ระเบิดเวลา"กฏหมายNominee"
โพสต์แล้ว: จันทร์ ม.ค. 08, 2007 10:38 pm
http://www.thannews.th.com/detialNews.p ... issue=2181
มหาอำนาจต้านก.ม.นอมินี
หอการค้าต่างประเทศในไทย ผนึกพลัง ร่วมต้าน แนวทางแก้ไข พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ที่จะเสนอเข้า ครม. 9 มกราคม เผยไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ ที่มุ่งปิดกั้นการทำธุรกิจ สวนทางกับนโยบายเปิดเสรีการค้าของ องค์การการค้าโลก
สืบเนื่องจากที่กระทรวงพาณิชย์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์หลายฉบับ ตั้งแต่ 30 ตุลาคม 2549 ซึ่งรวมถึง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 60 วัน โดยความคืบหน้าในขณะนี้ นายเกริกไกร จิระแพทย์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมนำเสนอผลสรุป การแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในการประชุมวันที่ 9 มกราคมนี้ หลังจากคณะกรรมการศึกษาพิจารณายกร่างแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เสนอเข้ามา
นายปีเตอร์ จอห์น แวน ฮาเร็น ประธานหอการค้าต่างประเทศในไทย(Joint Foreign Chambers of Commerce : JFCCT) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในวันที่ 8 มกราคม 2549 ตนในฐานะประธานหอการค้าต่างประเทศในไทย จะร่วมกับสมาชิก ซึ่งเป็นประธานจากหอการค้าต่างชาติที่เป็นสมาชิก อาทิ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป(อียู) สหรัฐอเมริกา ฯลฯ รวมทั้งผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกอียู จะร่วมกันเปิดแถลงข่าว ที่หอการค้าญี่ปุ่น เพื่อสะท้อนความคิดเห็นและจุดยืน การแก้ไข พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 (Foreign Business Act) และผลกระทบต่อธุรกิจและการลงทุนของต่างชาติในไทย
โดยเผยว่า แนวทางที่จะนำเสนอให้ครม. พิจารณานั้น เป็นการปิดกั้น และส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างมาก และยังสวนทางกับข้อกำหนดเปิดเสรีการค้าขององค์การการค้าโลก(ดับบลิวทีโอ พร้อมกันเสนอแนะให้ยึดตามแนวทางใหม่ คือ หนึ่ง ให้ยกเลิกบัญชีแนบท้ายบัญชี 3 เนื่องจากมองว่า ภาวะเศรษฐกิจในตอนนี้ ธุรกิจไทยมีการพัฒนามากขึ้น และมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติได้แล้ว และสอง ให้คงสัดส่วนการถือหุ้นไทย 51% และต่างชาติ 49% ไว้เหมือนเดิม รวมทั้งสิทธิ์ในการออกเสียง โดยอ้างเหตุผลว่า ต่างชาติเข้ามาตั้งบริษัทเพื่อลงทุนและดำเนินธุรกิจ ซึ่งลงทั้งด้านเงินทุน โนว์ฮาว ชื่อเสียง และการบริหารงาน ก็จำเป็นต้องเข้ามาดูแลควบคุมการบริหารด้วย ซึ่งก็ทำการขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ถูกต้อง แล้วมาเปลี่ยนนโยบายใหม่ เหมือนเป็นการบังคับให้ต่างชาติต้องขายหุ้นให้กับคนไทย และบังคับให้ต้องปรับโครงสร้าง
สำหรับ JFCCT ปัจจุบันมีสมาชิกเป็นหอการค้าต่างชาติ รวม 28 หอ ซึ่งสมาชิกมีทั้งบริษัทต่างชาติ และบริษัทไทยที่ร่วมทุนกับต่างชาติ เป็นสมาชิกรวมกันกว่า 10,000 ราย และก่อนหน้านี้ JFCCT เคยยื่นจดหมาย เสนอแนวทางแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ดังกล่าวถึง พลเอก สุรยุทธ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และนายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อ 22 ธันวาคม 2549
ส่วนข้อสรุปเบื้องต้นของการแก้ไข พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2543 ให้มีการแก้ไขคำนิยามคนต่างด้าว โดยได้เพิ่มสิทธิในการออกเสียงควบคู่กับสัดส่วนการถือหุ้น หากเกิน 50% จะถือเป็นธุรกิจต่างด้าว จากเดิมดูเพียงสัดส่วนการถือหุ้นอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งเมื่อนำหลักเกณฑ์นี้มาใช้ จะทำให้บริษัทในไทยหลายบริษัทที่ทำธุรกิจกับคนต่างด้าวจะมีฐานะเป็นบริษัทต่างด้าวทันที
โดยแบ่งเป 3 แนวทาง คือ 1. ธุรกิจที่ไม่ผิดกฎหมายเดิม แต่เมื่อเปลี่ยนแปลงคำนิยามแล้วผิด ให้ธุรกิจเหล่านั้น มาลงทะเบียนเป็นบริษัทต่างชาติภายใน 1-2 ปี เพื่อดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งจะครอบคลุมทั้ง 3 บัญชี 2.ให้ระยะเวลาบริษัททั้งหมดปรับตัว หลังการแก้ไขคำนิยามใหม่ เพื่อให้มีโครงสร้างเป็นบริษัทไทยที่ถูกต้อง ซึ่งจะมีการเสนอระยะเวลาปรับตัวตั้งแต่ 1-3 ปี และ 3.ให้เฉพาะธุรกิจในบัญชี 3 ที่มาลงทะเบียนปรับตัว เพื่อดำเนินกิจการต่อไปได้เท่านั้น
