ประเมินมาตรการควบคุมเงินทุนของแบงก์ชาติ
ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์
[email protected]
มาตรการควบคุมเงินทุนจากต่างประเทศของแบงก์ชาติ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบและต้นทุนอย่างมาก ซึ่งผมเชื่อว่า มาตรการนี้คงเป็นมาตรการชั่วคราว ไม่เกิน 13 อาทิตย์ก็คงยกเลิก (หากไม่คิดว่าเสียหน้า) เพราะมีผลเสียมากกว่าได้ ทั้งก่อให้เกิดความเสียหายชัดเจนและขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคาดว่าแบงก์ชาติคงกำลังรอประเมินผลและศึกษาหามาตรการทางเลือกอื่นๆ
มาตรการควบคุมเงินทุนดังกล่าว ทำไปเพราะต้องการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท เพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งเกินไปจนกระทบกับความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออก โดยที่ไม่ได้ตอบคำถามว่าทำไมถึงมีการเก็งกำไรค่าเงินบาท ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียไม่ได้รับผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐเท่ากับประเทศไทย สาเหตุอันหนึ่งน่าจะมาจากการที่อัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับที่สูงมาเป็นเวลาพอสมควร แต่นั่นคงไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด สาเหตุอีกประการหนึ่งน่าจะมาจาก นักเก็งกำไรเคยได้รับผลกำไรอย่างมหาศาลจากการต่อสู้ค่าเงินในช่วงวิกฤตการเงินปี 2539-2540 โดยแบงก์ชาติมีประวัติชอบต่อสู้ค่าเงินและอุปนิสัยที่ชอบเอาชนะ ซึ่งเข้าทางของนักเก็งกำไรในการวางกับดักเก็งกำไร (Speculation Trap) ทำให้ท้ายที่สุดถูกสถานการณ์จำนนให้ต้องออกมาตรการควบคุมเงินทุน ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่า ทำเพื่อลดการขาดทุนจากการซื้อขายเงินตราต่างประเทศและปรับปรุงฐานะทางการเงิน ณ สิ้นปีให้ดีขึ้น
เราสามารถเปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้นจากมาตรการของแบงก์ชาติ (Action Consequence) กับหลักไวยากรณ์ของภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาเยอรมัน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ ที่มีกฎว่า ประธาน+กริยา+กรรม โดยเฉพาะภาษาเยอรมันจะมีหลักไวยากรณ์ที่แน่นอนตายตัว นั่นคือ Dative และ Akkusative ที่ตามด้วยกรรมตรงและกรรมรอง (ทำให้ต้องผันคำคุณศัพท์ บุพบทและคำนำหน้านาม) เปรียบเทียบกับการกระทำของแบงก์ชาติ ทำให้เกิดกรรมตรงและกรรมรอง กรรมตรงก็คือ ต้นทุนที่เกิดขึ้นกับแบงก์ชาติ ในขณะที่กรรมรองคือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร ตลอดจนนักลงทุน ผู้กู้เงิน ผู้นำเข้า และผู้ที่ต้องพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศ
อาจเปรียบเทียบผลได้ผลเสียของมาตรการการแทรกแซงค่าเงินและควบคุมเงินทุน ได้ดังนี้
ผลได้ ผู้ส่งออกได้รับอานิสงส์จากค่าเงินบาทที่ไม่แข็งค่าไปกว่าเดิมและอ่อนค่าลงจาก 35 บาทเป็น 36 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาของผู้ส่งออกไทยที่ส่งออกสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อราคา (Price-Sensitive) แต่จากการวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า ค่าเงินหรืออัตราแลกเปลี่ยนมีผลต่อเศรษฐกิจไทยไม่มากนัก กล่าวคือเงินบาทแข็งขึ้น 1% มีผลต่อ GDP เพียง 0.01% ในขณะที่ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการส่งออกมากที่สุดคือ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โดยพบว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 1% ของประเทศคู่ค้าของไทย 11 ประเทศ มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยถึง 1% เช่นกัน
ผลเสียที่ 1 (กรรมตรงและผลจากกรรมเก่า) ต้นทุนที่เกิดขึ้นกับแบงก์ชาติ ประการแรก แบงก์ชาติขาดทุนจากการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน (ซื้อดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2549 ไปแล้ว 7.5 หมื่นล้านบาท และยังมีผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากการซื้อขายเงินต่างประเทศที่มีสัญญาจะขายคืนเป็นยอดคงค้าง ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2549 อีก 8.