ชี้กลยุทธ์พลิกฟื้นทีโอที ลงทุนเฉพาะกลุ่ม-คุมรายจ่าย
http://www.bangkokbiznews.com/home/deta ... B8%A2.html
วันที่ 19 มกราคม 2558 10:47
"ธันวา" รักษาการซีอีโอทีโอที แนะทางรอดพลิกฟื้นองค์กรลด "ขาดทุน"พลิกสู่"กำไร" ระบุต้องมุ่งเน้นลงทุนเฉพาะกลุ่ม
คุมรายจ่ายให้อยู่ ปรับรูปแบบการทำงานใหม่เน้นผลชี้วัดที่ชัดเจน พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น พร้อมยกระดับองค์กรสู่กลไกหลักหนุนนโยบายดิจิทัล อีโคโนมี
การลาออกของ "นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์" อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบมจ.ทีโอที ช่วงปลายเดือน ส.ค. 2557 ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ส่งผลให้ "ทีโอที" ที่มีปัญหารุมเร้าอยู่แล้ว ต้องเผชิญกับการไร้ซึ่งผู้นำองค์กรอีกครั้ง เปรียบเสมือนเรือที่ขาดหางเสือ ท่ามกลางผลประกอบการที่ไม่เฟื่องฟูเหมือนอดีต และอยู่ระหว่างการผ่าตัดองค์กรครั้งใหญ่ ตามนโยบายปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ
การเปลี่ยนตัวซีอีโอช่วงนั้น ปรากฏชื่อของ "นายธันวา เลาหศิริวงศ์" อดีตผู้บริหารองค์กรไอทียักษ์ใหญ่ ถูกเลือกขึ้นมา "รักษาการแทน" เป็นซีอีโอขัดตาทัพ พร้อมๆ กับคาดการณ์ "ขาดทุน" ปี 2557 ที่สูงลิ่วถึง 8,500 ล้านบาท
ถอดรหัสผ่าตัดใหญ่องค์กร
การปรับโครงสร้างใหม่ของทีโอที เป็นผลสืบเนื่องหลังจากที่ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อกำหนดทิศทางดำเนินงานของ 6 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1.กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม 2.กลุ่มเสาโทรคมนาคม 3.กลุ่มอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ และเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ 4.กลุ่มโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5.กลุ่มโทรศัพท์ประจำที่และอินเทอร์เน็ต และ 6.กลุ่มบริการด้านไอทีรวมทั้งไอดีซี และคลาวด์
ดังนั้นคณะกรรมการ(บอร์ด) ที่มีพล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ เป็นประธาน ได้มีมติให้ปรับโครงสร้างองค์กร จากการประชุมคณะกรรมการทีโอที ครั้งที่ 10/2557 เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2557 ให้แบ่งธุรกิจออกเป็น 6 กลุ่ม ดังกล่าว เพื่อเตรียมรับกลยุทธ์ระยะยาว และปรับลักษณะการทำงานให้เป็นแบบเมตริก (Matrix) เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในองค์กร เพิ่มความรับผิดชอบตัวชี้วัดทางการขายและทางผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจนขึ้น ปรับลดจำนวนส่วนงานเหลือ 7 สายงาน ลดความซ้ำซ้อน เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น
นายธันวา เลาหศิริวงศ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอที กล่าวว่า สิ่งที่จะทำให้ทีโอทีพลิกฟื้นองค์กรได้นอกจากปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรแล้ว ทีโอทีต้องสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายและการลงทุนให้มีประสิทธิภาพ โดยมีสายงานที่รับผิดชอบดูแลลูกค้าองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน และแยกสายงานรับผิดชอบดูแลลูกค้ารายย่อยอย่างใกล้ชิด รวมถึงทีโอทีต้องเป็นกลไกสนับสนุนนโยบายดิจิทัล อีโคโนมี รวมทั้งเป็นโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมเพื่อสร้างความมั่นคงประเทศ
นโยบายเรื่องการลงทุน ทีโอที ต้องเน้นลงทุนแบบเจาะกลุ่มเป้าหมายลูกค้า และในพื้นที่ที่ผลตอบแทนเป็นบวกชัดเจนเท่านั้น ไม่ลงทุนขยายเครือข่ายในลักษณะปูพรม และไม่ก่อให้เกิดรายได้ รวมทั้งจำกัดต้นทุนที่สูงกว่าคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการให้บริการไวไฟที่ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน และซ้ำซ้อนกับจุดที่มีผู้ให้บริการอยู่แล้วหลายราย
นอกจากนี้ธุรกิจไฟเบอร์ออพติก เอฟทีทีเอ็กซ์ ต้องเข้มข้นตรวจสอบต้นทุนการให้บริการจริงว่ามีเท่าไร และให้บริการลูกค้าได้ในราคาเท่าไร ถึงจะทำให้ทีโอทีสามารถแข่งขันและต่อยอดรายได้ในด้านอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย
อินเท็นซีฟโปรแกรมล่อใจพนง.
