ชัวร์'ลอว์สัน'ลุยไทย ถือหุ้น50:50 ผุด'สหลอว์สัน'ล้างบาง108ช้อป
วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม 2012 เวลา 10:20 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ ข่าวหน้า1 - คอลัมน์ : Big Stories
1501.jpg
"สหพัฒน์" จูงมือลอว์สัน ยักษ์คอนวีเนียนสโตร์จากญี่ปุ่น จดทะเบียนตั้ง "บริษัท สหลอว์สัน จำกัด" หลังบอร์ดไฟเขียวอนุมัติถือหุ้น 50 : 50 พร้อมเพิ่มทุนรับการโอน 108 ช้อปทั้ง 600 สาขาเข้ามาอยู่ในมือ ชี้มูลค่าทรัพย์สินราว 300 ล้านบาท คาดเดินหน้ายกเครื่อง 108 ช้อป เป็น "ลอว์สัน" ทันทีในปี 2556 "เซเว่น"
เผยปี 2556 ปีทองของค้าปลีกไซซ์เล็ก หลังแบรนด์ใหม่ ยักษ์ค้าปลีก
สืบเนื่องจากที่"ฐานเศรษฐกิจ"นำเสนอข่าว"สหพัฒน์ฮึดสู้บิ๊กค้าปลีก"ตีพิมพ์ในฉบับ 2,772 ระหว่างวันที่ 6-8 กันยายน 2555 หลังจากที่บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) มีการเจรจากับ บริษัท ลอว์สัน อิงค์ ประเทศญี่ปุ่น ผู้บริหารร้าน "ลอว์สัน" (Lawson) เบอร์2 ด้านคอนวีเนียนสโตร์จากญี่ปุ่นร่วมทุนในไทยเพื่อมาสร้างชื่อแทนที่ 108 ช้อปไปก่อนหน้านั้น ล่าสุดพบว่าสหพัฒนพิบูล ได้จองชื่อขอจดทะเบียนบริษัท ในนาม "บริษัท สหลอว์สัน จำกัด" กับกระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา
++ ถือหุ้น 50:50 ตั้ง "สหลอว์สัน"
แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) หรือ SPC ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้าคอนซูเมอร์รายใหญ่ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สหพัฒนพิบูลเจรจาร่วมทุนกับบริษัท ลอว์สัน อิงค์ ประเทศญี่ปุ่นจริง โดยขณะนี้ผลการเจรจามีความคืบหน้ามากแล้ว พร้อมยืนยันว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะเกิดการลงทุนร่วมกันอย่างแน่นอน เพราะมีจุดยืนที่ไปในทิศทางเดียวกันในการขยายตัวของธุรกิจคอนวีเนียนสโตร์และล่าสุดเมื่อกลางเดือนตุลาคม 2555 คณะกรรมการ (บอร์ด) ของSPC และบริษัทในเครือ ได้อนุมัติให้ตั้งบริษัทใหม่ในนาม"บริษัท สหลอว์สัน จำกัด" ขึ้นมา เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเพิ่มทุน และโอนทรัพย์สินจาก108ช้อปมายังบริษัทดังกล่าว
โดยบริษัท สหลอว์สัน จำกัด มีสัดส่วนการถือหุ้น ดังนี้ SPC และบริษัทในเครือรวมทั้งสิ้น 50% ในจำนวนนี้ SPC จะถือหุ้น 20% ที่เหลือเป็นสัดส่วนของบริษัทอื่นๆในเครือ และ อีก 50% ถือหุ้นโดย บริษัท ลอว์สัน อิงค์ ประเทศญี่ปุ่น
"ต่อจากนี้ไปบริษัท สหลอว์สันฯจะต้องทำการเพิ่มทุนให้เกิน 300 ล้านบาทแน่นอน เพราะจะนำไปใช้สำหรับการซื้อทรัพย์สินจาก 108 ช้อป ที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ 600 สาขา โดยเบื้องต้นประเมินราคาอย่างไม่เป็นทางการไว้ราว 300 ล้านบาท และจะต้องมีเงินทุนอีกจำนวนหนึ่งสำหรับใช้ในการพัฒนาปรับปรุง คอนวีเนียนสโตร์ทั้ง 600 สาขาใหม่ พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนชื่อเป็น "ลอว์สัน" โดยเงินทุนดังกล่าวจะมาจากการเรียกเงินค่าหุ้นตามสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่อไป"
++ ใช้ไทยประตูสู่อาเซียน
แหล่งข่าวกล่าวย้ำอีกว่าความร่วมมือทางธุรกิจระหว่าง SPC กับลอว์สันได้เจรจากันจบแล้ว ดังนั้นขั้นตอนต่อจากนี้ไปรอเพียงขาย 108 ช้อป ให้เสร็จภายในปีนี้ จากนั้นต่างฝ่ายต่างก็ต้องใส่เม็ดเงินลงทุนเข้ามา จะลงทุนเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่ที่ขนาดของกิจการว่ามีเป้าหมายจะขยายสาขาเพิ่มอีกเท่าไร เมื่อสิ้นสุดใน 2 ส่วนนี้แล้ว ลอว์สัน ญี่ปุ่น จะส่งผู้บริหารเข้ามาดำเนินการบริหารและวางแผนตกแต่งร้าน ด้วยการรื้อป้าย108ช้อปออก แล้วปรับโฉมเป็น"ลอว์สัน" ในทุกสาขา ดังนั้นภายในปี 2556 จะได้เห็นคอนวีเนียนสโตร์ของ "ลอว์สัน"เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างแน่นอน
