มาแล้วครับ ข้อมูลที่ลงใน bizweek
http://www.bangkokbizweek.com/
ถนนนักลงทุน
-----------------------
"เสี่ยประยุทธ" เร่งถ่ายเงิน..ไทยน๊อคซ์ กังขา..โปรเจค Non-Core สร้างตึก 3,323 ล้าน
"เสี่ยประยุทธ" เปิดเซฟ "ไทยน๊อคซ์" ลงทุน "แหลก" แถมใจดีจ่ายปันผลระหว่างกาล สูงสุดเป็นประวัติการณ์ พบเงินไหลเข้ากระเป๋า "กลุ่มมหากิจศิริ" 788 ล้าน...ชอตต่อไปย้ายรังซบ "ไทยคอปเปอร์" (ดันเข้าตลาดหุ้น) จับตาโปรเจค Non-Core ดูดเงิน ไทยน๊อคซ์ เกลี้ยงกระเป๋า
ถ้าใครอ่านจิ๊กซอว์ที่ "ประยุทธ มหากิจศิริ" กำลังต่อทีละชิ้นๆ จะเข้าใจว่า..ทำไม! "เสี่ยเนสกาแฟ" จู่ๆ กลับควัก "เงินสด" ของ บมจ. ไทยน๊อคซ์ สเตนเลส (INOX) ถึง 1,169.35 ล้านบาท นำมาจ่ายเป็น เงินปันผลระหว่างกาล (งวด 1 มกราคม 2549 - 30 กันยายน 2549) ให้แก่ผู้ถือหุ้น ในอัตราหุ้นละ 0.15 บาท ซึ่งตรงกันข้ามกับอุปนิสัยที่ผ่านๆ มา
ซึ่งคิดเป็น Payout Ratio 78.84% ของกำไรสุทธิ งวด 9 เดือน จำนวน 1,483 ล้านบาท มีกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.19 บาท (นำมาจ่ายปันผล 0.15 บาท)
ขณะที่ ณ สิ้นไตรมาส 3 ไทยน๊อคซ์ มีเงินสดฝากธนาคาร 1,296 ล้านบาท ถูกนำมาจ่ายปันผล 1,169 ล้านบาท หรือเกือบจะทั้งหมด ของเงินสดที่มีอยู่
...เป็นการใช้ "ยาถ่ายท้อง" ขนานแรง "พรวดเดียว" ถ่ายเงินสด ออกหมดหน้าตัก
ทั้งๆ ที่ประวัติของหุ้น ไทยน๊อคซ์ นับตั้งแต่เข้ามาเทรดในตลาด วันที่ 14 ธันวาคม 2547 เคยจ่ายปันผลออกมา 2 ครั้ง ในอัตรา 0.10 บาท และ 0.025 บาท และเบี้ยวจ่ายไป 1 ครั้ง
เพราะฉะนั้นการแคะกระปุกออมสิน ครั้งนี้ กลุ่มมหากิจศิริ "รวยคนเดียว" ได้เงินปันผลไป ประมาณ 788 ล้านบาท จากทั้งก้อน 1,169.35 ล้านบาท (ยังไม่นับรวมหุ้นที่ถือผ่าน "นอมินี" อีกบางส่วน ที่คาดว่าถืออยู่ในชื่อ Kim Eng Securities Pte สาขาสิงคโปร์)
การหงายหน้าไพ่ ของ ประยุทธ ครั้งนี้ คาดเดาได้ว่า ครั้งนี้อาจจะเป็น "เงินปันผลเฉพาะกิจ" ที่จะไม่เห็นมากอย่างนี้ (อีกแล้ว) ในครั้งต่อไป
ไต๋ต่อมาที่ ประยุทธ แบให้เห็น ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องปันผล..ไทยน๊อคซ์ ยังมีการว่าจ้าง บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ให้ก่อสร้างฐานรากเครื่องจักร และอาคารอิเล็กทริคอล ซับสเตชั่น ที่โรงงาน จ.ระยอง มูลค่า 96.21 ล้านบาท เพิ่งเซ็นสัญญากันไป เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2549 สดๆ ร้อนๆ
