Subprime Shock: ย้อนรอยความเป็นมาวิกฤติสภาพคล่อง
Posted on Monday, January 01, 0001
ปกติแล้วเดือนธันวาคมของทุกปีถือเป็นเดือนแห่งความสุขของการเฉลิมฉลองเทศกาลต่าง ๆ ในสหรัฐ แต่ เดือนธันวาคม 2549 ที่ผ่านมาหลายคนนึกไม่ถึงว่า นั่นคือ เดือนแห่งการเริ่มต้นของอาการวิกฤติสภาพคล่องจากปัญหาตราสารหนี้ระดมทุนอสังหาริมทรัพย์ประเภท Subprime
7 ธันวาคม 2549 โอนนิท มอร์ทเกจ โซลูชั่น อินคอร์ปอเรชั่น สถาบันการเงินที่ให้บริการปล่อยเงินกู้เต็ม 100% สำหรับตลาดลูกค้ารายใหญ่ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประกาศปิดบริษัทพร้อมบอกพนักงานปากต่อปากมากกว่า 800 คนว่า วันรุ่งขึ้นไม่ต้องมาทำงาน เหตุผลการปิดกลับมาพบในหนังสือพิมพ์ ลอสแองเจิลิส ไทมส์ วันรุ่งขึ้นว่า บริษัทขาดเงินสดหมุนเวียนทำธุรกิจ
13 กุมภาพันธ์ รีสเมย์ มอร์ทเกจ คอร์ปอเรชั่น ทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อกู้ซื้อบ้านในสหรัฐ ขนาดใหญ่อันดับ 21 ในตลาดสินเชื่อ Subprimeในปี 2549 ยื่นล้มละลาย ขอศาลสั่งคุ้มครองทรัพย์สินทั้งหมด เหตุจากไม่มีเงินสำรองเพียงพอ ที่จะรองรับหนี้สูญที่เกิดขึ้นในประเภท Subprime
19 กุมภาพันธ์ 2550 บริษัท โนวา สตาร์ ครองอันดับ 19 ในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยประเภท Subprimeในสหรัฐ สร้างความประหลาดในตลาดสินเชื่อ ด้วยการประกาศผลขาดทุนไตรมาสที่ 4 ปีที่ผ่านมาสูงถึง 489 ล้านบาท พนักงานจำนวน 350 คน ต้องหางานทำใหม่
สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ HSBC ไฟแนนซ์ บริษัทในเครือของกลุ่มธนาคาร HSBC ธนาคารชื่อดังจากอังกฤษ ทำธุรกิจที่เชี่ยวชาญในสินเชื่อประเภท Subprimeในสหรัฐ ต้องรับรู้ผลขาดทุนจากสินเชื่อดังกล่าวมูลค่าสูงถึง 3.6 แสนล้านบาท และต้องใช้เวลาถึง 2 3 ปี เพื่อแก้ปัญหาหนี้สูญที่เกิดขึ้นจากสินเชื่อ Subprime
ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด เปิดเผยมูลค่าทั้งอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ลุงแซมในปัจจุบัน อยู่ที่ระหว่าง 7 - 8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และหากเจาะเฉพาะในปี 2548 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกเบี้ยระยะสั้นของแบงก์ชาติสหรัฐ ค่อย ๆ ไต่ระดับที่ละ 0.25% พบว่า ยอดขายที่อยู่อาศัยทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นบ้านที่สร้างเสร็จใหม่ๆ และบ้านมือสองในตลาด รวมกันทั้งหมดมีมากถึง 8.4 ล้านหน่วย รวมมูลค่ามากกว่า 90 ล้านล้านบาทในปี 2548 เฉพาะมูลค่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐที่กล่าวมา ก็มีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าเศรษฐกิจเมืองไทยถึง 13 เท่า
ในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากไทยหรือประเทศอื่นใดในโลก เพราะต้องขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินมากู้ซื้อบ้านในฝัน เพียงแต่ประเภทของสินเชื่อมีความหลากหลาย ออกแบบมาเพื่อซึ่งตอบรับกับความต้องการของลูกหนี้ที่แตกต่าง
ทั้งหมด... สะท้อนผ่านอัตราดอกเบี้ยที่สูงหรือต่ำ ตามคุณสมบัติของลูกค้าที่ขอกู้ซื้อบ้านในสหรัฐ