นอกจากนี้ได้ปรับปรุงบัญชีแนบท้ายบัญชี 3 ซึ่งปรับปรุงเป็นธุรกิจบริการที่มีกฎหมายเฉพาะควบคุมดูแลอยู่ เช่น ธุรกิจการเงิน ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจประกัน ธุรกิจหลักทรัพย์ ให้ยกเว้นออกจากบัญชี 3 หากคนต่างด้าวจะเข้ามาทำธุรกิจไม่ต้องมาขออนุญาต รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญากับหน่วยงานรัฐ และรัฐวิสาหกิจ เช่น ธุรกิจก่อสร้างวางท่อประปา และธุรกิจที่รับทำธุรกิจของบริษัทตัวเอง เช่น การรับทำบัญชีให้บริษัทแม่ ก็ให้ยกเว้นไม่ต้องมาขออนุญาต เพราะการเข้ามาประกอบการธุรกิจ ต้องขออนุญาตตามกฎหมายเฉพาะที่มีอยู่แล้ว ส่วนธุรกิจโทรคมนาคม ที่มี พ.ร.บ.โทรคมนาคมดูแลอยู่ ไม่เข้าข่ายการได้รับยกเว้นเพราะกิจการโทรคมนาคมอยู่ในบัญชี 1 ห้ามคนต่างชาติเข้ามาประกอบกิจการ
ขณะที่นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาพิจารณายกร่างแก้ไข ปรับปรุง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 กล่าวว่า ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขที่ได้นำเสนอต่อนายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพาณิชย์ไหแล้ว ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด และมองว่ามีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยคณะกรรมการฯมีเป้าหมายทำกฎกติกาให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น หากต่างชาติมองว่ามีความเข้มงวดมากเกินไป และอาจมีผลให้มีการย้ายฐานลงทุนไปต่างประเทศก็สามารถคัดค้านได้ ส่วนจะมีการแก้ไข พ.ร.บ. เพิ่มเติมอีกหรือไม่ขึ้นกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้พิจารณาและสั่งการ
ด้านอดีตคณะทำงานแก้ไข พ..ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ของหอการค้าต่างประเทศในไทย และการแก้ไขกฎหมาย 11 ฉบับก่อนหน้านี้ กล่าวว่า พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวฯ ที่มีอยู่ขณะนี้ดีอยู่แล้ว และควรดูความเหมาะสมในการบังคับใช้ต่อไปอีกระยะหนึ่งได้ เพียงแต่ปัญหานอมินีที่เกิดขึ้นมาจากกรณีของ กองทุนเทมาเสก ทำให้มีแนวคิดแก้ไขปรับปรุงใหม่
ขณะที่อดีตกรรมการหอการค้าต่างชาติแห่งหนึ่ง เผยว่า ที่ผ่านมา แต่ละหอการค้าต่างชาติ ได้พยายาม ล็อบบี้ ซึ่งมีทั้งยื่นข้อมูลแนวทางปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวฯ ผ่านทางหอการค้าต่างประเทศในไทยเข้าไปยังสภาหอการค้าไทย และยื่นโดยตรงเข้าไปยังกระทรวงพาณิชย์ และถึงนายกรัฐมนตรี "จริงๆแล้ว กฎหมายที่มี ดีอยู่แล้ว แต่นำไปปฏิบัติกันไม่ถูก และขัดกับเจตนารมย์ของกฎหมาย ยอมรับความเสี่ยงกันเอง จนกลายเป็นประเด็นทางการเมืองและความมั่นคง ที่กระทบถึงผลประโยชน์ของประเทศ การแก้ไขปรับปรุงจึงเป็นการอุดช่องโหว่ ที่จะช่วยให้ดีขึ้นมากกว่า"
ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกร ได้วิเคราะห์ผลกระทบการแก้ไขพรบ.การดำเนินธุรกิจของคนต่างด้าว ว่ามีข้อดีคือจะทำให้เกิดความชัดเจน เกี่ยวกับหลักเกณฑ์คำนิยามบริษัทที่มีคุณสมบัติเป็นบริษัทต่างชาติ จะมีผลกระทบต่อการใช้กฎหมายอื่นๆตามมา เพื่อมิให้มีช่องโหว่เลี่ยงกฎหมาย อย่างไรก็ตามบริษัทต่างชาติจำนวนหนึ่งอาจได้รับผลกระทบ มีการประเมินว่ามีจำนวน14,000บริษัท จะต้องไขโครงสร้างให้ถูกต้องตามกฎหมายใหม่ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจนอกภาคอุตสาหกรรมหรือบริการที่บรรจุไว้ในบัญชีแนบท้ายพรบ.
อย่างไรก็ดี การปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้ แม้จะมีการเพิ่มข้อบังคับสำหรับธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง แต่ก็จะมีการยกธุรกิจหลายประเภทออกจากบัญชี3 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจเข้าข่ายนอมินีส่วนหนึ่งไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่อยู่ในบัญชีท้ายพรบ. และไม่มีกฎหมายอื่นใดที่จำกัดสัดส่วนการถือหุ้นโดยชาวต่างชาติ สามารถดำเนินธุรกิจได้เช่นกับนิติบุคคลไทย