กรณีศึกษา สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากรถยนต์ไฟฟ้า วิ่งเต็มถนนเมืองไทย - MarketThink
อีก 9 ปีข้างหน้า ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ในไทยจะต้องมีกำลังผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 30%
อธิบายง่ายๆ คือสมมติค่ายรถยนต์ มีกำลังผลิต 1 ล้านคัน ก็จะต้องผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 3 แสนคันต่อปี
โดยเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทาง BOI หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ตั้งเป้าหมายไว้
แต่.. รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบันมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้า บนถนนเมืองไทยรวมกันแค่ 180,000 คัน
ขณะที่ รถยนต์ทั้งหมดบนท้องถนน มีประมาณ 40 ล้านคัน
อธิบายให้เห็นภาพคือ หากมีรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป 200 คันบนถนน
ก็จะมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพียงแค่ 1 คัน..
เพราะฉะนั้น คำตอบที่ได้ในตอนนี้คือ
ท้องถนนเมืองไทย ยังห่างไกลจากภาพที่วาดฝันไว้
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ก็เลยทำให้ BOI หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
มีนโยบายกระตุ้นให้ค่ายรถยนต์ต่างๆ ที่มีฐานการผลิตในบ้านเรา หันมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้นกว่าเดิม
ด้วยมาตรการส่งเสริมและสิทธิประโยชน์มากมาย
จากเดิมช่วง 2 ปีที่แล้ว ก็มีนโยบายส่งเสริม แต่อาจยังไม่ดึงดูดใจค่ายผู้ผลิตรถยนต์
มาตรการที่น่าสนใจครั้งนี้ก็คือ
ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ อาจไม่ต้องจ่ายภาษีนิติบุคคล 3 ปี เมื่อลงทุนในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป
และหากลงทุนเพิ่ม มีการตั้งโรงงานในไทยผลิตชิ้นส่วนสำคัญในการประกอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้า
ก็จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่ม อาจไม่ต้องจ่ายภาษีนิติบุคคลสูงสุดถึง 8 ปี
(เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณารายละเอียด)
ทำให้สิ่งที่เราจะเห็นในปีนี้และปีถัดๆ ไป
คือค่ายรถยนต์ต่างๆ จะเปิดตัว EV Car และ Plugin Hybrid กันมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว
ซึ่งแนวโน้มก็น่าจะมีราคาขายที่ถูกลงเรื่อยๆ เพราะนอกจากนโยบายกระตุ้นของภาครัฐแล้วนั้น
เมื่อมีกำลังการผลิตที่มากขึ้น ก็ย่อมทำให้ต้นทุนในการผลิตถูกลงตามหลัก Economies of scale
สิ่งที่ตามมาก็คือ ในทุกๆ ปี จำนวนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นบนท้องถนนเมืองไทย
แล้วเรื่องนี้ก็จะทำให้หลายๆ อย่างเปลี่ยนแปลง อย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน
สิ่งแรกสุดคือเราอาจจะเห็นร้านสะดวกซื้อ, คอนโดมิเนียม, ศูนย์การค้า
มีธุรกิจใหม่คือบริการชาร์จพลังงานไฟฟ้า
และแน่นอนบริษัทพลังงานต่างๆ ที่ทำธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน ก็กำลังเริ่มปรับตัว
เราคงได้ยินว่า ปตท. เริ่มทดลองให้บริการชาร์จไฟฟ้าใน 25 ปั๊มน้ำมัน และกำลังมีแผน ที่จะเพิ่มบริการขึ้นอีก
ขณะที่ สถานีบริการน้ำมันอื่นๆ ก็มีนโยบายเดินตามรอยเท้านี้เหมือนกันหมด
เรื่องนี้ความน่าสนใจมันอยู่ที่พฤติกรรมคน เพราะไม่ว่าจะเป็นคนขับ EV Car หรือ Plugin Hybrid
หลายคนน่าจะชาร์จพลังงานไฟฟ้าตอนที่รถจอดนิ่งๆ อยู่ที่บ้านหรือที่ทำงาน
การจะชาร์จพลังงานจาก สถานีบริการน้ำมัน หรือที่อื่นๆ น่าจะเป็นในยามฉุกเฉินจริงๆ
สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นและเป็นการ “แก้เกม” ของกลุ่มธุรกิจพลังงาน
ก็คือต้องพัฒนาเทคโนโลยีชาร์จไฟฟ้าที่รวดเร็วกว่าการชาร์จจากที่อื่นๆ
และที่สำคัญที่สุดก็คือ ราคา ก็ต้องถูกกว่าชาร์จจากที่อื่นๆ ด้วย
ซึ่งน่าจะเป็นการบ้านข้อใหญ่ ที่กลุ่มบริษัทพลังงานกำลังเร่งมือคิดค้น ณ ตอนนี้
ขณะเดียวกัน อู่ซ่อมรถต่างๆ ก็ต้องปรับตัวจากที่เคยซ่อมเครื่องยนต์สันดาป ที่มีอะไหล่มากชิ้น
แต่เมื่อต้องมาซ่อมรถยนต์ไฟฟ้า ที่ระบบหลายๆ อย่างขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า
ซึ่งทำให้มีชิ้นส่วนอะไหล่ในการซ่อมน้อยกว่า ก็น่าจะทำให้ อู่ซ่อมรถเหล่านี้ มีรายได้น้อยลง
ที่น่าสนใจก็คือ หากรถยนต์ไฟฟ้า เกิดขึ้นในอนาคต
การใช้ชีวิตของเราก็อาจเปลี่ยนไป
เราอาจจะต้องติดตั้ง App ไว้ใช้สารพัดการสั่งงาน และตรวจสอบสภาพรถยนต์
เหมือนอย่างที่ MG ทำให้เห็นมาแล้ว
หรือ เราอาจจะดึงพลังงานไฟฟ้าของรถยนต์ มาใช้ในบ้านเหมือนอย่างที่ Mitsubishi Motors
ที่ใส่ฟังก์ชันนี้ให้แก่รถรุ่น Outlander PHEV
จนถึงอนาคต เราอาจจะมีระบบ AI อัจฉริยะที่ไว้ใจได้
มาช่วยขับรถให้ โดยเราแค่นั่งอยู่เฉยๆ ก็จะถึงปลายทางที่ปักหมุดไว้บน App
โดยมีการคาดการณ์ว่า วันที่เมืองไทยจะมีรถยนต์ไฟฟ้า EV Car และ Plugin Hybrid
วิ่งบนถนนราวๆ 50% หรือ 20 ล้านคันขึ้นไป อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15 - 16 ปี เลยทีเดียว
และหากวันนั้นมาถึง ภาพถนนเมืองไทย จะไม่ใช่เหมือนอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้
เพราะรถประเภทนี้ “ไร้เสียง ไร้ควัน”
ตาของเรา แทบจะมองไม่เห็นควันดำ
จมูกของเรา แทบจะไม่ได้สูดควันพิษ
หูของเรา แทบจะไม่ได้ฟังเสียงดัง จากเครื่องยนต์
และนั่น อาจกลายเป็นถนนในฝัน ที่คนไทยทุกคนโหยหามาตลอด ก็เป็นได้..
#รถยนต์ไฟฟ้า
----------------------------------
อ้างอิง :
-ข่าวประชาสัมพันธ์ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จํากัด
-ข่าวประชาสัมพันธ์ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จํากัด
-
https://news.thaipbs.or.th/content/298177
-
https://chargerod.com/ev-station/534/