นักลงทุนสถาบันปรับพอร์ตลงทุนครั้งใหญ่ โยกเงินเข้าลงทุนตลาดหุ้น หลังธนาคารกลางทั่วโลกงัดมาตรการQE เตือนระวังอันตรายช่วงปรับฐาน
นายสุรศักดิ์ ธรรมโม คณะกรรมการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ฟินันซ่า จำกัด เปิดเผยว่า กลยุทธ์การลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ทั่วโลก ได้มีการเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์ลงทุนครั้งใหญ่ (Great Rotation) หลังจากที่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ลงทุนอยู่ในตราสารหนี้ หรือพันธบัตรของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพันบัตรรัฐบาลสหรัฐ ยุโรป หันมาลงทุนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง อย่างตลาดหุ้นมากขึ้น
"สาเหตุที่ก่อนหน้านี้เงินส่วนใหญ่อยู่ในพันธบัตรสหรัฐ หรือยุโรป เนื่องจากนักลงทุนสถาบันหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กลัวเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารกลางทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ หรือยุโรป ออกมาตรการอัดฉีดเงินเข้าระบบผ่านการซื้อพันธบัตร (QE) ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายมาลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงแทน"
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหรัฐ และยุโรป มีปัญหา ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ และค่าเงินยูโร มีความผันผวน ทำให้มีการเข้าไปเก็งกำไรตลาดทองคำมากขึ้น และส่วนหนึ่งโยกเงินเข้าไปลงทุนในเยนญี่ปุ่น แม้จะให้ผลตอบแทนเพียง 0.1% แต่ก็ยังมีความเสี่ยงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับลงทุนในยูโร
ล่าสุด หลังจากที่นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ เข้าบริหารประเทศ และประกาศนโยบายชัดเจนในการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบในปี 2557 และปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อมาอยู่ที่ 2% เพื่อแก้ปัญหาภาวะเงินฝืดที่เป็นปัญหาเรื้อรังของญี่ปุ่น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีนโยบายกดค่าเงินเยนให้อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ เพื่อผลักดันการส่งออกของญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นอีกตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการไหลบ่าของเงินเข้าสู่ตลาดหุ้นทั่วโลกและตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย
นายสุรศักดิ์ ให้ความเห็นว่า มาตรการ QE ที่ธนาคารกลางทั่วโลกนำออกมาใช้ และล่าสุดญี่ปุ่นก็ประกาศออกมาใช้เช่นเดียวกัน ทำให้มีการเข้าเก็งกำไรในตลาดหุ้นมากขึ้น เห็นได้จากดัชนีดาวโจนส์ที่ทะยานตัวขึ้นใกล้ทดสอบระดับจุดสูงสุดเดิมที่ 14,200 จุด โดยล่าสุดอยู่ที่ 14,000 จุด แม้เศรษฐกิจสหรัฐจะมีปัญหา ขณะที่ตลาดหุ้นไทยก็เช่นเดียวกัน ดัชนีทะยานตัวแตะระดับ 1,500 จุด เร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ โดยตลาดหุ้นไทยสถิติสูงสุดเดิมอยู่ที่ 1,700 จุด
“ถามว่าหุ้นพุ่งเกินปัจจัยพื้นฐานไหม คงต้องตอบว่า มาจากการที่ธนาคารกลางทั่วโลกออกมาตรการ QE และอัตราเร่งที่เกิดขึ้นจากธนาคารกลางญี่ปุ่น กดค่าเงินเยนให้อ่อนค่าลงแตะ 100 เยนต่อดอลลาร์ และเกิดขึ้นจากความกังวลว่า เงินเฟ้อกำลังจะมา ทำให้เงินที่เคยอยู่ในตลาดตราสารหนี้ หรือพันธบัตร โยกเข้ามาลงทุนตลาดหุ้น”
นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า การที่มุมมองของผู้จัดกองทุนทุน หรือบรรดากองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั่วโลก เปลี่ยนมุมมอง ส่วนหนึ่งมาจาก บางส่วนที่ปรับมุมมอง และกล้าเสี่ยงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้รับอัตราผลตอบแทนที่สูง ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มมาถูกทาง และทำให้ฟันด์เมเนเจอร์มีการเพิ่มน้ำหนักลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นในปีนี้ ซึ่งเห็นได้จากเงินทุนเคลื่อนย้ายตั้งแต่ต้นปี
“ภาวะฟองสบู่ตลาดหุ้นที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะเกิดขึ้นกับไทย ผมมองว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะตลาดหุ้นไทย มันเกิดขึ้นทั้งในจีน ในญี่ปุ่น เกิดขึ้นจากญี่ปุ่นพิมพ์เงินเพิ่ม สร้างสร้างแรงใจให้มีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง การที่ธนาคารกลางทั่วโลกตัดสินใจพิมพ์เงินเพิ่ม เป็นการรับประกันความเสี่ยง”
ส่วนมุมมองการลงทุนการลงทุนของฟินันซ่า ตั้งแต่ต้นปีมองแนวโน้มดัชนีปีนี้น่าจะอยู่ที่ 1,471 จุด ส่วนเป้าภายในที่มองอยู่ที่ 1,500 จุด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับเป้าหมายใหม่ หลังจากที่มีเงินไหลเข้าจำนวนมาก ผลักดันให้ดัชนีทะยานเหนือ 1,500 จุด
