หน้า 2 จากทั้งหมด 2

คู่มือวิเคราะห์ค่าเงินบาท ฉบับชาวบ้าน

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ม.ค. 24, 2008 9:48 am
โดย bsk(มหาชน)
เงินเฟ้อ กับ "มือที่มองไม่เห็น"
มุมเอก : ดร.เอก เศรษฐศาสตร์ [email protected]  
กรุงเทพธุรกิจ  วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2551

หลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา แฟนๆ คอการเมืองทั้งหลายคงจะได้ยินได้ฟังบ่อยเรื่อง "มือที่มองไม่เห็น" บ้างก็ว่า มี "มือที่มองไม่เห็น" กำลังคอยจ้องแจกใบเหลืองใบแดง บ้างก็ว่ามี "มือที่มองไม่เห็น" ทั้งในประเทศและต่างประเทศกำลังคอยออกคำสั่งจัดตั้งรัฐบาล แต่เนื่องจากผมไม่ได้เป็นนักรัฐศาสตร์ เลยตอบไม่ได้ว่ามี "มือที่มองไม่เห็น" ในทางการเมืองดังกล่าวจริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หากเป็นเรื่องในทางเศรษฐกิจ ผมกล้ายืนยันได้ว่ามี "มือที่มองไม่เห็น" อยู่จริง และกำลังทำงานอย่างหนัก จนเป็นเหตุให้เงินเฟ้อในเมืองไทยสูงขึ้นเรื่อยๆ จริงๆ แล้ว ใครก็ตามที่เคยเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์มาบ้าง จะต้องคุ้นเคยกับคำว่า "invisible hand" หรือ "มือที่มองไม่เห็น" อยู่แล้ว เพราะเป็นคำอมตะที่ Adam Smith ซึ่งได้รับการยกย่องว่า เป็นบิดานักเศรษฐศาสตร์ของโลกได้บัญญัติขึ้น เพื่อใช้อธิบายการทำงานของกลไกราคาในตลาด

กล่าวคือ เมื่อไรก็ตาม ที่ตลาดมีความต้องการซื้อสินค้า (Demand) มากกว่าความต้องการขายสินค้า (Supply) "มือที่มองไม่เห็น" จะเข้ามาทำงาน เพื่อปรับความต้องการซื้อให้เท่ากับความต้องการขาย ผ่านการปรับขึ้นราคาสินค้า ซึ่งจะจูงใจให้มีผู้ผลิตอยากผลิตสินค้าออกมาขายมากขึ้น ในขณะที่ผู้ซื้อก็อยากจะซื้อสินค้าน้อยลง จนในที่สุด ปริมาณความต้องการซื้อ และความต้องการขายเกิดความสมดุลเท่าเทียมกัน

นอกจากนั้น หากรัฐบาลพยายามเข้ามาแทรกแซงกลไกราคา ไม่ให้ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น อาจจะด้วยเหตุผลที่จะช่วยผู้บริโภคให้สามารถซื้อสินค้าได้ในราคาถูกกว่าปกติ ผู้ผลิตก็จะผลิตสินค้าออกมาขายน้อยลง จนสินค้าในท้องตลาดมีไม่เพียงพอกับความต้องการซื้อ และในที่สุด ทางการก็ต้องยอมให้ปรับราคาสินค้าสูงขึ้นอยู่ดี มิฉะนั้น สินค้าก็จะขาดตลาด เหมือนกับสินค้าน้ำมันพืชที่หาซื้อค่อนข้างยากตามท้องตลาดในปัจจุบัน

หากนำทฤษฎี "มือที่มองไม่เห็น" นี้ มาใช้วิเคราะห์สถานการณ์เงินเฟ้อของประเทศไทยในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า "invisible hand" นี้ กำลังเริ่มทำงานอย่างเต็มที่ จนทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 1.1 ในเดือนสิงหาคม 2550 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ในเดือนธันวาคมของปีก่อน และมีแนวโน้มว่าจะผลักดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นต่อเนื่องในปี 2551 นี้ เนื่องจาก

1. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยราคาน้ำมันดิบดูไบได้ปรับตัวสูงขึ้นจากเฉลี่ย 68 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในปี 2550 มาอยู่ที่ประมาณ 88 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปัจจุบัน ตามอุปสงค์ความต้องการบริโภคน้ำมันจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีอัตราการเติบโตสูง เช่น จีน อินเดีย รัสเซีย บราซิล ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

ในขณะที่อุปทานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้มาก เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันส่วนใหญ่ มีข้อจำกัดในการเพิ่มกำลังการผลิตที่ใกล้เต็มกำลังการผลิต ทำให้การขุดเจาะดูดน้ำมันเพิ่มเติมทำได้ลำบาก และการจะขยายการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปี ดังนั้น เมื่อความต้องการซื้อมีมากกว่าปริมาณความต้องการขายที่มีอยู่จำกัด "มือที่มองไม่เห็น" จึงจัดการทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยสูงขึ้นตามไปด้วย ผ่านการเพิ่มขึ้นโดยตรงของราคาสินค้าของผู้บริโภคในหมวดพลังงาน ซึ่งมีสัดส่วนถึงประมาณร้อยละ 9 ของรายจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเฉลี่ยของคนไทย และผ่านการเพิ่มขึ้นโดยอ้อมของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในหมวดอื่นๆ ที่มีน้ำมันเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ทำให้ผู้ประกอบการจำต้องปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

2. ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก ในช่วงที่ผ่านมา ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยเฉพาะในยุคน้ำมันแพงที่ทุกประเทศพยายามหันมาผลิตพลังงานทดแทนจากสินค้าเกษตรมากขึ้น ทั้งจากน้ำมันปาล์ม มันสำปะหลัง และข้าวโพด ดังนั้น เมื่อความต้องการของสินค้าเหล่านี้มีมากขึ้น ในขณะที่ปริมาณการผลิตยังเพิ่มขึ้นตามไม่ทัน "มือที่มองไม่เห็น" จึงเริ่มทำงานอีกแล้ว ทำให้ราคาสินค้าเกษตรของทั้งโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคทั้งหลายจึงต้องจำยอมต้องจ่ายราคาสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น และเนื่องจากรายจ่ายในหมวดอาหารนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นรายจ่ายที่มีสัดส่วนสูงสุดของรายจ่ายอุปโภคบริโภคเฉลี่ยของคนทั่วไป ดังนั้น อัตราเงินเฟ้อในประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยจึงเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

3. ในกรณีของประเทศไทย เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการบริหารจัดการควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นไม่ให้สูงจนเกินไป ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 จึงได้กำหนดประเภทของสินค้า และบริการ ที่อยู่ในบัญชีรายการควบคุมราคา โดยแบ่งเป็น 2 บัญชี ได้แก่ บัญชีรายการสินค้าและบริการควบคุม (Controlled List) จำนวน 35 รายการ ที่ผู้ประกอบการจะต้องได้รับมติเห็นชอบจากคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการก่อนขึ้นราคา ถึงจะขึ้นราคาได้ และ บัญชีรายการสินค้าที่ไม่ได้ควบคุม แต่มีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด (Monitored List) จำนวน 200 รายการ

เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าผู้ประกอบการจะมีต้นทุนการประกอบการสูงขึ้น แต่ทางการได้พยายามควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็น ที่อยู่ในรายการควบคุมไม่ให้ปรับราคาสูงขึ้นได้มากนัก อย่างไรก็ตาม ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่า เมื่อใดก็ตาม ที่ทางการเข้ามาควบคุมราคาสินค้าไม่ให้ปรับสูงขึ้นตามกลไกราคา "มือที่มองไม่เห็น" ก็จะทำงานหนักขึ้น จนทำให้เกิดสินค้าขาดตลาด และในที่สุด ทางการก็ต้องปล่อยให้ราคาสูงขึ้นอยู่ดี

หากใครไม่เชื่อเรื่อง "มือที่มองไม่เห็น" ในทางเศรษฐศาสตร์ ก็คอยติดตามดูอัตราเงินเฟ้อของเดือนมกราคม ที่กำลังจะประกาศในอีกไม่กี่วันนี้ก็แล้วกันนะครับ แล้วท่านจะทราบว่ามี "มือที่มองไม่เห็น" จริงๆ