หน้า 3 จากทั้งหมด 3

Re: ลงทุน 100 ปี กับ หุ้นต่างประเทศ

โพสต์แล้ว: พุธ ต.ค. 26, 2016 3:22 pm
โดย picatos
large เขียน:ขอบคุณอจ. picatos มากครับ ความคิดความอ่านยังเฉียบคมเช่นเดิมครับ
picatos เขียน:จริงๆ ยอดขายที่ MobilEye ขายให้ Tesla นี่ไม่ถึง 1% ของยอดขายทั้งหมดนะครับ อย่างปี 2015 MobilEye ขายชิปไปทั้งหมด 4.4 ล้านชิ้น ดังนั้นผมว่าการที่แตกหักกับ Tesla อาจจะเป็นประโยชน์ต่อ MobilEye มากกว่า เพราะ ผมว่าพวก Conventional Car Company น่าจะเหม็นขี้หน้า Tesla อยู่พอสมควร
โอ้ ข้อมูลนี้ผมพึ่งทราบจริงๆ นึกว่า tesla จะเป็นลูกค้ารายใหญ่ซะอีก ผมไม่ได้ติดตาม Mobileye จริงจังด้วยแหล่ะครับ น่าสนใจครับ อยากให้วันที่ driverless car มาถึงในเร็ววันจริงๆ จากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
เท่าที่ศึกษาดู ผมว่ามันจะกลายเป็นว่ารถยนต์รุ่นใหม่ๆ ใครๆ ก็เป็น Driverless มากกว่าครับ เหมือนกับเป็น Feature ที่มี AirBag, ABS, Cruise Control แล้วมันก็กลายเป็น Self-drive

MobilEye ตอนนี้ Partner ที่จะทำระบบ Self-Drive ให้กับบริษัทรถเต็มไปหมดเลยครับทั้ง BMW, GM, VW ปีนี้ทยอยประกาศ Partnership ออกมาเรื่อยๆ

รอดูกันครับ พอปี 2020 นี่ เราคงจะพอเห็นภาพได้ชัดเจนเลยว่า การขับรถจะเปลี่ยนไปมาก และไม่ได้เป็นแค่ไม่กี่ Brand ที่ขับตัวเองได้ แต่กลายเป็นว่าทุกๆ แบรนด์จะขับตัวมันเองได้

Re: ลงทุน 100 ปี กับ หุ้นต่างประเทศ

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ พ.ค. 28, 2017 6:58 pm
โดย picatos
เมื่อวานมีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้ผมรู้สึกว่าผมอาจจะได้เจอกิจการ 100 ปีอีกกิจการหนึ่ง เลยรู้สึกอยากเขียน Update กระทู้สักเล็กน้อย

เหตุการณ์นั้น คือ การที่ AlphaGo เอาชนะ Ke Jie นักเล่นโกะมือ 1 ของโลกขาดลอย ชนิดที่ทำให้ Ke Jie ต้องนั่งเช็ดน้ำตาร้องไห้อยู่หน้ากระดานหมาก เพราะ เล่นยังไงก็รู้สึกว่าตัวเองห่างไกลจากฝีมือของ AlphaGo มากๆ ผมนั่งดู Ke Jie เล่นก็รู้สึกเหมือนกับว่า เด็กเล่นกับผู้ใหญ่อย่างไรก็ไม่รู้ ทั้งนั้นที่เด็กคนนั้นคือ มือหนึ่งของโลก ที่ได้ชื่อว่าเป็นอัจฉริยะแห่งยุคสมัยแล้วเชียว

ประเด็นที่น่าสนใจคงไม่ใช่เรื่องที่ AI สามารถเอาชนะมนุษย์ได้ เพราะ เมื่อปีที่แล้ว Alpha Go สามารถเอาชนะ Lee Sedol อดีตมือหนึ่งของโลกได้ไปแล้ว แต่ที่น่าสนใจคือ ในเวลา 1 ปี AlphaGo Version ใหม่นั้นเก่งกว่า Version เก่ามาก ถึงขนาดว่ากับจับเอา 2 Version มาเล่นแข่งกัน ถ้าจะเล่นให้พอสู้กันได้ ต้องให้ Version ใหม่ต่อหมากให้ Version เก่า 3 เม็ด เท่านั้นยังไม่พอ Version ใหม่นี้ใช้ประสิทธิภาพของเครื่องน้อยลง 10 เท่า แถมใช้ข้อมูลจากมนุษย์ในการฝึกฝีมือน้อยลง

---------------------

ย้อนเหตุการณ์กลับไปช่วงประมาณเดือนมีนาคมที่ผ่านมา MobilEye ที่ผมได้ลงทุนเอาไว้ โดน Intel ประกาศ Take Over ไป ทำให้ผมงานเข้า จำเป็นต้องหาหุ้นใหม่เพื่อเอามาแทน MobilEye และผลของการหาหุ้นใหม่ทำให้ผมได้มีโอกาสเจอหุ้นระดับสุดยอดที่อาจจะเป็นหุ้น 100 ปีได้อีกตัวหนึ่ง

คือช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ตอนที่ผมตัดสินใจลงทุนใน MobilEye ด้วยเหตุผลว่าอยากลงทุนใน Self-drive car ผมได้อ่าน Paper เกี่ยวกับ Autonomous Vehicle อยู่หลายอัน หนึ่งในนั้นนักวิเคราะห์ได้เขียนถึง NVDA เอาไว้ด้วย ซึ่งนี่เป็นหุ้นที่นักวิเคราะห์เชียร์ซื้ออยู่ด้วย แต่ในตอนนั้นผมคิดว่าการวิเคราะห์ NVDA ดูแล้วจะยากกว่าการวิเคราะห์ MobilEye เพราะ มันไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจหลายอย่างมาก ทั้งเกมส์ กราฟฟิก HPC ตลาด Server ตลาด AI และ Self-Drive Car ด้วยความขี้เกียจที่จะเข้าไปศึกษา เลยตัดสินใจตัดช่องน้อยแต่พอตัว เลือกที่จะ Focus อยู่แต่กับ Self-Drive Car เลยเลือกที่จะลงทุนใน MobilEye โดยไม่ได้เข้าไปศึกษา NVDA ให้ละเอียดๆ

จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ที่ MobilEye โดน Take Over ขึ้น NVDA จึงเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่ถูกนำมาศึกษาต่อ เพราะ การศึกษาแบบต่อยอดจากมุมมองเดิมมันง่ายกว่าการที่ต้องไปเริ่มอะไรใหม่หมด และนั่นก็ถือว่าเป็นความโชคดีสุดๆ ที่ผมได้มีเจอโอกาสในการลงทุนครั้งสำคัญอีกครั้งในชีวิต ซึ่งน่าจะช่วยให้ผมไม่ต้องลำบากหาหุ้นไปอีกนาน

