หน้า 1 จากทั้งหมด 1

นโยบายเปลี่ยนรายวัน

โพสต์แล้ว: เสาร์ ก.ย. 03, 2005 1:04 am
โดย 2nd wind
เอาข่าวมาฝาก เพื่อเตือนใจนักลงทุนทุกท่านไม่ให้อยู่ในอาการประมาท.....

ต่างชาติเมินนโยบายเปลี่ยนรายวัน

โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 1 กันยายน 2548 17:33 น.


http://www.manager.co.th/mgrWeekly/View ... 0000118905

      ความเชื่อมั่นรัฐบาลทรุด โบรกเทศแนะลูกค้าดูความสามารถในการจัดการของบริษัทแทนดูนโยบายรัฐบาล ที่พลิกเปลี่ยนได้ตลอด หลังเลิกรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง กลุ่มอสังหาฯรับเคราะห์ ถึงวันนี้คนซื้อบ้านย่านดังกล่าวกลายเป็นซื้อแพง
     
       การตัดสินใจหั่นเส้นทางรถไฟฟ้าในโครงการเมกะโปรเจคท์ออก 2 สายคือสายสีม่วงและสายสีส้ม แล้วใช้รถเมล์ด่วนพิเศษเข้ามาแทน ถือผลบวกต่อสภาพของดุลบัญชีเดินสะพัดที่ติดลบอยู่ในเวลานี้ เงินลงทุน 2 แสนล้านบาทถูกโยกไปใช้ในการแก้ปัญหาวิกฤติน้ำ นั่นก็ถือเป็นเรื่องบวกต่อสภาพธุรกิจเช่นกัน
     
       แต่การเปลี่ยนแปลงโครงการขนาดใหญ่อย่างกระทันหัน ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในอีกด้านหนึ่งเช่นกัน เช่น กลุ่มทุนที่เตรียมแผนธุรกิจเพื่อสอดรับกับโครงการของรัฐบาล จึงเสียประโยชน์จากการยกเลิกโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบโดยตรง การกว้านซื้อพื้นที่เพื่อผุดโครงการที่อยู่อาศัยหรือศูนย์การค้า รวมถึงผู้ที่จับจองเพื่อหวังได้รับความสะดวกสบายจากโครงการรถไฟฟ้า กลายเป็นซื้อบ้านในราคาที่สูงเกินจริงไปทันที
     
      อย่าดูนโยบายรัฐ
     
       โบรกเกอร์ต่างประเทศกล่าวว่า ภาพดังกล่าวกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศไม่น้อย เนื่องจากเป็นโครงการที่รัฐตั้งเป้าเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เพราะก่อนที่จะประกาศต่อสาธารณะโครงการมูลค่า 1.7 ล้านล้านบาท ย่อมจะต้องได้รับการศึกษาถึงความเป็นไปได้และความคุ้มค่าในการลงทุนเป็นอย่างดี ไม่ใช่วันนี้มาบวกว่าไม่คุ้มต่อการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนเพียง 6%
     
       อย่างไรก็ตามการลดขนาดการลงทุนไม่ได้หมายความว่าจะยกเลิกการลงทุนทั้งหมด ดังนั้นเส้นทางการก่อสร้างหลัก ๆ ก็ยังคงเดินหน้าต่อ อีกทั้งขนาดของโครงการที่เล็กลงยังช่วยให้ภาระขาดดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะน้อยลง แต่ในอีกด้านหนึ่งมีความเป็นไปได้เช่นกัน ที่เงินที่จะนำมาใช้ในโครงการก่อสร้างมีจำกัด
     
      "ทุกวันนี้เราแนะนำลูกค้าของเราให้ดูที่ศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนเป็นหลัก อย่าดูที่นโยบายของรัฐเป็นหลัก เพราะที่ผ่านมานโยบายของรัฐที่ตั้งเป้าไว้ส่วนใหญ่ไม่สามารถทำได้ หากตัดสินใจพลาดเท่ากับผลตอบแทนของการลงทุนก็จะผิดพลาดไปเช่นกัน"
     
      เห็นได้จากเมื่อครั้งที่ภาคตะวันออกเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะที่นิคมอุตสาหกรรม ครั้งนั้นรัฐบาลบอกว่าไม่มีปัญหา สามารถจัดการแก้ปัญหาให้ได้ แต่ผู้ประกอบการที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมก็ต้องแก้ปัญหากันเอง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มปูนซิเมนต์ไทย กลุ่มปตท. ล้วนแล้วต้องลงทุนเพื่อหาน้ำมาใช้เพื่อการผลิตด้วยตนเองทั้งสิ้น
     
