"แกรมมี่" ยักษ์ใหญ่บันเทิงวิกฤติ
เหตุ "อากู๋" ขยายธุรกิจที่ขาดความชำนาญส่งผลกระทบธุรกิจหลัก
ออกเป็นข่าวช็อควงการสื่อสารมวลชนพอควร ต่อกรณีแกรมมี่มีมติปิดคลื่นวิทยุ 94.0 เมกะเฮิร์ตซ์ของกองทัพบกในวันที่ 30 มิถุนายน 2549 โดยทางผู้บริหารนำโดย นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริหาร บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ออกมาชี้แจงว่าธุรกิจส่วนใหญ่ของเครือแกรมมี่ยังมีกำไรและในสิ้นปีนี้รายได้จะไม่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ยกเว้นรายการวิทยุ "โอเพ่น เรดิโอ" คลื่น 94.0 เมกะเฮิร์ตซ์ที่ประสบปัญหาการขาดทุน และต้องยกเลิกรายการภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ ทั้งนี้นโยบายของกลุ่มแกรมมี่ในขณะนี้หากพบว่าธุรกิจใดขาดทุนก็จะมีการตัดขาดทุนทันที เช่นการยกเลิกรายการวิทยุ
โดยการที่บริษัทจะยกเลิกรายการโอเพ่น เรดิโอภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้เนื่องจากในช่วง 4 - 5 เดือนที่ผ่านมาขาดทุนจากการเปิดสถานีดังกล่าว 20 - 30 ล้านบาทเพราะเปิดในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี แต่ก็จะมีการจ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงานตามความเหมาะสม
"เราดูแล้วเห็นว่า ตัวเลขขาดทุนน่ากลัว เพราะตั้งแต่เปิดโอเพ่น เรดิโอมา ขาดทุนไป 20 - 30 ล้านบาทก็น่าจะปิดดีกว่า" นายไพบูลย์ กล่าว
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ทางจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้ตัดสินใจยกเลิกสัญญาที่ทำไว้กับ RNT Television และจะคืนสัมปทานคลื่นความถี่ FM 88 MHz ซึ่งเป็นสถานีวิทยุสำหรับรถประจำทางหรือ Buzz FM ให้กับกรมประชาสัมพันธ์ในวันที่ 1 มิถุนายน 2549หลังมีปัญหาติดตั้งอุปกรณ์และคลื่นความถี่ของสถานีติดขัด
ทั้งนี้เมื่อปี 2548 ที่ผ่านมาจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่มีกำไรสุทธิจำนวน 203.51 ล้านบาทและมีรายได้ 6.31 พันล้านบาท ส่วนการที่แกรมมี่มมีกำไรสุทธิไตรมาส 1 /49 จำนวน 5 แสนบาทนั้นนายไพบูลย์ชี้แจงว่าเป็นผลกระทบมาจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นทำให้ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนกรณีที่ปล่อยกู้ให้กับบริษัทแกรมมี่เข้าไปลงทุนในไต้หวันแต่ถือเป็นผลกระทบที่เป็นตัวเลชทางบัญชีเท่านั้นเพราะหากค่าเงินบาทอ่อนตัวตัวเลขทางบัญชีดังกล่าวก็จะดีขึ้น
ในขณะที่บล.ไทยพาณิชย์ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า รายได้ในไตรมาส 1/49 ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ บ่งชี้ว่าบริษัทสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับบมจ. อ.ส.ม.ท.(MCOT)
ทางด้านรายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยว่า สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1 ประจำปี 2549 ณ สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2549 ของบมจ. จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ นั้นบริษัทมีรายได้รวม จำนวน 1,438.6 ล้านบาท ซึ่งมากกว่ารายได้งวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13 คิดเป็นจำนวนเงิน 163.6 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้รวมของไตรมาสเดียวกันของปี2549 ที่มีจำนวน 1,275.0 ล้านบาท ถึงแม้บริษัทจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเมืองตลอดระยะเวลาของไตรมาส 1 ปี 2549 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งจะให้ความสนใจทางด้านการเมืองมากขึ้น จึงมีผลทำให้มีการกระจายการรับข่าวสารข้อมูลจากสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์เพื่อการบันเทิงลดลงโดยให้ความสำคัญกับการรับข่าวสารข้อมูลทางการเมืองมากขึ้น