--------------------------------------

ถ้าเพื่อนๆ ได้มีโอกาสศึกษาแนวคิดของนักเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน นักคิดหลายๆ คนมองว่า ณ จุดนี้ในปัจจุบันกำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลก บางคนเรียกว่า 4th Industrial Revolution บางคนเรียกว่า 2nd Machine age บ้าง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้เกิดจากการปฏิวัติของ AI (Artificial Intelligence)

ถ้าจะคุยเรื่องนี้ คงจะอธิบายกันยาว ผมว่าถ้าเพื่อนๆ คิดจะศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ คงจะมีหนังสือให้อ่านกันอีกเยอะ และมีนักคิด นักพูด นักอ่าน ทำเอาไว้แล้วเยอะแยะมากมาย ป่วยการและเปลืองแรงมากๆ สำหรับคนขี้เกียจๆ อย่างผมจะมาเขียนซ้ำ

เอาเป็นไว้ ณ จุดนี้กำลังจะเกิดจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของโลก (Inflection Point) ที่มันจะเปลี่ยนอย่างเร็วมากๆ เพราะ ความบรรจบกันของความพร้อมในเรื่องของ
1) วิธีการสร้าง AI ที่เรียกว่า Deep Learning ซึ่งเป็นวิธีการที่โยนข้อมูลใส่เข้าไปให้กับ AI แล้วให้ AI เรียนรู้ด้วยตัวเอง
2) ความพร้อมของข้อมูลจำนวนมากมายมหาศาลจากการเกิดขึ้นของ Smartphone และ IoT ที่จะเป็นข้อมูลในการสร้าง AI
3) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของ GPU ซึ่งเป็น Chip ในการทำ Deep Learning ที่เร็วขึ้นกว่าเดิมมาก โดยที่ GPU ล่าสุดในปีนี้ได้เร็วกว่าเมื่อ 2 ปีที่แล้วถึง 15 เท่าตัว
4) Cloud Service ที่ทำให้ปัจจุบันใครอยากจะสร้าง AI ก็สามารถหาเช่าระบบมา Train AI ได้ในราคาถูกๆ หรือจะใช้บริการ AI พื้นฐานบางตัวในงานของเราก็มาให้เลือกใช้ง่ายๆ ในราคาย่อมเยาว์

บางคนอาจจะคิดว่า AI จะช่วยทำอะไรล้ำๆ เหนือจินตนาการ อย่างการค้นหายาวิเศษที่สามารถรักษาโรคได้ทุกโรค ยืดอายุมนุษย์ หรือทำให้รถบินได้โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ แต่ผมกลับคิดประโยชน์ที่แท้จริงที่จะมีผลกระทบกับโลกมากๆ คือ การลดความสิ้นเปลืองที่สูญเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์จากการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ

โลกในทุกวันนี้เกิดความเสียเปล่าจากการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพอยู่มากมายมหาศาล เอาง่ายๆ อย่างสัญญาณไฟจราจรที่เราต้องเจออยู่ทุกวันนี้ ที่ควบคุมด้วยตำรวจจราจรไทยอันแสนชาญฉลาด สมมติว่าถ้ามี AI สักตัวหนึ่งที่เอาข้อมูลของกล้องวงจรปิดมาประมวลผลอย่างเหนือชั้น แล้วปรับสัญญาณไฟให้เหมาะสมกับสภาพการจราจร เราจะประหยัดเวลาการเดินทางได้ขนาดไหน

ตำรวจไทยจะฉลาดกว่า AI หรือ AI จะฉลาดกว่าตำรวจ... คำถามอันนี้คงจะตอบได้ยาก เพราะ ตำรวจไทยก็อาจจะมั่นใจในฝีมือการเปิด-ปิดสัญญาณไฟจราจรของตัวเองมาก จนไม่เปิดโอกาสให้ประลองฝีมือกับ AI ได้ทดสอบกัน

แต่ที่ Google วิศวกรอันชาญฉลาดยอมให้มีการทดลองนี้เกิดขึ้น...

เค้าว่ากันว่าที่ Google มีวิศวกรที่เก่งๆ มารวมตัวกันอยู่เยอะที่สุดในโลก และงานในส่วน Data Center ซึ่งเป็นสถานที่ๆ ใช้เก็บ Server ที่จะให้บริการลูกค้า ก็ถูกวิศวกรเหล่านี้ออกแบบและควบคุม เพื่อที่จะรีดประสิทธิภาพออกมาให้มากที่สุด โดยใช้พลังงานให้น้อยที่สุด

การทดลองเกิดขึ้น โดยวิศวกรเหล่านี้ลองปล่อยมือให้ทีมงานของ Deepmind เอาระบบ AI เข้ามาบริหารจัดการดู วิศวกรของ Google ตอนแรกก็คิดว่าเราทำเต็มที่แล้ว Deepmind คงจะทำอะไรไม่ได้มาก แต่หลังจากที่เอา AI เข้ามาจัดการ ผลปรากฎว่า Data Center ใช้พลังงานไฟฟ้าลดลงไปได้ถึง 40%

ผลที่เกิดขึ้นช็อคความคาดหมายของทีมงาน Google เป็นอย่างยิ่ง ส่งผลให้ Google กำหนดนโยบายให้ Data Center ของ Google ต่อจากนี้จะสามารถปรับ Parameter ต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ AI ควบคุมจัดการ Data Center ได้มากยิ่งขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้การรีดประสิทธิภาพให้สูงขึ้นไปอีก

จะเกิดอะไรขึ้น หากเราเอา AI มาควบคุมไฟจราจรแทนตำรวจจราจร

จะเกิดอะไรขึ้น หากรถทุกๆ คัน ขับเคลื่อนด้วยตัวมันเองได้ โดยไม่ถูกข้อจำกัดทางร่างกาย หรือสิ่งรบกวนต่างจากโทรศัพท์มือถือของคนขับมาทำให้ประสิทธิภาพในการขับรถลง


"ความไร้ประสิทธิภาพ" จากการบริหารจัดการโดยมนุษย์ ก่อนให้เกิดต้นทุนที่สูญเปล่าจำนวนมากมายมหาศาลในระบบเศรษฐกิจ และนี่แหละ คือ สิ่งที่ AI จะเข้าช่วยองค์กรทุกๆ องค์กรได้ ถึงแม้ว่าองค์กรนั้นๆ จะไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเลยก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนในการสั่งซื้อของมากเกินความจำเป็น การบริหาร Supply Chain ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น การใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง อย่างการเปิดแอร์ทิ้งเอาไว้ทั้งๆ ที่ไม่มีคนอยู่ เงินที่สูญเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์จะกลับมาอยู่ในกำไรบรรทัดสุดท้ายที่สูงขึ้น

