หน้า 4 จากทั้งหมด 4

Re: คุณรู้จัก " ผู้บริหาร " ดีแค่ไหน !!!!

โพสต์แล้ว: พุธ ม.ค. 02, 2013 11:09 am
โดย pak
จับโฟกัส 12 คนการเงินดาวเด่นปี 2012
Source - กรุงเทพธุรกิจ (Th), Tuesday, January 01, 2013

ท่ามกลางกระแสความสั่นคลอนของเศรษฐกิจโลกทั้งในยุโรปและสหรัฐ ทำให้ตลาดเงินตลาดทุนในบ้านเราปี 2012 พลอยสั่นไหวเป็นระยะตามกระแสข่าวที่ออกมา อาจพูดได้ว่า ไม่ถึงกับยาก ในเวลาเดียวกันก็ไม่ง่ายซะทีเดียว สำหรับการบริหารจัดการ หลังจากสแกนทั้งตลาดเงินตลาดทุนในบ้านเรา "กรุงเทพธุรกิจ" จับโฟกัส 12 คนการเงินที่โดดเด่นปี 2012 มานำเสนอ จะได้รู้ว่าสนามไหนใครเป็นดาว:’วิน’ดาวรุ่งแห่งสนามกองทุนรวม

ในแวดวงธุรกิจกองทุนรวม อาจจะมีทั้งคลื่นลูกเก่าและคลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตามองหลายคน แต่ที่ถือว่าเป็นดาวรุ่งแห่งวงการ บลจ. คงต้องยกให้ "ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ CEO ที่น่าจะมีอายุน้อยที่สุดของอุตสาหกรรมกองทุนไทยในปัจจุบัน ผลงานในด้านการบริหารกองทุนคงเป็นที่ประจักษ์ในฝีมืออยู่บ้างไม่มากก็น้อยในช่วงที่ผ่านมา แต่ในส่วนของงานบริหารเองนั้นคงเป็นบททดสอบใหม่ที่ท้าทายอยู่เบื้องหน้า ดร.วิน ยอมรับว่า ความท้าทายที่สุด คือ การทำให้ บลจ.วรรณเข้มแข็งขึ้นและเป็นที่รู้จักและยอมรับของนักลงทุนมากขึ้นท่ามกลางภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรงในธุรกิจจัดการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก บลจ. ที่มีธนาคารเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งจะทำให้บรรลุเป้าหมายได้ต้องอาศัยความพร้อมความสามารถของบุคลากร ระบบ และ ขั้นตอนการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่สูงกว่า บลจ. อื่นๆ เพื่อทำให้นักลงทุนมั่นใจได้ว่าการลงทุนกับบลจ.วรรณจะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าบลจ.อื่นๆ อย่างสม่ำเสมอและมีความสะดวกมากกว่า พร้อมกับการมีผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลายกว่าบลจ.อื่นๆ ด้วย:’วรวิทย์’มาแรงในแวดวงแบงก์รัฐ สำหรับในฟากของกระทรวงการคลังในปีที่ผ่านมา "วรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี" ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ถูกจัดเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงสำหรับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงแบงก์รัฐ แม้การเมืองจะเปลี่ยนไปหลายสมัย เขาก็ยังเป็นหนึ่งในผู้บริหารระดับสูงของแบงก์รัฐมาโดยตลอด และ ด้วยวัย 40 ปีต้นๆ เขาก็ถูกคัดเลือกเข้ารับตำแหน่งเอ็มดีธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ ล่าสุดได้รับการสนับสนุนให้เข้านั่งในตำแหน่งใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม คือ เบอร์หนึ่งของแบงก์ออมสิน ซึ่งเป็นแบงก์รัฐที่มีสินทรัพย์ขนาดใหญ่เทียบชั้นแบงก์เอกชน ส่วนจะยืนหยัดเป็นดาวค้างฟ้าได้หรือไม่ ให้ผลงานและเวลาเป็นตัวพิสูจน์:’ประสาร’สุดยอดคนการเงิน"ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถือเป็นอีกหนึ่งคนการเงินที่โดดเด่นอย่างมากในปี 2555 ด้วยการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ "ผู้ว่าการแบงก์ชาติ" ได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะนอกจากงานดูแลด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจแล้ว ยังทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของ ธปท. และภาพลักษณ์ของประเทศได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการเอา "ตำแหน่ง" เข้า "ขวาง" การโอนหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ) มาไว้ที่ ธปท.

