mcotแดนสนธยาๆ
โพสต์แล้ว: พุธ พ.ย. 22, 2006 9:15 pm
นักลงทุนขายทิ้งหุ้น MCOT 2.2 ล้านหุ้น หลังกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนแฉข้อมูลการทุจริต และเป็นแหล่งกอบโกยผลประโยชน์ของนักการเมือง ระดับราคาหุ้นวันนี้เหลือเพียง 26.75 บาท หล่นถึงจุดต่ำสุดในรอบ 2 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.ที่ระดับราคา 40 บาท ด้านเครือข่ายผู้บริโภคและพันธมิตร เตรียมยื่นศาลปกครอง ขอถอนหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากนายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายแก้วสรร อติโพธิ เลขานุการคตส. วานนี้(20 พ.ย.) เพื่อให้ตรวจสอบอดีตผู้บริหาร อสมท ที่ปฏิบัติหน้าที่ทำให้รัฐเสียหายหลายกรณี รวมถึงข่าวกรณีเครือข่ายผู้บริโภค หลายองค์กร ยื่นหนังสือที่ศาลปกครองสูงสุด ในสัปดาห์หน้า เพื่อขอให้เพิกถอนการแปรรูป อสมท เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เพราะพบว่าการแปรรูปดังกล่าวคล้ายกับกับ กฟผ.
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าว หากตรวจสอบมีหลักฐานบ่งชี้การทุจริตที่ชัดเจน อาจส่งผลต่อระดับราคาหุ้นในกระดาน เนื่องจากรายได้และผลกำไรที่ผ่านมา เกิดจากคำสั่งของนักการเมืองที่เทงบประมาณและโฆษณาไปให้นับพันล้านบาท เพื่อให้พรรคพวกของตัวเอง มีช่องทางในการทุจริตและแสวงหาผลประโยชน์ทับซ้อนหลากหลายรูปแบบ ผลประกอบการที่ได้กำไรมหาศาล จึงไม่ถือว่าเกิดจากศักยภาพการผลิตที่แท้จริงขององค์กร และไม่สะท้อนความเป็นจริงของระดับราคาในตลาด ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคน เคยประเมินไว้ว่า ราคาที่เหมาะสมของหุ้น MCOT ในปัจจุบัน ไม่น่าจะเกิน 25 บาท
คำสั่งนักการเมืองใหญ่ รัฐบาลชุดก่อน ที่ให้หน่วยงานราชการเทงบประมาณและโฆษณาไปที่ อสมท เป็นการสร้างภาพลวงตาผลประกอบการ ให้ดูมีกำไรเติบโตสูง ซึ่งจะมีผลต่อราคาหุ้นในกระดาน ถือว่าเป็นการตอบแทน พนักงานและผู้บริหารเดิม ซึ่งได้รับหุ้นแจกในราคาพาร์ 5 บาท เพื่อฟันกำไรต่อแรก ตอนนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดในราคา 22 บาท ฟันกำไรทันที 17 บาท และหากปั่นราคาหุ้นให้สูงไปแตะที่ 40 บาท ตามที่ผู้บริหารคนก่อนเคยประกาศไว้ ทุกคนที่ได้รับหุ้นแจก ก็จะได้กำไรต่อที่สองหุ้นละ 35 บาททันที ในเวลาเพียงไม่กี่ปี และเป็นเหตุผลว่า ทำไมจึงมีการประท้วงเกิดขึ้นในแดนสนธยาแห่งนี้
โดยภาวะการซื้อขายหุ้นบริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) หรือ MCOT วันนี้(21 พ.ย.) เปิดตลาดเช้าที่ 27.25 บาท ได้มีแรงเทขายออกจากนักลงทุนต่อเนื่องอย่างหนัก จนทำให้ระดับราคาดิ่งลงมาที่จุดต่ำสุดช่วงเช้าที่ 26.75 บาท เมื่อเวลาประมาณ 11.30น. แม้ว่าจะมีความพยายามดันราคาไปที่ 27.00 บาท แต่ระดับราคาก็ยืนอยู่ได้ไม่เกิน 15 นาที ก็จะมีแรงเทขายออกมาอย่างต่อเนื่อง และปิดตลาดเช้าที่ราคา 26.75 บาท
สำหรับภาวะการซื้อขาย MCOT ในช่วงบ่าย หลังเปิดตลาดก็มีแรงขายออกมาอย่างหนาแน่น ส่งผลให้ระดับราคาลงมาที่จุดต่ำสุดของวันที่ 26.50 บาท แม้จะมีแรงซื้อเข้ามาพยุงราคาที่ 27 บาท แต่ก็ต้านไม่อยู่และปิดตลาดที่ 26.75 บาท ปริมาณการซื้อขาย 2.22 ล้านหุ้น มูลค่า 59.81 ล้านบาท ถือเป็นระดับราคาที่ต่ำที่สุดในรอบ 2 เดือน หลังการเข้ามายึดอำนาจการปกครองของ คปต.เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา
แม้ว่าการเข้ายึดอำนาจการปกครอง จะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นในทันที โดยราคา ณ วันดังกล่าวปิดที่ 40 บาท ก่อนที่ราคาหุ้นจะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลังมีกระแสข่าวให้นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ลาออกเพื่อรับผิดชอบในเรื่องการนำเสนอแถงการณ์ของอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งภายหลังวันที่ 26 ก.