เปิดโฉมยักษ์ขายยาข้ามชาติ กุมตลาดร.พ.รัฐ-กองทัพ 9 ปีโกย 5 หมื่นล้าน
เปิดตัวยักษ์ขายยาข้ามชาติ กุมตลาดร.พ.รัฐ-กองทัพ 9ปีโกยเงินเข้ากระเป๋ากว่า 5 หมื่นล้าน จับตามติครม.ที่ยกเลิกหน่วยงานรัฐไม่ต้องซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมเป็นอันดับแรก เปิดช่องโกยรายได้อีกอื้อ!
ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีมติอนุมัติตามข้อเสนอของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ให้หน่วยราชการยกเลิกการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ จากองค์การเภสัชกรรมและโรงงานเภสัชกรรมทหาร เป็นอันดับแรก (พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ....) โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ค้าภาคเอกชนได้เข้าร่วมการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด จะทำให้ทางราชการได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้น
เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากว่ามติครม.ดังกล่าว เสมือนใบเบิกทางให้บริษัทยาข้ามชาติเข้ามารับอานิสงส์ไปเต็มๆ
นับจากนี้ต่อไปชีวิตคนไทยจะต้องตกอยู่ในอุ้งมือบริษัทยาข้ามชาติ มิต้องพูดถึงองค์การเภสัชกรรมซึ่งมีแผนสร้างโรงงานผลิตยาขึ้นภายในประเทศและส่งรายได้เข้ารัฐตลอดมา อาจต้องยุบเลิกกิจการในที่สุด
ความจริงก่อนที่ครม.มีมติออกมา โรงพยาบาลและหน่วยงานของรัฐแต่ละแห่งต่างซื้อยาและเวชภัณฑ์จากบริษัทยาข้ามชาติยักษ์ใหญ่อยู่ก่อนแล้ว และข้อมูลที่ไม่มีใครรู้มาก่อนก็คือ"ยานอก"ที่ผู้ป่วยกินตามใบสั่งแพทย์ทุกวันนี้มาจากบริษัทจัดจำหน่ายขาใหญ่เพียง 2 กลุ่มเท่านั้น
@แฉดีทแฮล์มขาใหญ่ 4 หมื่นล.@
ทั้งนี้ "ประชาชาติธุรกิจ" ตรวจสอบพบว่า ในรอบ 9 ปีบริษัทยาข้ามชาติที่เป็นคู้ค้ากับโรงพยาบาลและหน่วยของรัฐรายใหญ่เพียง 4 ราย ปรากฎว่าในจำนวนนี้เป็นบริษัทในกลุ่มดีทแฮล์มถึง 3 บริษัท คือ บริษัท ดีทแฮล์ม จำกัด บริษัท ดีทแฮล์ม โก ลิมิเต็ด และ บริษัท โอลิค (ประเทศไทย) จำกัด อีก 1 บริษัท คือ บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด
จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท ดีทแฮล์ม จำกัด และบริษัท ดีทแฮล์ม แอนด์ โก ลิมิเต็ด เป็นคู่ค้ากับหน่วยงานของรัฐมาตั้งแต่ปี 2542 จนถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2550 ทั้งสองบริษัทขายยาและเวชภัณฑ์ รวม 2,771 สัญญา วงเงินประมาณ 49,981 ล้านบาท
ลอตใหญ่สุดเกิดขึ้นในปี 2549 เป็นการสั่งซื้อ สารเคมี ชุดตรวจ และ วัสดุที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล วงเงิน 37,533 ล้านบาท
และเมื่อจำแนกรายปีมีรายละเอียดดังนี้
ปี 2542 จำนวน 71 สัญญา วงเงิน 309 ล้านบาท ,ปี 2543 จำนวน 225 สัญญา วงเงิน 627.9 ล้านบาท ,ปี 2544 จำนวน 208 สัญญา วงเงิน 669.5 ล้านบาท ,ปี 2545 จำนวน 282 สัญญา วงเงิน 820.1 ล้านบาท , ปี 2546 จำนวน 291 สัญญา วงเงิน 1,377.4 ล้านบาท , ปี 2547 จำนวน 360 สัญญา วงเงิน 1,713.9 ล้านบาท ,ปี 2548 จำนวน 471 สัญญา วงเงิน 2,789.8 ล้านบาท , ปี 2549 จำนวน 552 สัญญา วงเงิน 40,396.7 ล้านบาท และ ปี 2550 ( 7 พ.ย.2550) 311 สัญญา วงเงิน 1,281.3 ล้านบาท
@รพ.เครือกองทัพลูกค้าหลัก@
น่าสังเกตว่า ในจำนวนทั้งหมดเป็นการขายให้แก่หน่วยราชการและโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงกลาโหม ถึง 1,217 สัญญา หรือ คิดเป็น 44% มูลค่า 3,108.6 ล้านบาท รองลงมาเป็นหน่วยราชการและโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 886 สัญญา คิดเป็น 31.9 % มูลค่า 3,500 ล้านบาท