หากจำกันได้ ช่วงปลายปี 2554 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2555 กระทรวงการคลัง ภายใต้การดูแลของ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีความพยายามที่จะโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท มาไว้ที่ ธปท. เพราะหวังว่าเมื่อหนี้ส่วนนี้ถูกโอนไป จะทำให้หนี้สาธารณะของรัฐบาลลดลง ทำให้รัฐบาลสามารถกู้เงินได้เพิ่มขึ้น เพื่อไปฟื้นฟูประเทศหลังได้รับความเสียหายอย่างหนักจากปัญหาน้ำท่วม

หลังจากที่ "ประสาร" ทราบเรื่องดังกล่าว และสืบรู้มาว่า รัฐบาลได้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยงุบงิบทำเป็น "วาระลับ" ก็ออกมาทำทุกวิถีทาง เพื่อป่าวประกาศให้คนทั่วประเทศได้รับรู้ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยไม่สนใจว่าจะถูกบีบให้ลงจากตำแหน่งผู้ว่าการธปท.หรือไม่ จนท้ายที่สุดรัฐบาลยอมลดธงถอยครึ่งก้าว ซึ่งผลงานในคราวนั้นได้รับการชื่นชมอย่างดีจาก "ไตรรงค์ สุวรรณคีรี" อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจว่า ปฏิบัติหน้าที่ได้ใกล้เคียง อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ :’ไพบูลย์’บทบาทเด่นในตลาดทุน

ต้องยอมรับว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา "ไพบูลย์ นลินทรางกูร" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ มีบทบาทโดดเด่นในแวดวงตลาดทุนไทยอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะบทบาทในฐานะประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ที่พยายามผลักดันให้สภาธุรกิจตลาดทุนเป็นอีกหนึ่งสถาบันที่เข้าไปมีส่วนในคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนและรัฐบาล หรือ กรอ.

นอกจากนี้ ยังมีบทบาทสำคัญในการร่วมกับภาคส่วนต่างๆ กระตุ้นให้รัฐบาลเร่งผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการฟอกเงิน 2 ฉบับ หลังจากคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน หรือ แฟทเอฟ (FATF) ขึ้นบัญชีประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกเฝ้าระวังในการทำธุรกรรมทางการเงิน หรือ grey list ซึ่งจะมีผลกระทบกับตลาดทุน ทั้งในด้านความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ และการออกไปลงทุนต่างประเทศของเอกชนไทย

ล่าสุด สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ภายใต้การนำของไพบูลย์ ยังเป็นหัวหอกสำคัญ ในการเสนอให้รัฐบาล หรือ กระทรวงการคลัง เตรียมมาตรการรับมือกับการออกกฎหมายการรายงานข้อมูลการลงทุนในต่างประเทศของสหรัฐ หรือ แฟทกา (:FATCA) ที่บังคับทุกสถาบันการเงินต้องรายงานข้อมูลการลงทุนของชาวอเมริกัน หากประเทศใดไม่ร่วมมือ ผลประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนในสหรัฐต้องถูกหักภาษีทันที 30% โดยกฎหมายฉบับนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2557 :’สมภพ’ไอพีโอมือทอง

ปี 2555 นับเป็นอีกหนึ่งปีทองของหุ้นไอพีโอ โดยมีหุ้นที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ จำนวนทั้งสิ้น 19 บริษัท ล้วน

แต่สร้างผลงานในการเข้าซื้อขายวันแรกที่น่าพอใจ

และใน 19 บริษัทนั้น "สมภพ กีระสุนทรพงษ์"

กรรมการผู้อำนวยการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส มี

ส่วนร่วมด้วยถึง 11 บริษัท โดยเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 5 บริษัท และเป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ทั้งหมด 6 บริษัท

สมภพ มีผลงานด้านงานวาณิชธนกิจ โดยเฉพาะเรื่องการเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพิ่งแจ้งเกิดในปีนี้ โดยเคล็ดลับที่ทำให้นักลงทุนเชื่อมือเขามากที่สุด ก็คือการจัดสรรหุ้นให้นักลงทุน โดยเขาจะเน้นการกระจายหุ้นแก่นักลงทุนรายย่อยเป็นส่วนมาก นอกจากการสัดส่วนการกระจายหุ้นที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้ลงทุน และเหมาะกับไซส์ที่เสนอขายแล้ว การให้ส่วนลดในราคาหุ้นก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่เขาไม่เคยละเลย

:’ประเวช’เข็นประกันไทยศูนย์กลางอาเซียน "ประเวช องอาจสิทธิกุล"นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ถือว่าเป็นบุคคลที่โดดเด่นในแวดวงประกันในปี 2555 เพราะทันทีที่เข้ามารับตำแหน่งเลขาฯ คปภ. เมื่อต.ค. 2554 ก็เจอกับน้ำท่วมครั้งใหญ่สุด

