คู่มือวิเคราะห์ค่าเงินบาท ฉบับชาวบ้าน
โพสต์แล้ว: ศุกร์ ธ.ค. 22, 2006 3:01 am
คู่มือวิเคราะห์ค่าเงินบาท ฉบับชาวบ้าน (ตอนที่ 1)
มุมเอก : ดร.เอก เศรษฐศาสตร์ [email protected]
กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
ข่าวเศรษฐกิจการเงินที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในช่วงนี้ คงไม่พ้นเรื่องค่าเงินบาท ก็จะไม่ให้เป็นที่สนใจได้ยังไงละครับ เพราะค่าเงินบาทของเรา มันแข็งค่าขึ้นเร็วมาก จากที่เคยอยู่ที่ประมาณ 41 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อต้นปี มาอยู่ที่ราวๆ 36.6 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน ผมลองกดเครื่องคิดเลขดู พบว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 12% และเมื่อผมลองเปรียบเทียบการแข็งค่าของเงินบาทกับค่าเงินสกุลสำคัญอื่นๆ ก็ปรากฏว่า ค่าเงินบาทของเราแข็งค่ามากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ เกือบทั้งหมด หลายๆ คน ที่ไม่ต้องข้องเกี่ยวกับค่าเงิน คงไม่ได้สนใจอะไรมากนัก เพราะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่คนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับส่งออกนำเข้า หรือคนที่มีรายได้รายจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศ จะได้รับผลกระทบเต็มๆ ทีเดียว เช่น ผู้นำเข้าที่ต้องจ่ายชำระค่าสินค้าเป็นดอลลาร์สหรัฐ คงจะยิ้มอยู่ในใจ เพราะต้นทุนที่เคยจ่ายสินค้านำเข้าเมื่อแปลงเป็นเงินบาทถูกลงไป 12% จากที่เคยต้องนำเงินบาท 41 ล้านบาทไป จ่ายค่าสินค้า 1 ล้านดอลลาร์ ตอนนี้ใช้เงินแค่ 36.6 ล้านบาทก็พอแล้ว
ในทางตรงกันข้าม ผู้ส่งออกน่าจะเดินคอตกไปตามๆ กัน เพราะเคยส่งออก 1 ล้านดอลลาร์ แปลงเป็นเงินบาทแล้วได้เงิน 41 ล้านบาท ตอนนี้มาแปลงเป็นบาท ได้เงินแค่ 36.6 ล้านบาท รายได้หายไปเฉยๆ ตั้ง 4.4 ล้านบาท ผู้ส่งออกบางรายที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันก็ยังพอที่จะขอต่อรองขึ้นราคาสินค้าที่คิดเป็นเงินดอลลาร์ให้สูงขึ้นได้บ้าง แต่บางรายที่มีอำนาจต่อรองต่ำ ก็ต้องทำใจยอมรับรายได้ที่หดหายไป และบางรายอาจถึงกับขาดทุนต้องปิดกิจการไป
หลายๆ ท่าน ที่เกี่ยวข้องกับค่าเงินบาททั้งโดยตรงและโดยอ้อม คงจะเริ่มตั้งคำถามกันมากมาย เช่น ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เพราะอะไร แนวโน้มค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไร แบงก์ชาติควรเข้ามาดูแลค่าเงินหรือไม่อย่างไร และที่สำคัญ เราจะเตรียมตัวรองรับความผันผวนของค่าเงินในอนาคตอย่างไร ผมจึงตั้งใจเขียน "คู่มือการวิเคราะห์ค่าเงินบาทฉบับชาวบ้าน" นี้ขึ้น โดยจะพยายามใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายๆ มาอธิบายเรื่องค่าเงิน เพื่อให้ชาวบ้านทั้งหลายสามารถวิเคราะห์ค่าเงินบาทได้เอง และจะสามารถเตรียมตัวรองรับกับความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
คู่มือวิเคราะห์ค่าเงินบาท ฉบับชาวบ้าน ในตอนแรกนี้ จะเริ่มจากพื้นฐานง่ายๆ ก่อนว่า อะไรเป็นปัจจัยกำหนดค่าเงินบาท คำตอบแบบกำปั้นทุบดินของนักเศรษฐศาสตร์ที่รับรองว่าไม่มีผิดแน่ๆ ก็คือ ขึ้นกับ Demand และ Supply ของเงินบาท กล่าวคือ เมื่อไรก็ตาม ที่ความต้องการซื้อเงินบาท (Demand) มากกว่า ความต้องการขายเงินบาท (Supply) ค่าเงินบาทก็จะแข็งค่าขึ้น ในทางตรงกันข้าม เมื่อไรก็ตาม ที่ความต้องการเงินบาทน้อยกว่าความต้องการขายเงินบาท ค่าเงินบาทก็จะอ่อนลง
