ลูกไม้ใต้ต้น TRC 'ภาสิต ลี้สกุล'
news_img_475421_1.jpg
'ภาสิต ลี้สกุล' คลื่นลูกใหม่ 'ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น' หอบความรู้ด้านไฟแนนซ์จากอเมริกาจะมารับช่วงกิจการแทน 'พ่อ' ที่ขู่จะ 'ตัดขาด' ถ้าไม่กลับ
“เต้” ภาสิต ลี้สกุล ผู้บริหารหนุ่มวัย 29 ปี กำลังเดินสายโชว์ตัว พร้อมเปิดวิสัยทัศน์ บมจ.ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น (TRC) แทนผู้เป็นพ่อ สมัย ลี้สกุล ผู้ก่อตั้งบริษัทที่กำลังจะกลายเป็น “คลื่นลูกเก่า” และเริ่มถอยฉากเพื่อไปทำหน้าที่ “เทรนเนอร์” อยู่เบื้องหลัง เมื่อผู้เป็นพ่อประกาศเจตนารมณ์ต้องการ “แขวนนวม” หน้าที่สร้างความเติบโตให้บริษัทจึงต้องตกเป็นของลูกชายคนโตที่ถูกส่งไปเรียนเมืองนอกตั้งแต่ระดับมัธยมปลาย
สมัยส่งภาสิตไปเรียนมัธยมปลายที่ Wilbraham and Monson Academy ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนจะต่อปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์-การเงิน และปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ-การเงินที่ Bentley College สหรัฐอเมริกา เมื่อเรียนจบปริญญาโท ภาสิตไปทำงานตำแหน่งนักวิเคราะห์การเงินอยู่ที่ บริษัท บีทียู เวนเจอร์ สหรัฐอเมริกา ทำได้ 2 ปี ( 2550-2551) พ่อก็โทรตามตัวให้กลับมาทำงานที่ TRC ช่วงปี 2552
ผู้บริหารหนุ่มเล่าให้ กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ฟังว่า อยู่อเมริกาได้เงินเดือน 5-6 เท่าจากที่นี่ งานก็สบายกว่าเยอะ แต่พ่อยื่นคำขาดว่าไปฝึกงานที่อื่นแล้วก็กลับมาช่วยงานที่บ้านได้แล้ว ถ้าไม่กลับมา "ตัดเลยนะ" พ่อบอกเหนื่อยแล้ว! ตอนกลับมาทำงานที่ TRC พ่อให้เงินเดือน 22,000 บาท ให้อยู่ตำแหน่งผู้ช่วยประสานงานโครงการ
"ผมกลับมาเมืองไทยได้ 2 สัปดาห์ พ่อส่งไปประเทศไนจีเรีย 2 สัปดาห์ ให้ไปดีลงานร่วมกับกลุ่มปตท. พ่ออยู่กับผมแค่ 2 วัน ปล่อยให้ผมทำงานเพียงลำพัง สุดท้ายดีลนั้นก็จบ แต่ไม่ได้อย่างที่คิดไว้เก็บเงินมาได้แค่ส่วนหนึ่ง"
ภาสิต เรียนรู้งานได้ 2 ปี สมัยเลื่อนตำแหน่งให้เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานพัฒนาโครงการและการลงทุน ก่อนย้ายมาทำตำแหน่งผู้อำนวยการ สายงานพัฒนาโครงการและการลงทุน ซึ่งเป็นตำแหน่งในปัจจุบันเพื่อปูทางก้าวขึ้นมารับช่วงกิจการต่อในอนาคต
สมัย ลี้สกุล นับเป็นหนึ่งในผู้กว้างขวางในวงการก่อสร้างของไทย เขาจบวิศวะจุฬาฯ รุ่น วศ.2515 มีเพื่อนร่วมรุ่นคนดังๆ มากมายทั้งในหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน หลังจากผ่านประสบการณ์ทำงานที่เชลล์ประเทศไทย และกลุ่มซิโน-ไทย สมัยตัดสินใจลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัว รับงานออกแบบดีไซน์เครื่องจักรตามโรงงานต่างๆ ในอดีตเคยโดนวิกฤติต้มยำกุ้งเล่นงานเพราะไปเซ็นค้ำประกันในวงเงินหลายพันล้านบาท ก่อนจะลุกขึ้นมาสร้าง TRC และผลักดันบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2548 ได้สำเร็จ