นอกจากนี้ ยังปรับปรุงกระบวนการทำงาน ปรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้มีความคล่องตัวและได้ราคาที่แข่งขันทางธุรกิจได้ ทั้งจัดโครงการส่งเสริมการขาย (เซล อินเท็นซีฟ โปรแกรม) กระตุ้นการสร้างกำไรและยอดขายของพนักงาน เพื่อให้รายได้เติบโตมากขึ้นกว่าการคาดการณ์ แบ่งเป็นกลุ่มลูกค้าทั่วไป โดยตั้งเป้าประมาณการกำไรจากการดำเนินงาน หลังหักค่าตอบแทนการขายเพิ่มขึ้นประมาณ 164 ล้านบาท ซึ่งคาดว่า จะมีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 344 ล้านบาท และรายได้เพิ่มขึ้น 452 ล้านบาท กลุ่มลูกค้าองค์กรตั้งเป้าประมาณการรายได้จากสัญญาการสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 500ล้านบาท
ขณะที่ การสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจที่มุ่งเน้นหาพันธมิตรด้านยุทธศาสตร์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศใน 6 กลุ่มธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสเพิ่มมูลค่าธุรกิจร่วมกันนั้น นายธันวา กล่าวว่า การหาพาร์ทเนอร์ถือเป็นการเปิดกว้างและเปิดรับกับทุกรูปแบบการทำธุรกิจทั้ง 6 กลุ่ม โดยไม่จำกัดเฉพาะธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ เน้นประโยชน์ร่วมกันของพันธมิตรธุรกิจทุกฝ่าย ซึ่งขณะนี้มีผู้ส่งรายละเอียดข้อเสนอและผลประโยชน์เพื่อร่วมธุรกิจมาให้แล้ว เพียงแต่รอการพิจารณาจากบอร์ดอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ผลจะพิจารณาจากประโยชน์สูงสุดของ ทีโอที และประเทศชาติเป็นหลัก
ปัดฝุ่นโทรตู้-ไฟเบอร์ฯลดต้นทุน
นายธันวา ยังกล่าวด้วยว่า การเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายจากบริการโทรศัพท์สาธารณะทั่วประเทศ โดยเปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์สาธารณะ เป็นเครื่องโทรศัพท์สาธารณะพร้อมตู้เติมเงินค่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ คาดว่า การเปลี่ยนครั้งนี้ จะทำให้ทีโอทีมีมูลค่ารวมเพิ่มขึ้นประมาณ 150 ล้านบาทใน 3 ปี
ส่วนโครงการเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศระบบเอเชีย-แอฟริกา-ยุโรป1 (เอเออี-1) เป็นโครงการลงทุนจัดสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำร่วมกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายหลักในประเทศต่าง ๆ เพื่อรองรับความต้องการใช้บริการอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ ที่มีอัตราการเติบโตซึ่งจะมีความจุโครงข่าย (คาปาซิตี้) ไม่ต่ำกว่า 3,600 กิกะไบต์ โครงการนี้ส่งผลให้ ทีโอที ลดต้นทุนค่าเช่าวงจรอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 2,300 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาทีโอทีมีต้นทุนที่สูงกว่าคู่แข่งในตลาด ทำให้การทำราคาเพื่อแข่งขันไม่จูงใจลูกค้า
"การเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่าย จากบริการโทรศัพท์สาธารณะทั่วประเทศ ด้วยการเปลี่ยนเป็นเครื่องโทรศัพท์สาธารณะพร้อมตู้เติมเงินค่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะสร้างรายได้เพิ่มและลดค่าใช้จ่ายของทีโอทีรวมถึงต่อยอดไปสู่ธุรกิจใหม่ ส่วนโครงการเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศระบบเอเออี-1 จะส่งผลให้ประชาชนใช้บริการอินเทอร์เน็ตทั่วถึงในราคาที่เป็นมาตรฐาน ความเร็วเพิ่มขึ้น ยกระดับไทยให้เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนทราฟฟิกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสริมความมั่นคงระบบโครงข่ายของประเทศอีกทางหนึ่ง คาดว่าโครงการจะเปิดใช้งานได้ในปี 2559" นายธันวา กล่าว
จากขาดทุนส่อพลิกกำไรพันล้าน
ก่อนหน้านี้ นายพิพัฒน์ ขันทอง รองประธานบอร์ดทีโอที กล่าวว่า บอร์ดเข้ามาดำเนินงานกว่า 4 เดือนหลังเข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค. 2557 จะสามารถลดการขาดทุนของบริษัทจากเดิม 8,500 ล้านบาท เหลือ 7,800 ล้านบาท จนสุดท้ายเหลือ 4,572 ล้านบาท จากรายได้เดิมที่ประมาณการไว้ 32,000 ล้านบาท และล่าสุดได้สรุปตัวเลขของปี 2557 ทีโอทีอาจพลิกมีกำไรสุทธิได้ราว 1,000 ล้านบาท หลังปรับลดรายจ่ายและทำรายได้ในส่วนต่างๆ ให้มากขึ้น รวมถึงมีปัจจัยมาจากปรับรูปแบบทำงาน ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ปรับลักษณะการทำงานให้พนักงาน 1 คน ทำงานได้หลายอย่าง
ทั้งนี้ องค์ประกอบหลักที่ทำให้ทีโอทีพลิกกลับมีกำไร 1,000 ล้านบาท คือ 1.ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นทุกทาง 2.เร่งรัดหนี้สินที่คงค้าง ซึ่งทำให้ในช่วงที่ผ่านมียอดหนี้ค้างที่เร่งรัดได้ราวหลัก 100 ล้านบาท และ 3.ชะลองานจัดจ้าง-เช่าซื้อที่ไม่จำเป็น