กะเทาะ “เสี่ยเจริญ” ผ่านงานวิจัย “นวลน้อย ตรีรัตน์” (ต่อ)
การสะสมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ : ยุคผลัดใบ
ในปี พ.ศ.2546 นายเจริญวางแผนที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งถือเป็นรูปแบบการสะสมทุนและความมั่งคั่งของเจ้าสัวสมัยใหม่
สาเหตุที่อาณาจักรน้ำเมาของนายเจริญต้องปรับเปลี่ยนเพื่อเข้าสู่รูปแบบการสะสมทุนแบบใหม่อาจจะมาจาก
เป็นการเข้าสู่ยุคการผลัดใบ ที่นายเจริญจะต้องถ่ายโอนการบริหารไปสู่คนในตระกูลรุ่นต่อไป ซึ่งคงยากที่จะทำธุรกิจในรูปแบบเดียวกันกับที่นายเจริญเคยดำเนินการ
การเปิดเสรีในตลาดสุรา ทำให้สภาพการแข่งขันสูงขั้น โดยเฉพาะจากสุราราคาถูกจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันการขยายตัวของตลาดสุราและเบียร์ในประเทศชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อม และขยายตัวสู่ต่างประเทศ เพื่อขยายตลาดเพิ่มขึ้น
ทรัพย์สินและความมั่งคั่ง ทั้งที่อยู่ในรูปสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ ล้วนแต่มีมูลค่าตลาดสูง แต่ถ้าไม่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ไหนเลยจะแปรเปลี่ยนเป็นเงินได้
ถึงแม้ว่ากลุ่มของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี จะสามารถกุมส่วนแบ่งการตลาดโดยส่วนใหญ่ไว้ได้ ทั้งในตลาดสุราและเบียร์ก็ตาม แต่การแข่งขันที่เกิดขึ้นในระดับหนึ่ง ทำให้ค่าเช่าทางเศรษฐกิจที่เคยได้หรือการใช้อำนาจในการผูกขาดในธุรกิจไปแสวงหาค่าเช่าอื่นๆ เพิ่มเติมมีข้อจำกัดมากยิ่งขึ้น ในที่สุดแล้วกลุ่มเครือข่ายสุราและเบียร์โดยมีนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นแกนที่สำคัญ ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างของธุรกิจอีกครั้งหนึ่งเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ โดยอยู่ภายใต้บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บมจ. ไทยเบฟเวอเรจได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2546 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 20,000 ล้านบาท (เพิ่มทุนเป็น 22,000 ล้านบาทในเดือนธันวาคม 2546) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจการลงทุนโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับการผลิตเบียร์ น้ำดื่มและโซดา ผลิตสุรา ผลิตแอลกอฮอล์ที่ใช้ในอุตสาหกรรม การเป็นผู้แทนจำหน่าย การตลาด ส่งออกและการขนส่ง และธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ
โครงสร้างผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 2 กันยายน 2548 มีนายเจริญ สิริวัฒนภักดี และคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี เป็นผู้ถือหุ้นรวมกันร้อยละ 40.91 โดยเป็นการถือหุ้นโดยตรงร้อยละ 28.70 และถือหุ้นทางอ้อมอีกร้อยละ 12.21
อย่างไรก็ตาม บริษัทไทยเบฟเวอเรจไม่ประสบความสำเร็จในการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทย เนื่องจากเผชิญแรงต้านจากกลุ่มเครือข่ายประชาสังคมที่นำโดยพลตรีจำลอง ศรีเมือง ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความสนับสนุนมากมายเพียงใด ซึ่งอาจเป็นเพราะตระหนักดีว่ามีสาธารณชนที่ต่อต้านธุรกิจสุราอยู่ตามสมควร และมีกลุ่มที่ต่อต้านการดื่มสุราที่นำโดยจำลอง ศรีเมือง เป็นขบวนการประชาชนที่เข้มแข็ง และอาจจำให้ความนิยมของรัฐบาลลดลง และอาจจะลายเป็นประเด็นทางเมืองขึ้นมาก็ได้ ถ้ารัฐบาลออกมาสนับสนุนนอกหน้าก็จะเสียคะแนนนิยมกับกลุ่มผู้ที่ต่อต้านการดื่มสุรา ในที่สุดบริษัทไทยเบฟเวอรเรจจึงไปเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์แทน
เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องสุรา
ในการวิเคราะห์ข้างต้นได้ชี้ให้เห็นความเป็นมาของธุรกิจสุราซึ่งเกี่ยวโยงกับการเมืองมาโดยตลอด รวมทั้งการเข้าสู่ธุรกิจสุราของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี จากที่เคยเป็นเพียงลูกพ่อค้าขายหอยทอด มาเป็นผู้ที่มีหุ้นใหญ่ในธุรกิจผูกขาดสุรา และต่อมาได้ใช้รายได้ (ที่ได้เกินระดับปกติที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่าค่าเช่า) ขยับขยายการลงทุนสู่ธุรกิจอื่นๆ อย่างกว้างขวาง ในส่วนนี้จะได้วิเคราะห์ถึงสูตรสำเร็จการเข้าสู่การยึดครองการผูกขาดของนายเจริญ ซึ่งประกอบด้วยกลยุทธ์การยึดครองสัมปทาน การสร้างเครือข่ายพันธมิตรและการอิงอำนาจรัฐ การใช้กลไกรัฐในการเอื้อประโยชน์ และกลยุทธ์กีดกันคู่แข่งรายใหม่
ยึดครองสัมปทาน : คว้าชัยไว้ก่อนพลิกแพลงทีหลัง