และนั่นเองเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมมองว่า AI อาจจะเข้ามาในองค์กรต่างๆ จะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่หลายๆ คิดกัน และเมื่อเวลาผ่านไปทุกๆ 1 ปี เราก็จะยิ่งใช้ประสิทธิภาพเครื่องน้อยลง ใช้ข้อมูลน้อยลงฃ ใช้เวลาน้อยลง ในราคาที่ถูกลง แต่ได้ผลลัพธ์ที่สูงขึ้น ในการทำ AI และเมื่อต้นทุนของ AI มันถูกลงถึงจุดหนึ่ง ทุกๆ องค์กรก็จะใช้ AI เหมือนกับที่ทุกๆ บริษัททุกวันนี้มีคอมพิวเตอร์ เหมือนกับที่เราทุกคนทุกวันนี้ใช้ Smartphone

แถมอัตราความเร็ว ความเร่งที่ผมเห็นในขณะนี้ เป็นอัตราเร็วที่เร็วกว่าอดีตมากมาย ในอดีตเวลาเราพูดถึงประสิทธิภาพที่สูงขึ้นของคอมพิวเตอร์ เรามักจะอ้างอิงถึง Moore Law ที่พูดว่า CPU จะเร็วขึ้น 2 เท่าในทุก 18 เดือน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้อัตราเร็วอยู่ที่ 5-10 เท่าในทุก 1 ปี นั่นหมายถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้ เป็นกำลังจะเกิดในความเร็วที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษย์

สรุปอีกครั้งในเห็นภาพ ณ ปัจจุบัน
- เรามีข้อมูลเพิ่มขึ้นมากๆ จาก Smartphone และ IoT
- แต่เราใช้ข้อมูลน้อยลงในการทำ AI
- เรามี GPU ที่เร็วขึ้นมากๆ อย่าง Nvidia Volta เร็วกว่า Pascal 5 เท่า และเร็วกว่า Maxwell 15 เท่า
- แต่เราใช้ประสิทธิภาพลดลง 10 เท่าในการทำให้ AlphaGo ในปีนี้เก่งกว่าปีที่แล้ว
- เรามี AI พื้นฐานที่ถูก Train เอาไว้แล้วให้ใช้บริการใน Cloud อย่าง AI ในการวิเคราะห์ เสียง การแปลภาษา ภาพ วีดีโอ สีหน้า และพฤติกรรมของคน ให้สามารถเรียก API มาใช้ได้ง่ายๆ ในราคาย่อมเยาว์
- เรากำลังจะมี AI ที่ช่วยเหลือธุรกิจต่างๆ ที่ถูก Train ทักษะพื้นฐานเอาไว้แล้ว ในการขับรถด้วยตัวเอง ขับเครื่องบินอัตโนมัติ วิเคราะห์สินเชื่อ วิเคราะห์ลูกค้า ช่วยเหลือทางบัญชี หาหุ้น หาการลงทุน เขียนข่าว ตลอดจน AI ในการวิเคราะห์โรคต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น

และในบรรดากิจการที่เกี่ยวข้องกับ AI ทั้งหมด มีกิจการหนึ่งที่โดดเด่นเหนือกว่ากิจการอื่นๆ อยู่กิจการหนึ่งในความรู้สึกของผม กิจการนั้นคือ Nvidia ครับ

Re: ลงทุน 100 ปี กับ หุ้นต่างประเทศ

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ พ.ค. 28, 2017 7:28 pm
โดย picatos
Nvidia ในความทรงจำของผมในอดีต คือ บริษัทที่ทำการ์ดจอ 3 มิติ สำหรับเล่นเกมส์ แต่ในปัจจุบันผลพลอยได้จากผลิตภัณฑ์ของ Nvidia ในอดีตถูกนำมาใช้ในเรื่องของ AI อย่างเป็นเรื่องเป็นราว และถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่สำคัญในการทำ AI ประเภท Deep Learning

สำหรับ Technical Detail ของ Nvidia นี้ผมคงจะไม่ลงในรายละเอียด แต่โดยสรุปคือ

- ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน Nvidia ทำ ชิป GPU ที่ผ่านการต่อสู้กับคู่แข่ง จนมีชัยชนะที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ครองตลาด GPU ได้สำเร็จ ซึ่งฐานผู้ใช้ที่ยกให้ Nvidia เป็นเบอร์หนึ่งทำให้ถ้าพูดถึงเรื่อง GPU แล้ว Nvidia มีสถานะเหมือน Intel ในตลาด CPU เหมือน ARM สำหรับชิปมือถือ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มี Barrier to Entry สูง

- โชคดีมากๆ ที่ GPU ของ Nvidia เป็นหัวใจสำคัญในการ Train AI ประเภท Deep Neutral Network ซึ่งยังไม่มีชิปตัวไหน และถึงจะมีก็น่าจะตาม Technology ของ Nvidia ได้ยากแล้ว เพราะ เริ่มทำมาก่อนถึง 20 ปี และถึงจะตามทัน Platform ของ Nvidia ก็ถือเป็น Standard ของตลาดไปแล้ว มี Network Effect พอสมควรแล้ว

- Nvidia ได้ Transform ตัวเองจากบริษัทผลิต GPU กลายมาเป็น Software Company ที่สนับสนุนการทำ AI โดยร่วมมือกับบริษัทชั้นนำต่างๆ ทั่วโลกในการพัฒนา AI

- AI ได้เปลี่ยนวิธีการเขียนโปรแกรมจาการที่นักพัฒนาต้องนั่งเขียนโปรแกรม เราเอาข้อมูลโยนเข้าใส่ในโมเดล แล้วให้ AI หาความสัมพันธ์ เขียนโปรแกรมให้เราอัตโนมัติ กำลังจะเปลี่ยนวิธีการพัฒนา Software จากหน้ามือเป็นหลังมือ ทำให้การสร้าง AI เป็นเรื่องง่ายขึ้นมาก

- เพราะ มันง่าย มันกำลังจะถูกลง และประโยชน์มีมากมายมหาศาล แถมพัฒนาการที่เกิดขึ้นมันเร็วจนอาจจะทำให้เราตามไม่ทัน คนจึงแห่กันขึ้นขบวนรถคันนี้อย่างเร่งรีบ