บทเรียนที่สมัยให้กับลูกชาย เขาสอนลูกว่า ต้องศึกษาภาพรวมทั้งหมดของบริษัทก่อน เพราะเราเข้ามาในฐานะพิเศษ (ลูกเจ้าของบริษัท) หลายคนอาจเกร็ง แถมวัยวุฒิยังน้อยกว่าคนอื่นมาก พ่อให้ไปทำงานคลุกคลีกับพนักงานระดับล่างไม่ได้เข้ามาในฐานะเจ้านาย ทำแบบนั้นอยู่ประมาณปีกว่า ความสัมพันธ์กับพนักงานก็เริ่มดีขึ้น คุณพ่อท่านมองขาดให้เราต้องลงไปในระดับล่างที่สุดแล้วค่อยๆ ไต่ขึ้นมา
ไม่ใช่เพียงพ่อคนเดียวที่ให้โจทย์แต่ยังมีผู้บริหารระดับสูงรุ่นเก่าอีก 4-5 คน ที่วางแผนจะรีไทร์ตัวเองภายใน 4-5 ปีข้างหน้า มีครั้งหนึ่งภาสิตขอสมัยไปเมืองจีนกับผู้บริหารเหล่านั้นแบบส่วนตัวเพื่อเปิดใจคุยกันทุกเรื่อง
"ผมถามท่านเหล่านั้นว่า อยากเห็นบริษัทเป็นอย่างไร เขาบอกว่าบริษัทนี้เหมือนลูกของพี่นะ! ช่วยกันปั้นขึ้นมาจนเกิดเป็นความรัก ท่านบอกว่าคุณรู้มั้ย! ตอนปี 2540 ที่บริษัทเกิด ช่วงนั้นงานหายากมากหลายๆ บริษัทต้องวิ่งหางาน ขนาดทาสีรั้วเล็กๆ ราคาแสนบาทบริษัทก็รับ ทุกวันนี้ผมและผู้บริหารรุ่นเก่าเราคุยกันตลอด คุณพ่อค่อนข้างปล่อย ท่านจะพูดเสมอว่า..ลูกจะทำอะไร (ต่อ) แล้วแต่ พ่อสร้างให้ได้แค่นี้จะโตต่อไปอย่างไรก็มาคุยกัน”
ปัจจุบันน้องสาวคนกลางที่จบคณะนิเทศศาสตร์ และ MBA เข้ามาทำงานด้าน CSR แต่กำลังจะถูกดึงเข้ามาทำด้าน IR ส่วนคนเล็กยังเรียนอยู่ปี 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโอคแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ถ้าเรียนจบพ่อจะให้ไปฝึกงานที่อื่นก่อน ช่วงหนึ่งน้องคนเล็กเคยไปฝึกงานที่ปูนซิเมนต์ไทย เมื่อเรียนรู้งานจากข้างนอกแล้วค่อยดึงกลับมาทำงานในบริษัท..นี่คือวิธีเพาะต้นกล้าของสมัย
ทุกวันนี้อาชีพหลักของบมจ.ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น คือ "ผู้รับเหมา" ภาสิต บอกว่า หลายคนมองอาชีพนี้น่าจะรุ่ง แต่ส่วนตัวเห็นว่ากำลังเข้าสู่ช่วง Sunset (ขาลง) มากกว่า เพราะหน้าที่เราจะสิ้นสุดทันทีเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ เพราะฉะนั้นเขามีไอเดียว่า นโยบายของบริษัทในปี 2556 จะพลิกตัวเองจาก “ผู้รับเหมา” เป็น “ผู้ลงทุน” บริษัทเล็งจะเป็นเจ้าของธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานทดแทนในแถบเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศพม่า และกัมพูชา คาดว่าสิ้นปี 2555 หรือภายในไตรมาสแรกปี 2556 จะได้ข้อสรุป
เขาบอกว่า ข้อดีของการเป็น “ผู้ลงทุน” คือ บริษัทจะมีรายได้สม่ำเสมอ เพราะการขายไฟฟ้าจะทำให้คาดการณ์ได้ว่า ภายใน 20 ปีข้างหน้า รายได้จะเข้ามาเท่าไร ซึ่งจะสามารถป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของงานได้ เบื้องต้นคงเข้าไปจัดตั้งบริษัทย่อยร่วมกับพันธมิตรมูลค่าลงทุนเฉลี่ย 1,000 ล้านบาทต่อโปรเจค ขณะนี้ให้โจทย์ที่ปรึกษาทางการเงินไปว่า โปรเจคแบบนี้ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ เราควรออก Financial products หรือไม่ ส่วนผลตอบแทนการลงทุนต้องมากกว่า 20% ถ้าน้อยกว่านี้ทำเหมือนเดิมดีกว่า