ทั้งนี้ เพื่อต้องการส่งเสริมวิธีคิดของรัฐบาลสหรัฐจากอดีตถึงปัจจุบันว่า คนอเมริกันทุกชนชั้น รวยบ้าง จนบ้าง ต้องมีโอกาสพอ ๆ กันในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย ชาวอเมริกันที่มีคุณสมบัติไม่ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานในการปล่อยเงินกู้ซื้อบ้าน แต่มีความต้องการสูง ที่อยากมีบ้านเป็นของตนเอง จึงจำเป็นที่จะต้องรับความเสี่ยงสูงเป็นเงาตามตัว ด้วยการแบกรับดอกเบี้ยที่มีราคาแพงกว่าเกณฑ์มาตรฐานทั่วไป นี่คือความหมายของ สินเชื่อที่อยู่อาศัยประเภท Subprime
เมื่อเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงจากคุณสมบัติของลูกหนี้ ย่อมเป็นธรรมดาที่การผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อ Subprime เฉลี่ยในปัจจุบัน จึงมีการผิดนัดชำระหนี้สูงถึง 15% ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยประเภทมาตรฐานทั่วไป มีการผิดนัดชำระเฉลี่ยราว 3% กลยุทธ์การปล่อยกู้สินเชื่อ Subprime ของสถาบันการเงินในสหรัฐ จึงต้องเน้นให้กู้ระยะเวลาสั้น ๆ แต่คิดดอกเบี้ยแพงกว่าระดับปกติ
20 มีนาคม 2550 บริษัท พีเพิล ช้อยส์ ไฟแนนเชียล คอร์ปอเรชั่น ควงคู่กับบริษัทในเครือที่มีชื่อว่า พีเพิล ช้อยส์ โฮมโลนส์ อินคอร์ปอเรชั่น ประกาศล้มละลาย ตามกฎหมายพิทักษ์ทรัพย์สินหมายเลข 11 ในสหรัฐ นับเป็นรายที่ 4 ที่ปิดธุรกิจสินเชื่อ Subprime ตั้งแต่เดือนธันวาคมในปีที่ผ่านมา
24 มีนาคม 2550 นิว เซ็นจูรี่ ไฟแนเชียล ยักษ์ใหญ่ในการปล่อยกู้สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ประเภท Subprime อันดับ 2 ของสหรัฐ ประกาศยุติธุรกิจปล่อยกู้ดังกล่าว เช่นเดียวกันกับ H&R บล็อก คอร์ปอเรชั่น และ ฟรีมองท์ เจนเนอรัล ใหญ่อันดับ 3 ธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยในสหรัฐ ประกาศขายหน่วยธุรกิจสินเชื่อ Subprimeในเดือนเดียวกัน
ปลายเดือนมีนาคม เป็นครั้งแรกที่ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ เบน เบอร์นันกี้ พูดถึงปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ประเภท Subprime โดยมองว่า ไม่เชื่อว่าปัญหาของอุตสาหกรรมปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยประเภท Subprime จะขยายตัวกระทบเศรษฐกิจในวงกว้าง
2 เมษายน 2550 ยักษ์ใหญ่ปล่อยกู้สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ประเภท Subprime อันดับ 2 ของสหรัฐ ที่มีอายุเพียง 12 ปี ประกาศล้มละลาย ขายทรัพย์สินทั้งหมดใน 45 วัน ลูกจ้างมากถึง 3,200 คนตกงาน
ปลายเดือนเมษายน อเมริกัน โฮม มอร์ทเกจ ผู้เชี่ยวชาญในตลาดปล่อยกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัย ด้วยดอกเบี้ยที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ประกาศยุติธุรกิจปล่อยกู้สินเชื่อ Subprime หลังกำไรในช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ ร่วงลงมากถึง 44%
ช่วงระหว่างปี 2548 ถึง 2549 สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ Subprime พุ่งขึ้นสูงสุด ครองส่วนแบ่งในตลาดสินเชื่อมากถึง 20% ของตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งหมดในสหรัฐ มีมูลค่ารวมกันโตถึง 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ไม่มีใครปฏิเสธได้เลยว่า ปัจจัยบวก ผนวกแรงส่งจากต้นทุนดอกเบี้ยระยะสั้น ที่ต่ำสุดในรอบ 46 ปี ที่ระดับ 1% ของแบงก์ชาติสหรัฐในช่วงยุคปลายของอดีตประธานเฟด อลัน กรีนสแปน ปี 2547 เป็น 1 ในสาเหตุสำคัญ
นอกจากนี้ วิธีคิด ในการสร้างมูลค่าการลงทุนให้สูงสุด โดยอาศัยเครื่องมือทางการเงินหลากหลายรูปแบบเพื่อต่อยอด คือ ตัวจุดชนวน ที่เร่งขยายมูลค่าตลาดสินเชื่อทุกประเภท สินเชื่อที่อยู่อาศัยประเภท Subprime ย่อมไม่พ้นเช่นกัน
บ้านสวยหลายแห่งในอเมริกา ล้วนเป็นที่ต้องการของคนอเมริกัน ส่วนหนึ่งของลูกค้า แม้จะมีความน่าชื่อถือต่ำกว่าเกณฑ์ปล่อยสินเชื่อทั่วไป แต่ก็มีความต้องการอยากเป็นเจ้าของบ้านหลังงาม สถาบันการเงินเฉพาะทาง หรือทั่วไป ที่มีหน่วยทำธุรกิจสินเชื่อสำหรับประเภทนี้โดยเฉพาะ ย่อมตัดสินใจปล่อยกู้ โดยคิดดอกเบี้ยสูงกว่าทั่วไป ลูกค้าได้เงินกู้สมใจ โดยลงนามในสัญญาเงินกู้
ธนาคารมองการต่อยอดผลตอบแทนจากสัญญากู้ยืมดังกล่าว ด้วยการขายสัญญาเงินกู้บ้านเหล่านี้ ให้กับสถาบันนักลงทุนทั่วไป เป็นขั้นตอนที่รู้จักกันดีว่า Securitization แต่เมื่อนำสัญญาเงินกู้ซื้อบ้านเหล่านี้ ไปรวมกันกับสินทรัพย์อื่นๆ เช่น สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อเช่าซื้อ หรือแม้แต่ ตราสารหนี้หลากหลายระยะ ผสมกันทั้งหมดตามสัดสัดส่วน แล้วนำทั้งหมดไปค้ำประกันตราสารทางการเงินที่เรียกว่า Collateralized Debt Obligation คำย่อคุ้นหูจึงเกิดขึ้นทันที เรียกว่า CDO
ตราสารหนี้ CDO มีความเสี่ยงสูง เนื่องจาก หลากหลายประเภทของสัญญาเงินกู้ที่ผสมกัน ขณะเดียวกัน ถ้าจะให้นักลงทุนเข้ามาซื้อเพื่อลงทุน ตราสาร CDO ก็ต้องให้
ผลตอบแทนสูงเป็นเงาตามตัว เมื่อราคาบ้านดี งวดส่งไม่ล่าช้า สะท้อนผลตอบแทนของตราสาร CDO ก็จะดีไปด้วย ความจริงน่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ที่สุด เศรษฐกิจทรุด รายได้หด เงินส่งงวดแต่ละครั้งสำหรับค่าผ่อนบ้านไม่พอ เกิดอาการส่งบ้าง ไม่ส่งบ้าง ทำให้รายได้ดอกเบี้ยของแบงก์ที่ปล่อยกู้ต้นทางหดหาย กระทบดอกเบี้ยที่จะจ่ายให้นักลงทุน ที่ลงทุนในตราสารหนี้ ผลตอบแทนของตราสาร CDO ย่อมตกต่ำเป็นลูกโซ่เช่นกัน
ที่สุด ฝันร้ายก็มาถึง ยอดคงค้างของสินเชื่อประเภท Subprime ปี 2547 ถึง 2550 มองเฉาะไตรมาสที่ 1 ในปี 47 กับช่วงเดี่ยวกันในปีนี้ พุ่งขึ้นจาก 10.66% ขึ้นมาเป็น 15.75% และหากมองเฉพาะทั้งปี 49 ที่ผ่านมา ยอดคงค้างของสินเชื่อ Subprime พุ่งขึ้นถึง 15% จากระดับเฉลี่ยที่ 11% ของทั้งตลาดสินเชื่อ
กลางเดือนมิถุนายน 2550 สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อย่าง โกลด์แมน แซ็ค รายงานผลประกอบการที่เริ่มส่งสัญญาณย่ำแย่ แบร์ สเติร์น ประกาศรายได้สุทธิตกต่ำลงมากกว่าที่คาดไว้ สาเหตุจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่ลุกลามขึ้นเรื่อยๆ
ปลายเดือนเดียวกัน แบร์ เสติร์น เปิดเผยเป็นครั้งแรกว่า ต้องใส่เงินเข้าไปอุ้มกองทุนเฮ็ดจ์ฟันด์จำนวน 2 แห่ง ที่เข้าไปลงทุนในตราสารหนี้ CDO ซึ่งผูกติดตราสารหนี้สินเชื่อประเภท Subprime ด้วยเม็ดเงินสูงถึง 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 1.088 แสนล้านบาท
ดอกเบี้ยระยะสั้นธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟดฟันด์เรต แม้จะเริ่มขยับอย่างค่อยเป็นค่อยไป ครั้งละ 0.25% นับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2547 จากระดับ 1% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 46 ปี ขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 17 ครั้งติดต่อกัน และมาสงบนิ่ง สิ้นสุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 ที่ระดับ 5.25% ย่อมเห็นชัดเจนว่า ต้นทุนการเงินปรับขึ้นต่อเนื่อง ส่งผ่านจากยุคอดีตประธานเฟด ปู่อลัน กรีนสแปน มาถึงเบน เบอร์นันกี้ ประธานเฟดคนปัจจุบัน ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ทยอยแตกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เรื่มจากปี 2544 ถึง ปี 2548 จากราคาบ้านสร้างใหม่ และราคาบ้านมือสองที่มีอยู่ในตลาดพุ่งขึ้นสูงสุดเกินเพดานที่แท้จริง เข้าสู่การเก็งกำไรที่สมบูรณ์แบบ การปล่อยกู้สินเชื่อบ้านที่หละหลวม จากกลุ่มสินเชื่อประเภท Subprime