ประเวช มีบทบาทในการทำงานร่วมกับภาคเอกชนและรัฐบาล ในการวางกรอบ นโยบาย รวมถึงการเป็นผู้ประสานงาน และเป็นบุคคลสำคัญในการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ ที่ถือว่าในขณะนั้นกองทุนฯ เป็นพระเอก เพราะที่ทำให้กลไก ของระบบประกัน สามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้ ทำให้บริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศ หรือ รีอินชัวเรอร์ ให้การยอมรับ และถือว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่กองทุนฯ ได้เข้ามาช่วยภาคเอกชนในขณะนั้น บวกกับเอกชนได้ยอมทุ่มทุนในการสร้างระบบสาธารณูปโภค

เลขาฯ คปภ. ยังนำพาอุตสาหกรรมประกันภัย รอดพ้นพงหนามมาได้ เขาต้องเดินทางไปเจรจากับรีอินชัวร์ หลายต่อหลายครั้ง จนสถานการณ์ต่างๆ เริ่มดีขึ้น จึงหันมามุ่งเน้นในการพัฒนาศักยภาพของบริษัทประกันภัย และประกันชีวิต ให้ขึ้นมาทัดเทียมกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเตรียมการรองรับกับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี โดยได้มุ่งเน้นให้ทุกบริษัท ปรับตัวให้เร็วกว่าเดิม ส่งผลให้ ณ ปัจจุบัน อุตสาหกรรมประกันของไทยถือว่าติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศเออีซี และที่สำคัญธนาคารโลก กำลังจะยกให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางประกันในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย :’กรรณิกา’ แบงเกอร์ อิน โฟกัส สำหรับในภาคการเงินปีนี้คงไม่มีใครอยู่ในโฟกัสของอุตสาหกรรมธนาคารไปมากกว่า "กรรณิกา ชลิตอาภรณ์ "กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ อีกแล้ว เธอผลักดันธุรกิจให้เติบโตได้สูงกว่าเป้าหมาย และมีผลประกอบการที่โดดเด่นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เป็นเครื่องยืนยันถึงฝีมือและพลังของหญิงแกร่งคนนี้ที่ได้ใช้เวลากว่า 10 ปีในธนาคารแห่งนี้ และ 6 ปีในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่นำพาธนาคารไทยพาณิชย์ ให้มีความโดดเด่นและแข็งแกร่งในระบบการเงินไทย จะเห็นได้ว่าในทุกตลาดที่ไทยพาณิชย์เข้าแข่งขันต้องเห็นคู่แข่งเริ่มขยับตัวบ้าง ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อรายย่อยที่เธอเข้ามาว่างรากฐานจนขึ้นมา

เป็นผู้นำอันดับต้นๆ ของระบบ ไม่ว่าสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หรือบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล รวมถึงธุรกิจประกันแม้กระทั่งสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ไทยพาณิชย์เข้ามาเขย่าวงการจนยักษ์ใหญ่ยังต้องตื่นมารักษาพื้นที่บ้าง :’เทวินทร์’นาปตท.สผ.เพิ่มทุนฉลุย ต้องยอมรับว่าบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. สามารถชนะการประมูลซื้อกิจการ บริษัท โคฟ เอ็นเนอร์ยี่ ตลอดจนการสามารถเพิ่มทุนครั้งสำคัญของได้สำเร็จ คือ "เทวินทร์ วงศ์วานิช" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ปตท.สผ.

กว่าจะมาถึงวันนี้ ปตท.สผ. ต้องมีการจัดเตรียมแผน ทั้งด้านข้อมูล และด้านการเงินอย่างเข้มข้น กว่าจะชนะคู่แข่งคนสำคัญอย่าง บริษัท เชลล์ ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในแวดวงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของโลก ซึ่งต้องมีการขับเคี่ยว แข่งกันเสนอราคาหลายรอบ จนในที่สุด ปตท.สผ.ก็คว้าชัยชนะมาครอง

อย่างไรก็ตาม ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามว่า การทุ่มเงินกว่า 6 หมื่นล้านบาทเพื่อซื้อกิจการโคฟฯ ในครั้งนี้ เป็นการจ่ายเงินที่แพงเกินไปหรือไม่ ซึ่งผู้บริหารก็ยืนยันว่าเป็นการลงทุนที่บริษัทพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะสามารถสร้างมูลค่าและผลประโยชน์ให้กับบริษัท รวมถึงสร้างในการเพิ่มแหล่งพลังงานสำรองให้ประเทศ ประเด็นสำคัญที่ตามมา หลังการซื้อกิจการโคฟฯ คือ การเตรียมแผนทางการด้านการเงิน โดยช่วงแรก ปตท.สผ. ต้องกู้เงินมาจ่ายเงินค่าหุ้น ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (ดีอี) สูงขึ้นในระดับที่ส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตเรทติ้ง

เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ปตท.สผ. ต้องประกาศแผนเพิ่มทุนครั้งสำคัญของบริษัท ซึ่งการเพิ่มทุนครั้งนี้มีมูลค่าสูง จึงเป็นธรรมดาที่ผู้ถือหุ้นจะมีความกังวล โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นต่างชาติ ที่กังวลว่า ปตท.จะได้รับสิทธิพิเศษในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้ "เทวินทร์" จึงต้องออกโรงเดินสายโรดโชว์ทำความเข้าใจกับนักลงทุนทั้งไทยและนอกหลายต่อหลายครั้ง กว่าที่นักลงทุนจะยอมรับ และใช้สิทธิเพิ่มทุนกันล้นหลาม ทำให้แผนเพิ่มทุนประสบความสำเร็จด้วยดี:’คีรี’ส่งบีทีเอสตั้งกองทุน 5 หมื่นล้าน

ต้องยอมรับว่า "คีรี กาญจนพาสน์" ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) มีส่วนสำคัญทำให้ตลาดทุนไทยในปีนี้ "ตื่นตัว" และ "น่าสนใจ" ในสายตาของนักลงทุน นับตั้งแต่การแยกบริษัท วีจีไอ โกลบอล มีเดีย (VGI) ซึ่งทำธุรกิจด้านการตลาด และขายสื่อโฆษณาบนสถานีรถไฟฟ้าออกมา และเข้าจดทะเบียนระดมทุนตลาดในตลาดหลักทรัพย์ ด้วยราคาเสนอขายที่ 35 บาทต่อหุ้น ซึ่งถูกมองว่ามีการเสนอขายในราคาค่อนข้างแพงในสายตานักลงทุน แต่ปรากฏว่าเปิดเทรดในวันแรก (11 ต.ค. 2555) ราคาพุ่งขึ้นถึง 20 บาท หรือ 55 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้นถึง 57%

ไม่เพียงเท่านี้ "คีรี" ยังสร้างปรากฏการณ์สำคัญในตลาดทุน ด้วยการประกาศจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หรือ อินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์กองแรกของประเทศไทย ขนาด 5-6 หมื่นล้านบาท เตรียมเสนอขายให้นักลงทุนในช่วงต้นเดือนก.พ. ปี 2556 หลายคนยอมรับการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานนี้ เป็นช่องทางที่ "ฉลาด" ในการเตรียมความพร้อมทางด้านการเงิน สำหรับการประมูลลงทุนโครงการรถไฟฟ้าของรัฐบาลในปี 2556 เพราะนอกจากบีทีเอสจะได้ประโยชน์ในรูปของเม็ดเงินที่จะเข้ามาในบริษัท การได้รับยกเว้นการภาษีเงินได้จากเงินปันผลที่ได้จากกองทุนฯ ซึ่งบีทีเอสจะถือหน่วยกองทุนในสัดส่วน 33.33% บีทีเอสยังจะได้ชื่อว่า เป็นบริษัทที่ตอบสนองโครงการของภาครัฐ ที่มีแนวคิดสนับสนุนการตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอีกด้วย เรียกได้ว่า ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งใจ :’ผ่องเพ็ญ’ผลงานโบแดงแผนแม่บทฯ

อีกหนึ่งคนการเงินที่โดดเด่นไม่แพ้คนอื่นๆ เลยในปี 2555 คือ "ผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ" รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. ต้องบอกว่าปีนี้ถือเป็นปีทองของ ผ่องเพ็ญ โดยเฉพาะกับผลงาน "แผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้าย" ซึ่งทำให้อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทไทยในปีดังกล่าว เคลื่อนไหวได้อย่างสมดุล

สำหรับแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้น เป็นแผนผ่อนคลายเงินทุนฝั่ง "ขาออก" โดยเฉพาะการผลักดันให้นักธุรกิจ นักลงทุนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศกันมากขึ้น ทั้งการลงทุนโดยตรง และการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นเคาน์เตอร์ไฟล์ที่สวนกับเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทำให้เงินบาทไทยปี 2555 เคลื่อนไหวในทิศทางที่ค่อนข้างนิ่งและสมดุล

ด้วยผลงานที่โดดเด่นตรงนี้ทำให้ ผ่องเพ็ญ เป็น "ม้ามืด" ได้รับเลือกจากคณะกรรมการธปท. ให้ขึ้นมารับตำแหน่ง "รองผู้ว่าการ" ด้านเสถียรภาพการเงิน แบบพลิกความคาดหมายของใครหลายๆ คน :’ธัช’จุดพลุหุ้นไอพีโอ

ไอพีโอ 2555 ที่ผ่านมา เริ่มต้นด้วยบรรยากาศ CONSERVATIVE มีหุ้นเข้าซื้อขายไม่หลากหลายนัก และราคาเข้าซื้อขายก็ไม่สร้างความตะลึงให้ตลาดนัก แต่ในช่วงครึ่งปีหลัง มีจำนวนหุ้นเข้ามาซื้อขายอย่างคึกคัก ส่วนราคาในวันซื้อขายวันแรกก็สร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจ แต่บริษัทที่ "จุดพลุ" ให้กับหุ้นไอพีโอที่แท้จริง ต้องยกให้ "โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส" หรือ PPS ซึ่งต้องยกเครดิตให้ "ธัช ธงภักดิ์" รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส

นี่คือหุ้นไอพีโอบริษัทแรกที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะเพดาน และปิดการซื้อที่ราคาเพดานเช่นเดียวกัน หรือเพิ่มขึ้น 200% จากราคาหุ้นไอพีโอ โดยหุ้น PPS เข้าซื้อขายเมื่อวันที่ 26 กันยายน ด้วยราคาหุ้นไอพีโอ 0.70 บาท และปิดการซื้อขายที่ระดับ 2.10 บาท และจากนั้น หุ้นไอพีโอก็ถูกคาดหวังว่าจะ "ร้อนแรง" เหมือนที่ PPS ได้สร้างสถิติไว้ และหุ้นที่เข้าซื้อขายตามมาก็ไม่ทำให้นักลงทุนผิดหวัง :’จีรพันธ์’ผลักดันตั้งกองทุนภัยพิบัติ

สำหรับผู้บริหารบริษัทประกัน ที่โดดเด่น คงหนีไม่พ้น "จีรพันธ์ อัศวะธนกุล" นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ที่ได้ทุ่มเทให้กับสมาคมด้วยดีมาตลอด เพื่อนำพาสมาชิกสมาคมที่มีอยู่กว่า 60 บริษัท ให้พ้นวิบากกรรมจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปีที่ผ่านมา

บทบาทที่สำคัญและโดดเด่น คือ การที่เขาได้ทำหน้าที่เป็นนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ในการเข้าไปมีบทบาทในด้านต่างๆ มีการนำข้อคิดเห็นของบรรดาสมาชิก ที่เกิดจากการปฏิบัติงานจริงไปเสนอแนะให้ คปภ. รวมทั้งรัฐบาลรับทราบถึงแนวทางในการพัฒนาและแก้ไข เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยไทย ให้ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ เขายังมีบทบาทที่สำคัญในการเจรจา ต่อรอง และเป็นผู้มีส่วนร่วมในการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติกับรัฐบาลและคปภ. ด้วย

ทั้งหมดนี้ คือ คนการเงินที่โดดเด่นในปี 2012 จับตามองต่อไป ว่า ปี 2013 พวกเขาจะยังรักษาระดับความคมชัดในผลงานได้ต่อไปหรือไม่

’ทั้งหมดนี้ คือ คนการเงินที่โดดเด่นในปี 2012 จับตามองต่อไปว่า ปี 2013 ’พวกเขาจะยังรักษาระดับความคมชัดในผลงานได้ต่อไปหรือไม่’

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Re: คุณรู้จัก " ผู้บริหาร " ดีแค่ไหน !!!!

โพสต์แล้ว: พุธ ม.ค. 02, 2013 11:50 am
โดย pak
'ทศ จิราธิวัฒน์'คว้าซีอีโอแห่งปี2012
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, วันที่ 1 มกราคม 2556 14:27
news_img_484064_1.jpg
"ทศ จิราธิวัฒน์"คว้าตำแหน่ง "BUSINESS MAN OF THE YEAR 2012"

กองบรรณาธิการ "กรุงเทพธุรกิจ" ได้ประชุมร่วมกัน เพื่อเฟ้นหาว่าผู้บริหารคนใด สมควรได้รับตำแหน่ง "BUSINESS MAN OF THE YEAR 2012 " โดยวางหลักเกณฑ์การพิจารณา 4 ด้าน คือ 1.ผลประกอบการขององค์กร 2.วิสัยทัศน์ของผู้นำ 3.ความรับผิดชอบต่อสังคมและระบบธรรมาภิบาลในองค์กร และ 4."CHANGE" หรือ การนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในองค์กร และมีความเห็นตรงกันว่า "ทศ จิราธิวัฒน์" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ ซีอาร์ซี มีคะแนนนำในทุกหัวข้อ สมควรได้รับตำแหน่งดังกล่าว

ด้วยเหตุผลที่ว่า "ทศ จิราธิวัฒน์" ผู้กุมบังเหียนธุรกิจค้าปลีกกลุ่มเซ็นทรัล กับการพลิกประวัติศาสตร์ "ทุนค้าปลีกไทยข้ามชาติ" ก้าวเป็นคลื่นลูกใหม่บนเวทีโลก

