หน้า 1 จากทั้งหมด 1

ขนาดของเศรษฐกิจโลก

โพสต์แล้ว: ศุกร์ ก.พ. 16, 2007 4:16 am
โดย bsk(มหาชน)
ขนาดของเศรษฐกิจโลก

ส่องกล้องเศรษฐกิจ : ดร.อาภรณ์ ชีวะเกรียงไกร  
กรุงเทพธุรกิจ  วันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550


เราจะได้ยินนักเศรษฐศาสตร์ หรือนักวิเคราะห์พูดถึง และให้ความสำคัญต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะวัดการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่สะท้อนถึงผลประกอบการของธุรกิจและกำลังซื้อของประชาชน แต่ที่มีความสำคัญอีกประการด้วยเช่นกันคือ ขนาดของเศรษฐกิจ เพราะประเทศที่มีขนาดใหญ่ก็จะมีอิทธิพลสูง ตัวอย่างคือประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 30 ของผลผลิตที่เกิดขึ้นทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงของนโยบายของอเมริกา จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างกว้างขวาง

ดังมีคำเปรียบเปรยที่ว่า "ถ้าประเทศสหรัฐอเมริกาไอหรือจาม ประเทศอื่นๆ ก็เป็นหวัด" เพราะเศรษฐกิจสหรัฐ นอกจากมีขนาดใหญ่ที่สุดแล้ว ยังใหญ่กว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เป็นเศรษฐกิจลำดับสองอยู่ถึง 3 เท่า

วันนี้จึงขอเล่าถึงขนาดของเศรษฐกิจของโลก รวมถึงประเทศไทยด้วยว่าเรายืนอยู่ที่ใด ข้อมูลนี้จะแสดงเปรียบเทียบระหว่างปี ค.ศ.2000 (พ.ศ.2543) และปี ค.ศ.2005 (พ.ศ.2548) และตัวเลขประมาณการของปี 2549 ของบริษัทแบร์ สเตินส์ (BEAR, STERN AND CO.INC) ซึ่งวัดขนาดของเศรษฐกิจหลักๆ จำนวนกว่า 50 ประเทศ ซึ่งรวมกันแล้ว คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90.7% ของเศรษฐกิจโลกรวม (จากประเทศทั้งหมด 181 ประเทศ)

ปี พ.ศ.2549 นั้น ขนาดของเศรษฐกิจโลกวัดโดยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศตามราคาตลาดมีมูลค่าประมาณ 42.8 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 1.47 เท่า จากระดับ 29.1 ล้านล้านดอลลาร์ ณ ปี พ.ศ.2543 โดยสหรัฐอเมริกา มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด คือมีมูลค่า 13.3 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 30.9 ของเศรษฐกิจโลก รองลงมาคือกลุ่มสหภาพยุโรปที่รวมกันแล้วมีขนาดคิดเป็นมูลค่า 10.351 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 24.2 ตามมาด้วยญี่ปุ่นมีขนาดเศรษฐกิจ 4.428 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.3 ของเศรษฐกิจโลก

สำหรับภูมิภาคเอเชีย (ไม่นับรวมญี่ปุ่น) มีขนาดเศรษฐกิจมูลค่าประมาณ 5,613 ล้านดอลลาร์ ในปี 2549 โดยมีประเทศจีน มีขนาดใหญ่มากที่สุด ด้วยมูลค่า 2,598 พันล้านดอลลาร์ และตามมาด้วยอินเดียที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับที่สอง มูลค่า 804 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งยังมีขนาดเล็กกว่าประเทศจีนอยู่ค่อนข้างมาก ตามมาด้วยประเทศเกาหลีใต้ มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่สาม ด้วยมูลค่า 357 พันล้านดอลลาร์

ข้อน่าสังเกตคือขนาดเศรษฐกิจประเทศจีนนั้น มีขนาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 2.2 เท่าตัวในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา เพราะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยสูงที่สุดในโลกในอัตราร้อยละ 9.7 ต่อปี ประเทศไทยนั้น มูลค่าผลผลิตมวลรวมในประเทศ มูลค่า 192 ล้านดอลลาร์ นับเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่สอง ในกลุ่มอาเซียน (10) รองจากประเทศอินโดนีเซีย (308 พันล้านดอลลาร์) ลำดับที่สามและที่สี่ในกลุ่มอาเซียนคือ มาเลเซีย และสิงคโปร์ ตามลำดับ

การเปรียบเทียบขนาดของเศรษฐกิจนั้น ได้วัดเอามูลค่าการผลิต (หรือการใช้จ่าย) รวมที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศในรอบ 1 ปี จากนั้นก็ใช้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลตนเองเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์ ปรับให้มูลค่าเงินดอลลาร์ เพื่อการเปรียบเทียบบนฐานเดียวกัน ดังนั้น มูลค่าเศรษฐกิจยังมีการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาเกี่ยวข้อง

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือในปี พ.ศ. 2539 ที่อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศไทยยังเป็นระบบคงที่ (ผูกไว้กับตะกร้าของเงินสกุลหลัก) มีอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยอยู่ที่ 25.34 บาทต่อดอลลาร์ มูลค่าของผลผลิตมวลรวมในประเทศมูลค่าเงินบาท 4,608 พันล้านบาท เมื่อแปลงเป็นสกุลเงินดอลลาร์ คิดเป็นจำนวนเงิน 181.8 พันล้านดอลลาร์

เมื่อมีการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน (แบบลอยตัวที่มีการบริหารจัดการ หรือ MANAGED FLOAT) ในเดือนกรกฎาคม 2540 ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงเป็นเฉลี่ย 31.37 บาทต่อดอลลาร์ มีผลให้แม้ขนาดเศรษฐกิจไทยมีมูลค่า 4,727 พันล้านบาท แต่เมื่อแปลงเป็นเงินสกุลดอลลาร์ จะมีมูลค่าลดลง เหลือเพียง 150.68 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น

การเปรียบเทียบด้วยวิธีนี้ ยังไม่สะท้อนถึงอำนาจในการซื้อที่แท้จริง เพราะว่าราคาสินค้าในแต่ละประเทศมีราคาไม่เท่ากัน ตัวอย่างคือ ราคาของไข่ไก่ในประเทศต่างๆ ย่อมมีราคาที่แตกต่างกันไป ดังนั้น จึงควรจะมีการปรับด้วยกำลังซื้อที่แท้จริงด้วย จึงจะสะท้อนกำลังซื้อที่แท้จริง