ภาสิต เผยว่า คุณสมบัติของ TRC ขณะนี้ย้ายเข้าไปอยู่ SET ได้แล้ว แต่ส่วนตัวคิดว่ายังไม่ถึงเวลาถ้าเข้าไปตอนที่บริษัทไม่สตอรี่ดีๆ ก็คงรั้งท้ายคนอื่น สำหรับแนวโน้มผลประกอบการปี 2555 บริษัทตั้งเป้ารายได้ที่ 4,000 ล้านบาทก่อน ปัจจุบันมี Backlog ประมาณ 4,400 ล้านบาท ส่วนกำไรขั้นต้นปีนี้ จะมากกว่า 13% ซึ่งงานท่อจะมีมาร์จินสูงสุดประมาณ 15% ส่วนอัตรากำไรสุทธิจะอยู่ที่ 5-7%
"เรื่องใหญ่ที่สุดที่เราต้องทำแต่เนิ่นๆ คือเรื่อง "คน" วันนี้เราลงไปถึงสถานศึกษาเพื่อไปดึงเด็กวิศวะที่กำลังจะเรียนจบมาทำงานกับเรา ตอนนี้ต่างชาติกำลังมาดึงเด็กไทยไปทำงานหมดแล้ว ฉะนั้นต้องสร้างกันตั้งแต่เล็กๆ เลย ถ้าคุณไม่แข็งแรงเมื่อ AEC เปิด ต่างชาติจะกลืนเราหมด"
ภายใน 3 ปีข้างหน้า ผู้บริหารหนุ่ม ตั้งเป้าอยากเห็นสัดส่วนรายได้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในงานวางระบบท่อน้อยลงเหลือ 40% จากปัจจุบัน 60% ธุรกิจรับเหมาติดตั้งระบบวิศวกรรมและก่อสร้างโรงงานในอุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมี 40% ธุรกิจพัฒนาโครงการและการลงทุน 10% และธุรกิจต่างประเทศ 10% ภายใน 3 ปีนี้ รายได้จากธุรกิจรับเหมาคาดว่าจะทรงตัวระดับ 4,000-4,500 ล้านบาท คงไม่เติบโตหวือหวาแต่จะสม่ำเสมอมากขึ้น ส่วนการเติบโตของรายได้รวมจะมาจากธุรกิจอื่นๆ เพิ่มขึ้น
ภาสิต กล่าวว่า ในประเทศไทย TRC ติด Top5 ผู้รับเหมาก่อสร้างในงานวางระบบท่อ และเป็นรายเดียวที่สามารถทำท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นผ่าศูนย์กลางกว้าง 30 นิ้ว ซึ่งเป็น “จุดแข็ง” ของบริษัท ถามถึงทิศทางของหุ้น TRC ผู้บริหารหนุ่มแสดงความเห็นเป็นนัยๆ ว่า บริษัทมีกระแสเงินสดต่อปีสูงถึง 300 ล้านบาท ถือว่าดีมาก แต่ถ้านำราคาหุ้น TRC ไปเทียบกับอุตสาหกรรมเดียวกันก็ถือว่าราคาหุ้นยังต่ำอยู่..ขณะที่ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาราคาหุ้น TRC ทะยานจาก 2.36 บาท ขึ้นไปสูงสุด 5.80 บาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 145%
ซื้อหุ้น Apple ของ 'สตีฟ จ็อบส์' ตัวแรกหลายปีก่อนช่วงที่หุ้น TRC เข้ามาซื้อขายใหม่ๆ สมัย ลี้สกุล ถึงขนาดซื้อหนังสือของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ มานั่งอ่านเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมในฐานะเจ้าของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่สำหรับ “เต้” ภาสิต ลี้สกุล ผู้บริหารรุ่นที่สอง บมจ.ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น (TRC) วัย 29 ปี เขาไม่ใช่ "มือใหม่" ในวงการหุ้น
