขัดขวางนโยบายโลกหนึ่งเดียว ของสหรัฐอยู่
หลังจากปี 2534 ที่สหภาพโซเวียตได้แตกแยกออกเป็นประเทศเล็กๆ ได้ ส่งผลทำให้ทั้งอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศและทางเศรษฐกิจของรัสเซียลดน้อยลง จนกลายเป็นประเทศขนาดกลางไม่มีอำนาจมากพอที่จะยับยั้งการทำสงครามของสหรัฐได้ สถานะของรัสเซียจึงอยู่ในขั้นที่ไม่เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐเหมือนดังในสมัยสงครามเย็นอีกต่อไป
ตรงกันข้ามกับ จีน ที่กำลังโตวันโตคืน จนสหรัฐถือว่าเป็นคู่แข่งอันดับหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เองนี้ก็คงจะพอมองออกว่า ทำไมสหรัฐจึงยังไม่ทำสงครามกับเกาหลีเหนือ ทั้งนี้เนื่องจากเกาหลีเหนือยังคงได้รับการหนุนหลังจากประเทศจีนอยู่
ประการที่สอง การทำการค้าของสหรัฐสู้ประเทศจีนไม่ได้ เพราะจีนมีศักยภาพในการผลิตสูงกว่าสหรัฐมาก ดังนั้นสินค้าของจีนซึ่งเป็นสินค้ามวลชน ที่ตีตลาดไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่สหรัฐเอง ระบบเศรษฐกิจสหรัฐจึงถูกกัดกร่อนด้วยเหตุนี้ ดังนั้นระบบการค้าการลงทุน ซึ่งนำโดยอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ จึงไม่สามารถเจาะทะลุตลาดจีนได้ ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐนับวันถดถอยลงเรื่อยๆ ขณะที่เศรษฐกิจจีนโตวันโตคืนเป็นปฏิภาคผกผันกัน
ดังนั้นการอ้างการทำสงครามก่อการร้าย และการยกกองกำลังเข้าบุกอัฟกานิสถานและอิรักของสหรัฐ ที่จริงแล้วเป็นเรื่องเดียวกันคือความพยายามจัดระเบียบโลกใหม่ เพื่อสกัดกั้นการแผ่อิทธิพลของจีน การอ้างการทำสงครามกับผู้ก่อการร้ายในประเทศต่างๆ จึงเป็นหน้าฉาก ที่สหรัฐต้องการปิดบังวาระซ่อนเร้น คือ ศัตรูของสหรัฐไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย แต่เป็นจีน ซึ่งเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุด แต่จีนเป็นประเทศที่มีศักยภาพเทียบเท่ากับสหรัฐ โชคร้ายจึงตกไปอยู่กับประเทศที่เป็นทางผ่านแทน
การจัดระเบียบโลกใหม่มักเกิดขึ้นภายหลังสงครามแต่ละครั้งสิ้นสุดลง โดยจะมีประเทศมหาอำนาจเกิดขึ้นใหม่เพื่อชี้นำชาวโลก ขณะที่มหาอำนาจเก่าเสื่อมสลายลง ในยุคโลกาภิวัตน์หากการทำสงครามทางเศรษฐกิจสิ้นสุดลง ใครจะเป็นมหาอำนาจระหว่างสหรัฐเจ้าของตำแหน่งเดิมกับจีน ที่กำลังก้าวออกจากม่านไม้ไผ่เผยโฉมสู่เวทีระหว่างประเทศอย่างเงียบๆ และเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของสหรัฐในเวลานี้