14 กรกฏาคม 2010
ธนาคารกลางทั่วเอเชียแห่ปรับขึ้น ดบ.
ธนาคารกลางบางประเทศในเอเชียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่เศรษฐกิจเอเชียฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าภูมิภาคอื่นๆของโลก หลังจาก เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำในปี 2008 และ 2009 โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ นับตั้งแต่ต้นปีนี้ และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในอนาคต
**ธนาคารกลางในเอเชียที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว
เกาหลีใต้
สถานะ: ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 9 ก.ค. สู่ 2.25 % จาก 2.00 % ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงิน
แนวโน้ม: นักวิเคราะห์บางคนคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25%อีกครั้งในไตรมาส 4 ปีนี้
เกาหลีใต้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 9 ก.ค. ซึ่งถือเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงิน โดยปรับอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 7 วัน สู่ 2.25 % จาก 2.00 %
หลังจากธนาคารกลางเกาหลีใต้และกระทรวงการคลังเกาหลีใต้ขัดแย้งกัน ในเรื่องแนวทางนโยบายการเงินมานานหลายเดือน ทั้งสองฝ่ายก็มีความเห็นตรงกันขณะนี้ว่า ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเริ่มปรากฎขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ในขณะที่เศรษฐกิจ ฟื้นตัวขึ้น โดยนักวิเคราะห์คาดว่าอัตราดอกเบี้ยอาจเพิ่มขึ้นอีก 0.50 % ก่อนสิ้นปีนี้
มาเลเซีย
สถานะ: ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปีนี้ โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25 % สู่ 2.75 % จากเดิมที่ 2.00 %
แนวโน้ม: นักวิเคราะห์คาดว่ามาเลเซียจะตรึงอัตราดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปีนี้
ธนาคารกลางมาเลเซียระบุว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีจุดประสงค์ เพื่อทำให้นโยบายกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังผ่านพ้นภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ โดย หลังจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดในวันที่ 8 ก.ค. ธนาคารกลางก็ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและ แนวโน้มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจมาเลเซียเติบโตเกิน 10 % ต่อปีในไตรมาสแรก
ธนาคารกลางมาเลเซียเคยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 1.50 % จาก 3.5 % สู่ 2 % ในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินโลก
นิวซีแลนด์
สถานะ: นิวซีแลนด์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ 2.75 % จาก 2.5 %ในวันที่ 10 มิ.ย. ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกหลังจากเกิดวิกฤติการเงินโลก
แนวโน้ม: ตลาดปรับตัวรับการคาดการณ์ที่ว่า มีโอกาส 84 % ที่ธนาคารกลางนิวซีแลนด์จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในการประชุม ครั้งถัดไปในวันที่ 29 ก.ค.
ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ระบุว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวในวงกว้างมากยิ่งขึ้นและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียอยู่ในระดับแข็งแกร่งมากเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าธนาคารกลางนิวซีแลนด์ตั้งใจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยอย่างไรก็ดี ธนาคารกลางระบุว่าความเคลื่อนไหวในอนาคตจะขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจ
ธนาคารกลางนิวซีแลนด์เคยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงรวมกัน 5.75 % ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์
ออสเตรเลีย
สถานะ: ธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 6 ครั้ง สู่ 4.5 %
แนวโน้ม: นักวิเคราะห์คาดว่ามีโอกาสสูงที่ธนาคารกลางจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ 4.75 % ในการประชุมวันที่ 3 ส.ค. ถ้าหากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่จะออกมาในวันที่ 28 ก.ค.อยู่ในระดับสูงเกินคาด อย่างไรก็ดี ตลาดยังไม่มั่นใจในเรื่องนี้ และปรับตัวรับการคาดการณ์ที่ว่ามีโอกาสต่ำกว่า50 % ที่ธนาคารกลางจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงต่อไปในปีนี้
ธนาคารกลางออสเตรเลียเป็นธนาคารกลางสำคัญแห่งแรกที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ โดยเริ่มปรับขึ้นในเดือนต.ค. 2009 อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นในช่วงที่ผ่านมายังคงมีการเรียกคืนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ ไม่ถึงครึ่งหนึ่งในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงิน โดยออสเตรเลียปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงรวม 4.25 % ในช่วงนั้น
ไต้หวัน
สถานะ: ธนาคารกลางสร้างความประหลาดใจต่อตลาดการเงินในวันที่ 24 มิ.ย. ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินโลก
แนวโน้ม: คาดกันว่าธนาคารกลางจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25 % ก่อนสิ้นปีนี้
ธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน 0.125 % สู่ 1.375% เพื่อส่งสัญญาณว่าทางธนาคารกลางตั้งใจจะเริ่มต้นปรับนโยบายให้กลับคืนสู่ภาวะ ปกติ
อัตราเงินเฟ้อไต้หวันอยู่ในระดับต่ำเพียง 1.2 % ในเดือนมิ.ย.แต่ธนาคารกลางระบุว่า เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว และให้เหตุผลว่าราคาอสังหาริมทรัพย์กำลังเพิ่มสูงขึ้น, ยอดส่งออกเติบโต และภาวะการลงทุนและการ
จ้างงานปรับตัวดีขึ้น
อินเดีย
สถานะ: ธนาคารกลางอินเดียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกู้ยืม 3 ครั้งในปีนี้ โดยปรับขึ้นรวมกัน 0.75 % สู่ 5.5 % ในขณะที่เศรษฐกิจอินเดียฟื้นตัวขึ้นจากภาวะตกต่ำ
แนวโน้ม: นักวิเคราะห์คาดว่าธนาคารกลางอินเดียจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25 % ในการประชุมทบทวนนโยบายครั้งถัดไปในวันอังคารที่ 27 ก.ค.