"เราอยากดูว่าพื้นฐานสามารถซัพพอร์ตได้มากน้อยแค่ไหน แต่แนวโน้มการที่รัฐบาลมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (เมกะโปรเจค) จะเป็นส่วนสำคัญให้พื้นฐานราคาหุ้นบางกลุ่มสามารถไปได้ต่อ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มก่อสร้าง กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคฃ"
นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า การที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมา และสามารถทะยานเหนือ 1,500 จุด ได้อย่างรวดเร็ว เช่าอว่าน่าจะมีการปรับฐาน แต่ตลาดหุ้นไทยจะปรับลงแรงหรือไม่นั้น บลจ.ฟินันซ่ามองว่า ยังมีพื้นฐานซัพพอร์ต
"ฟินันซ่าได้ตั้งทีมมอนิเตอร์ เพื่อเกาะติดเงินทุนเคลื่อนย้าย และดูว่าธนาคารกลางแต่ละประเทศจะมีการยกเลิกการอัดเงินเข้าสู่ระบบในช่วงไหน แน่นอนว่า ถ้าสหรัฐยกเลิก QE ในปี 2558 อาจส่งผลกระทบเงินทุนเคลื่อนย้ายในช่วงปี 2557”
คณะกรรมการการลงทุน บลจ.ฟินันซ่า แนะนำนักลงทุนว่า การลงทุนตลาดหุ้นในช่วงนี้นักลงทุนต้องให้ความระมัดระวัง เพราะมีความผันผวนมาก เห็นได้จากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในวันพฤหัสบดีดัชนีปรับตัวลดลงกว่า 20 จุด แต่ในวันศุกร์ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 25 จุด
"ใครที่ใช้เงินมาร์จิ้น หรือลงทุนในตลาดฟิวเจอร์ คงต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะการที่หุ้นขึ้นเร็ว ลงเร็ว โอกาสขาดทุนย่อมมีสูงตามมา"
ขณะเดียวกันยังจำเป็นต้องระมัดระวังว่า การที่เงินไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งจากการรายงานของสมาคมตราสารหนี้ไทยพบว่า มีการเข้ามาเก็งกำไรในตลาดตราสารหนี้ระยะสั้น อายุต่ำกว่า 1 ปี มากกว่า 70% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้ามีการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นประมาณ 60% เท่านั้น หากต่างชาติโยกเงินเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้อายุเพียง 14 วัน และมีการโยกเงินขายเพื่อทำกำไร อาจทำให้ตลาดมีความผันผวน หากมีการโยกเงินเข้าตลาดหุ้น แล้วโยกออกพักเข้าตลาดตราสารหนี้ ทำกำไรทั้งจากตลาดตราสารหนี้ ตลาดหุ้น รวมถึงค่าเงินบาท
คณะกรรมการการลงทุนบลจ.ฟินันซ่า ให้ความเห็นว่า ต่างชาติที่กู้เงินเยนญี่ปุ่น เข้ามาลงทุนตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผานมา อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ 0.1% โยกเข้ามาลงทุนพันธบัตรระยะสั้น จะได้รับผลตอบแทนประมาณ 2.75-3.00% และถ้ารวมกำไรที่เกิดขึ้นจากการแข็งค่าของเงินบาทตั้งแต่ต้นปี 2.8% มีกำไรแล้วกว่า 5%
ที่ผ่านมามีเงินเข้าตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นจำนวนมาก โดยไทยถือว่า ครองแชมป์เงินทุนไหลเข้าสูงสุด ระหว่างวันที่ 1-23 ม.ค. มีเงินไหลเข้าตลาดหุ้นทย 770 ล้านดอลลาร์ ฟิลลิปปินส์ 609 ล้านดอลลาร์ อินโดนีเซีย 505 ล้านดอลลาร์ และมาเลเซีย 60 ล้านดอลลาร์
นายวีระ วุฒิคงศิริกูล รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานจัดการลงทุน บลจ.กรุงไทย ให้ความเห็นการประกาศอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบของสหรัฐ ยุโรป เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นก็ประกาศมาตรการ QE และปรับเป้ามหายเงินเฟ้อ ทำให้เกิดกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น
"ตอนนี้คนเริ่มกังวลฟองสบู่ตลาดตราสารหนี้ เพราะมีการเข้าไปลงทุนในบอนด์สหรัฐมากขึ้น ยิลด์ปรับตัวลดลงมาเหลือเพียง 1.6% จากเดิมอยู่ที่ 1.8%"
นายวีระ มองว่า กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายขณะนี้ เริ่มโยกมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ที่ปัจจัยพื้นฐานถือว่าแข็งแกร่ง
"เรามองเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้อยู่ที่ 1,575 จุด แต่ตอนนี้มันเร็วมาก อาจต้องระวัง และที่สำคัญพี/อีตลาดหุ้นไทยก็ไม่ได้ถูกเมื่อเทียบกับภูมิภาค อย่างไรก็ตาม มองแนวโน้มระยะยาวก็ยังพอไปได้ เพราะเชื่อว่าดอกเบี้ยยังต่ำไปอีก 2 ปี"
รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานจัดการลงทุน บลจ.กรุงไทย แนะนำว่า นักลงทุนควรระมัดระวังการลงทุน เพราะความอันตรายคือความร้อนแรงของตลาดหุ้น ถ้าทุกอย่างเร็ว หรือร้อนแรง ย่อมมีความอันตราย ซึ่งอาจเห็นตลาดหุ้นไทยมีการปรับฐานบาท อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า การที่มีกองทุนประเภททริกเกอร์ฟันด์ ออกมาในช่วงก่อนหน้า จะช่วยพยุงดัชนีไม่ให้ปรับตัวลดลงมากจนเกินไป!!!!
http://www.bangkokbiznews.com/home/deta ... ดหุ้น.html