ช่วงเวลาใกล้ๆ กัน มีเวบไซต์ถึง 2 แหล่ง คือ India Times และ Steel Guru ระบุตรงกันว่า บริษัท Jindal Stainless ของอินเดีย กำลังเจรจาเข้าลงทุนใน ไทยน๊อคซ์ แต่ข่าวนี้ ประยุทธ รีบออกมาปฏิเสธด้วยตัวเอง เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2549 ที่ผ่านมา
ขณะที่ก่อนหน้านั้น เมื่อเดือนมิถุนายน 2549 ไทยน๊อคซ์ มีการเซ็นสัญญาร่วมทุนกับ บริษัท นิปปอน สตีล แอนด์ สุมิกิน สเตนเลส สตีล จำกัด และ บริษัท สยาม โลตัส จำกัด เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (ใหม่) ชื่อว่า บริษัท เอ็นเอส-ไทยน๊อคซ์ ออโต้ จำกัด
เพราะฉะนั้น "นิปปอน สตีล" ก็อาจจะเป็นตัวสอดแทรกได้ ถ้าหาก ประยุทธ ต้องการจะขาย ไทยน๊อคซ์..ทิ้ง แต่ข่าวการขายหุ้นยังไม่มีคนในวงการเหล็กเฟิร์มว่า จะเกิดขึ้นจริง!!
ส่วนตัวเลขกำไรของ ไทยน๊อคซ์ ที่โตขึ้นมากในไตรมาส 3 เป็นเพราะบริษัทปรับราคาขายสเตนเลส ขึ้นถึงกิโลกรัมละ18 บาท มาอยู่ที่ 120 บาทต่อกิโลกรัม แถมมีเงื่อนไขด้วยว่า ใครไม่ยอมรับเงื่อนไข และราคาใหม่ ก็จะไม่ขายสินค้าให้ จน "ดีลเลอร์รายเล็ก" เคยโทรศัพท์มาร้อง นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ว่า ถูก ไทยน๊อคซ์ มัดมือชก
ข้อมูลนี้สอดคล้องกับรายงานผลประกอบการ ที่ระบุไว้ว่า ในไตรมาส 3/2549 ไทยน๊อคซ์ ขายสเตนเลส ถัวเฉลี่ยที่ราคา 115,890 บาทต่อตัน หรือ 116 บาทต่อกิโลกรัม เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถัวเฉลี่ยอยู่ที่ 90,654 บาทต่อตัน หรือ 90.65 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งปรับขึ้นถึงเกือบ 26 บาทต่อกิโลกรัม
เพราะฉะนั้นการได้มาซึ่งตัวเลขกำไรมากเกินปกติ ถึง 951.17 ล้านบาท ในไตรมาส 3 เพียงไตรมาสเดียว เพื่อนำมาจ่ายเป็นปันผลกลับคืนให้กับ กลุ่มมหากิจศิริ..รวยคนเดียว มันไม่แฟร์สำหรับทุกฝ่าย
ที่สำคัญเกมการถ่ายเงินออกจาก ไทยน๊อคซ์ กลับเดินไปด้วยอัตราเร่งที่น่ากลัว โดยเฉพาะเงินสดที่อยู่ในรูป ตั๋วสัญญาใช้เงิน อายุ 22- 90 วัน อีก 2,875 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นเงินก้อนใหญ่ที่สุด ของบริษัท
มูฟเม้นท์ล่าสุด ประยุทธ เตรียมนำเงินก้อนนี้ไปสร้าง สำนักงานใหญ่ บนถนนนราธิวาส แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา บนเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 44 ตารางวา เฉพาะมูลค่าการก่อสร้าง 2,807 ล้านบาท ไม่รวมค่าที่ดิน