ย. นายมิ่งขวัญ และคณะกรรมการบริษัทประกาศแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง โดยราคาหุ้นปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ 29.50 บาท ลดลง 10.50 บาท หรือ 26.25% ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ มาร์เกตแชร์ ได้ปรับตัวลดลงเฉลี่ยจากประมาณ 27,500 ล้านบาท มาอยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยปรับลดลงไปแล้วไม่น้อยกว่า 7,500 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการเปิดเผยข้อมูลการทุจริตคอรัปชั่นภายใน อสมท อย่างต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา รวมถึงการประท้วงของพนักงาน ซึ่งมองเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว มากกว่า การทำตัวให้เป็นสื่อของประชาชน ทำให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่ไม่มั่นใจต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้น ต่างเทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นหุ้นอิงการเมืองที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งรองรับ ส่งราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาถึงจุดต่ำสุดในรอบ 2 เดือน ปิดภาคเช้าที่ระดับราคา 26.75 บาท โดยราคาปิดลดลง 13.25 บาท หรือมากกว่า 30% ไปแล้ว ซึ่งในวันดังกล่าวราคาปรับลดลงไปต่ำสุดที่ 27 บาท ขณะที่มาร์เกตแคปของบริษัทลดลงไปต่ำสุดที่ 19,067 ล้านบาท ลดลง 8,416.97 ล้านบาท จากวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา
สำหรับข้อมูลการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์(ตลท.)ของบมจ.อสมท โดยบริษัทเข้าจดทะเบียนในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2547 ทุนจดทะเบียน 3,835 ล้านบาท จำนวนหุ้นจดทะเบียนในตลท. 687,099,210 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท โดยการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนบริษัทกำหนดราคาขายที่ 22 บาทต่อหุ้น
นอกจากนี้บริษัทได้แบ่งจำนวนหุ้นเพิ่มทุนที่จะเสนอขาย โดยแบ่งให้กับพนักงานและผู้บริหารสูงสุดของบริษัทจำนวน 17.1 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 5 บาทแต่ติดเกณฑ์การขายหุ้น (ไซ่เลนต์พีเรียด)ตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ในส่วนของเกณฑ์ไซ่เลนต์กำหนดให้ผู้จองซื้อสามารถทยอยขายหุ้นที่สั่งห้ามซื้อขายได้ในจำนวน 25% ของจำนวนหุ้นที่ถูกสั่งห้ามขายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาทุกๆ 6 เดือนภายหลังจากวันที่หุ้นของบริษัทเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ และจะสามารถขายหุ้นได้ครบทั้งจำนวนเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 1 ปี 6 เดือนนับตั้งแต่วันซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
สำหรับข้อมูลที่นายวีระ เปิดเผยผลการตรวจสอบ อสมท แล้วพบว่า มีการทุจริตหลายเรื่องโดยเฉพาะนโยบายที่เอื้อรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่สำคัญคือการซื้อที่ดิน 50 ไร่วงเงิน กว่า 1 พันล้านบาท ที่ติดกับที่ดินย่านรัชดาของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร โดยมีการซื้อตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่คุณหญิงพจมาน ซื้อที่ดิน โดยไม่มีการประเมินความคุ้มค่าการลงทุน และไม่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าซื้อที่ดินมาเพื่ออะไร
ซึ่งมติที่ประชุมบอร์ดในการอนุมัติจัดซื้อที่ดินในแปลงดังกล่าวก็ไม่มีการชี้แจง เหตุผลอย่างชัดเจนโดยการตรวจสอบพบว่าที่ดินดังกล่าวซื้อไว้เพื่อเตรียมเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนในพรรคไทยรักไทย โดยจะเข้ามาดำเนินการในลักษณะคู่สัญญากับ อสมท ในการใช้ที่ดินบริเวณนี้ เพื่อสร้างเป็นเอนเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ ซี่งในที่สุดจะมีลูกชายนักการเมืองใหญ่เข้ามาบริหาร แต่เกิดเหตุการณ์ 19 ก.ย.เสียก่อน
"แม้โครงการดังกล่าวยังไม่เกิด แต่รัฐได้เสียประโยชน์ไปแล้ว เพราะได้ซื้อดินเรียบร้อยแล้ว จึงอยากให้ คตส.เข้าไปตรวจสอบว่า อสมท เอาเงินไปซื้อที่ดินเพื่ออะไร มีความจำเป็นอย่างไร และจะมีการขยายโครงการ อสมท อย่างไร การอนุมัติเงินพันกว่าล้านบาท ต้องได้รับอนุมัติจากบอร์ด อสมท เพราะมีระเบียบว่า หากโครงการใดมีการใช้เงินเกิน 2 ล้านบาทขึ้นไป ผอ.อสมท.จะต้องเสนอเพื่อได้รับการอนุมัติจากบอร์ด ซึ่งตนมีหลักฐานผลการประชุมบอร์ดที่จะยื่นให้คตส."