ผลการเจรจาครั้งนี้ประสบผลสำเร็จได้เร็วเกินคาด หลังจากที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีแนวคิดคล้ายกันและสามารถจูนเข้าหากันได้ง่าย โดยที่กลุ่มสหพัฒน์ต้องการโนว์ฮาวจากลอว์สัน เพื่อมาพัฒนาธุรกิจคอนวีเนียนสโตร์ในประเทศไทย เพราะเป็นแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่ง มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ มีระบบการบริหารจัดการ รวมถึงมีการตกแต่งร้านที่ดูทันสมัย
พร้อมกับมองว่า สินค้าในเครือสหพัฒน์ มีความหลากหลาย ควรจะมีช่องทางการขายมากขึ้น หลังจากที่ปัจจุบันสินค้าในกลุ่มสหพัฒน์ขายอยู่ในคอนวีเนียนสโตร์ทุกแห่งในประเทศไทยอยู่แล้ว ดังนั้นถ้ามี "ลอว์สัน" ในประเทศไทยก็จะยิ่งเพิ่มช่องทางการขายให้กับกลุ่มสหพัฒน์ได้มากขึ้นอีก ส่วนสินค้าที่วางจำหน่ายในร้านจะมีทั้งสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยและนำเข้ามาจากลอว์สันประเทศญี่ปุ่น เช่นเดียวกับสินค้าในเครือสหพัฒน์ก็จะมีขายในลอว์สัน ประเทศญี่ปุ่นด้วย
"ลอว์สันต้องการจะขับเคลื่อนธุรกิจดังกล่าวออกนอกประเทศ พร้อมกับขยายการลงทุนเข้าสู่ตลาดอาเซียน โดยใช้ไทยเป็นฐานการขยายเข้าสู่ภูมิภาคอาเซียนที่มีกำลังซื้อกว่า 600 ล้านคน"
++ จับมือร่วมทุนแบบ win win
แหล่งข่าวระดับสูง จากบริษัท สหพัฒนพิบูลฯ อีกรายกล่าวยืนยันว่า สหพัฒน์ ได้เจรจาร่วมทุนกับลอว์สัน ประเทศญี่ปุ่น ในการเข้ามาขยายการลงทุนคอนวีเนียน สโตร์ในเมืองไทยจริง โดยขณะนี้เตรียมพร้อมยื่นจดทะเบียนบริษัททันที หลังจากที่บรรลุข้อตกลงต่างๆและเซ็นสัญญา ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการเดินหน้าให้แล้วเสร็จ เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันอย่างแท้จริงในปีหน้า ซึ่งเชื่อว่าการร่วมทุนครั้งนี้จะส่งผลต่อทั้งสองฝ่ายแบบ win win แน่นอน
อย่างไรก็ดีการร่วมทุนเป็นพันธมิตรกันรุกตลาดค้าปลีกเมืองไทยครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จอีกก้าวของสหพัฒนพิบูล ในการขยายธุรกิจปลายน้ำ หลังจากที่เพียรพยายามสร้างฐานธุรกิจปลายน้ำ ด้วยการปั้น "108 ช้อป" ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร การจับมือกับลอว์สันครั้งนี้ จึงถือเป็นจิ๊กซอว์ที่ลงตัวที่สุดครั้งหนึ่ง
ปัจจุบันร้านลอว์สัน อยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัท ลอว์สัน อิงค์ ประเทศญี่ปุ่น ผลประกอบการในปี 2555 ( 1 มีนาคม 2554-29 กุมภาพันธ์ 2555) มียอดขายรวม 1.82 ล้านล้านเยน หรือคิดเป็นเงินไทย 7.28 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มียอดขาย 1.68 ล้านล้านเยน หรือคิดเป็นเงินไทย 6.72 แสนล้านบาท มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 8.5% ปัจจุบันมีสาขารวม 1.08 หมื่นแห่งในญี่ปุ่น (ณ เดือนกรกฎาคม 2555) เป็นอันดับ 2 รองจากเซเว่นอีเลฟเว่น ที่มีสาขาเกือบ 1.5 หมื่นแห่ง
โดยร้านลอว์สันเปิดให้บริการใน 3 รูปแบบ ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อลอว์สัน (Lawson) , ร้านลอว์สัน สโตร์ 100 (Lawson Store 100) ร้านสะดวกซื้อพร้อมจำหน่ายอาหารสด และร้านเนเชอรัล ลอว์สัน (Natural Lawson) ร้านสะดวกซื้อจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพ ความงาม ขณะที่ในต่างประเทศ ร้านลอว์สันเปิดให้บริการในเมือง Dalian , Chonqing และ Shanghai ประเทศจีน , อินโดนีเซีย และฮาวาย สหรัฐอเมริกา
++ ซุ่มจองชื่อจดทะเบียนที่พณ.