ดูเหมือนว่าสูตรสำเร็จสำคัญประการหนึ่งของการเข้าสู่การยึดครองผูกขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีธุรกิจสัมปทานภาครัฐ ก็คือจะต้องพยายามยึดครองสัมปทานให้ได้เสียก่อน แล้วค่อยไปแก้ปัญหาต่างๆทีหลัง โดยผ่านการสร้างเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ขึ้นมาก แต่ถ้าหากว่าสถานการณ์ทางการเมืองอยู่ในภาวะที่ไม่รวมศูนย์โดยเด็ดขาด มีผู้ที่พยายามเข้าแย่งชิงผลประโยชน์หลายรายแล้ว กลยุทธ์ที่จะใช้ในกรณีนี้คือการเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้กับรัฐเป็นจำนวนที่สูงมาก เพื่อให้ได้สัมปทาน หลังจากที่ได้ผูกขาดแล้วก็จะหาทางเพื่อให้มีการแก้ไขข้อสัญญาในสัมปทานโดยเฉพาะในประเด็นเรื่องผลตอบแทน
ในกรณีของธุรกิจสุราก็เช่นเดียวกัน การแข่งขันระหว่างกลุ่มนายสุเมธ เตชะไพบูลย์ และกลุ่มเถลิง-เจริญ ทำให้ข้อเสนอการให้ผลประโยชน์ตอบแทนต่อโรงงานสุราบางยี่ขันในปี 2522 เพิ่มขึ้นจากสัมปทานเก่าค่อนข้างมาก จากการเสียค่าเช่าปีละ 51 ล้านบาท และส่วนแบ่งกำไรสุทธิอีกร้อยละ 25 เพิ่มเป็นส่วนแบ่งร้อยละ 45 ของราคาขายปลีก และเช่นเดียวกันเพื่อให้ได้สัมปทานโรงงานสุราในเครือของกรมสรรพสามิต เพื่อใช้เป็นฐานในการต่อสู้กับกลุ่มนายสุเมธ กลุ่มเถลิง-เจริญได้เสนอผลประโยชน์ให้กับรัฐถึง 5,884 ล้านบาทในปีแรก สูงกว่ากลุ่มเจ้าของสัมปทานเดิมที่มีจำนวน 29 ราย ที่เสนอให้ 3,200 ล้านบาท กรณีนี้ได้ถูกวิจารณ์อย่างมากมายในวงการธุรกิจสุรา ว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเสนอผลตอบแทนให้สูงถึงเพียงนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาจ่ายเงินปรากฏว่ากลุ่มเถลิงและเจริญมีเงินจ่ายเพียง 5 โรงเท่านั้น ต้องเปิดประมูลรอบใหม่ ซึ่งเถลิงกับเจริญก็ชนะเช่นเดิมอีก แต่ผลประโยชน์ที่เสนอให้รัฐลดลง 796 ล้านบาท ทั้งนี้เงินที่กลุ่มนำมาจ่ายให้รัฐมาจากเงินกูจากธนาคาร 6 แห่ง โดยมีธนาคารกรุงเทพเป็นหลัก การกู้เงินครั้งนี้ใช้เพียง 5 คนค้ำประกัน คือ เถลิง เหล่าจินดา, นายพงส์ สารสิน, เจริญ ศรีสมบูรณานนท์, เกียรติ เอี่ยมสกุลรัตน์ และกมล เอี่ยมสกุลรัตน์
การประมูลโรงงานสุราในราคาที่สูง มีผลให้ต้นทุนในการผลิตสุรามีราคาที่สูงขึ้นมาก และจะต้องมีการผลิตตามจำนวนขั้นต่ำเพื่อจ่ายค่าผลประโยชน์ขั้นต่ำให้กับรัฐ ก่อนที่สัมปทานจะเริ่มในปี 2528 กลุ่มสุราทิพย์ได้รับเซ้งหรือร่วมกิจการกับผู้ผลิตเดิม เพื่อผลิตสต็อกสุราเป็นจำนวนถึง 7.8 ล้านเท โดยสุราเหล่านี้ผลิตขึ้นโดยเสียภาษีและค่าผลประโยชน์ตามเดิม ซึ่งถูกกว่าสัญญาใหม่ค่อนข้างมากและในปี 2528 กลุ่มสุราทิพย์ได้เสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาลดจำนวนการผลิตตามสัญญาขั้นต่ำ ตามจำนวนสต็อกเหล้าที่มีอยู่ ซึ่งถ้ากระทรวงการคลังอนุมัติก็จะมีผลให้รัฐสูญเสียค่าภาษีและค่าสิทธิ์เป็นจำนวน 4,000 กว่าล้าน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง แม้ว่าจะมีการผลักดันให้พิจารณาถึง 2 รอบก็ตาม
ภายหลังยุทธการสุรา ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายบาดเจ็บไปค่อนข้างมากภาระหนี้สินและยอดการขาดทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2529 สมาคมธนาคารนำโดยนายชาตรี โสภณพานิช ในฐานะประธานสมาคมได้ยื่นหนังสือไปยัง พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาสุรา เพราะในขณะนั้นกลุ่มสุราทิพย์เป็นหนี้สถาบันการเงินอยู่ประมาณ 14,000 ล้านบาท และหนี้ที่จะต้องจ่ายให้รัฐตามสัญญาผลประโยชน์รวมอีกประมาณ 5,000 กว่าล้านบาท โดยอ้างเหตุผลว่าถ้ากลุ่มสุราทิพย์ไม่สามารถจ่ายหนี้คืนให้กับสถาบันการเงินได้อาจจะมีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ ตลอดรวมถึงรายได้รัฐบาล ปรากฏการณ์นี้ทำให้รัฐต้องเข้าสู่วงจรของกลุ่มทุนที่ว่า “ใหญ่เกินไปที่จะล้ม”
กลยุทธ์คว้าชัยไว้ก่อนพลิกแพลงที่หลัง ได้ปรากฏผลว่า ในที่สุดกระทรวงการคลังต้องยินยอมให้มีการแก้ไขสัญญาสัมปทานโดยให้สุราทิพย์จ่ายเงินผลประโยชน์เหมาจ่ายให้รัฐเท่ากับรายได้ขั้นต่ำ (ตามข้อกำหนดการผลิตสุราตามจำนวนขั้นต่ำ) ในการเสนอประมูลตลอดช่วงอายุสัญญาถึงปี 2542 และให้โรงงานทั้ง 12 โรงงานสามารถผลิตสุราทดแทนกันได้
นอกจากนี้ภายหลังกลุ่มสุรามหาราษฎรและสุราทิพย์รวมตัวกันเป็นบริษัทเดียวกันแล้ว กระทรวงการคลังได้ลดเงินผลประโยชน์ที่บริษัทต้องจ่ายให้รัฐลดลงด้วย
กลยุทธ์การยึดครองสัมปทาน เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อมีการประมูลขายโรงงานสุราบางยี่ขันในปี 2542 ตามนโยบายเปิดเสรีสุรา กลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ได้ออกข่าวอย่างต่อเนื่องว่าจะเข้ามาในธุรกิจสุรา ทำให้กลุ่มเจริญเสนอราคาประมูลถึง 8,251 ล้านบาท ขณะที่บุญรอดบริวเวอรี่เสนอเพียง 2,544 บาท
สร้างเครือข่ายพันธมิตร อิงฐานอำนาจรัฐ