ดังนั้นบริษัทจึงปรับแผนการออกอัลบั้มเพลงใหม่ๆของบริษัทในช่วงนี้ อย่างไรก็ตามเนื่องจากกลุ่มบริษัทเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบุคคลและเครือข่ายธุรกิจสื่อที่ครบวงจร ดังนั้นบริษัทจึงมุ่งพัฒนาบุคลากรของบริษัทและขยายการลงทุนใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มบริษัทได้ลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อรองรับช่องทางการขายผ่านระบบ Digital ขยายธุรกิจคาราโอเกะเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บลิขสิทธิ์ ขยายแนวเพลงในรูปแบบต่างๆ ให้หลากหลายมากขึ้น ขยายธุรกิจสื่อในด้านธุรกิจจัดกิจกรรมทางการตลาด และคลื่นวิทยุสถานีข่าว และลงทุนในสื่อหนังสือพิมพ์ ซึ่งการวางรากฐานดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มบริษัทในระยะยาว
อย่างไรก็ตามโดยสรุปกำไรของบริษัทและบริษัทย่อย สำหรับไตรมาส 1 สิ้นสุด วันที่ 31 มีนาคม 2549 มีจำนวน 0.5 ล้านบาท ลดลงจำนวน 44.6 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2548 ที่มีกำไรสุทธิจำนวน 45.21 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดในแต่ละกลุ่มธุรกิจดังนี้
รายได้จากธุรกิจเพลงเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เป็นผลมาจากการเพิ่มรายได้จากยอดขายเพลงทั้งผ่านช่องทางปกติและผ่านธุรกิจ Digital รวมถึงการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงของกลุ่มบริษัทที่เพิ่มขึ้น ซึ่งธุรกิจดังกล่าวเป็นธุรกิจที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูง มีผลทำให้กำไรในไตรมาส 1 ปี 2549 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนถึง 34.0 ล้านบาท นอกจากนั้นบริษัทยังมีการพัฒนาหน่วยงานบริหารศิลปิน โดยเป็นตัวแทนในการจัดหาศิลปินที่ได้รับความนิยมจากต่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาระบบการบริหารและจัดสรรงานให้กับศิลปินไทย ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงนำมาซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้น และมีผลทำให้กำไรในหน่วยงานนี้เพิ่มขึ้นกว่ารอบระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน 10.8 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามสำหรับธุรกิจที่มีรายได้ลดลงนั้นประกอบไปด้วย ธุรกิจภาพยนตร์ มีรายได้ลดลงเมื่อเทียบกับรอบระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน สืบเนื่องจากในไตรมาสที่1 ปี 2549 ไม่มีการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ไปต่างประเทศ ในขณะที่ภาพยนตร์ใหม่ที่ออกฉายมีเพียง 1 เรื่องเช่นเดียวกับไตรมาส 1 ปี 2548 แต่มีอัตรากำไรที่ต่ำกว่ามีผลทำให้กำไรของธุรกิจภาพยนตร์ลดลงจากปีก่อน 30.5 ล้านบาท นอกจากนั้นผลตอบแทนจากธุรกิจสื่อลดลง อันเนื่องมาจากธุรกิจวิทยุมีรายได้ลดลง และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดตั้งคลื่นวิทยุสถานีข่าว ซึ่งเป็นคลื่นวิทยุใหม่ของกลุ่มบริษัท ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีผลตอบแทนจากธุรกิจบริการจัดกิจกรรมทางการตลาดผ่านการลงทุนในกลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ อีเว้นท์ เอเจนซี่ จำกัด (มหาชน) ในอัตราร้อยละ 50 เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2548 เพิ่มขึ้นก็ตาม แต่จากการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจวิทยุ ทำให้บริษัทมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมากขึ้น มีผลทำให้ผลตอบแทนจากธุรกิจสื่อลดลง 30.5 ล้านบาท นอกจากนั้นบริษัทยังมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินให้กู้ยืมแก่บริษัทย่อยในต่างประเทศจำนวน 20 ล้านบาท รวมทั้งยังมีมีดอกเบี้ยจ่ายจากเงินกู้เพื่อการลงทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 16 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมานั้นบริษัทได้มีการอนุมัติให้จ่ายเงินปันผลจากผลประกอบการของบริษัท ประจำปี 2548 ในอัตรารวมหุ้นละ 0.35 บาท คิดเป็นจำนวนเงินรวม 171.5 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2548 ในอัตราหุ้นละ 0.20 บาท รวมเป็นจำนวนเงิน 98 ล้านบาท ในขณะที่เงินปันผลที่จะจ่ายเพิ่มจากผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังของปี 2548 ในอัตราหุ้นละ 0.15 บาท รวมเป็นเงิน 73.5 ล้านบาทนั้นกำหนดจ่ายวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 ให้แก่ผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิ์ได้รับเงินปันผลตามที่ปรากฏรายชื่อ ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2549 ซึ่งเป็นวันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อสิทธิ์ในการรับเงินปันผล
นอกจากนั้นบมจ. จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ยังมีการลงทุนในบริษัท ลักษ์มิวสิค 999 จำกัด ในสัดส่วน 50% จากทุนจดทะเบียนจำนวน 20 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อขยายธุรกิจเพลง สำหรับสัดส่วนผู้ถือหุ้นลักษ์มิวสิค 999 ประกอบไปด้วย บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ 50% นายเกียรติศักดิ์ อุดมนาค สัดส่วน 30% นายชัชวาล ปุกหุต สัดส่วน 20% และอื่นๆ 7%
อย่างไรก็ตามหากย้อนอดีตธุรกิจที่ผ่านมาของบริษัทฯจะเห็นได้ว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องมาตลอด มีทั้งที่ประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกันก็ล้มเหลวให้เห็นมาตลอด
"ฟอร์ มี" จุดเริ่มต้นเดินเกมพลาด
ตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษในการปลุกปั้นอาณาจักรแกรมมี่ โดยมีจุดเริ่มจากธุรกิจเพลง กระทั่งแผ่กิ่งก้านสาขาเข้าครอบคลุมในธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์อย่างครบวงจรของ "อากู๋" ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม นั้น ต้องไม่ปฏิเสธว่าล้วนมาจากประสบการณ์และความเชี่ยวกรากในธุรกิจบันเทิงเมืองไทยชนิดหาตัวจับได้ยาก ตรงกันข้ามกับการแตกไลน์ธุรกิจใหม่ ที่ถึงแม้ อากู๋ เอง จะมองตลาดได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ตลอดจนมีความพร้อมทั้งในเรื่องเงินทุนและบุคลากรอยู่เป็นจำนวนมาก ทว่า สิ่งที่ต้องยอมรับอีกเช่นกันนั่นก็คือ การไม่มีประสบการณ์ตรงและรู้ไม่เท่าทันต่อกลเกมตลาดเฉพาะด้าน ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจในเนื้อแท้ของธุรกิจ สุดท้ายผลการดำเนินงานที่ออกมาจึงล้มหัวคะมำอย่างไม่เป็นท่า
การรุกคืบเข้าสู่ธุรกิจบะหมี่สำเร็จรูปในปี 45 ที่มีมูลค่ารวมกว่าหมื่นล้านบาท ทั้งยังมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10% ในแต่ละปี ที่สำคัญจำนวนผู้เล่นในตลาดมีไม่มาก เพราะมีเพียงแบรนด์มาม่า ไวไว และยำยำ สามยี่ห้อหลักเท่านั้นที่ขับเคี่ยวกันอยู่ ที่เหลือจะเป็นไม้ประดับอีกไม่เกิน 5 ยี่ห้อ องค์ประกอบเหล่านี้ล้วนเป็นแรงดึงดูดให้ อากู๋ ตัดสินใจกระโดดเข้าร่วมวงไพบูลย์
ประการสำคัญการมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับ สหพัฒน์ กรุ๊ป กลุ่มธุรกิจที่นำพามาม่ายึดหัวหาดตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้มากกว่าครึ่ง ซึ่ง อากู๋ เคยเป็นศิษย์ก้นกุฏิของนายเทียม โชควัฒนา ผู้ก่อตั้ง ทั้งยังประสานงานใกล้ชิดร่วมกันสมัยทำงานอยู่ที่บริษัท ฟาร์อีส แอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด บริษัทเอเจนซี่อินเฮาส์ในเครือสหพัฒน์ ในช่วงเริ่มต้นชีวิตการทำงาน ซึ่งก็เข้าไปมีบทบาทในการปลุกปั้นแบรนด์มาม่า ให้เป็นที่รู้จักในยุคเริ่มแรก