ที่สำคัญ คือ ดอกเบี้ยส่งบ้านของคนอเมริกัน ที่ใช้สินเชื่อประเภท Subprime เป็นประเภทแบบปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นได้ หรือเรียกว่า Adjustable Rate Mortgage หรือ ARM มีมากถึง 90% ซึ่งต้องขยับขึ้นตามดอกเบี้ยระยะสั้นของแบงก์ชาติสหรัฐตามที่กล่าวมา ท่ามกลางฟองสบู่ราคาบ้านตกต่ำต่อเนื่อง ผลก็คือ ขาดส่งค่างวด ผลตอบแทนของตราสารหนี้ที่เรียกกันว่า CDO ที่ผูกติดกับสินเชื่อประเภท Subprime ทรุดลงรุนแรง
บริษัท เรียลลิตี้ แทรค อินคอร์ปอเรชั่น ผู้เชี่ยวชาญข้อมูลหนี้เสีย รวมถึงการยึดทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐ ชี้ชัดว่า หนี้เสีย พุ่งสูงขึ้นถึง 90% ด้วยจำนวนรายการสูงถึง 176,137 รายการ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนีย ฟลอริดา โอไฮโอ้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราพุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก มาจากความสามารถในการผ่อนชำระบ้านของชาวอเมริกันมีปัญหาจากสถานการณ์ต้นทางของวิกฤติ ซึ่งสะท้อนผ่านหนี้เสีย พุ่งสูงขึ้นถึง 90% ในสหรัฐ พ่วงด้วยตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ ที่ตกต่ำเดือนชนเดือน สถาบันการเงินชื่อดังอย่างแบร์เสติร์นจึงต้องเปิดเผยเป็นครั้งแรกว่า ต้องใส่เงินเข้าไปอุ้มกองทุนเฮ็ดจ์ฟันด์จำนวน 2 แห่ง ที่เข้าไปลงทุนในตราสารหนี้ CDO ซึ่งผูกติดตราสารหนี้สินเชื่อประเภท Subprime คือเหยื่อของเครื่องมือทางการเงินที่มีชื่อว่า ตราสาร CDO
ในขณะเดียวกัน นายเฮนรี่ พอลสัน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ปลอบใจตลาดที่อยู่อาศัยว่า ภาวะถดถอยของอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กำลังใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว และไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐมากไปกว่าที่เป็นอยู่ ขุนคลังลุงแซม ยังมั่นใจว่า ความเสียหายของมูลค่าของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐที่เกิดขึ้น นับจากนี้ไป จะสามารถควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดได้ แต่ เฮนรี่ พอลสัน ไม่ได้ความคิดเห็นใด ๆ เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น กับการล่มสลายของ 2 กองทุนเฮ็ดจ์ฟันด์ ที่แบร์เสติร์นต้องเข้าไปเพิ่มสภาพคล่อง จากความเสียหายจากสินเชื่อ Subprime
นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ นักลงทุนประเภทสถาบัน ไม่ว่าจะเป็น สถาบันการเงินเฉาะกลุ่มธุรกิจสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ธนาคารเจ้าหนี้ กองทุนชั้นนำต่างๆในเครือข่ายของธนาคารพาณิชย์ และ 1 ในนั้นก็คือ กองทุนประกันความเสี่ยง หรือเฮ็ดจ์ฟันด์ทั่วโลก จากอเมริกา ไปยังยุโรป ลงมาถึงเอชีย และสิ้นสุดที่โอเชียเนีย ซึ่งเข้าไปลงทุนในตราสาร CDO ล้วนเทขายทิ้งถ้วนหน้า เก็บเงินคืนเพื่อความปลอดภัย แม้แต่ธนาคารในไทยก็ลงทุนในตราสารหนี้ประเภทนี้เช่นกัน แม้จะไม่มาก แต่ก็ต้องรีบออกมาชี้แจง