ภาสิต มีประสบการณ์เริ่มเล่นหุ้นครั้งแรกเมื่อปี 2549 ช่วงเรียนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เขาเห็นเพื่อนที่เรียนไฟแนนซ์ด้วยกันลงทุนแล้วได้กำไร ผสมกับความร้อนวิชาก็เลยตัดสินใจหอบเงินเก็บ 10,000 เหรียญสหรัฐฯ ไปเปิดพอร์ต เจ้าตัวเล่าว่า หุ้น Apple ของ “สตีฟ จ็อบส์” เป็นตัวแรกที่ซื้อ จำได้ซื้อตอนราคา 80 เหรียญ ระหว่างนั้นมีขายทำกำไรมาเรื่อยๆ จนเวลาผ่านไป "ปีกว่า" ราคาพุ่งแตะ 200 เหรียญ ดีใจมากขายหมดเลย
"ตอนนั้นเริ่มติดใจ มีเพื่อนมาบอกว่าไปซื้อหุ้นตัวเล็กพวกราคาตัวละ 1 เหรียญสิ! มีข่าว (สตอรี่) โน่นนี่ ผมซื้อเลยแบบไม่คิดอะไร ไม่หาข้อมูลด้วย พอกลับมาดูอีกทีราคาหุ้นลงมาเหลือ 20 เซนต์ ขาดทุนไป 5,000 เหรียญ"
เขาเล่าว่า ช่วงนั้นเข็ดมาก จึงปรับวิธีลงทุนใหม่ หันมาดูพวกหุ้นบลูชิพมากขึ้น เคยซื้อหุ้น GE เคยซื้อหุ้นกลุ่มพลังงาน โรงไฟฟ้า เพราะปันผลชัดเจน หลังกลับมาเมืองไทยช่วงปี 2552 นั่งคิดว่ามีเงินอยู่ก้อนหนึ่งจะนำไปทำอะไรดี จะไปฝากแบงก์ก็ได้ดอกเบี้ยไม่กี่เปอร์เซ็นต์ จะนำไปลงทุนในธุรกิจอื่นเราเองก็มีงานประจำอยู่แล้ว สุดท้ายตัดสินใจนำเงินไปเปิดพอร์ตลงทุน ทุกวันนี้มูลค่าพอร์ตราวๆ 8-9 หลัก ส่วนใหญ่จะเน้นหุ้นพลังงานครอบครัวปตท.ที่จ่ายเงินปันผลดี ทำให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลทั้งพอร์ตออกมาเฉลี่ย 7-8% ต่อปี
สาเหตุที่ชอบหุ้นกลุ่มพลังงาน เพราะครอบครัวใกล้ชิดมานาน รู้ว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าส่วนใหญ่จะนาน 20 ปี เท่ากับว่าปตท.จะขายก๊าซได้ 20 ปีเช่นกัน ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าปตท.เป็นผู้ขายก๊าซธรรมชาติรายเดียวในประเทศไทย สัญญามันล็อกชัดเจน
“ผมซื้อหุ้นไอพีโอบ้างนิดหน่อย แต่รอบที่ฮอตๆ กันไม่ได้ซื้อ เพราะหุ้นไอพีโอถ้าอยากได้กำไรต้องเข้าไปตั้งแต่ต้นๆ ไปซื้อตอนโบรกเกอร์นำมาขาย (IPO) ราคาก็ไม่โอเคแล้ว เราต้องเข้าไปเวิร์คกับเขาตั้งแต่แรกๆ ต้องคอนโทรลได้ถึงจะกำไรเยอะ”
ภาสิต เล่าต่อว่า นอกจากลงทุนในตลาดเมืองไทยแล้ว ยังลงทุนออฟชอร์เทรดดิ้งในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (HKSE) เน้นซื้อบอนด์ของบริษัทข้ามชาติ เพราะผลตอบแทนดีเฉลี่ย 7% ได้สูงแต่ก็มีความเสี่ยงถ้าไปซื้อบอนด์พวกบริษัทไฟฟ้า และพลังงาน ผลตอบแทนเฉลี่ยจะอยู่ 6% บวกลบ
“ข้อดีของการลงทุนในตลาดหุ้น คือ คุณสามารถจัดการเงินของคุณเพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามเป้าหมายได้ สมมติเราจะนำเงินก้อนหนึ่งไปเปิดร้านอาหาร เราจะรู้แค่ว่าผลตอบแทนจะออกมาระดับหนึ่ง แต่ถ้านำไปลงทุนในตลาดหุ้นเราจะรู้ว่าถ้าจัดพอร์ตแบบนี้ผลตอบแทนเฉลี่ยจะออกมาเท่าไร ลงทุนผ่านตลาดหุ้นยังไงก็ “คุ้ม” กว่าฝากแบงก์เยอะ” หนุ่มเต้-ภาสิต บอก
ที่มา:
1) กรุงเทพธุรกิจ
2)
http://www.stock2morrow.com/showthread.php?t=37058