นอกจากนี้ยังพบความผิดปกติของบริษัท อสมท ที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน และเกิดความเสียหายแก่ อสมท โดยการจัดสรรคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ให้กับบริษัท ดาราลูกนักการเมือง ซึ่งมีการซื้ออุปกรณ์ราคาสูงเกินจริง แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ อีกทั้งยังพบว่า บริษัท ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ให้งบประมาณ อสมท กว่า 70 ล้านบาท ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์สนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีบริษัทลูกนักการเมืองใหญ่เข้ามารับทำโฆษณา ซึ่งความจริง อสมท สามารถทำโฆษณาเองได้ โดยไม่ต้องจ้างบริษัทอื่น
แต่พบว่าการดำเนินการเช่นนี้มีการขอจากนักการเมืองคนหนึ่งที่ดูแลอสมท. และยังพบว่ารัฐบาลมีนโยบายให้หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจมาโฆษณาในอสมท. เช่น เอสเอ็มอี ,ปตท. รวมรายได้ อสมท น่าจะประมาณ 2-3 พันล้านบาท แต่ผลประกอบการล่าสุดพบว่ามีรายได้เพียง 1 พันกว่าล้านบาทเท่านั้น ไม่ทราบว่ารายได้รั่วไหลไปอย่างไร และทำไม อสมท จึงตกอยู่ในกลุ่มทุนรัฐบาล
นายวีระ กล่าวด้วยว่า ในสัปดาห์หน้า ทางเครือข่ายจะร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค หลายองค์กร ยื่นหนังสือที่ศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้เพิกถอนการแปรรูป อสมท เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เพราะพบว่าการแปรรูปดังกล่าวคล้ายกับกับ กฟผ. คือมีขั้นตอนการแปรรูปไม่ถูกต้อง ซึ่งศาลสามารถเพิกถอนการแปรรูปดังกล่าวได้ เพราะอสมท มีคลื่นความถี่อยู่ในกำกับดูแลที่เป็นผลประโยชน์ของชาติ ที่ประชาชนต้องใช้ร่วมกัน แต่การนำเข้าตลาดหลักทรัพย์เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาเป็นผู้จัดการคลื่นความถี่ และถือหุ้นมากกว่า 50 % ซึ่งไม่ได้เอื้อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง กลับทำให้เกิดผลเสียต่อประเทศ ดังนั้น กลุ่มผู้ผลักดันให้เกิดการแปรรูปดังกล่าว และเอาผลประโยชน์ของรัฐไปต้องรับผิดชอบ เพราะคลื่นความถี่เหมือนกับการปักเสาพาดสายไฟฟ้าของ กฟผ.
นอกจากนี้อยากให้คตส.ตรวจสอบการส่งคืนรายได้ให้กับ อสมท ของบริษัทที่จัดรายการเล่าข่าวของพิธีกรชื่อดัง ที่หลีกเลี่ยงไม่ส่งคืนรายได้เข้า อสมท แต่เมื่อเกิดเหตุ 19 ก.ย. จึงยอมส่งคืนรายได้ 136 ล้านบาท เหลืออีก 40 กว่าล้านบาทที่กำลังทยอยส่งคืน แต่ถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว แต่ทาง อสมท กลับไม่ดำเนินการอะไรเลย จึงอยากให้ คตส.ตรวจสอบด้วย
"ผมไม่เข้าใจจริง ๆ ว่าเหตุในพนักงานอสมท จึงไม่ติดตามการส่งรายได้เข้า อสมท เพราะถือเป็นประโยชน์ของพนักงาน โดยเฉพาะเรื่องโบนัส หรือเป็นเพราะหลงเชื่อบอร์ดและผู้บริหารที่ผ่านมา" นายวีระ กล่าวสรุปทิ้งท้าย
:lol: :lol: :lol: mcot โมเดิร์ไนน์สู่ mcotแดนสนธยา จะโดนถอนไหมหนอ.........