- ฐานข้อมูล องค์ความรู้ของ Nvidia ที่ชิงเข้าสู่ตลาดก่อน และมี Connection การพัฒนาร่วมกันกับบริษัทชั้นนำจำนวนมากมาย ทำให้เกิดความเป็นไปได้อันมากมายมหาศาลจากการรีบวิ่งขึ้นรถ เพราะ กลัวตกขบวน เพราะ กลัวธุรกิจตัวเองจะถูก Disrupt อย่างรวดเร็ว

-------------------------------------------------------

ภาพในระยะสั้นตอนนี้ CEO ของ Nvidia บอกว่า เรากำลังอยู่ในช่วงต้นเกมส์ของกีฬา คนดูกำลังซื้อน้ำ ซื้อขนม นักกีฬากำลังเริ่มๆ แข่งกันอยู่ แต่พอเริ่มแข่งกันไปสักพัก ผลของ Exponential Growth จะทำให้ Speed ของการแข่งเมื่อเริ่มไปสักพัก เหมือนจะแข่งกันด้วยความเร็วแสง

--------------------------------------------------------

ทำไม ผมถึงคิดว่า Nvidia มีโอกาสที่จะเป็นกิจการ 100 ปี?

ถ้า Nvidia ทำ GPU อย่างเดียว ผมคงจะไม่คิดว่า Nvidia เป็นได้

แต่เมื่อ Nvidia Transform ตัวเองเป็น AI Company ที่ Mission ของกิจการ คือ การ Support ลูกค้า กิจการต่างๆ ในอุตสาหกรรมต่างๆ ในการทำ AI ผมเชื่อว่าในอนาคตวันหนึ่ง Robot และ AI จะเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ หรือช่วยเหลือมนุษย์ในการทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ มากถึงจุดหนึ่งที่มนุษย์เลือกที่จะยกงานส่วนใหญ่ให้หุ่นยนต์ทำแทน

ภาพในระยะยาวผมเชื่อในสังคม Utopia สังคมที่มนุษย์กิน อยู่ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ทำงานเพราะอยากทำ มีความสุขในการทำ ไม่ได้ทำเพราะจำเป็นต้องทำเพื่อหาเลี้ยงชีพ ถ้าไม่มีความสุขในการทำงาน ก็ไม่ต้อทำ และหุ่นยนต์มาทำงานแทนให้ โดยจะมีรัฐบาลหรือองค์กรที่ให้เงินเอาไว้ใช้จ่าย แม้จะไม่ได้ทำงาน

และถ้าภาพในระยะยาวของมนุษยชาติเป็นอย่างนั้นจริงๆ คนที่อยู่เบื้องหลัง AI และ Robot ที่สำคัญ น่าจะเป็นองค์กรที่มีอยู่ยืนยาวได้เป็น 100 ปี

และในบรรดาองค์ที่มี Mission ของ องค์กรที่เน้นไปด้าน AI ที่โดดเด่นในตำแหน่งการแข่งขัน ผลิตภัณฑ์ และบริการ ตอนนี้ผมเห็นอยู่ 2 องค์กรครับ นั่นคือ Google และ Nvidia

ผมเชื่อครับว่า 2 บริษัทนี้น่าจะเป็นการลงทุนระดับ 100 ปี ได้

Re: ลงทุน 100 ปี กับ หุ้นต่างประเทศ

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ พ.ค. 28, 2017 9:03 pm
โดย harikung
อาจารย์ตี่ยังสุดยอดเหมือนเดิมจริงๆครับ :bow:

Re: ลงทุน 100 ปี กับ หุ้นต่างประเทศ

โพสต์แล้ว: จันทร์ พ.ค. 29, 2017 11:12 am
โดย investment biker
ตอนนี้อาจจะดูเหมือนได้เปรียบมากครับ เพราะก่อนหน้านี้ยังไม่มีใครทำ cpu ที่ใช้กับ AI โดยตรง แต่ตอนนี้เริ่มมีแล้วครับ ทำโดย google: https://www.theverge.com/2017/5/17/1564 ... ing-system

ขอความเห็นคุณ Picatos หน่อยว่าการที่ Google ได้พยายามพัฒนา Hw และ Sw ไว้ใช้กับ AI โดยเฉพาะขึ้นมาเอง (AlphaGo ใช้ชิบที่ Google พัฒนาขึ้นมาเอง) ในอนาคตอันใกล้มีโอกาสที่ Nvidia จะโดน Disrupted โดย Google มั๊ยครับ

Re: ลงทุน 100 ปี กับ หุ้นต่างประเทศ

โพสต์แล้ว: จันทร์ พ.ค. 29, 2017 2:02 pm
โดย picatos
investment biker เขียน:ตอนนี้อาจจะดูเหมือนได้เปรียบมากครับ เพราะก่อนหน้านี้ยังไม่มีใครทำ cpu ที่ใช้กับ AI โดยตรง แต่ตอนนี้เริ่มมีแล้วครับ ทำโดย google: https://www.theverge.com/2017/5/17/1564 ... ing-system

ขอความเห็นคุณ Picatos หน่อยว่าการที่ Google ได้พยายามพัฒนา Hw และ Sw ไว้ใช้กับ AI โดยเฉพาะขึ้นมาเอง (AlphaGo ใช้ชิบที่ Google พัฒนาขึ้นมาเอง) ในอนาคตอันใกล้มีโอกาสที่ Nvidia จะโดน Disrupted โดย Google มั๊ยครับ
TPU version 2 โดยสถาปัตยกรรมแล้วเป็นแบบ asic ซึ่งใน 1 แผงจะมี ชิปอยู่ 4 ตัว ดังนั้น 180 tflops ของ Google จริงๆ แล้วเท่ากับ 45 tflops เทียบกับ volta ของ Nvidia ที่ 120 tflops แล้วยังถือว่าตามหลังอยู่เยอะ

อย่าง spec ใช้งานจริงของ volta เค้าจะเอา gpu 8 ตัวมาต่อกับ cpu ทำงานเป็น 1 unit

แม้ว่า tpu ของ Google จะช้ากว่า แต่ประโยชน์จากการใช้สถาปัตยกรรมแบบ asic จะอยู่ที่งาน inference เนื่องจากสถาปัตยกรรมประเภทนี้กินไฟน้อยกว่า

แต่สุดท้ายเทคโนโลยีอะไรก็แล้วแต่ ลูกค้าตัดสินใจใช้หรือไม่ จะอยู่ที่ราคา กับ availability ในเรื่องราคาก็ไม่รู้เหมือนกันว่า Google จะทำราคามาโหดไหน แต่ที่แน่ๆ คือ availability ของ tpu จะมีแค่บน Google cloud platform ซึ่งทาง Google ต้องการ differentiate ตัวเองจาก csp เจ้าอื่นๆ โดยเน้นไปที่ ai

