"อาคม" เปิดสูตรหุ้นส่วนลงทุนรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ลุยประมูล 20 เมกะโปรเจ็กต์ให้จบปีหน้า
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 1 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนปี 2559 (Action Plan) ของกระทรวงคมนาคม จำนวน 20 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 1.796 ล้านล้านบาท
หลังจากนี้จะดำเนินการตามสถานะความพร้อมของแต่ละโครงการ แบ่งเป็นโครงการที่ผ่าน ครม.คาดว่าจะประกวดราคาให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2558 มีจำนวน 6 โครงการ รวมเป็นเงิน 186,306 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น วงเงิน 26,004 ล้านบาท
2.โครงการมอเตอร์เวย์สายพัทยา-มาบตาพุด วงเงิน 20,200 ล้านบาท 3.โครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา วงเงิน 84,600 ล้านบาท 4.โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) แหลมฉบังวงเงิน 1,864 ล้านบาท 5.โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 1 วงเงิน 2,031 ล้านบาท 6.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 51,607 ล้านบาท
ส่วนอีก 14 โครงการที่เหลือ คาดว่าจะสามารถประกวดราคาในปี 2559 ประกอบด้วย 1.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ มาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ วงเงิน 29,853 ล้านบาท 2.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ นครปฐม-หัวหิน วงเงิน 20,036 ล้านบาท 3.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร วงเงิน 17,290 ล้านบาท
4.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ลพบุรี – ปากน้ำโพ วงเงิน 24,840 ล้านบาท 5.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน หนองคาย-ขอนแก่น-นครราชสีมา-แก่งคอย-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-มาบตาพุด วงเงิน 369,148 ล้านบาท 6.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน กรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ วงเงิน 449,473 ล้านบาท 7.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน กรุงเทพฯ-หัวหิน วงเงิน 94,673 ล้านบาท
8.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน กรุงเทพ-ระยอง วงเงิน 152,528 ล้านบาท 9.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) วงเงิน 110,116 ล้านบาท 10.โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) วงเงิน 56,690 ล้านบาท 11.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว - สำโรง) วงเงิน 54,644 ล้านบาท 12.โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก) และสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-หัวลำโพง) วงเงิน 44,157 ล้านบาท 13.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน – ราษฏร์บูรณะ) วงเงิน 131,004 ล้านบาท 14.โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี วงเงิน 55,620 ล้านบาท
สำหรับโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่นตามแนวระเบียงตะวันออกและตะวันตกด้านล่าง (Upper East-west Corrior) เส้นทางถนนมีการปรับปรุงเป็น 4 ช่องจราจรเกือบทั้งหมดแล้ว โดยเฉพาะช่วงพิษณุโลก-หล่มสัก ระยะทางกว่า 100 กม. จะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2559, ช่วงกาฬสินธุ์-นาไคร้ตอนที่ 1 อยู่ในระหว่างการก่อสร้างใช้งบปี 2559 ระยะทาง 7.9 กม. ช่วงที่ยังไม่ได้ปรับคือนาไคร้-คำชะอี ระยะทาง 36 กม. และหล่มสัก-น้ำหนาว ระยะทาง 11 กม. อยู่ระหว่างขออนุมัติรายงานผลการศึกษาสิ่งแวดล้อม (EIA) เพราะเป็นพื้นที่อุทยาน
ส่วนเส้นทางรถไฟกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ-แหลมฉบัง ทำข้อตกลงกับทางญี่ปุ่น 3 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 ปรับปรุงเส้นทางรถไฟทางเดิมจากกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ-แหลมฉบัง ระยะทาง 574 กม.ก่อน ขั้นตอนที่ 2 ตั้งบริษัทเดินรถไฟร่วมกัน และขั้นตอนที่ 3 พัฒนาเป็นทางคู่ ซึ่งในเดือน ม.ค.2559 ทางญี่ปุ่นจะทดลองเดินรถขนส่งสินค้าขนาด 12 ฟุต ในเส้นทางดังกล่าว
"การจัดตั้งบริษัทเดินรถ ระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นจะเป็นลักษณะเอกชนเช่ารางรถไฟ เป็นบริษัทลูกของการรถไฟฯ บริหารการเดินรถและจัดหาขบวนรถเพิ่ม เพื่อที่จะรองรับการขนส่งผู้โดยสารช่วงกรุงเทพฯ-นครปฐม และกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา โดยประเทศญี่ปุ่นจะเป็นผู้วางแผนและบริหารให้เกิดความต้องการ"
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของสัดส่วนในการจัดตั้งบริษัท ได้มอบหมายให้นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟฯ เป็นผู้ทำการศึกษาเริ่มตั้งแต่ ธ.ค.นี้ถึงเดือน ม.ค. 2559 เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความคล่องตัว เบื้องต้นอาจจะเป็น ฝ่ายไทยโดยการรถไฟฯถือในสัดส่วน 49 เอกชนญี่ปุ่นถือ 49% และ 2% โดยใน 2% นั้น อาจจะเป็นเอกชนหรือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เนื่องจากตามหลักการแล้ว หากทางการรถไฟฯถือหุ้นเกิน 50% จะเป็นรัฐวิสาหกิจ จะทำให้การทำงานไม่คล่องตัว
ขณะเดียวกันเอกชนตัวแทนจากประเทศญี่ปุ่นที่จะเข้าร่วมการบริษัทเดินรถไฟ จะเป็นบริษัทประเทศญี่ปุ่นที่ที่ทำธุรกิจประเภทรถไฟ, รถไฟฟ้า และการขนส่งในประเทศไทยอยู่แล้ว
http://www.prachachat.net/news_detail.p ... 1448962378