กล่าวกันว่าการประกอบธุรกิจการค้าในประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่ได้เป็นไปตามทฤษฎีการค้าแบบตะวันตกแต่อย่างใดแต่จะต้องเป็นไปตามวิถีตะวันออก กล่าวคือ จะต้องมีการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ แปรเปลี่ยนคู่แข่งให้เป็นเครือข่าย สร้างสายสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กับฐานอำนาจรัฐ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์และหรือเพื่อรักษาผลประโยชน์ และสร้างเส้นสายกับฐานอำนาจทางการเงิน เพื่อการขยายตัวของทุนได้โดยง่าย ถ้าทำได้ทั้ง 3 ประการ ก็สามารถยึดครองอาณาจักรธุรกิจนั้นอย่างง่ายดายได้
ณ จุดเริ่มต้นการได้เป็นเขยของนาย “กึ้งจู แซ่จิว” ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์รายสำคัญให้กับบริษัทสุรามหาคุณและมีสายสัมพันธ์กับตระกูลเตชะไพบูลย์ นักธุรกิจระดับนำ นับว่าเป็นจุดได้เปรียบเริ่มแรก และการที่นายเจริญถูกดึงเข้าสู่วงการผลิตสุราร่วมกับนายเถลิง เหล่าจินดา ซึ่งมีเครือข่ายเส้นสายในสายทหารค่อนข้างมาก ต่อจากนั้นก็ได้มีการเสริมสร้างเครือข่ายพันธมิตรอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง
กลยุทธ์การสร้างเครือข่ายพันธมิตรในวงการค้า อำนาจรัฐ และฐานการเงิน อาจจะกล่าวได้ว่าเริ่มตั้งแต่การสามารถดึงตัวนายจุล กาญจนลักษณ์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการปรุงสุราที่เก่งที่สุดในสมัยนั้นเข้ามาเป็นพวก และจัดตั้งเป็นบริษัท ที.ซี.ซี และนายจุลเป็นผู้แนะนำให้ซื้อโรงงานธาราวิสกี้ ของนายประสิทธิ์ ณรงค์เดช และนายพงส์ สารสิน
การได้ตัวนายจุลซึ่งเป็นผู้ปรุงเหล้าแม่โขง-กวางทองมาเป็นพวกทำให้กลุ่มนายเถลิง-เจริญ สามารถออกสุราแสงโสมและหงส์ทอง ซึ่งมีรสชาติที่เหมือนกับแม่โขง แต่ราคาถูกกว่ากันมาก เพราะแม่โขงเป็นสุราปรุงพิเศษที่สามารถจัดจำหน่ายได้ทั่วประเทศ ขณะที่แสงโสมและหงส์ทองถูกจัดอยู่ในประเภทสุราผสม ซึ่งเสียภาษีต่ำกว่ามาก แต่มีข้อจำกัดที่ขายได้เฉพาะเขต ซึ่งต่อมาได้เกิดยุทธการ “หงส์บินว่อน” ซึ่งเกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ของกรรมสรรพสามิตกระทำตนแบบ “เอาหูไปนาเอาตาไปไร่” ทั้งเรื่องผลิตสุราเลียนแบบและขายข้ามเขต
การได้นายพงส์ สารสิน มาเป็นเครือข่ายพันธมิตรนับว่าเป็นจุดเชื่อมที่สำคัญอีกจุดหนึ่ง เพราะในขณะนั้นนายพงส์ สารสิน คือนักการเมืองคนสำคัญของพรรคกิจสังคม เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในปี 2529 ขณะเดียวกันนายพงส์ยังเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญกับการสร้างสายสัมพันธ์กับกระทรวงการคลัง ทั้งนี้เพราะน้องชายของนายพงส์คือนายบัณฑิต บุณยะปานะ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และต่อมาเป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต และได้ออกคำสั่งหลายครั้งที่เป็นผลดีต่อกลุ่มของนายเถลิง-เจริญ-พงส์ โดยเฉาะอย่างยิ่งการอนุญาตให้มีการขนสุราหงส์ทองข้ามเขตได้
การได้นายเกียรติ เอี่ยมสกุลรัตน์ มาร่วมในกลุ่มสุราทิพย์ มีผลสำคัญที่ทำให้เครือข่ายทางการค้ามีความมั่นคงมากขึ้น เพราะนายเกียรติเป็นผู้หนึ่งที่มีความชำนาญในวงการสุรา และเป็นน้องชายของนายกมล เอี่ยมสกุลรัตน์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งสุรามหาคุณ นอกจากนี้นายเกียรติยังเป็นจุดเชื่อมต่อกับฐานการเงินที่สำคัญ คือ ธนาคารกรุงเทพ ทั้งนี้เพราะนายเกียรติมีความสนิทสนมกับนายชาตรี โสภณพานิช ประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพเป็นอย่างดี ซึ่งส่งผลต่อการได้เงินกู้จากธนาคารกรุงเทพ สำหรับจ่ายค่าสัมปทานและการสร้างโรงงานใหม่ทั้ง 12 แห่ง ของกรมสรรพสามิต
ประสบการณ์ที่สำคัญที่นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้รับในช่วงสงครามสุราก็คือ ยิ่งก่อสงครามต่อกัน สุดท้ายก็อาจจะล่มจมด้วยกันทั้งคู่ และสุดท้ายแม่ทัพใหญ่ทั้ง 2 ฝ่ายคือ นายเถลิง เหล่าจินดาและนายสุเมธ เตชะไพบูลย์ ก็ต้องถอนตัวออกจากวงการสุราด้วยความบอบช้ำ ปล่อยให้นายเจริญเข้าครอบครองอาณาจักรสุราอย่างเบ็ดเสร็จ อีกกลยุทธ์หนึ่งก็คือ ถ้าสามารถแปรคนที่มีแนวโน้มจะเป็นคู่แข่งที่สำคัญให้กลายเป็นพันธมิตรได้ นายเจริญจะทำทันทีเพื่อลดสภาวะการแข่งขันข้อมูลที่ยืนยันสิ่งนี้ได้ก็คือ เมื่อครั้งนายเฉลียว อยู่วิทยา เจ้าพ่อเครื่องดื่มชูกำลัง “กระทิงแดง” ต้องการเข้าสู่ธุรกิจสุรา โดยต้องการจะผลิตสุรากระทิงแดง กลุ่มนายเจริญได้เข้าเจรจาเพื่อให้นายเฉลียวเปลี่ยนใจ ในที่สุดนายเจริญได้รับซื้อบริษัทสุรากระทิงแดงจากนายเฉลียว