ผู้สื่อข่าว "ฐานเศรษฐกิจ" ได้ตรวจสอบไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า มีผู้ขอจองชื่อจดทะเบียน บริษัท สหลอว์สัน จำกัดจริง เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีการยื่นเอกสารประกอบใดๆ ซึ่งขั้นตอนต่อไป ผู้ที่ขอจองชื่อไว้ จะต้องมาดำเนินการจดทะเบียนบริษัท สหลอว์สัน จำกัด ภายใน 1 เดือน หากพ้นกำหนดยังไม่มีการจดทะเบียนบริษัท จะต้องกลับมายื่นขอจองชื่อใหม่อีกครั้ง
++ เซเว่นยันลอว์สันไม่น่ากลัว
ด้านนายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านเซเว่นอีเลฟเว่น กล่าวว่า ลอว์สัน ถือเป็นผู้ประกอบการที่แข็งแรง เปิดสาขาจำนวนมาก และมีประสบการณ์เก่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ เห็นได้จากการเข้าไปลงทุนในจีน และประสบความสำเร็จได้รับการตอบรับที่ดี ซึ่งการเข้ามาของลอว์สัน เชื่อว่าเพราะต้องการใช้ไทยเป็นฐานในการขยายตลาดเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีด้วย
"มองว่าการเข้ามาของลอว์สันไม่น่ากลัว เพราะเซเว่น เองมีนโยบายที่ชัดเจน คือมุ่งพัฒนาตัวเองให้เข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถให้คู่แข่งก้าวตามไม่ทัน อีกทั้งการที่ลอว์สันเข้ามาลงทุนในไทย ยังต้องใช้เวลาปรับตัวอีกมาก เช่นเดียวกับที่เซ็นทรัล เข้ามาบริหารแฟมิลี่ มาร์ท ยังต้องใช้เวลานานถึง 3 ปีในการปรับปรุงและขยายสาขา เชื่อว่าลอว์สันเองก็ต้องการเวลาเช่นกัน"
++ ชู 56 ปีทองคอนวีเนียนสโตร์
นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จากมาตรการต่างๆของภาครัฐ ทั้งการจำนำข้าว การปรับค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ การขยายการส่งออก ฯลฯ เชื่อว่า ปี 2556 ถือเป็นปีทองของธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็กอย่างคอนวีเนียน สโตร์ รวมทั้งการเข้ามาของแบรนด์ใหม่ๆ จะช่วยผลักดันให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี ภาพรวมของค้าปลีกประเภทคอนวีเนียน สโตร์จะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น จากรายใหม่ที่เข้ามา และค้าปลีกรายใหญ่ที่ลงมาเล่นในค้าปลีกขนาดเล็ก เพราะมีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากขึ้น รวมทั้งไม่มีข้อจำกัดทางกฏหมายในการขยายสาขาด้วย ทำให้ค้าปลีกไซซ์เล็กสามารถขยายตัวได้อีกมาก
ทั้งนี้นโยบายของเซเว่น จะขยายสาขาเพิ่มขึ้นราว 450-500 สาขาต่อปี และเพื่อรองรับการแข่งขันที่จะรุนแรงมากขึ้นในปีหน้า เซเว่น ได้ปรับยุทธศาสตร์ ด้วยการขยายไลน์สินค้าเฮาส์แบรนด์ เซเว่นเฟรซ (7Fresh) ในหมวดอาหารพร้อมทาน หรือเรดดี้ ทู โก และ เซเว่น ซีเล็ค (7 Select) สำหรับหมวดสินค้าเครื่องใช้ทั่วไป รวมทั้งหาพาร์ตเนอร์ หรือการทำตลาดแบบโค แบรนด์ วางจำหน่ายสินค้าโอนลี่ แอท เซเว่นอีเลฟเว่น (Only at 7-11) โดยในปีหน้าตั้งเป้าที่จะเปิดตัวสินค้าให้ครบ 500 รายการ พร้อมวางจำหน่ายให้ครบทุกสาขาทั่วประเทศ จากปัจจุบันที่มีอยู่เกือบ 7 พันแห่ง นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดให้บริการออนไลน์
http://www.shopat7.com อย่างจริงจังด้วย
จากการรวบรวมของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า จนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2555 มีร้านสะดวกซื้อที่มีสาขา เปิดให้บริการในประเทศไทยรวมทั้งสิ้นกว่า 1 หมื่นแห่ง อาทิ เซเว่นอีเลฟเว่น 6.8 พันแห่ง , โลตัส เอ็กซ์เพรส 850 แห่ง , แฟมิลี่ มาร์ท 740 แห่ง , 108 ช้อป 600 แห่ง เป็นต้น
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,787 วันที่ 28-31 ตุลาคม พ.ศ. 2555