หากท่านเอาหลักพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ง่ายๆ นี้มาวิเคราะห์ค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ท่านก็จะเห็นได้ว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาก็เป็นเพราะมีคนต้องการซื้อเงินบาทมากกว่าคนที่ต้องการขายเงินบาทนั่นเอง คราวนี้ลองมาวิเคราะห์ดูซิครับใครละอยากมาซื้อเงินบาทและใครละอยากมาขายเงินบาท เพื่อให้การวิเคราะห์ง่ายขึ้น ผมจะขอแบ่งผู้ซื้อผู้ขายเงินบาทออกเป็น 2 ตลาด ได้แก่ ตลาดที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายสินค้าและบริการระหว่างประเทศ และตลาดที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายสินทรัพย์ระหว่างประเทศ เช่น ตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และตลาดเงิน
ในตลาดสินค้าและบริการระหว่างประเทศ นั้น คนที่ต้องการซื้อเงินบาทในตลาดนี้ ก็คือ ต่างชาติที่ต้องการซื้อเงินบาท เพื่อมาซื้อสินค้าและบริการของไทย ส่วนคนที่ต้องการขายเงินบาท ก็คือคนไทยที่ต้องการซื้อสินค้าและบริการของต่างชาติ
และผมได้ลองไปเปิด ดูบัญชีดุลบัญชีเดินสะพัด (Current account) ของไทย ซึ่งเป็นบัญชีที่บันทึกธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับตลาดนี้ เช่น การส่งออก การนำเข้า และการท่องเที่ยว เป็นต้น จะพบว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเราส่งออกสินค้า และบริการ มากกว่านำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศ เป็นจำนวนสูงถึง 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็หมายความว่า ในตลาดนี้มีความต้องการซื้อเงินบาทมากกว่าขายเงินบาท
ในตลาดสินทรัพย์ระหว่างประเทศ นั้น คนที่ต้องการซื้อเงินบาท ก็คือ ต่างชาติที่ต้องการมาซื้อสินทรัพย์ไทย หุ้นไทย พันธบัตรไทย หรือมาฝากเงินและปล่อยกู้ในไทยนั่นเอง ส่วนคนที่ขายเงินบาท ก็คือ คนไทยที่ต้องการไปซื้อตราสารดังกล่าวในต่างประเทศ หรือต่างชาติที่มาลงทุนในไทยแล้วต้องการขนเงินกลับบ้าน
และผมก็ได้ไปเปิดดู ดุลบัญชีทุนเคลื่อนย้าย (Capital account) ซึ่งเป็นบัญชีที่บันทึกธุรกรรม เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศของไทย ก็พบว่า ตั้งแต่ต้นปี มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาซื้อบริษัทไทย หุ้นไทย พันธบัตรไทย มากกว่าเงินทุนไหลออกไปลงทุนในต่างประเทศ เป็นจำนวนอีกประมาณ 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็หมายถึงในตลาดนี้ก็มีความต้องการซื้อเงินบาทสุทธิเช่นกัน
ดังนั้น เมื่อรวมทั้ง 2 ตลาดเข้าด้วยกัน ก็จะพบว่าในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีความต้องการซื้อสินค้า บริการ และสินทรัพย์ของไทย มากกว่า ความต้องการซื้อสินค้า บริการ และสินทรัพย์ต่างประเทศ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ มีความต้องการซื้อเงินบาท มากกว่าความต้องการขายเงินบาท ดังนั้น ตามกฎของ Demand และ Supply ที่ได้กล่าวมาแล้ว ค่าเงินบาทจึงน่าจะแข็งค่าขึ้น
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเท่าไรนั้น ยังไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะยังมีปัจจัยอื่นที่สามารถกระทบค่าเงินบาทได้ด้วย เช่น นโยบายการเงินและการแทรกแซงค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศ ซึ่งผมจะกล่าวถึงในตอนต่อไปในฉบับหน้าครับ