หรือว่าภายหลังการเปิดเสรี บริษัทยูไนเต็ดไวน์เนอรี่ จำกัด ของกลุ่มนายไพศาล ชีวะศิริ เจ้าของสุรายี่ห้อ “แบล็กแคท” ที่กำลังมาแรง ได้ขอใบอนุญาตผลิตสุรา โดยได้มีการเปิดตัวว่าจะมีการผลิตสุราขาวยี่ห้อ “ไผ่ทอง” ออกมาจำหน่ายในราคาขวดละ 51 บาท ในการจัดการกับคู่แข่งรายนี้นายเจริญเริ่มต้นด้วยการใช้เทคนิคการตลาดเพราะว่ามีเงินหนามาก คือ ได้ลดราคาสุราขาวลงมาอยู่ที่ 39 บาทจากราคา 60 บาท ก่อนทีไผ่ทองจะเข้าสู่ตลาด ทำโอกาสของไผ่ทองเป็นไปค่อนข้างยาก ต่อมาก็มีข้อเสนอให้บริษัทมาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน และสุดท้ายบริษัทยูไนเต็ดไวน์เนอรี่ จำกัด ก็ตกไปเป็นบริษัทหนึ่งในเครือของนายเจริญ โดยนายไพศาล ชีวะศิริ เข้าไปถือหุ้นในกลุ่มบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) แทน ขณะที่บริษัทบริษัทยูไนเต็ดนั้นนายไพศาลไม่ได้มีตำแหน่งใดๆ อีกทั้งสิ้นกลับเป็นนายเจริญเข้ามาเป็นประธานกรรมการแทน การเข้ามาครอบครองบริษัทยูไนเต็ดไวน์เนอรี่ จำกัด ทำให้สินค้ามีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น เพราะสินค้าของกลุ่มยูไนเต็ดไวเนอรี่มีหลายชนิดทำให้สามารถเข้าไปกลุ่มผู้บริโภคที่มีความหลากหลายมากขึ้น
ในการสร้างอาณาจักรของนายเจริญ เขาได้สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับส่วนต่างๆ ไว้มาก โดยเฉพาะในวงราชการ ทหาร และนักการเมือง จนกล่าวว่า ไม่ว่าหน่วยราชการใดจัดเลี้ยง ขอความอนุเคราะห์มา ก็จะมีการขนสุราหงส์ทองไปแจกเป็นว่าเล่น หรือว่ากรรมการในเครือบริษัทต่างๆ ของเขาจะเต็มไปด้วยอดีตข้าราชการและนายทหารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำเมามาแล้วทั้งสิ้น
นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ยังใช้วิธีการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ฝังรากลึกและยาวนานกับข้าราชการที่มีอำนาจหน้าที่ที่สามารถเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจของเขาได้ จึงปรากฏว่าข้าราชการระดับสูงที่เกษียณราชการออกมาแล้วทั้งจากกรมสรรพสามิตและกระทรวงอุตสาหกรรมมักจะได้รับเชิญให้ไปนั่งในตำแหน่งต่างๆ ของบริษัทในเครือของนายเจริญ และหรือยังคงความสัมพันธ์ทางธุรกิจต่อกัน ซึ่งเป็นที่มาของผู้เขียนที่เขียนถึงนายเจริญ สิริวัฒนภักดี มักจะอ้างถึงลักษณะนิสัยของเขาว่า เป็นบุคคลประเภท “บุญคุณต้องทดแทน” นอกจากนี้เขายังเป็นบุคคลที่ชอบสร้างเครือข่าย ในนิตยสารดอกเบี้ย ฉบับวันที่ 3-9 ธันวาคม 2544 มีความตอนหนึ่งว่า
“ในสถานที่ทำงานของเขาในแต่ละวัน โดยเฉพาะที่โรงแรมพลาซ่าแอทธินีจะมีผู้มารอคอยพบเขานับเป็นสิบๆ คนในแต่ละวัน และที่น่าสนใจก็คือ คนที่มารอคอยพบเขาเหล่านี้ไม่ใช่คนเดินดินธรรมดาสามัญเสียด้วย แต่ละคนล้วนเป็นใหญ่เป็นโตที่มีชื่อเสียงในแวดวงสังคมทั้งสิ้น”
และอีกตอนหนึ่งว่า
“กล่าวคือเขาพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือกับทุกๆ คนที่เข้ามาขอความช่วยเหลือ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นบุคคลธรรมดาสามัญหรือนักการเมืองระดับใด ซึ่งมันเหมือนกับว่าเป็นความคิดที่อยู่ในจิตสำนึกว่า หากโปรยเงินให้คนเหล่านี้ไปแล้ว เงินเหล่านี้จะกลับมาตอบแทนเขาไม่ในชาตินี้ก็ชาติหน้า”
จากลักษณะเช่นนี้จึงมีผลให้นายเจริญ สิริวัฒนภักดี มีเพื่อนฝูงในแวดวงต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เขาจะต้องจ่ายเพื่อคงไว้ซึ่งเครือข่ายเชิงอุปถัมภ์ที่มีต่อกัน ดังนั้น ถึงแม้ว่านายเจริญจะมีรายได้มหาศาล แต่ก็มีค่าใช้จ่ายไม่น้อยทีเดียว
ขณะที่กลุ่มน้ำเมาได้พยายามสร้างภาพลักษณ์ของบริษัทเบียร์ไทย ว่าเป็นบริษัทที่อุดหนุนเกื้อกูลสังคมไทย จากโครงการต่างๆ เช่น “เบียร์ช้างต้านภัยหนาว” การให้ทุนการศึกษา การบริจาคให้กับองค์กรสาธารณกุศลต่างๆ ตลอดจนโครงการส่งเยาวชนไทยไปฝึกและเล่นบอลกับสโมสรในต่างประเทศ
แต่ทว่าในอีกด้านหนึ่ง บริษัทเบียร์ไทยได้เป็นโจทก์ฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลาด ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตเบียร์ ที่จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อขอให้คืนภาษีโรงเรือนและที่ดินของปี 2547 ที่จำเลยได้ประเมินและจัดเก็บไปจำนวน 7.2 ล้านบาท เป็นจำนวน 4.5 ล้านบาท ซึ่งศาลภาษีอากรกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้อง และในปี 2548 บริษัทเบียร์ไทยดำเนินการฟ้องร้องในประเด็นเดิมสำหรับการจัดเก็บภาษีปี 2548 ซึ่งศาลภาษีอากรกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้องอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับพรรคการเมืองแล้ว นายเจริญเป็นผู้บริจาคให้กับพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งที่อยู่ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมาโดยตลอด เขาจึงเป็นผู้กว้างขวาง ซึ่งไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล อาณาจักรธุรกิจของเขาจะไม่ได้รับผลกระเทือนแต่อย่างใด และนี่อาจจะเป็นเหตุที่ทำให้ประเทศไทยแทบจะไม่มีการผลิตนโยบายที่จะมีผลต่อการลดการบริโภคสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จนกระทั่งถูกกดดันจากองค์กรภาคประชาสังคม
ใช้กลไกรัฐในการเอื้อประโยชน์
จากการมีเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ มีผลทำให้นโยบายต่างๆ ที่ออกมามักจะเอื้อประโยชน์กับกลุ่มเหล้าของนายเจริญ ในช่วงสงครามสุราระหว่างแม่โขงกับสุราตระกูลหงส์มีนโยบายจำนวนมากที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มของนายเถลิงและเจริญ จากทั้งกรมสรรพสามิตและจากกระทรวงอุสาหกรรม นโยบายหรือมาตรการเหล่านี้ได้แก่
ก่อนการประมูลโรงงาสุราของกรมสรรพสามิตจำนวน 12 โรง ได้มีมติคณะรัฐมนตรีในเดือนมีนาคม 2526 ห้ามไม่ให้ผู้ที่ประมูลสุราทั้ง 12 โรงได้มีการปรุงสุราที่ใช้สูตรปรุงพิเศษของแม่โขงและกวางทอง เพราะปรากฏว่าได้มีการปรุงสุราที่มีรสชาติใกล้เคียง โดยผู้ปรุงคนเดียวกัน ในชื่อสุราตระกูลหงส์ออกจำหน่ายแล้ว อย่างไรก็ตาม กรมสรรพสามิตมิได้สนใจที่จะให้เอกชนปฏิบัติตามมติคณะรัฐมานตรีดังกล่าวทั้งๆ ที่แม่โขง-กวางทองจ่ายภาษีในอัตราที่สูงกว่าหงส์ทอง ซึ่งเท่ากับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายใหม่จนสามารถสร้างสุรายี่ห้อใหม่ได้ คือหงส์ทอง การเอื้อประโยชน์นี้ได้ถูกนำมาใช้ในกรณีของสงครามเบียร์เช่นเดียวกัน จนค่ายเบียร์ช้างสามารถลงหลักปักฐานได้อย่างแน่นหนา
การอนุญาตให้มีการขนสุราหงส์ทองข้ามเขตได้ ซึ่งมีผลให้สุราหงส์ทองที่แต่เดิมมีขายในเขตเท่านั้น เพราะเป็นสุราผสมที่เสียภาษีต่ำกว่าแม่โขงและกวางทอง ซึ่งเป็นสุราปรุงพิเศษที่สามารถขายได้ทั่วประเทศ ทำให้การแข่งขันทั้ง 2 ค่ายเป็นไปอย่างไม่ยุติธรรม กรณีหงส์บิน ก็เฉกเช่นเดียวกันกับการบังคับขายพ่วงในธุรกิจเบียร์
แม้เมื่อกลุ่มสุราทิพย์ซึ่งสามารถประมูลโรงงานสุราได้ทั้ง 12 โรง แต่สามารถจ่ายเงินได้เพียง 5โรง มีผลทำให้ต้องมีการประมูลใหม่กลุ่มสุราทิพย์ก็ยังสามารถมีสิทธิ์เข้าประมูลได้ และชนะการประมูลได้อีกครั้ง แต่เสนอผลประโยชน์ให้รัฐลดลงเกือบ 800 ล้านบาท
ความพยายามในการผลักดันให้แม่โขงขึ้นราคา ของนายอบ วสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในสมัยนั้น(2527) เมื่อมีการคัดค้านจากปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมก็ถูกสั่งย้ายและตั้งคณะกรรมการสอบ และในที่สุดก็สามารถสั่งให้แม่โขงและกวางทองขึ้นราคาได้ ซึ่งส่งผลต่อการแข่งขันมาก เพราะมีผลทำให้ราคาของแม่โขงและกวางทองเพิ่มสูงขึ้นกว่าสุราในตระกูลหงส์ ซึ่งผู้บริโภครู้สึกว่ามีรสชาติเหมือนกันและต่อมาในปี 2528 กระทรวงการคลังได้เพิ่มภาษีสุราอีกครั้งหนึ่ง มีผลให้ราคาขายของแม่โขงและกวางทองสูงห่างจากหงส์ทองต่อไป ผลของนโยบายดังกล่าวมีผลให้ยอดการจำหน่ายของแม่โขงและกวางทองลดลงอย่างชัดเจน
กลยุทธ์ในการทำให้ราคาของคู่แข่งอยู่สูงกว่าสินค้าในกลุ่มของตนโดยใช้กลไกรัฐในการอำนวยประโยชน์ถูกนำมาใช้เช่นกันในสงครามระหว่างค่ายเบียร์ช้างและค่ายเบียร์สิงห์เช่นเดียวกัน โดยกลยุทธ์ที่มีผลให้ค่ายเบียร์สิงห์ต้องสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับเบียร์ช้าง นอกจากจะมาจากการใช้กลยุทธ์ขายเหล้าพ่วงเบียร์แล้ว การที่เบียร์ช้างเสียภาษีต่อขวดถูกกว่า ก็เป็นปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง
การแสวงหาประโยชน์ที่สำคัญจากวงการสุราประการหนึ่งคือ ประเด็นเรื่องสต็อกเหล้า เพราะในอดีตผู้ที่ได้รับสัมปทานโรงงานสุราของรัฐจะเร่งการผลิตสุราไว้เป็นจำนวนมากเมื่อเวลาที่ใกล้จะหมดสัญญาและตนเองไม่ได้รับสัมปทานใหม่ เพราะรายใหม่จะต้องรับซื้อสุราจากรายเก่า แต่ในกรณีที่สุรามหาราษฎรได้เร่งผลิตสต็อกเหล้าแม่โขงไว้เป็นจำนวนมากก่อนการเปิดเสรี ผู้ที่มีสต็อกสุราอยู่ในมือจะมีต้นทุนที่ถูกกว่า แต่ปรากฏว่าทางกรมโรงงานไม่ได้มีการตรวจสต็อกสุรา ทำให้ไม่ทราบจำนวนที่ชัดเจนว่ามีการผลิตไว้จำนวนเท่าใดแน่ และอนุญาตให้มีการโอนขายสุราในสต็อกซึ่งจะต้องตกเป็นทรัพย์สินของกรมโรงงานในราคาต้นทุนให้บริษัทบางยี่ขัน จำกัด ซึ่งต่อมาได้มาขอคืนภาษีและค่าสิทธิ์ต่างๆ ที่จ่ายไปเนื่องจากสุราที่เสื่อมสภาพ
จากการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาสอบสวนและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต วุฒิสภาได้มีผลสรุป 2 ประการสำคัญเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 คือ (1)อธิบดีกรมโรงงาน นายเทียร เมฆานนท์ชัย ไม่มีอำนาจในการอนุญาตให้บริษัทสุรามหาราษฎร จำกัด โอนขายน้ำสุราให้บริษัทบางยี่ขัน จำกัด (มหาชน) ในปี 2542 การอนุญาตทั้งที่ไม่มีอำนาจนั้น มีผลให้รัฐเสียหาย ทั้งนี้เพราะตามข้อสัญญานั้น บริษัทสุรามหาราษฎรจะต้องผลิตสุราและขายให้กรมโรงงานในราคาต้นทุน โดยสต็อกนั้นจะต้องเท่ากับยอดขายเฉลี่ย 1 เดือนในปี 2541 ของสุราแต่ละชนิด ถ้ามีมากว่านั้นจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ของกรมโรงงานโดยไม่คิดมูลค่า แต่ปรากฏว่านายเทียรไม่ได้ตรวจสอบสต็อกคงเหลือของสุรามหาราษฎรก่อนหมดสัญญา และยังอนุญาตให้โอนขายให้กับโรงงานสุราบ่างยี่ขัน ซึ่งเป็นของกลุ่มทุนกลุ่มเดียวกันในราคาต้นทุน ซึ่งเป็นเหตุอ้างให้มีการมาขอคืนภาษีสุราในเวลาต่อมา ในช่วงปี 2543-2546 เป็นจำนวนเงินรวม 1,370.95 บาท ทั้งๆ ที่ในช่วงของอายุสัมปทานที่บริษัทสุรามหาราษฎร จำกัด ได้ไป ไม่เคยปรากฏข้อมูลการขอคืนภาษีสุราที่แปรสภาพ คณะกรรมการวิสามัญฯ จึงมีมติแจ้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อดำเดินการแจ้งกรมโรงงานในฐานะผู้เสียหายเพื่อดำเนินการตามกฎหมายทั้งอาญา ทางแพ่ง และทางวินัย นายเทียรและบุคคลที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด
กีดกันคู่แข่งรายใหม่
โครงสร้างธุรกิจสุรามีลักษณะตลาดแบบผู้ขายน้อยราย ซึ่งมีความโน้มเอียงไปสู่การผูกขาดได้โดยง่ายจากการรวมตัวกัน เนื่องจากผู้เข้าร่วมแข่งขันในธุรกิจกล่าวได้ว่ามีเพียง 1-2 ราย และยังมีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ครอบครองสัมปทานสุราของรัฐเกือบหมดและมีส่วนแบ่งในตลาดมากที่สุด ปัจจัยดังกล่าวเป็นอุปสรรคกีดขวางการเข้ามาแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่ ทั้งนี้ในอดีตกลไกที่สำคัญในการกีดกันผู้ประกอบรายใหม่คือนโยบายของรัฐ อย่างไรก็ตาม หลังการเปิดเสรีแล้วพบว่าผู้ประกอบการรายใหม่ก็ยากที่จะเข้ามาแข่งขันกับผู้ประกอบการรายเก่าได้เวลาอันสั้น ทั้งนี้เป็นเพราะธุรกิจนี้ต้องอาศัยเงินลงทุนค่อนข้างสูง กติกาของรัฐเองก็ไม่เอื้อให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีศักยภาพ เพราะนโยบายบริหารงานสุราหลังปี 2542 ยังอำนวยประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการรายเก่าทั้งในแง่กฎเกณฑ์และภาษี และนอกจากนี้ผู้ประกอบการรายเก่ายังสามารถใช้ความได้เปรียบหรือยังสามารถแสดงพฤติกรรมที่สามารถกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ได้
สำหรับธุรกิจสุราสามารถจำแนกรูปแบบอุปสรรคออกเป็น 2 กลุ่มสำคัญ กล่าวคือ อุปสรรคที่เกิดจากการกำหนด กฎ กติกา ภาครัฐ และ อุปสรรคที่เกิดจากพฤติกรรมในการกีดกันการเข้าสู่ตลาดของรายใหม่
แม้ว่าจะได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อให้มีการเปิดเสรีการผลิตสุราโดยประกาศของกระทรวงการคลังฉบับที่ 1 ในปี 2543 แต่กฎระเบียบจำนวนมากที่ใช้ในการกำกับดูแลตลาดสุรายังคงยึดตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 ซึ่งมีผลให้โครงสร้างผู้ผลิตในตลาดสุรามีการเปลี่ยนแปลงไปน้อยมาก ผู้ผลิตรายเก่ายังคงบทบาทผูกขาดในตลาดสุรา โดยไม่มีผู้ผลิตขนาดใหญ่ในตลาดสุรา และมีผู้ผลิตรายย่อยในนามผู้ผลิตสุราชุมชนอีกจำนวนมากเข้าสู่ตลาด แต่มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันเพียงประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น
กฎ ระเบียบ ที่ใช้ในการกำกับดูแล และเป็นอุปสรรคในตลาดสุราสามารถแยกออกได้เป็น 2 กรณี กล่าวคือ แต่เดิมการเปิดเสรีการผลิตสุรามุ่งเน้นสำหรับผู้ประกอบการที่เข้ามาใหม่ จะต้องเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตรายย่อยในชุมชน ซึ่งแต่เดิมเคยลักลอบผลิตสุราเถื่อนได้รวมตัวกันเรียกร้องสิทธิในการเป็นผู้ผลิตสุราที่ถูกกฎหมาย จึงได้มีการออกกฎ ระเบียบเพิ่มเติมสำหรับกรณีผู้ผลิตรายย่อย แต่อย่างไรก็ตาม กฎ ระเบียบที่ออกมาทั้งสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อยเป็นอุปสรรคต่อการเข้ามา การคงอยู่ในธุรกิจที่แตกต่างกันออกไป
กรณีผู้ประกอบการรายใหญ่ กฎ ระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดที่สำคัญ อยู่ในเรื่องการกำหนดพื้นที่ตั้งโรงงานและขนาดของโรงงานในการผลิตและการทำสุรา ตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยระเบียบวิธีบริหารงานสุรา พ.ศ. 2543 กำหนดให้โรงงานจะต้องมีขนาดกำลังการผลิตคิดเทียบเป็นน้ำสุราที่มีแรงแอลกอฮอล์ 28 ดีกรีขั้นต่ำวันละ 90,000 ลิตร จะต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 350 ไร่ หากกำลังการผลิตเกินกว่าวันวันละ 90,000 ลิตร จะต้องเพิ่มขนาดพื้นที่ให้มากขึ้น และสถานที่ตั้งโรงงานสุราจะต้องห่างจากแม่น้ำลำคลองสาธารณะที่ใช้การสัญจรทางน้ำปกติ เป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 2 กิโลเมตร ข้อกำหนดนี้เมื่อเปรียบเทียบกับโรงงานสุราในอดีต พบว่ามีความแตกต่างกัน กล่าวคือ การสร้างโรงงานใหม่ของกรมสรรพสามิตในปี 2525 จำนวน 12 โรง มีการระบุพื้นที่โรงงานต้องติดน้ำบางส่วน และขนาดพื้นที่อยู่ระหว่าง 100-150 ไร่ จากข้อกำหนดดังกล่าวทำให้แทบไม่มีเอกชนรายใดเข้ามาลงทุนในธุรกิจสุรา เพราะจะต้องลงทุนในขนาดที่ค่อนข้างสูง จนกระทั่งในปี 2547 บริษัทสุรางค์การสุรา จำกัด ได้ยื่นจดทะเบียนโรงงานเพื่อผลิตสุราขาว โยมีการสร้างโรงงานในพื้นที่กว่า 400 ไร่ และใช้เงินลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท และผลิตสุราขาวยี่ห้อเสือขาวออกจำหน่ายในเดือนกันยายน 2548