ทั้งๆ ที่ หนึ่ง..ผิดวัตถุประสงค์ของบริษัท เพราะนำเงินไปลงทุนใน Non-Core Business สอง..อาคารหลังนี้ ไทยน๊อคซ์ ใช้ประโยชน์เองแค่ 10% อีก 90% จะพัฒนาเป็นพื้นที่สำนักงานให้เช่า ซึ่งตามข้อเท็จจริงควรใช้วิธีการ "เช่า" (ตึกออล ซีซั่นส์) ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่ามาก และ สาม..ที่มันน่าบังเอิญก็ตรงที่ บริษัทยังเหลือกระแสเงินสดในรูป ตั๋วสัญญาใช้เงิน 2,875 ล้านบาท ใกล้เคียงกับมูลค่าการก่อสร้าง 2,807 ล้านบาท เหมือนๆ จะจงใจเคาะราคาให้ใกล้เคียงกัน อย่างไม่น่าเชื่อ
...ถ้าจบโครงการนี้กระแสเงินสดของ ไทยน๊อคซ์ ก็ "เกลี้ยง" พอดี
ต่อไปถ้าบริษัทจะลงทุนอะไร ก็ต้อง "กู้" ต้นทุนก็สูงขึ้น โอกาสจ่ายปันผลก็ไม่มี ที่ต้องจินตนาการต่อไป ก็คือ ในอนาคตถ้า ประยุทธ ใช้วิธีเล่นกลกับตึกหลังนี้ เหมือนกับที่เคยทำกับ บมจ.ไทยฟิล์มอินดัสตรี่ (TFI) กรณีที่ดิน, อาคารพีเอ็ม ริเวอร์ไซด์ คอนโดมิเนียม ในนาม บริษัท ริเวอร์ไซด์ ทาวเวอร์ จำกัด และ หุ้นบมจ.ไทยคอปเปอร์ อินดัสตรี่ (TCI) แล้วอนาคตของ ไทยน๊อคซ์ จะ "แย่" เหมือนกับ ไทยฟิล์มฯ ในวันนี้หรือไม่!
นอกจากนี้ค่าก่อสร้างตึก มูลค่า 2,807 ล้านบาท ถูกหรือแพงก็ไม่มีใครรู้ เพราะขนาดว่าที่ดินที่ใช้สร้างตึกหลังนี้ (5 ไร่ 3 งาน 44 ตารางวา) ไทยน๊อคซ์ ซื้อมาที่ ตารางวาละ 220,453.92 บาท ทั้งๆ ที่ บริษัท ยูเค แวลูเอชั่น แอนด์เอเจนซี่ จำกัด ผู้ประเมินอิสระ ประเมินอยู่ที่ตารางวาละ 210,000 บาท ซึ่งก็แพงกว่า..แต่ก็ยังซื้อ
สรุปว่าตึกหลังนี้ ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอย 48,000 ตารางเมตร ใช้งบประมาณค่าก่อสร้างรวม 3,323.74 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 2,807 ล้านบาท ค่าที่ดิน 516.74 ล้านบาท) คิดเป็นต้นทุน ตารางเมตรละ 7 หมื่นบาท ไม่รวมค่าตกแต่ง
วิธีการเดินเกมทั้งหมดของ กลุ่มมหากิจศิริ จึงทิ้งคำถามไว้มากมาย โดยเฉพาะล่าสุดทางกลุ่มประยุทธ อยู่ระหว่างการปั้นหุ้น บมจ.ไทยคอปเปอร์ อินดัสตรี่ (TCI) เพื่อดันเข้าตลาดหลักทรัพย์
ถ้าเข้าสำเร็จจะเป็น "กองมรดก" กองใหม่ ที่ใหญ่กว่า ไทยน๊อคซ์ ด้วยขนาดสินทรัพย์ รวม 25,626 ล้านบาท ซึ่งทางกลุ่มมหากิจศิริ เข้าไปถือหุ้น TCI ทั้งทางตรง และทางอ้อม ไว้แล้วประมาณ 60%
ภาษิตโบราณกล่าวไว้ "มีควันที่ไหน..ที่นั่นย่อมมีไฟ" เงินสดของ ไทยน๊อคซ์ ณ วันที่ 30 กันยายน 2549 มีมากถึง 4,206 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าถ้าเงินคงคลังไม่หมด..เกลี้ยง! ดีลขาย ไทยน๊อคซ์ คงยังไม่เกิดขึ้น