ซึ่งผมมองว่าการที่ Google ทำแบบนี้ ยิ่งทำให้ csp รายอื่นๆ อย่าง amazon, Microsoft, Alibaba, tencent ยิ่งจำเป็นต้องพึ่งพา nvda มากยิ่งขึ้น และยิ่งทำให้ระยะสั้น nvda ยิ่งได้ประโยชน์ขึ้นไปอีก

ถ้าพี่เชาว์พี่เวลา ผมอยากให้พี่ลองฟัง investor day รอบล่าสุดของ nvda ดูครับ โดยเฉพาะช่วงต้น กับช่วง q&a ผมว่าเราจะเห็นทิศทางของบริษัท พัฒนาการในอนาคตของตลาด ตลอดถึงการแข่งขันที่ชัดมากเลยครับ

ceo เป็นคนที่ทุ่มสุดตัวมาก strategy เป็นแบบ all or nothing ซึ่งผมเชื่อจะครับว่าเค้ามาถูกทาง

ส่วน Google จะ disrupt nvda หรือไม่นี่ ผมคิดว่าไม่น่าทำได้ คล้ายๆ กับ Google ไม่สามารถไป disrupt cpu ของ Intel ได้

แต่เนื่องจาก การทำ ai มันจะแบ่ง ตลาดชิปเป็น 2 ส่วน คือ training กับ inference และ nvda เลือกที่จะทิ้งตลาด inference ไปให้คนอื่นทำกันเอาเอง เลย open-source ส่วน inference ของตัวเองซะ

และ tpu ก็เป็นผลผลิตจากการที่ยังไม่มีชิป inference ดีๆ Google เลยต้องเลือกที่จะทำเอง

สุดท้ายแล้วตลาด training ถ้า technology ของ nvda ยังคงล้ำหน้าคนอื่นไปเรื่อยๆ ecosystem ที่ nvda ได้สร้างขึ้นในช่วงนี้ น่าจะทำให้ nvda เป็นผู้ชนะในระยะยาวได้ครับ ผมเชื่อแบบนั้น

Re: ลงทุน 100 ปี กับ หุ้นต่างประเทศ

โพสต์แล้ว: อังคาร พ.ค. 30, 2017 9:21 am
โดย sai
สุดยอดจริงจริงครับ อ. ตี่ แวะมา post บ่อยบ่อยนะครับ

Re: ลงทุน 100 ปี กับ หุ้นต่างประเทศ

โพสต์แล้ว: อังคาร พ.ค. 30, 2017 5:06 pm
โดย Green prince
อนาคตโลกเราคงเป็นเหมือนในหนังเรื่อง Elysium ,รัฐบาลคุมหุ่นยนต์ คนไม่ต้องทำงาน :D

Re: ลงทุน 100 ปี กับ หุ้นต่างประเทศ

โพสต์แล้ว: พุธ พ.ค. 31, 2017 12:54 am
โดย นายมานะ
investment biker เขียน:ตอนนี้อาจจะดูเหมือนได้เปรียบมากครับ เพราะก่อนหน้านี้ยังไม่มีใครทำ cpu ที่ใช้กับ AI โดยตรง แต่ตอนนี้เริ่มมีแล้วครับ ทำโดย google: https://www.theverge.com/2017/5/17/1564 ... ing-system

ขอความเห็นคุณ Picatos หน่อยว่าการที่ Google ได้พยายามพัฒนา Hw และ Sw ไว้ใช้กับ AI โดยเฉพาะขึ้นมาเอง (AlphaGo ใช้ชิบที่ Google พัฒนาขึ้นมาเอง) ในอนาคตอันใกล้มีโอกาสที่ Nvidia จะโดน Disrupted โดย Google มั๊ยครับ
เสริมพี่ picatos ขอตอบคำถามของพี่ investment biker ด้วยบทความครับ คิดว่าค่อนข้างเคลียร์ว่าทำไม TPU จึงยังไม่(สามารถ)แข่งกับ GPU ได้ตรงๆ https://www.forbes.com/sites/aarontille ... 57f7296878

ถ้าสรุปสั้นๆ คือ 1. AI Developer ไม่ได้คิดจะใช้ TPU เพราะ ถ้าใช่เท่ากับต้องผูกกับ TenserFlow ของ GOOG เจ้าเดียว ย้าย platform ลำบาก
2. AI Developer หลายราย perfer ที่จะใช้ hardware ของตัวเองมากกว่าเช่า cloud ของ GOOG
แถมข้อ 3. ตลาดนี้ใหญ่พอที่จะแบ่งเค้กกันได้ ถ้ามีการแข่งขันเกิดขึ้นครับ

จาก learning curve ณ ปัจจุบัน ต้องบอกว่ายังไม่เห็นใครตาม NVDA ทันอยู่ แต่ Big Tech Firm ก็ spending R&D กันมหาศาลในแต่ละปี จะมีอะไรโผล่ออกมาบางมั้ยก็ติดตามกันต่อไปครับ

Re: ลงทุน 100 ปี กับ หุ้นต่างประเทศ

โพสต์แล้ว: พุธ พ.ค. 31, 2017 6:55 pm
โดย yoyo
มาแอบอ่าน ได้ความว่า คุยอะไรกัน ไม่รู้เรื่องเลย

Re: ลงทุน 100 ปี กับ หุ้นต่างประเทศ

โพสต์แล้ว: พุธ ก.ย. 12, 2018 3:06 pm
โดย Nexeus
ณ เวลานี้ fb จะสามารถเข้าข่ายองค์กร 100 ปี ได้มั้ยครับ

Re: ลงทุน 100 ปี กับ หุ้นต่างประเทศ

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ก.ย. 13, 2018 12:21 pm
โดย smallpunk
https://ahead.asia/2018/06/28/facebook-revolution/

แผนโค่น Mark Zuckerberg : เมื่อผู้ถือหุ้น Facebook ขอปฏิวัติ
โดย Chatree Tansathawerat - มิถุนายน 28, 2018
คงไม่มีใครคัดค้านว่า Facebook ก็คือ Mark Zuckerberg และตัวของผู้ก่อตั้งรายนี้ ก็คือสัญลักษณ์ของโซเชียลมีเดียเบอร์หนึ่งโลก

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่ผุดขึ้นไม่หยุดหย่อน รวมถึงตัวเลชความเสื่อมถอยของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มมองหาทางเลือกอื่นในการใช้งาน ก็เป็นสัญญาณเตือนภัยเล็กๆสำหรับ “พี่มาร์ค” ว่าควรต้องแก้ไขอะไรบางอย่าง

และในมุมมองของกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ที่ถือครองหุ้นบริษัท กว่า 3,000 ล้านดอลลาร์

สิ่งที่ “พี่มาร์ค” ควรเปลี่ยนเป็นอันดับแรก

คือตัวเขาเอง และโครงสร้างการบริหารขององค์กร

แม้จะประสบความสำเร็จอย่างสูง นับแต่นำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในปี 2012

หุ้นของ Facebook มีอัตราเติบโตกว่า 400% ส่วนรายรับก็พุ่งถึงเกือบ 1,000% ไปแตะที่หลัก 40,000 ล้านดอลลาร์ (1.2 ล้านล้านบาท)

ปัจจุบัน ตัวเลขผู้ใช้งานก็สูงถึงเดือนละ 2,200 ล้านคน หรือคิดเป็น 30% ของประชากรโลก จนแทบเป็นการผูกขาดในอุตสาหกรรมนี้ ถ้าเทียบกับยอดผู้ใช้งานโซเชียลอื่นๆ อย่าง Twitter หรือ Snap

แต่ความไม่พอใจของเหล่า ผู้ถือหุ้น ก็ก่อตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน ซึ่งนับเป็นครั้งแรก นับแต่ทำ IPO ในปี 2012 ที่เกิดกระแสต่อต้านมากขนาดนี้

Business Insider ได้พูดคุยกับผู้ถือหุ้นใหญ่หกราย และได้รับข้อมูลว่ามีความไม่พอใจเกิดขึ้นจริง หลังเกิดข่าวฉาวหลายครั้งกับการให้บริการ

ตั้งแต่การแทรกแซงการเลือกตั้ง ไปจนถึงข้อมูลรั่วในกรณี Cambridge Analytica “โดยไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม”

หนึ่งในนั้น คือ Scott Stringer ซึ่งดูแลหุ้นมูลค่ารวม 895 ล้านดอลลาร์ ผ่านกองทุนบำนาญของนิวยอร์ค

Stringer กล่าวว่าโครงสร้างการบริหารในปัจจุบัน เอื้อให้เกิด “ความเสี่ยง” ที่อาจกระทบต่อ ชื่อเสียงขององค์กร การดำเนินงานที่ขัดต่อกฏหมาย ฯลฯ และกรณีของ Cambridge Analytica ก็สร้างความกังวลให้ตนเป็นพิเศษ ทั้งในฐานะผู้ดูแลเงินจากกองทุน

และอนาคตทางการเมืองของตน ในฐานะว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองในปี 2021 ในนามตัวแทนพรรคเดโมแครท

แม้บริษัทจะประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่เหตุผลหลักที่บรรดาผู้ถือหุ้นไม่พอใจ Zuckerberg เป็นเพราะเจ้าตัวไม่เคยรับฟังความเห็นของใครเลย

Michael Frerich ซึ่งลงทุนใน Facebook ไป 35 ล้านดอลลาร์ กล่าวถึงแนวทางการบริหารของผู้ก่อตั้งรายนี้ว่า “เขาไม่ฟังใครทั้งนั้น จะบอร์ด หรือผู้ถือหุ้น สำหรับผมนี่เป็นรูปแบบการบริหารองค์กรที่แย่มาก เขาคือเจ้านายตัวเอง และตอนนี้มันก็แสดงให้เห็นแล้วว่ามันไม่เวิร์ค”

ที่ผ่านมา Frerich ซึ่งอยู่ในแวดวงการเมืองเช่นกัน เริ่มเดินหน้าจับมือกับผู้ถือหุ้นอีกสี่ราย นำโดย Natasha Lamb จาก Arjuna Captial รวมมูลค่าที่ทั้งหมดถือแล้วราว 2 พันล้านดอลลาร์ เพื่อล็อบบี้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ด้วยเหตุผลที่ว่าการบริหารงานของ Zuckerberg ขาดความน่าเชื่อถือ

และเป้าหมายในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ มีเป้าหมายสองเรื่องคือ

ต้องการให้ผู้ก่อตั้งรายนี้ ก้าวลงจากตำแหน่งประธาน เพื่อเปิดทางให้ผู้บริหารคนนอกเข้าไปทำหน้าที่แทน
และอีกข้อก็คือทำลายโครงสร้างการแบ่งระดับชั้นผู้ถือหุ้นในองค์กรลง เนื่องจากปัจจุบัน นี่คือรากฐานสำคัญในการกุมอำนาจเบ็ดเสร็จของ Zuckerberg และพรรคพวก

Jonas Kron รองประธานอาวุโสของ Trillium Asset Management ซึ่งดูแลหุ้น Facebook มูลค่า 10.5 ล้านดอลลาร์ ในนามองค์กรการกุศล Park Foundation เปรียบเทียบโครงสร้างการบริหารของ Facebook ว่าแตกต่างกับองค์กรระดับโลกอื่นๆที่มีมูลค่ามหาศาลใกล้เคียงกันโดยสิ้นเชิง

เพราะไม่ว่าจะ Apple, Google, Oracle, Twitter หรือ Microsoft ล้วนแต่แยกบทบาทของประธาน และ CEO ออกจากกันแบบชัดเจน

Kron ชี้ว่า Zuckerberg ควรลดทิฐิของตัวเองลง และหันไปพิจารณาแนวทางของ Bill Gates เมนเทอร์และต้นแบบของตนว่าเป็นอย่างไร

เมื่อครั้งลาออกจากตำแหน่ง CEO ในปี 2000 Gates จัดการแยกบทบาทของ CEO กับประธานบริหารออกจากกันโดยสิ้นเชิง

นอกจากการบริหารแบบรวมศูนย์ไว้ที่ตัวเองแล้ว อำนาจของ Zuckerberg ยังอยู่ที่เสียงโหวตด้วย

เพราะ Facebook แบ่งประเภทหุ้นออกเป็นสองคลาส โดยคลาสบีนั้น มีสิทธิ์ในการโหวตเหนือกว่ากลุ่มที่ถือคลาสเอ ถึง 10 เท่า

และ Zuckerberg ถือหุ้นในคลาสบีไว้กับตัว มากเกินกว่า 75%

หรือพูดง่ายๆคือเขาคนเดียว มีสิทธิ์ในการออกเสียงเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ถือหุ้นทั้งหมดใน Facebook นั่นเอง