ส่วนกรณีของผู้ของผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเกิดจากการผลักดันของกลุ่มสุราชุมชนที่มีการผลิตสุราพื้นบ้านได้กดดันให้ภาครัฐแก้ไขกฎระเบียบวิธีบริหารงานสุรา ซึ่งเดิมอนุญาตให้เฉพาะผู้ผลิตรายใหญ่เท่านั้น มาอนุญาตให้มีการผลิตสำหรับผู้ผลิตรายย่อย จนออกมาเป็นประกาศกระทรวงการคลังเรื่องวิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ.2546 มีข้อกำหนดมากมายในการผลิตของผู้ผลิตรายย่อย ตั้งแต่การรวมกลุ่ม การผลิต การบรรจุ การใช้วัตถูดิบ การใช้ฉลาก ตลอดจนวิธีการติดแสตมป์และการเสียภาษี ซึ่งมีผลให้การขยายตัวของสุราชุมชนเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะมีกฎ ระเบียบ จำนวนมากที่ต้องพึ่งปฏิบัติ
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการรายย่อยยังต้องเผชิญกับกลยุทธ์ทางการตลาดจากผู้ประกอบการรายเดิม ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่ถึงแม้จะมีจำนวนมาก แต่ก็อยู่ในสภาพ “บอนไซ” อุปสรรคเหล่านี้ประกอบด้วย การจำกัดช่องทางการจัดจำหน่าย การควบคุมทางด้านบรรจุภัณฑ์โดยเฉพาะขวดที่ใช้ในการบรรจุ และการใช้กลยุทธ์ทางด้านราคาเพื่อกดดันสุราชุมชน
ตลอดระยะเวลาเจ็ดปีที่ผ่านหลังการเปิดเสรีธุรกิจสุราซึ่งเริ่มในปี 2543 ปรากฏว่าธุรกิจสุรายังคงมีการกระจุกตัวในระดับสูง โดยกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่คือกลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ยังคงมีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 90 ในสุราขาว ทำให้แนวโน้มของธุรกิจนี้ใกล้เคียงกับตลาดผูกขาด แม้ว่าจะมีผู้ผลิตรายย่อยจำนวนมาก แต่ส่วนแบ่งการตลาดของผู้ผลิตรายย่อยเหล่านี้มีเพียงประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น แต่เมื่อบริบทของตลาดสุราทั้งหมด ก็กล่าวได้ว่าสุราในเครือของนายเจริญมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณร้อยละ 75 จึงอาจกล่าวได้ว่ายังคงไม่มีคู่แข่งทางการธุรกิจที่จะเข้ามาแข่งขันกับกลุ่มนายเจริญ
สรุป
ในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา คงเป็นการยากที่จะปฏิเสธว่านายเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจ และจากรายงานของฟอร์บส์ เขาเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศ เพราะไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไรที่เขาเข้าไปหยิบจับมักกระตุ้นให้เกิดความคึกคักในกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นๆ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาได้รับการจับตาและสนใจคงเกิดจากลักษณะของการดำเนินธุรกิจที่เรียกได้ว่าทุ่มทุนซื้อทุกสิ่งไว้ในครอบครอง ซึ่งรวมถึงการกล้าทุ่มในการใช้เงินเพื่อสร้างเครือข่ายทางอำนาจธุรกิจ และความกล้าเสี่ยงตรงนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาสามารถซื้อคนในวงการต่างๆ ได้อย่างไม่ยุ่งยากไม่ว่าสายการเมืองที่เขาให้ทุนสนับสุนนแก่นักการเมืองทุกพรรคมาโดยตลอด สายธุรกิจ สายข้าราชการในกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจน้ำเมาหรือแม้กระทั่งสายทหาร ทำให้เกิดการสร้างเส้นสายในวงการต่างๆ อย่างกว้างขวาง ดังนั้น ความสำเร็จของธุรกิจของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี จึงขนานไปกับความสำเร็จในการสร้างสายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นทางการเมืองและฐานอำนาจในการเข้าถึงนโยบายต่างๆ ของรัฐนั่นเอง ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าธุรกิจของกลุ่มเจริญจึงเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับพัฒนาการของทุนนิยมในประเทศไทย ที่ทุนนิยมพวกพ้อง (Crony Capitalism) มีบทบาทเป็นด้านหลัก
ภายใต้เครือข่ายอุปถัมภ์ที่มีนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นผู้ประกอบการที่แสวงหาค่าเช่า โดยมีนักการเมือง ข้าราชการ นายทหาร เป็นผู้ควบคุมการเข้าถึงและการบริหารจัดการค่าเช่า รูปธรรมที่ชัดเจนสามารถเห็นได้จากการแสวงหาค่าเช่าที่พบในการดำเนินธุรกิจของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ก็คือ การที่ผลประกอบการของธุรกิจมีกำไรจากการได้ครอบครองสิทธิผูกขาดตลาด ซึ่งก็คือการได้รับสัมปทานในธุรกิจสุรา
ธุรกิจหลักของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ไม่ว่าจะเป็นสุราหรือเบียร์ถือว่ามีโครงสร้างตลาดผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด แม้ว่าจะมีนโยบายสุราเสรีในปี 2542 แล้วก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจะพบว่าในปัจจุบันยังไม่มีคู่แข่งกลุ่มใดที่จะมีศักยภาพได้เท่ากับกลุ่มนายเจริญ ซึ่งยังคงได้รับการเอื้อประโยชน์จากนโยบายของรัฐ ผ่านสายสัมพันธ์ทางการเมืองและฐานอำนาจในการเข้าถึงนโยบายต่างๆ ของรัฐ ทำให้ธุรกิจของเขาเป็นผู้ผลิตรายเดียวที่ได้รับสิทธิการจัดการระดับผลผลิตในตลาดจนกลายเป็นผู้ผูกขาดรายเดียว ผลที่ตามมาก็คือ การสะสมทุนที่เพิ่มมากขึ้นและขยายไปสู่อาณาจักรอื่นๆ