ในขณะที่เศรษฐกิจอินเดียเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งและอัตราเงินเฟ้อ ภาคค้าส่งอยู่สูงเป็นตัวเลข 2หลัก นักวิเคราะห์ก็คาดว่าอัตราดอกเบี้ยซื้อคืน พันธบัตรอาจอาจไต่ขึ้นสู่ 6-6.25 % ก่อนสิ้นปีนี้
ธนาคารกลางอินเดียเคยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 6 ครั้งเพื่อปกป้อง เศรษฐกิจให้รอดพ้นจากวิกฤติการเงิน โดยปรับลดลงรวมกัน 4.25 %
*ธนาคารกลางในเอเชียที่ยังไม่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์:
จีน
สถานะ: อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับการกู้ยืมระยะ 1 ปีอยู่ที่ 5.31% นับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2008 หลังจากจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงรวมกัน 2.16 % จาก 7.47 % ในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงิน
แนวโน้ม: ธนาคารกลางจีนปรับขึ้นเพดานการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ไปแล้วในปีนี้ แต่นักวิเคราะห์ได้ปรับลดการคาดการณ์เกี่ยวกับความรวดเร็ว ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของจีนในอนาคต โดยขณะนี้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ ไม่ได้คาดการณ์อีกต่อไปว่า จีนจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมในปีนี้ เนื่องจาก เศรษฐกิจมีแนวโน้มอ่อนแอลง
นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจีนจะรอจนถึงไตรมาส 2 ของปี 2011 ก่อนจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ญี่ปุ่น
สถานะ: เศรษฐกิจญี่ปุ่นเผชิญกับภาวะเงินฝืด และธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) อาจผ่อนคลายนโยบายลงไปอีกถ้าหากเยนแข็งค่าขึ้น
แนวโน้ม: ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.1 % ต่อไปจนถึงสิ้นปี 2011 เป็นอย่างน้อย
บีโอเจตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.1 % นับตั้งแต่ปลายปี 2008 หลังจากปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.40 % ในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้บีโอเจยังผ่อนคลายนโยบายลงต่อไปในเดือนธ.ค.และมี.ค.โดยใช้โครงการ ปล่อยกู้แก่ธนาคาร
อินโดนีเซีย
สถานะ: ธนาคารกลางตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่สถิติต่ำสุดที่ 6.5 % นับตั้งแต่เดือนส.ค.2009 หลังจากปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจาก 9.5 % ในเดือน ธ.ค. 2008
แนวโน้ม: ธนาคารกลางอินโดนีเซียยังคงรักษาจุดยืนที่ว่า ธนาคารกลางจะตรึงอัตราดอกเบี้ยจนถึงปี 2011 ตราบใดที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ภายในกรอบเป้าหมายช่วงสิ้นปีที่ 4-6 %
นักวิเคราะห์ได้เลื่อนเวลาที่พวกเขาคาดว่าอินโดนีเซียจะปรับขึ้นอัตรา ดอกเบี้ยออกไปเรื่อยๆในปีนี้ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยขณะนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าอินโดนีเซียจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไตรมาส 4 ของปีนี้หรือ ในไตรมาสแรกของปี 2011
ฟิลิปปินส์
สถานะ: ธนาคารกลางตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่สถิติต่ำสุดที่ 4 % มาเป็นเวลานานหนึ่งปีแล้ว
แนวโน้ม: การที่ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อประจำปี 2010 และ 2011 ส่งผลให้นักวิเคราะห์เลื่อนเวลาที่พวกเขา คาดว่าธนาคารกลางจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปสู่ไตรมาส 4
ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ยังคงคาดการณ์ตามเดิมว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่เศรษฐกิจเพิ่งออกจากภาวะตกต่ำ และระบุว่าอัตรา ดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว
นักวิเคราะห์บางรายกล่าวว่า ธนาคารกลางฟิลิปปินส์อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ส.ค. ถึงแม้ผู้ว่าการธนาคารกลางฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนแต่อย่างใดในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงรวมกัน 2% ในช่วงระหว่างเดือน ส.ค. 2008 จนถึงเดือนก.ค. 2009
ไทย
สถานะ: ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.25 % นับตั้งแต่เดือนเม.ย.ปีที่แล้ว หลังจาก ปรับลดลงรวมกัน 2.50 % ในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินโลก
แนวโน้ม: นักวิเคราะห์หลายรายคาดว่า ธปท.จะเริ่มต้นคุมเข้มนโยบาย ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25 % ในการประชุมในวันที่ 14 ก.ค. หรือในครั้ง ต่อจากนั้นในวันที่ 25 ส.ค.
เวียดนาม
สถานะ: เวียดนามตรึงอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาขณะที่เศรษฐกิจแสดงสัญญาณการฟื้นตัว
แนวโน้ม: นักวิเคราะห์คาดว่าอัตราดอกเบี้ยอาจทรงตัวที่ 8 % จนถึงสิ้นปีนี้
ธนาคารกลางเวียดนามเคยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ 7 % ในเดือนก.พ.2009 จาก 8.5 % ในเดือนธ.ค. 2008 เพื่อพยุงเศรษฐกิจเวียดนามในช่วงที่เศรษฐกิจโลกตกต่ำ ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ในระดับต่ำกว่า เป้าหมายตลอดทั้งปีเล็กน้อย แต่เป็นที่คาดกันว่าเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างรวดเร็ว ยิ่งขึ้นในช่วงต่อมา ถึงแม้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเกินเป้าหมายในช่วงนี้
http://www.thunhoon.com/home/