“เมื่อคุณควบทั้งตำแหน่งประธาน และ CEO ไว้ด้วยกัน และถือหุ้นที่มีสิทธิ์ในการออกเสียงส่วนใหญ่ไว้เกือบหมด นี่คือส่วนผสมของยาพิษชัดๆ” Michael Connor ผู้อำนวยการของ Open Mic องค์กรสำหรับการรณรงค์ต่างๆของผู้ถือหุ้นในบริษัทชั้นนำของสหรัฐ แสดงทรรศนะ

“แปลว่าแทบไม่มีที่ว่างสำหรับคนที่คิดต่างเลย”

อำนาจของ Zuckerberg ในจักรวาลของ Facebook ไม่ต่างอะไรกับ ธานอส หลังรวมอินฟินิตี้สโตนทั้งหมดมาครอง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดสุด คือในรอบ 13 เดือนที่ผ่านมา เคยมีความพยายามเรียกร้องให้เขาสละตำแหน่งประธานบริหารมาแล้วครั้งหนึ่ง ถึงขนาดที่ผู้ถือหุ้นรายหนึ่งถูกเชิญออกจากงาน ในการประชุมผู้ถือหุ้นปีกลาย เพราะกล่าวแสดงความไม่พอใจการบริหารงานแบบ “เผด็จการ” ของ Zuckerberg

สุดท้าย ข้อเสนอดังกล่าวก็ถูกโหวตตกไป แม้จะได้รับความเห็นชอบจากกลุ่มผู้ถือหุ้นทั่วไป (ซึ่งก็คือกลุ่มที่ถือหุ้นคลาสเอ) ถึง 51% ก็ตาม

ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้ง ในการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งล่าสุด เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ข้อเสนอในการปรับโครงสร้างระดับของหุ้นถูกยื่นเข้าสู่ที่ประชุม และแพ้ในการโหวตอีกครั้ง ทั้งที่ 83% ของกลุ่มผู้ถือหุ้นทั่วไป จะเห็นด้วยกับแผนนี้

บทวิเคราะห์ของ Connor พบว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นคลาสบีนั้น มีเพียง 8 คน โดยที่ Zuckerberg เพียงคนเดียวก็ถือหุ้นกลุ่มนี้ไว้ถึง 3 ใน 4 แล้ว

ขณะที่คนอื่นๆนั้น ก็ล้วนอยู่ในขั้วเดียวกับ Zuckerberg นำโดย Sheryl Sandberg COO คู่บุญ และบอร์ดบริหารคนอื่นๆ อาทิ Peter Thiel และสองผู้ร่วมก่อตั้ง Dustin Moskovitz และ Eduardo Saverin

หรือพูดง่ายๆว่า หากฝ่าย Zuckerberg มีความเห็นขัดแย้งกับผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ พวกเขาก็จะยังเป็นฝ่ายชนะในการลงคะแนนเสียงอยู่ดี

Patrick Doherty ผู้อำนวยการของ New York comptroller ซึ่งดูแลหุ้น Facebook มูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ให้ทรรศนะถึงโครงสร้างการบริหารแบบนี้ ว่าเป็นแนวทางที่ถอยหลังกลับไปยังศตวรรษที่ 19 เลยทีเดียว

“แนวคิดที่ว่าต้องมีกลุ่มคนประเภทออโตแครท (ผู้มีอำนาจ) คอยควบคุมบริษัทใหญ่ มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ มันเป็นเรื่องล้าหลังสุดๆ วิธีที่ให้พวกโจรผู้ดีคอยกุมอำนาจอยู่เบื้องบนแบบนี้ มันต้องย้อนกลับไปถึงศตวรรษที่ 19 โน่น”

อีกตัวอย่างของการกุมอำนาจเบ็ดเสร็จโดยคนกลุ่มเดียว เกิดขึ้นเมื่อ Lamb นำเสนอไอเดียบางอย่างไป และถูกปัดตกโดย Elliot Schrage รองประธานฝ่ายสื่อสารและนโยบายสาธารณะ หนึ่งในคนสนิทของ Zuckerberg ด้วยท่าทีที่ Lamb ระบุว่าสื่อถึงการเหยียดเพศ ซึ่งสื่อให้เห็นว่าบอร์ดไม่ใส่ใจความเห็นของผู้ถือหุ้น แม้ Schrage ซึ่งเตรียมลาออกในเร็วๆนี้ จะกล่าวขอโทษในภายหลังก็ตาม

ในมุมมองของ Lamb การที่ Zuckerberg ยืนกรานควบสองบทบาทในองค์กร เป็นเพราะเขารู้ดีว่าเมื่อไหร่ที่ตกลงยอมลงจากหน้าที่ประธานบริหาร

ก็ไม่ต่างอะไรกับการยอมจำนน ให้ตัวเองถูดถอดถอนจากตำแหน่ง CEO ต่อไปนั่นเอง

แถลงการณ์จาก Facebook ถึงเรื่องการบอกปัดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริหารนั้น ระบุว่าการแบ่งแยกระดับของหุ้นเป็น คลาสเอ และบี นั้น มีขึ้นมาตั้งแต่ปี 2009 หรือสามปีก่อนทำ IPO ด้วยซ้ำ

“โครงสร้างนี้เป็นประโยชน์กับผู้ถือหุ้นของเราแล้ว และการบริหารงานขององค์กรก็สมเหตุสมผลและมีประสิทธิภาพดี”

พร้อมระบุว่า หาก Zuckerberg ถูกบีบให้ออกจากตำแหน่งประธานบริหารจริง สิ่งที่ตามมา ก็คือจะเกิด “ความไม่มั่นคง ความสับสน และขาดประสิทธิภาพภายในบอร์ด และการบริหารจัดการภายใน”

ในมุมของผู้ถือหุ้นกลุ่มนี้ คำแถลงข้างต้นของ Facebook “ขัดแย้ง” กับคำกล่าวขอโทษต่อสาธารณชนของ Zuckerberg ถึงกรณีข้อมูลรั่วไหลผ่าน Cambridge Analytica เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

เพราะในคำขอโทษถึงกรณีข่าวปลอม การแทรกแซงการเลือกตั้ง และการรั่วไหลของข้อมูล Zuckerberg ยอมรับว่า “ไม่ได้ตรวจตราอย่างถ้วนถี่มากพอตามหน้าที่รับผิดชอบ ซึ่งถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่”

แต่กลุ่มผู้ถือหุ้นเชื่อว่าปัญหาข้างต้นจะได้รับการแก้ไข หาก Zuckerberg เปิดกว้างทางความคิดกว่านี้

“ถ้าคุณเปิดกว้างรับฟังความเห็นของผู้อื่นบ้าง โดยเฉพาะจากผู้ถือหุ้นทั่วไป คุณจะตัดสินใจอะไรต่างๆได้ดีขึ้น”