      หากรายใดนิ่งนอนใจรอภาครัฐ ก็จะกระทบต่อกระบวนการผลิตที่ต้องดำเนินการทุกวัน สุดท้ายก็จะเป็นผลเสียต่อตัวบริษัทเอง เช่นเดียวกัน ในส่วนของนักลงทุนทั่วไปข้อมูลที่จะใช้ในการลงทุนไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในภาคการผลิต หรือลงทุนในตลาดหุ้นก็ตาม จะต้องเผื่อการปรับเปลี่ยนจากภาครัฐไว้บ้าง ไม่เช่นนั้นอาจเจ็บตัวหนัก
     
      ลดเป้าได้ทุกเวลา
     
      ที่ผ่านมาเราได้เห็นรัฐบาลคาดการณ์อัตราการการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่ 6% สุดท้ายก็ต้องปรับตัวลดลงมาตามภาวะการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย หากผู้ประกอบการรายใดลงทุนเต็มตัวก็อาจประสบปัญหาขาดทุนได้ หรืออย่างการเตรียมการจัดงานไทยแลนด์ โฟกัส 2005 เพื่อดึงนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งที่ผ่านมานักลงทุนไทยจะซื้อหุ้นดักหน้านักลงทุนต่างประเทศ สุดท้ายการจัดงานก็ทำได้เพียงแค่ดึงนักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์เข้ามารอบเดียวเท่านั้น
     
      เช่นเดียวกับเป้าหมายการส่งออกที่ตั้งอัตราการเติบโตไว้ที่ 20% แต่ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาทำได้เพียง 12.3% หรือการคาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดการณ์ไว้ที่มากกว่า 13 ล้านคน แต่ตัวเลข 6 เดือนกลับมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพียง 5.3 ล้านคน
     
      ยิ่งเมื่อพิจารณาจากปัจจัยลบอย่างเช่น ภาคใต้ทั้งเรื่องความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนและความต่อเนื่องของสึนามิ เหตุการณ์น้ำท่วมในแถบภาคเหนือทั้งเชียงใหม่และเชียงราย ย่อมทำให้การนักท่องเที่ยวลดจำนวนลง รวมถึงวิกฤติน้ำภาคตะวันออกที่ลามไปถึงแหล่งท่องเที่ยวอย่างเมืองพัทยา ที่บรรดาโรงแรมจะต้องเปิดปิดน้ำเป็นเวลา ปัจจุบันกรุ๊ปทัวร์บางแห่งเริ่มยกเลิกการจองไปบ้างแล้ว
     
      "ตอนนี้หลายคนเป็นห่วงว่าสิ่งที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ว่าเศรษฐกิจจะโตเท่านั้น หรือจะผลักดันโครงการนี้ จะกลายเป็นสัญญาณชี้นำที่ผิดพลาด หากรัฐไม่สามารถทำได้ตามที่เคยตั้งเป้าเอาไว้ ดังนั้นนักลงทุนหรือนักธุรกิจที่จะคาดการณ์ล่วงหน้าอาจจะลำบากสำหรับสถานการณ์เช่นนี้"
     
      ดังนั้นจึงอยากแนะนำนักลงทุนโดยเฉพาะผู้ที่ต้องการจะลงทุนในตลาดหุ้นว่า โดยพื้นฐานของการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่ระดับ 3.5-4% นั้น ดัชนีตลาดหุ้นสามารถที่จะขยับขึ้นไปถึงระดับ 730 จุดได้ เพียงแต่ให้เลือกลงทุนในบางบริษัทที่มีระบบการจัดการที่ดี สามารถแก้ปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเองไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ

ต่างชาติสุดทนรัฐแทรกแซงโทลล์เวย์

http://www.posttoday.com/newsdet.php?se ... 93a03b3d62

โพสต์ทูเดย์ ผู้ถือหุ้นต่างชาติบริษัทดอนเมืองโทลล์เวย์สุดทนโวยรัฐแทรกแซงการดำเนินงาน ยันขายหุ้นแน่ในราคา 10 บาท ขณะที่คลังยอมยืดสัมปทานอย่างน้อย 6 ปี