ที่เหลือเป็นโรงพยาบาลและหน่วยราชการอื่น
โรงพยาบาลและหน่วยราชการในสังกัดกระทรวงกลาโหมที่สั่งซื้อมากที่สุด ได้แก่ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลอานันทมหิดล โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ โรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์ โรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี จังหวัดลำปาง โรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โรงพยาบาลค่ายจิระประวัติ โรงพยาบาลจันทรุเบกษา โรงพยาบาลภูมิพล โรงพยาบาลค่ายสุรนารี
การจัดซื้อของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศมูลค่าสูง 10 อันดับแรก ได้แก่ ปี 2549 กรมควบคุมโรค ซื้อยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ ขนาดบรรจุกล่องละ 10 แคปซูล ราคา 768.9448 บาท/10แคปซูล จำนวน 84,812x10 แคปซูล วงเงิน 65.2 ล้านบาท , ปี 2548 กรมควบคุมโรค ซื้อยาโอเซลทามิเวีย ฟอสเฟต วงเงิน 45.3 ล้านบาท
, ปี 2548 กรมควบคุมโรค ซื้อยาโอเซลทามิเวีย ฟอสเฟต วงเงิน 41.8 ล้านบาท ,ปี 2548 กรมควบคุมโรค ซื้อยาเซลทามีเวีย ฟอสเฟต วงเงิน 39.9 ล้านบาท ,ปี 2549 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซื้อยาเสพติดให้โทษ จำนวน 2 รายการ 39.5 ล้านบาท, ปี 2550 กรมการแพทย์ เช่าเครื่องควบคุมการให้สารละลายทางหลอดเลือดดำ จำนวน 100 เครื่อง38.2 ล้านบาท
,ปี 2550 โรงพยาบาลศรีธัญญา ซื้อยาolanzapine 5 mg tablet จำนวน 4640X28 เม็ดและ olanzapine 10 mg tablet จำนวน 4290X28 เม็ด วงเงิน 35.3 ล้านบาท , ปี2548 กรมสุขภาพจิต ซื้อยา olanzapine 5 mg.tablet olanzapine 10 mg.tablet วงเงิน 33.5 ล้านบาท ,ปี 2549กรมสุขภาพจิต 1.RISPERIDONE 1 MG. 2.RISPERIDONE 2 วงเงิน 32.3 ล้านบาท และปี 2549 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซื้อ วัตถุออกฤทธิ์ 1.Methylphenidate sustaim release18 mg จำนวน 7,000 กล่อง 2.Methylphenidate sustaim release 36 mg จำนวน 5,000 กล่อง วงเงินรวม 27.8 ล้านบาท
@โอลิคไม่เบา 2.7 พันล.@
เครือข่ายดีทแฮล์มอีกแห่งคือ บริษัท โอลิค (ประเทศไทย) จำกัด จากการตรวจสอบพบว่าขายยาให้โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และ โรงพยาบาลศิริราช มาตั้งแต่ปี 2542 รวม 8 สัญญา เริ่มต้น 16.1 ล้านบาท ขยายปริมาณเรื่อยมา กระทั่งล่าสุดรวม 560 สัญญา วงเงิน 2,409.2 ล้านบาท แบ่งเป็น
ปี 2543 จำนวน 25 สัญญา วงเงิน 56.9 ล้านบาท ,ปี 2544 จำนวน 22 สัญญา วงเงิน 48.2 ล้านบาท ,ปี 2545 จำนวน 63 สัญญา วงเงิน 166.2 ล้านบาท , ปี 2546 จำนวน 58 สัญญา วงเงิน 245.4 ล้านบาท , ปี 2547 จำนวน 83 สัญญา วงเงิน 309.4 ล้านบาท ,ปี 2548 จำนวน 85 สัญญา วงเงิน 424.2 ล้านบาท, ปี 2549 จำนวน 144 สัญญา วงเงิน 851.8 ล้านบาท และ ปี 2550 (7 พ.ย. 2550) จำนวน 72 สัญญา วงเงิน 301.2 ล้านบาท
ในจำนวนสัญญาทั้งหมด คู่ค้าหลักคือโรงพยาบาลและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม 271 สัญญา คิดเป็น 48.3% มูลค่า 672.3 ล้านบาท โรงพยาบาลและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 183 สัญญา หรือ คิดเป็น 32.6% มูลค่า 534.2 ล้านบาท
ที่เหลือเป็นหน่วยงานอื่น
ถ้ารวมตัวเลข 3 บริษัทในเครือดีทแฮล์ม ได้เท่ากับ 3,331 สัญญา มูลค่า 52,390 ล้านบาท ถือว่ามากกว่ารายอื่นทั้งหมด
@ยักษ์เล็ก"ซิลลิคฯ" 3 พันล.@
ขณะที่ยักษ์ต่างขั้ว บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด เป็นคู่ค้ากับทั้งหมด 834 สัญญา 2,940.7 ล้านบาท แบ่งเป็น