"ทศ" คนจิราธิวัฒน์รุ่น 3 รับไม้ต่อ "ผู้นำทัพ" ขับเคลื่อนองค์กรขนาดใหญ่และเก่าแก่กว่า 60 ปี ให้ครองความเป็นผู้นำตลาดค้าปลีกประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน ผนวก "ความพร้อม" รอบด้าน ได้เวลากรีธาทัพปักธงธุรกิจ "นอกบ้าน" ประกาศศักดาทุนค้าปลีกไทยท่ามกลาง "ทุนข้ามชาติ" รุกไล่ล่าอาณานิคมค้าปลีกประเทศไทยตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

กลางปี 2554 กลุ่มเซ็นทรัลสร้างดีลประวัติศาสตร์ค้าปลีกไทย จากการเข้าซื้อกิจการห้างหรูอันดับ 1 ของอิตาลี 'ลา รีนาเซนเต' อายุกว่า 150 ปี มูลค่า 260 ล้านยูโร หรือกว่า 1 หมื่นล้านบาท

นับเป็น "ทุนค้าปลีกไทยรายแรก" หรืออาจจะเป็นทุนค้าปลีกแห่งเอเชียรายแรก!! ด้วยซ้ำที่บุกขยายการลงทุนสร้างฐานธุรกิจครั้งใหญ่ใน "ยุโรป" ศูนย์กลางแฟชั่นชั้นนำของโลก เป็น “ก้าวใหญ่” ของตระกูลจิราธิวัฒน์ แห่ง “เซ็นทรัล กรุ๊ป” กับการปูฐานการเติบโตทางธุรกิจในระยะยาว 20-40 ปีข้างหน้าทีเดียว

"ถือเป็นประวัติศาสตร์ค้าปลีกประเทศไทยและเซ็นทรัล กรุ๊ป ที่ได้เข้าซื้อกิจการห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในยุโรป เป็นก้าวกระโดดที่สำคัญของค้าปลีกไทยแห่งภูมิภาคเอเชียที่สามารถขยายงานไปในประเทศที่เจริญแล้วอย่างยุโรป โดยเฉพาะอิตาลี"


กลุ่มธุรกิจค้าปลีก เสมือน “หัวใจ” ของเซ็นทรัล กรุ๊ป เป็น “เรือธง” ที่เปิดเกมรุกอย่างหนักในยุโรป อาเซียน และประเทศจีน "คลื่นลูกใหม่" บนตลาดโลก

ในสายตาของ "ทศ" มองว่าทุกประเทศมีโอกาสสำหรับทุกรูปแบบธุรกิจ!! เชื่อว่าใน 5 ปีข้างหน้า เซ็นทรัลรีเทล จะเติบโตในอัตราก้าวกระโดด ด้วยกำลังซื้อจากประชากรโลกกว่า 7,000 ล้านคน คือ โอกาสทางการตลาด และ บิ๊ก ชาเลนจ์!!! ก้าวข้ามความเป็น ‘Domestic Leader’ สู่ ‘บริษัทข้ามชาติ’ อย่างเต็มตัว

กรอบยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนผ่านยุทธวิธีสร้างการเติบโตด้วยการมุ่งซื้อหรือควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition) และการร่วมลงทุน (Joint Venture) นอกเหนือไปจากการขยายเครือข่ายสาขาแบบเดิมๆ "โตแต่ช้า" ท่ามกลางคู่แข่งและโอกาสทางการตลาดมากมายต้อง "รุกเร็ว" เพื่อขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโตได้ต่อเนื่อง

ในปี 2555 "เซ็นทรัล" กว้านหากิจการใหม่เข้าพอร์ตธุรกิจ ทั้ง "แฟมิลี่มาร์ท" และ "ออฟฟิศเมท"

ทศ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ ซีอาร์ซี กล่าวว่า เซ็นทรัลรีเทล อยู่ระหว่างเจรจาเข้าซื้อกิจการค้าปลีกที่น่าสนใจนับสิบๆ ดีล ทั้งในยุโรป และอาเซียน เชื่อว่า" M&A" น่าจะเป็นคำตอบที่ดีสุดในวันนี้ ในฐานะซีอีโอบรรทัดสุดท้ายของการลงทุน คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้น มาจากการเติบโตของยอดขายและผลกำไร


คลื่นลูกใหม่ "ทศ" มุ่งหน้าขับเคลื่อน "เซ็นทรัลรีเทล" โต้คลื่นด้วยความพร้อมของโมเดลธุรกิจครบทุกหมวดหมู่สินค้า ครอบคลุมการทำตลาดทุกระดับ รองรับการเติบโตทั้งไทย และทั่วโลก ประกอบด้วย กลุ่มห้างสรรพสินค้า ได้แก่ เซ็นทรัล โรบินสัน เซน และ ลา รีนาเซนเต กลุ่มฟู้ด ได้แก่ กิจการซูเปอร์มาร์เก็ต ภายใต้แบรนด์ "ท็อปส์" และ

"เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์" ร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ท กลุ่มร้านสเปเชียลตี้สโตร์ ประกอบด้วย ร้านจำหน่ายหนังสือ อุปกรณ์เครื่องเขียน และสื่อบันเทิง "บีทูเอส" และ "เพจวัน" ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ "เพาเวอร์บาย" ร้านจำหน่ายอุปกรณ์และเครื่องกีฬาครบวงจร "ซูเปอร์สปอร์ต" ร้านจำหน่ายอุปกรณ์ซ่อมแซมและตกแต่งบ้าน "โฮมเวิร์ค" และ ไทวัสดุ" รวมทั้งช่องทางขาย 24 ชั่วโมง "ชอปปิง ออนไลน์"

เครือข่ายธุรกิจเหล่านี้เป็น 'ขุมพลัง' แห่งความได้เปรียบให้กับเซ็นทรัลรีเทล ต่อ "ก้าวย่าง" ที่รอโอกาสในการ 'จับวาง' ให้ถูกที่ถูกทางเท่านั้น...ค้าปลีกกลุ่มเซ็นทรัลเวลานี้นับว่ามีวาไรตี้ของรูปแบบธุรกิจมากที่สุดรายหนึ่งในไม่กี่รายในโลกที่จะมีความหลากหลายได้เช่นนี้


---

@คนเซ็นทรัลทำงานหนัก!!


"ขยัน-ประหยัด-อดทน" คือ หลักคำสอนจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่คุณปู่ (เตียง) คุณพ่อ (สัมฤทธิ์) และคุณอา จนมาถึงวันนี้ นี่คือวัฒนธรรมของครอบครัวจิราธิวัฒน์

"ธุรกิจของเซ็นทรัลที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง เพราะเราทำงานมาก และทำงานกันหนัก ชีวิตส่วนใหญ่ คือ งาน เป็นหลักการทั่วๆ ไป และวัฒนธรรมที่สั่งสมต่อกันมา" ทศ กล่าวและว่า ยกเว้นการบริหารจัดการธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นถูกเปลี่ยนแปลงตามโลกแห่งอนาคตที่เปลี่ยนไป การทำงานไม่ใช่เรื่องของคนในครอบครัวเป็นหลัก แต่ต้องเป็น "มืออาชีพ" มากขึ้น

แม้วันนี้หลายคนจะมองว่าเซ็นทรัลก้าวไกล!! แต่เรียกว่าประสบความสำเร็จ...ยังดูยาก สิ่งที่วางไว้วันนี้จะ "ต่อยอด" ได้ขนาดไหนยังเป็นเรื่องที่ต้องโฟกัส เพราะการทำงานเปลี่ยนไปเรื่อยตามสภาวะแวดล้อม ณ ขณะนั้น หากถามเซ็นทรัลเมื่อ 10 ปีที่แล้วต่อการเปิดตลาดต่างประเทศเฉกเช่นทุนไทยจำนวนมากเริ่มรุกขยายตลาดนอกบ้าน แต่เวลานั้นเรายังไม่พร้อม มาถามวันนี้ก็คนละคำตอบ

วันนี้ เซ็นทรัล พร้อมไปต่างประเทศ แต่ แต่ก็ต้องมาปรับองค์กรใหม่ "คัดคนที่เก่งที่สุด มีผลตอบแทน-เพิ่มรายได้ มีแคเรียพาร์ทที่ดีขึ้นสำหรับบุคลากรที่ไปต่างประเทศ และหากเราไม่ทำ M&A ก็ทำให้เติบโตช้า ซึ่งช่วง 3 ปีนี้เซ็นทรัลโตเท่าตัว หากไม่ทำ M&A ก็อาจโตได้แค่ครึ่งเดียว

ยุทธวิธี M&A "เสี่ยงน้อย" และเป็นเครื่องมือสร้างการ "เติบโต" สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ในระดับหนึ่ง เป็นเทรนด์ทั่วโลก เราต้องประเมินตลอดเวลาเหมือนการลงทุนทั่วไป

"หน้าที่หลักของผมในฐานะซีอีโอ ต้องเสนอบอร์ด ถ้าลงทุน 1 ต้องได้ 10 แต่หากจะเสียต้องเสียแค่ 1 และต้องไม่มีผลกระทบกับสิ่งที่มีอยู่ เวลาประเมินต้องมองว่าเสียแล้วเสียอะไร ได้แล้วได้อะไร ผิดพลาดเคยมี!!" ทศยอมรับ สูตรลงทุน หรือวิธีคิดไม่มีอะไรตายตัว คนเราทำไม่เท่ากัน หากทำ 100 ประสบความสำเร็จ 80 เสียแค่ 20 แต่ถามว่า 80 ได้มากกว่า 20 ที่เสียไปหรือเปล่า หรือทำแค่ 20 ไม่เสียของเลยน่าจะดีกว่าหรือไม่