เดือนกรกฎาคม เบน เบอร์นันกี้ ประธานเฟด ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า ฟองสบู่แตกในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่สหรัฐ ซึ่งอาจจะต่อเนื่องนั้น อาจทำให้เฟด พร้อมที่จะปรับลดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐได้ทุกเมื่อ แม้จะยังยืนยันอย่างหนักแน่นว่า เศรษฐกิจในภาพรวมของอเมริกาขยายตัวระดับปานกลาง กลางเดือน กรกฎาคม มูดี้ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ และฟิทช์ เรตติ้ง 3 บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือในการลงทุน พร้อมในกันปรับลดตราสารหนี้ทุกประเภท โดยเฉพาะที่นำสินเชื่อประเภท Subprimeไปค้ำประกันไว้ ท่ามกลางดัชนีหุ้นดาวโจนส์พุ่งขึ้นแตะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 14,000 จุด
ปลายเดือนกรกฎาคม เบน เบอร์นันกี้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภาสหรัฐว่า มูลค่าความสูญเสียจากธุรกิจสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ประเภท Subprime อาจมีมากถึงกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 3.3 ล้านล้านบาท แต่ยังย้ำชัดว่า เฟดมีมาตรการปกป้องลูกหนี้สินเชื่อดังกล่าว
เข้าสู่เดือนสิงหาคม รัฐมนตรีคลังเยอรมนี นายปิแอร์ สไตน์บรู๊ค ประกาศมาตรการสำคัญ เข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ไปลงทุนในตราสารหนี้ CDO ซึ่งกำลังขาดสภาพคล่องมี 2 แห่ง คือ ไอเคบี และคอมเมิร์สแบงก์
6 สิงหาคม 50 คณะกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ แบร์เสติร์น แอนด์ โค ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ในสหรัฐ ลงมติปลดประธานร่วมบริหารของบริษัทที่มีชื่อว่า นาย วอร์เรน สเป็กเตอร์ หลังบริษัทต้องประสบกับความเสียหายทางธุรกิจอย่างมาก ในการลงทุนในตราสารหนี้ CDO ประเภท Subprime
ความน่ากลัวจากความเสียหายที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นนิวยอร์ก สหรัฐ ข้ามฝั่งมาถึงตลาดหุ้นสำคัญในยุโรป ไม่ว่าจะเป็น ตลาดหุ้นลอนดอน เยอรมนี รวมถึงฝรั่งเศส และที่สุด ตลาดหุ้นย่านเอเชียก็หนีไม่พ้น พายุสภาพคล่องตึงตัว ที่เกิดขึ้นจากวิกฤติตราสารหนี้สินเชื่อ Subprime สถิติที่ไม่น่าสนใจ แต่ต้องทำใจที่จะได้ยินจึงเกิดขึ้น เช่น ตลาดหุ้นยุโรปทรุดต่ำสุดในรอบ 4 ปี ด้านตลาดหุ้นเอเชียทรุดหนักสุดในรอบ 6 ปี
เหยื่อรายสุดท้าย ก่อนที่ธนาคารกลางทั่วโลก จะเริ่มปฏิบัติการครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ตลาดทุนโลก ธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส บีเอ็นพี พาริบาร์ ตัดสินใจหยุดดำเนินการ และสั่งปิดกองทุนจำนวน 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนพาร์เวสท์ ไดนามิค เอบีเอส กองทุนบีเอ็นพี พาริบาร์ เอบีเอส ยูไรบอร์ และกองทุนบีเอ็นพี พาริบาร์ เอบีเอส ออนเนีย สาเหตุจาก ขาดทุนอย่างหนัก จากการลงทุนในตราสารหนี้ Subprimeในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีมากถึง 700 ล้านเหรียญยูโร หรือประมาณ 3.29 หมื่นล้านบาท