ค่าเช่าที่เกิดจากการโอนทรัพยากรและการผูกขาดในตลาด ได้นำไปสู่การสะสมทุนของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี แม้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 กิจการต่างๆ ค่อยๆ ล้มหายไปจากสังคม รวมถึงกิจการของนายเจริญที่ได้สูญเสียฐานที่มั่นในธุรกิจการเงิน โดยบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาธนกิจ จำกัด ถูกสั่งปิดพร้อมสถาบันการเงิน 56 แห่ง และธนาคารมหานครถูกธนาคารแห่งประเทศไทยยึดเป็นกิจการของรัฐเพื่อแก้ปัญหาด้านฐานะทางการเงิน แต่เพียงระยะเวลา 2-3 ปี เขาก็สามารถฟื้นฐานะของตนเองได้จากธุรกิจสุราและเบียร์ที่สร้างกำไรให้เขาอย่างมหาศาล
ตัวชี้วัดการฟื้นตัวของเจริญ สิริวัฒนภักดี ก็คือไล่ซื้อกิจการต่างๆ ทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์เป็นจำนวนมาก เช่น การซื้อบริษัทเบอร์ลี่ยุคเกอร์ในปี 2544 ในราคา 5,532 ล้านบาท การซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2002 ของบริษัททศภาคแบบไม่มีโฆษณาคั่นด้วยมูลค่า 300 กว่าล้านบาท ในเดือนเมษายน 2545 มีการลงทุนการสร้างโรงแรมระดับเกรดเอที่พรั่งพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันด้วยขนาดห้องพัก 224 ห้อง ตั้งอยู่ในจังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา อยู่ใกล้กับนครวัดแหล่งสถาปัตยกรรมและมรดกโลกอันเลื่องชื่อ โดยให้ชื่อว่า โรงแรมอิมพีเรียล อังกอร์ พาเลส และในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ยังได้ร่วมทุนกับบริษัทแคปปิตอลแลนด์จากสิงคโปร์ เพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ด้วยมูลค่า 2,000 ล้านบาท
ดังนั้น สำหรับสังคมไทย บุคคลที่มีความพร้อมสรรพทั้งฐานการเงิน ฐานทางอำนาจอย่างเจริญ สิริวัฒนภักดี การผูกขาดอำนาจทั้งสองเข้าด้วยกันและนำมาใช้ในสังคมย่อมสร้างผลสะเทือนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แม้ว่านายเจริญจะประกาศวางมือในวงการธุรกิจและจะให้บรรดาทายาทเข้ามาดูแลกิจการต่างๆ แทน เพื่อให้ภาพพจน์ของธุรกิจในกลุ่มมีความโปร่งใสตามหลักการค้าเสรีและเป็นธรรม แต่อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเกิดจากการผูกขาดธุรกิจต่างๆ จนสามารถสร้างเครือข่ายในวงการต่างๆ โดยอาศัยการสร้างสายสัมพันธ์ในระบบราชการและเส้นสายทางการเมือง อันเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าความสำคัญของระบบอุปถัมภ์ในประเทศไทยยังไม่หมดไป และยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักธุรกิจสามารถก้าวขึ้นไปเป็นผู้มีอิทธิพลได้อีกด้วย
การดำรงอยู่ของธุรกิจผูกขาดหรือเกือบผูกขาด ซึ่งมีนักธุรกิจที่มีเส้นสายทางการเมืองแน่นหนาเป็นเจ้าของ ไม่ได้มีแต่ในธุรกิจสุราเท่านั้น ยังพบในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมโทรคมนาคมและอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การนำ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้ามาใช้ยังไม่ได้ผล
ความพยายามขยายบทบาทเข้าสู่การสะสมทุนสมัยใหม่ในปัจจุบัน คือการเข้าสู่กลไกตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งปรากฏว่าได้เกิดแรงต่อต้านขึ้นเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะจากกลุ่มชาวพุทธจำนวนหนึ่ง โดยมีผู้นำกลุ่มที่สำคัญในเมืองไทยคือพลตรีจำลอง ศรีเมือง ซึ่งเคยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย แต่ในภายหลังพลิกบทบาทตัวเองมาสู่การเป็นแกนนำคนหนึ่งในกลุ่มพันธมิตรที่ต่อต้าน ทักษิณ ชินวัตร ผลของการต่อต้าน หุ้นของอุตสาหกรรมสุราและเบียร์ไม่รับอนุญาตเข้าจดทะเบียนในตลาด จนกว่าจะมีกฎหมายที่กำกับดูแลการบริโภคสินค้าประเภทนี้เสียก่อน ได้สะท้อนให้เห็นว่าบทบาทที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มประชาสังคมน่าจะมีผลทำให้รูปแบบและลักษณะของการสะสมทุนไม่สามารถดำเนินการโดยผ่านเครือข่ายแบบอุปถัมภ์แบบเดิมได้โดยง่ายนัก
ก่อนหน้าการประมูลครั้งนี้ ทางสุรามหาราษฎรได้เตรียมเร่งผลิตสต็อกเหล้าแม่โขงไว้เป็นจำนวนมาก แต่ปรากฏว่าทางกรมโรงงานไม่ได้มีการตรวจสต็อกสุรา ทำให้ไม่ทราบจำนวนที่ชัดเจนว่ามีการผลิตไว้จำนวนเท่าใดแน่ และต่อมาได้มีการมาขอคืนภาษีและค่าสิทธิ์จำนวนกว่าพันล้านบาทในช่วงปี พ.ศ.2543-45 ด้วยเหตุว่าต้องปรับปรุงสุราเสื่อมสภาพ เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้วุฒิสภาต้องเข้าตรวจสอบในปี พ.ศ.2548 และมีมติให้แจ้งความดำเนินคดีกับอธิบดีกรมโรงงาน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบมีผลให้รัฐสูญเสียเงินกว่าพันล้านบาท
http://www.tcijthai.com/investigative-story/464