แม้ที่ผ่านมา ความพยายามของผู้ถือหุ้นกลุ่มนี้จะถูกปฏิเสธ แต่ทั้งหมดก็ยังยืนกรานจะยื่นเรื่องนี้ต่อในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีครั้งต่อๆไป

เช่นเดียวกับแนวทางอื่นๆ อาทิ การส่งจดหมายถึงกลุ่มผู้อำนวยการองค์กร พยายามมีบทบาทในที่ประชุมบริหารให้มากขึ้น รวมถึงการแสดงความไม่พอใจผ่านสื่อต่างๆ

ไม่ว่าความพยายามเหล่านี้จะส่งผลหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน

แต่ Dylan Sage ผู้อำนวยการของ Baldwin Brothers เชื่อว่าผลลัพธ์จากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนของรายได้ที่ลดลง หรือฟีดแบ็กจากผู้ใช้งาน จะค่อยๆบีบให้ Facebook (หรือ Zuckerberg) อยู่เฉยไม่ได้ในที่สุด

“ถ้ายังมีกรณีแบบเดียวกับ Cambridge Analytic, การแทรกแซงการเลือกตั้ง, ปัญหา hatespeech ฯลฯ ผุดขึ้นมาเรื่อยๆ เราจะได้เห็นปฏิกิริยาจากผู้ใช้งานเอง และเมื่อถึงเวลานั้น หน่วยงานรัฐอาจจะเข้ามาข้องเกี่ยว”

Sage ยอมรับว่าเหตุการณ์ Cambridge Analytica ส่งผลให้เขาตัดสินใจปล่อยหุ้นในมือออกไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังลงทุนกับบริษัทอยู่ราว 2.8 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ Doherty ก็ย้ำว่าความพยายามคัดง้างกับบอร์ดที่นำโดย Zuckerberg นั้น สุดท้ายก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของ Facebook นั่นเอง

“เราก็ต้องการให้บริษัทได้ประโยชน์ เพราะเราคือกลุ่มนักลงทุนหลัก เราลงทุนไปกว่า 1 พันล้าน และก็หวังว่านี่จะเป็นการลงทุนที่ถูกต้อง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมากมาย ทำให้เรารู้สึกว่ามันต้องมีการเปลี่ยนแปลง”

และทั้งหมดก็เชื่อว่าทางที่เหมาะสมที่สุด ก็คือการปรับโครงสร้างบริหารจัดการใหม่หมดนั่นเอง

ส่วน Connor ที่ไม่มีส่วนได้เสียใดๆกับ Facebook ก็กล่าวว่าแม้วันนี้พวกเขาจะเป็นเบอร์หนึ่ง แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีว่าพวกเขาจะอยู่ ณ จุดนี้ไปตลอด เพราะประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นแล้วว่ายักษ์ใหญ่แค่ไหนก็สามารถล้มได้เสมอ

“บางคนอาจคิดว่า Facebook ไม่มีวันล้ม ผมไม่เห็นด้วย คุณลองย้อนไปดูบริษัทอย่าง AOL หรือ Yahoo ดูก็ได้ หรือแม้แต่ Travis Kalanick เขาเป็นทั้งผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Uber แต่เมื่อเขาทำพลาด เขาก็ต้องไป”

“การคิดว่าตัวเองไร้เทียมทานนั่นแหละ คือหนทางสู่การทำลายตัวเอง”

บางที ปี 2018 อาจไม่ใช่ “ปีชง” สำหรับ Facebook อย่างที่เราเคยว่าไว้ แต่อาจเป็นปีชงสำหรับผู้ก่อตั้ง อย่าง Mark Zuckerberg แทน

จริงอยู่ สถานะของ Facebook ในวันนี้ แทบจะเรียกได้ว่า “ไร้เทียมทาน” ในอุตสาหกรรมโซเชียลมีเดีย แต่ก็อย่างที่ทีมงาน AHEAD ASIA เคยนำเสนอไปว่า

โซเชียลมีเดียสีน้ำเงินนั้น ไม่ใช่พื้นที่สำหรับวัยรุ่นเหมือนในอดีตอีก

ทั้งอายุขององค์กรที่ยืนยาวมานับสิบปี เหล่าผู้ใช้งานในยุคแรกต่างก็เติบโตจากวัยรุ่นในวันนั้น กลายมาเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้หมดแล้ว

ทั้งเรื่องที่เด็กๆเองก็ต้องการบางสิ่งที่ต่างออกไป และไม่ถูกจับตาดูโดยพ่อแม่ผู้ปกครอง (ซึ่งเคยเป็นวัยรุ่นในยุคแรกของ Facebook มาก่อน)

หรือแม้แต่ตัวของ Zuckerberg เองก็เช่นกัน แม้ด้วยอายุอานามจะยังไม่มาก เมื่อเทียบกับผู้บริหารองค์กรระดับโลกรายอื่นๆ

แต่เขาก็ไม่ใช่วัยรุ่นหัวขบถเหมือนเดิม

ทุกวันนี้เราจึงแทบไม่ได้เห็นการเดิน ตามคติ ‘Move fast, break things’ จาก Facebook อีกเลย

และเป็นไปได้หรือไม่ การที่เจ้าตัวประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้เกิดความเชื่อมั่นจนเกินเหตุ และนำไปสู่การไม่ฟังเสียงจากคนรอบข้าง โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นทั่วไป จนเป็นที่มาของการพยายาม “เลื่อยขา” เจ้าตัวในครั้งนี้

จริงอยู่ว่า Zuckerberg คือสัญลักษณ์ของ Facebook

แต่จากอดีตจนถึงปัจจุบัน เราได้เห็นแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เสมอ

Steve Jobs หรือ Travis Kalanick ต่างก็ถูกบีบให้ต้องอำลาองค์กรที่ตนสร้างมากับมือ เมื่อหมากเดินผิดพลาด

แม้จะกุมอำนาจเบ็ดเสร็จไว้อย่างในปัจจุบัน ก็คงไม่มีใครกล้าฟันธงว่า Zuckerberg จะปลอดภัยในตำแหน่งประธานบริหาร และ CEO ของ Facebook ไปได้ตลอดอยู่ดี

เพราะเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในรอบเกือบสองปีที่ผ่านมา

ทั้งความล้มเหลวในการควบคุมการแพร่กระจายของข่าวปลอม การรั่วไหลของข้อมูลผ่าน Cambridge Analytica ฯลฯ

ก็คือการเดินหมากที่ผิดพลาดของอดีตวัยรุ่นผู้พยายามเชื่อมโยงโลกใบนี้เข้าด้วยกัน ใช่หรือไม่?