คืนวันนั้น ธนาคารกลางยุโรป ตัดสินใจอย่างเร่งด่วน และเหนือความคาดหมายของตลาด ด้วยการประกาศปฏิบัติการที่มีชื่อว่า ไฟน์-จูนนิ่ง อัดฉีดเงินมูลค่าสูงถึง 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 4.42 ล้านล้านบาท เข้าสู่ตลาดเงิน และตลาดทุนในยุโรป เป็นครั้งแรก เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง นับเป็นมูลค่าสูงสุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ก่อการร้าย 11 กันยายน ในสหรัฐเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ตามติดด้วยเฟดในสหรัฐ รุ่งเช้าต่อเนื่องด้วยแบงก์ชาติญี่ปุ่น และแบงก์ชาติออสเตรเลีย ร่วม 5 วันทำการติดต่อกันที่แบงก์ชาติทั่วโลกเพิ่มสภาพคล่องมากกว่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จนถึงในขณะนี้ มีมากกว่า 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 13.6 ล้านล้านบาท
เมื่อหันมาดูผลกระทบที่เกิดขึ้นในไทยกับวิกฤตสภาพคล่องที่เกิดขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาเปิดเผยหลังจากนั้นไม่นานว่า มีธนาคารพาณิชย์ของไทยรวม 4 แห่ง เช่น ธนาคารไทยธนาคาร ธนาคารกรุงเทพ เข้าไปลงทุนในตราสารหนี้ CDO ราว 715 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 0.6% ของสินทรัพย์ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 4 แห่ง ในจำนวนดังกล่าว มีลงทุนในตราสารหนี้ CDO ประเภทสินเชื่อ Subprimeถึง 0.1%
การตัดสินใจลดดอกเบี้ยกู้ยืม ระหว่างแบงก์ชาติสหรัฐ กับธนาคารพาณิชย์ต่างๆในสหรัฐอย่างเหนือความคาดหมายถึง 0.5% เมื่อวันที่
17 สิงหาคมที่ผ่านมา แม้จะช่วยบรรเทาวิกฤติในระดับหนึ่ง แต่หลายคนในวงการตลาดทุนทั่วโลกกลับมองว่า ระยะยาวแล้ว ยังจะได้เห็นผลแห่งวิกฤติที่รอจังหวะ หลังการปรับดอกเบี้ยส่งบ้านของสินเชื่อ Subprime ที่จะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2551
แม้จะได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤติตราสารหนี้สินเชื่อ Subprime ผู้นำสูงสุดสหรัฐ ย้ำว่า คำถามพื้นฐานที่ถามกันอย่างตรง ๆ ว่า มีเงินอยู่ในระบบของสหรัฐพอหรือไม่ คำตอบ คือ ใช่ นั่นคือ คำตอบจากประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐ ซึ่งกล่าวที่แคนาดาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา สะท้อนได้ว่า มีความมั่นใจเต็มที่กับภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น
นายปีแอร์ สไตน์บลูอิค รัฐมนตรีคลังเยอรมนี ให้สัมภาษณ์อย่างมั่นใจว่า เศรษฐกิจกลุ่มสหภาพยุโรป ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย สำหรับในไทย พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีไทย สั่งกระทรวงการคลังจับตากับปัญหาอย่างใกล้ชิดเมื่อวันศุกร์ที่
17 สิงหาคม 50
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทุกฝ่ายกังวลกันก็คือ จะยังคงมีระเบิดเวลาลูกต่อไปที่รอการปะทุขึ้นอีกหรือไม่ เพราะในช่วงสิ้นปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าจะมีมูลหนี้ของสินเชื่อ Subprime ในสหรัฐฯที่ถึงงวดที่ต้องปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามโครงสร้างสินเชื่อที่กำหนดไว้ และอาจเป็นเหตุให้สัดส่วนการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มสูงขึ้นได้อีก ขณะเดียวกันก็ได้แต่หวังว่าการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบของธนาคารกลางในประเทศต่าง ๆ เพียงพอที่จะทำให้วิกฤติสินเชื่อไม่ลุกลามไปมากกว่านี้
http://www.moneychannel.co.th/Menu6/Cli ... fault.aspx