นายปีเตอร์ แครมเมอร์ ตัวแทนผู้ถือหุ้น ต่างชาติ บริษัททางยกระดับดอนเมือง หรือ ดอนเมืองโทลล์เวย์ เปิดเผยก่อนการเข้าประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงการคลัง ว่า นักลงทุนต่างประเทศยืนยันจะขายหุ้นดอนเมืองโทลล์เวย์ในราคาหุ้นละ 10 บาท ซึ่งเป็นราคาที่คิดแต่ ต้นทุน ไม่รวมดอกเบี้ยหรือกำไรแม้แต่บาทเดียว

ราคานี้ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดแล้ว เรา สูญเสียมามาก ดังนั้นจึงไม่อยากที่จะลงทุนต่อไป รัฐบาลนี้ไม่เคยทำตามสัญญา มีแต่แทรกแซงแล้วแทรกแซงอีก ทำให้ผู้ลงทุนไม่มีรายได้เพียงพอมาใช้หนี้ ดังนั้น รัฐจึงควรทำตามสัญญาสัมปทานได้แล้ว เพื่อให้เรามีรายได้อย่างที่ควรจะเป็น นายปีเตอร์ กล่าว

นายปีเตอร์ กล่าวว่า ตอนนี้ผู้ถือหุ้นต่าง ประเทศเดือดร้อนกันหมด อยากได้เงินไปชำระหนี้สถาบันการเงินที่กู้ยืมมากว่า 10 ปี ไม่อยาก ลงทุนในเมืองไทยอีกต่อไปแล้ว

ด้าน นายสมบัติ พานิชชีวะ กรรมการอำนวยการ ดอนเมืองโทลล์เวย์ กล่าวภายหลังการ ประชุมกับผู้บริหารกระทรวงการคลัง ว่า การเจรจายังไม่ได้ข้อยุติ กระทรวงการคลังเสนอไว้ 3 ทางคือหนึ่งจ่ายเป็นเงินสดชดเชยให้กับบริษัทแลกกับค่าลดผ่านทาง สองยืดสัมปทานแลกกับการลดค่าผ่านทาง และสามคือการซื้อหุ้นคืน

ผมคิดว่าการยืดอายุสัมปทานดีที่สุด เพราะบริษัทได้ประโยชน์ระยะยาว ประชาชนได้ประโยชน์ในระยะสั้นและระยะกลาง และรัฐบาลไม่ต้องเสียอะไร ส่วนอายุสัมปทานต่อรองกันได้ไม่จำเป็นต้องเป็น 8 ปี นายสมบัติ กล่าว

แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สามารถตกลงเบื้องต้นกับนายสมบัติ ที่จะยืดอายุสัมปทานให้เป็นเวลา 6 ปี แลกกับการลดค่าผ่าน ทางเหลือ 20 บาทในช่วงแรก และอีก 10 บาท ในช่วงต่ออนุสรณ์สถาน เป็นเวลา 5 ปี แต่ยังต้องต่อรองเงื่อนไขการขึ้นราคาค่าผ่านทางในปีที่ 6 เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับผู้ใช้ทาง เนื่องจากตามสัญญาสัมปทานบริษัทสามารถเก็บค่าผ่านทาง 40 บาทในช่วงแรก และอีก 20 บาท ในช่วงต่อ อนุสรณ์สถาน หรือ 60 บาทตลอดสาย

นายสุภัค ศิวะรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ขณะนี้การเจรจา ระหว่างธนาคารเจ้าหนี้ 5 ราย ได้ข้อสรุปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในหลักการเบื้องต้นจะปรับโครงสร้างหนี้เป็นระยะเวลา 2 ปีก่อน พิจารณาจากผลการดำเนินงานของโทลล์เวย์ และลดค่าผ่านทางโดยรัฐบาลชดเชยให้กับเอกชน

สำหรับหนี้สินของดอนเมืองโทลล์เวย์ ณ สิ้นปี 2547 อยู่ที่ 11,695 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ของธนาคารออมสิน 3,940 ล้านบาท, ธนาคารทหารไทย 3,368 ล้านบาท, ธนาคารนครหลวงไทย 1,121 ล้านบาท เป็นต้น โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้น 40%, กลุ่มพานิชชีวะ 30%, นักลงทุนต่างชาติ 20% อาทิ Walter Bau AG, Vinci Concessions, Kerry Goomy Grop, และผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่นๆ 10%