ปี 2542 จำนวน 2 สัญญา วงเงิน 5.3 ล้านบาท โดยเป็นการขายยาและเวชภัณฑ์ให้แก่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ 3.4 ล้านบาท และ ขายเวชภัณฑ์ยา คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี 1.9 ล้านบาท
ปี 2543 จำนวน 14 สัญญา วงเงิน 29.8 ล้านบาท , ปี 2544 จำนวน 31 สัญญา วงเงิน 93.5 ล้านบาท ,ปี 2545 จำนวน 49 สัญญา วงเงิน 129.9 ล้านบาท , ปี 2546 จำนวน 42 สัญญา วงเงิน 139.8 ล้านบาท , ปี 2547 จำนวน 92 สัญญา วงเงิน 292.1 ล้านบาท , ปี 2548 จำนวน 130 สัญญา วงเงิน 463.9 ล้านบาท ,ปี 2549 จำนวน 297 สัญญา วงเงิน 1,195.1 ล้านบาท และ ปี 2550 (1 ม.ค.- 7 พ.ย.) จำนวน 177 สัญญา วงเงิน 591 ล้านบาท
หม้อข้าวใหญ่ยังคงเป็นโรงพยาบาลและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม 423 สัญญา คิดเป็น 50.7% มูลค่า 1,417.3 ล้านบาท รองลงมาเป็นโรงพยาบาลและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 348 สัญญา คิดเป็น 41.7% มูลค่า 1,119.8 ล้านบาท
สัญญาจัดซื้อสูงสุดเกิดขึ้นในปี 2549 ได้แก่ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ซื้อยาทางการแพทย์ 3 รายการ 41.2 ล้านบาท ที่เหลือเป็นคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในวงเงินครั้งละ 31 ล้านบาท 3 ครั้ง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี 1 ครั้ง 30 ล้านบาท โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ 6 รายการ Atorvastatin 20 mg tab, Clopidrogr el 75 mg tab, Octreotide 0.1 mg/ml inj. , Valsarta n 160 mg tab, Enoxaparin Na (แถมอีก 15%), Sevoflurane PEN Liquid 250 ML จำนวน 20.7 ล้านบาท
ถ้ารวมตัวเลข 2 กลุ่มยักษ์ใหญ่ข้างต้นมีมูลค่าถึง 55,330 ล้านบาท
ถือว่ามหาศาลทีเดียว ไม่รวมตลาดยาในโรงพยาบาลเอกชนที่มีมูลค่าไม่น้อยไม่กว่ากัน
@ บ.เมดดิโนวา 6 ปี 672 ล.@
กล่าวสำหรับบริษัท เมดดิโนวา จำกัด บริษัทยาต่างชาติอีกราย
จากการตรวจสอบพบว่าขายยาให้โรงพยาบาลของรัฐมาตั้งแต่ปี 2546 ถึงปัจจุบัน รวม 165 สัญญา วงเงิน 672.1 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นโรงพยาบาลและหน่วยงานในกองทัพ 103 สัญญาคิดเป็น 62.4% มูลค่า 425.7 ล้านบาท แบ่งเป็น
ปี 2546 จำนวน 11 สัญญา วงเงิน 28.6 ล้านบาท เฉพาะกระทรวงกลาโหม 4 สัญญา วงเงิน 7.1 ล้านบาท ,ปี 2547 จำนวน 33 สัญญา วงเงิน 296.1 ล้านบาท
เฉพาะกระทรวงกลาโหม 24 สัญญา วงเงิน 261.4 ล้านบาท ,ปี 2548 จำนวน 31 สัญญา 70.7 ล้านบาท เฉพาะกระทรวงกลาโหม 18 สัญญา วงเงิน 36.6 ล้านบาท ,ปี 2549 จำนวน 62 สัญญา วงเงิน 159.4 ล้านบาท เฉพาะกระทรวงกลาโหม 42 สัญญา วงเงิน 74.8 ล้านบาท และ ปี 2550 ( 1 ม.ค.-7 พ.ย.) จำนวน 28 สัญญา วงเงิน 117.1 ล้านบาท เฉพาะกระทรวงกลาโหม 15 สัญญา วงเงิน 45.6 ล้านบาท
การสั่งซื้อลอตใหญ่สุดเกิดขึ้นในปี 2547 จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จำนวน 195.2 ล้านบาท
ส่วนรายอื่นๆ อาทิ บี.เอ็ล.เอชเทร็ดดิ้ง บริษัท เมดดิจูด จำกัด บริษัท ยู.เอส.สัมมิท (โอเวอร์ซีส์) จำกัด ฯลฯ เป็นเพียงรายย่อย
ฉะนั้น การยกเลิกการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์จากองค์การเภสัชกรรมซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะมีการประกาศใช้บังคับในเร็วๆนี้ ไม่ว่าการพิจารณาของครม.อบู่บนพื้นฐานเหตุผลหรือมีเบื้องหลังจากแรงบีบของใครหรือไม่?
บริษัทยาที่รับอานิสงส์คงไม่พ้นยักษ์ต่างชาติ?
http://matichon.co.th/prachachat/news_d ... 53&catid=1