ธุรกิจมีความเสี่ยง มีได้ มีเสีย ได้แล้วได้อะไร ผมเป็นคนกล้าเสีย!! เสียมาไม่น้อยเหมือนกัน แต่อาศัยทำเยอะ แน่นอนต้องได้มากกว่าเสีย ไม่มีอะไร 100% แต่มั่นใจว่าถูก 80% ต้องมองในภาพรวม

ทศ ยกตัวอย่าง "บิ๊กซี" หนึ่งในความผิดพลาดที่ว่าขายหุ้นมากเกินไป เพราะวันนั้นทุกอย่างเลวร้ายมาก มองแล้วไม่เห็นฝั่ง ก็ต้อง "เซฟสุด" ขายมากสุด เหลือให้น้อยที่สุด เพราะกลัวว่า หากเขาโตต่อจาก 20 สาขา เราไม่มีเงินจะเพิ่มทุน!!

แม้วันนี้ยังรู้สึกเสียดายอยู่บ้างเพราะบิ๊กซีจัดอยู่ในกลุ่มอาหาร (Food) หากรวมท็อปส์ ทำให้พอร์ตธุรกิจกลุ่มอาหารของซีอาร์ซีใหญ่ที่สุดเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามในฐานะ "ผู้ถือหุ้น" ไม่ได้เป็นผู้บริหาร และวันนี้ไม่มีคนของจิราธิวัฒน์นั่งอยู่ในธุรกิจนี้แล้วก็ตาม ก็เสมือนนักลงทุนขาหนึ่ง จะทำเองหรือไม่ทำเองก็ไม่ต่างกัน ยิ่งการที่ "บิ๊กซี" ควบรวมกิจการ "คาร์ฟูร์" มาได้ทำให้พอร์ตธุรกิจใหญ่ขึ้นมาก มียอดขายมากกว่า 1 แสนล้านบาท ในอนาคตบิ๊กซียังจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคอาเซียนทำให้ "เซ็นทรัลรีเทล" ใหญ่ขึ้นด้วย

"ซีอีโอ" แห่งเซ็นทรัล บอกต่อว่า "คีย์ซัคเซส" ของธุรกิจท้ายสุดอยู่ที่ "คน" สำคัญยิ่ง คือ "ผู้นำ" การเติบโตต้องผลักดันให้เกิดการขยายตัวเพื่อเติบโตอย่างต่อเนื่องและ "ก้าวหน้า" เชื่อว่าไม่ใช่คนส่วนใหญ่ที่ชื่นชอบการขยายงาน เป็นคนส่วนน้อยด้วยซ้ำ แต่ถ้าไม่ผลักดันจะเป็นแค่การเติบโตแบบเรื่อยๆ ท่ามกลางการแข่งขันรุนแรงย่อมไม่ดีแน่นอน

"ผู้นำ" ต้องหมั่นดูแลผลประกอบการ "โต" แล้วต้องมี "กำไร" สร้างฐานการเงินที่แข็งแรง ถามว่าจะมี "ซีอีโอ" กี่คนที่ดู 4-5 เรื่องพร้อมกันได้ สะท้อนถึงความสำคัญและคุณภาพของ "คน" ทุกระดับ นั่นคือ ทีมและระบบที่ดี!! แม้ตัวบุคคลไม่ครบ แต่ทุกอย่างสามารถขับเคลื่อนได้ตามระบบโดยอัตโนมัติ จะทำให้บริษัท "โต" ทำให้คนรักในงาน

แม้กระทั่ง "บอร์ด" ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าทีมปฏิบัติการ "บอร์ด" ต้องทำหน้าที่ดูแล "ผู้บริหาร" ขณะที่ "ผู้บริหาร" ดูแล "ลูกน้อง" หลายบริษัทมีปัญหาที่บอร์ดไม่ดูแลผู้บริหาร ทำให้ผู้บริหาร "ไม่มีกำลังใจ"

ปัจจุบัน บทบาทโฮลดิ้ง คอมปะนี ของ "ซีอาร์ซี" ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เป็นพอร์ตลงทุน โดยมี "บิซิเนส ยูนิต" หลากหลาย แต่ละธุรกิจมี "ผู้นำ" ซึ่งคนเหล่านี้ต้องมี Passion ชอบและตั้งใจสูง!!

ฉะนั้น องค์กรสำคัญที่ คน-ทีมเวิร์ค การดูแลซึ่งกันและกันให้ดี สร้าง "ระบบ" ให้ขับเคลื่อนได้รองรับเป้าหมายทางธุรกิจและการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว "ปีเดียว" ไม่มีความหลาย วงจรธุรกิจต้องมองยาว 10-20 ปี!! ดีที่สุดคือ 10 ปี ไม่สั้นและไม่ยาวจนเกินไป