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในส่วนนี้ไม่แน่ชัดว่าขาดทุนเท่าไหร่ แล้วแต่อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ต้องมีการส่งมอบ แต่หากคิดง่ายๆ ว่าเงินบาทแข็งค่าจาก 41 บาท เมื่อตอนต้นปี มาถึงในขณะนี้ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แบงก์ชาติน่าจะขาดทุนดอลลาร์ละ 5 บาท ทำให้ขาดทุนเพิ่มในส่วนนี้อีก 4.35 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับการขาดทุนที่แบงก์ชาติเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทด้วยการซื้อดอลลาร์สหรัฐในตลาด Spot ที่มีการส่งมอบทันที ในช่วงเดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม 2549 อีก 2 หมื่นล้านบาท ทำให้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา แบงก์ชาติมีผลขาดทุนเกิดขึ้นแล้วเกือบ 140,000 ล้านบาท ประการที่สอง เนื่องจากแบงก์ชาติต้องออกพันธบัตร เพื่อมาดูดซับสภาพคล่องเงินบาท เป็นจำนวนเกือบ 1 ล้านล้านบาท ถ้าคิดถัวเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยที่เพียงแค่ 5% ต่อปี แบงก์ชาติจะเกิดต้นทุนเป็นภาระดอกเบี้ยจ่ายปีละ 5 หมื่นล้านบาท ทำให้ยอดต้นทุนที่เกิดกับแบงก์ชาติใน 2 ส่วนนี้เกือบ 2 แสนล้านบาท (140,000+50,000) เพื่อทำให้โปร่งใส งบกำไรขาดทุนและงบดุลของแบงก์ชาติ (ณ สิ้นปีวันที่ 31 ธันวาคม 2549) ควรจะแสดงให้เห็นถึงผลขาดทุนอันเกิดจากการแทรกแซงค่าเงินและต้นทุนจากการออกพันธบัตร อย่าเพียงสะท้อนคร่าวๆ ในงบย่อยหรือในธุรกรรมนอกงบดุล (Off-Balance Sheet Items)
ผลเสียที่ 2 (กรรมรอง) มาจากผลของมาตรการควบคุมเงินทุน ทำให้มูลค่าของตลาดหลักทรัพย์ลดลง คิดเป็นความเสียหายกว่า 4 แสนล้านบาท นอกจากนั้นตลาดพันธบัตรก็ได้รับผลกระทบด้วย ทำให้มูลค่าพันธบัตรทั้งหมดลดลงกว่า 4 หมื่นล้านบาท ทั้งหมดนี้ยังไม่ได้รวมถึงความเสียหายที่ไม่สามารถระบุเป็นตัวเลขได้แน่นอน อันเนื่องมาจากการขายของนักลงทุนและการถูกบังคับขาย (Forced Sale) ในราคาที่ต่ำกว่าเดิมมาก อีกทั้งภาวะซบเซาในตลาดหุ้น ตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตร อันเกิดจากการถอนการลงทุน และขาดเงินทุนใหม่เข้ามา ผลกระทบในทางลบต่อผู้นำเข้าและผู้ที่มีหนี้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไม่สามารถประเมินเป็นตัวเลขความเสียหายได้ชัดเจน
ผลเสียที่ 3 (กรรมรอง) มาจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากในปีหน้าทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนต้องกู้เงินด้วยการออกขายพันธบัตร โดยในส่วนของรัฐบาลคิดเป็นตัวเลขไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและ Re-Finance หนี้เดิม แต่ผลจากมาตรการควบคุมเงินทุน ทำให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 1% ถ้าคิดง่ายๆ ว่าเป็นพันธบัตรอายุ 10 ปี ก็จะทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นถึง 3 หมื่นล้านบาท
ที่น่าเป็นห่วงและไม่ต้องการให้เกิดขึ้นก็คือ ภาวะเงินทุนไหลออก จนทำให้เกิดวิกฤต ทางเลือกที่น่าจะพิจารณาแทนที่การควบคุมเงินทุน ก็คือ
ทางเลือกที่ 1) ช่วยผู้ส่งออกโดยตรง โดยสนับสนุนทางการเงินกับผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจริงๆ จากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น
ทางเลือกที่ 2) เปลี่ยนเป็นการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ เพื่อตรึงอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงิน US ดอลลาร์ ในระดับที่เห็นว่าเหมาะสม ซึ่งเป็นมาตรการชั่วคราว ดังเช่น ประเทศจีนและฮ่องกง
หรือหากไม่ต้องการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ทั้งหมด ก็กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบ Two-Tier Exchange Rate System โดยให้อัตราแลกเปลี่ยนสำหรับชาวต่างชาติที่นำเงินต่างประเทศเข้ามาลงทุนเป็นอัตราคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงในตอนนำเงินเข้าและตอนนำเงินออก
ทางเลือกที่ 3) เก็บภาษีจากกำไรของนักลงทุนต่างประเทศ มาตรการนี้จะต่างจากมาตรการควบคุมเงินทุนที่ต้องวางเงินสำรอง เพราะจะเก็บภาษีจากกำไรที่เกิดขึ้นของนักลงทุนเท่านั้น ซึ่งจะมีผลให้ลดการเก็งกำไรค่าเงินลง โดยที่มีผลกระทบและผลข้างเคียงน้อยกว่าการต้องให้เงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศต้องตั้งสำรอง 30% ซึ่งผมจะได้กล่าวในรายละเอียดในตอนต่อไป
--------------------------------------------------------------------------------