จากปัจจัยแวดล้อมดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการทุ่มเม็ดเงินจำนวน 200 ล้านบาท ในการจัดตั้งบริษัท 4 พีเพิล ฟูดส์ จำกัด นำเสนอบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์น้องใหม่ "ฟอร์ มี" พร้อมดึงผู้มีพระคุณกลุ่มสหพัฒน์เข้ามาร่วมถือหุ้นร้อยละ 40 ศิลปินในสังกัดร้อยละ 20 และที่เหลือเป็นสัดส่วนหุ้นของอากู๋
ขณะที่ แนวนโยบายในการแจ้งเกิด ฟอร์ มี นั้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วน กล่าวคือ การผลิตและจัดจำหน่าย จะเป็นความรับผิดชอบของสหพัฒน์ ส่วนแนวทางการสร้างแบรนด์ อากู๋ จะเป็นฝ่ายดูแล ในช่วงเวลานั้นจึงได้เห็นการนำเอาศิลปิน ดารา ในสังกัด โดยเฉพาะกลุ่มที่ร่วมลงขัน ไม่ว่าจะเป็น เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย, มอส ปฏิณาน, ไมค์ ภิรมย์พร หรือศิริพร อำไพพงษ์ มาร่วมสร้างสีสันในเอ็มวีโฆษณาทางโทรทัศน์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ "บะหมี่ของพวกเรา" ที่เน้นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในทุกภูมิภาค
แต่แล้วการเสนอตัวเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ของ ฟอร์มี ก็มีอันต้องสิ้นสุดลง ภายในระยะเวลาราวครึ่งปีเท่านั้นหลังการเปิดตัว เนื่องเพราะข้อจำกัดในการมอบหมายให้สหพัฒนฯ เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่าย ที่ไม่สามารถกระจายสินค้าได้อย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ จะเป็นเพราะโดยเจตนาหรือผลิตตามออเดอร์ไม่ทันการณ์ก็ตาม แต่คนพันธุ์บู๊สไตล์ อากู๋ ก็มองเห็นอนาคตแล้วว่า คงจะร่วงมากกว่ารอด จึงตัดสินใจขายหุ้นที่ถือครองอยู่พร้อมศิลปินรวม 60% ให้กับกลุ่มสหพัฒนฯทั้งหมด ปิดฉากเส้นทางของบะหมี่น้องใหม่ที่มีอายุการตลาดสั้นที่สุดในช่วงต้นปี 46 ลงอย่างถาวร
"ยู สตาร์ พลังดาราไร้แรงดึงดูด"
หลังจากอกหักในการปั้น ฟอร์ มี ได้ไม่นาน ระยะเวลาไล่เลี่ยกันนั้นเอง แวดวงธุรกิจขายตรง ก็ต้องสั่นสะเทือน เมื่อ อากู๋ ควักเงินสด 400 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นทุนเปิดธุรกิจขายตรงชั้นเดียว (Single Level Marketing : SLM) ในชื่อ "U-Star" พร้อมกับลั่นวาจาว่าจะถล่มยักษ์ใหญ่อันดับ 2 คือ เอวอน ให้ได้ ก่อนจะเข้าชิงดำโค่นยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งคือ มิสทีน ที่อยู่วงการขายตรงชั้นเดียวมานาน ส่งผลให้นายดนัย ดีโรจน์วงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเบทเตอร์เวย์ ( ประเทศไทย ) จำกัด เจ้าของสโลแกน "มิสทีนมาแล้วคะ" ต้องลุกขึ้นมาต่อกรกับยู สตาร์อย่างรุนแรงและหนักหน่วง เพื่อสกัดความร้อนแรง
เพราะยู สตาร์ ประเดิมการเปิดธุรกิจขายตรงให้สาธารณชนรับรู้อย่างหวือหวา ด้วยการดึงเบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ , จินตรา พูนลาภ , นัท มีเรีย , แคททรียา อิงลิช มาพรีเซ็นเตอร์เปิดตัวผลิตภัณฑ์ พร้อมรีครูชสมาชิกมาจากหลายบริษัท ภายใต้โครงสร้างผลตอบแทนและอินเซนทีฟจูงใจในระดับสูง ขณะเดียวกันยังดึงนักการเมืองหญิงเก่ง "ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์" เข้ามานั่งแท่นบริหาร ถือเป็นอีกหนึ่งแม่เหล็กที่เสริมแรงดูดสมาชิกเข้าสังกัดให้ทรงพลังมากยิ่งขึ้น
แต่ ลดาวัลลิ์ ก็เข้ามาร่วมขบวนได้ไม่เท่าไรก็มีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารคนใหม่มาเป็น " คุณธิติมา โอภาสวงศ์การ " ซึ่งเป็นบุคลกรที่คลุกคลีอยู่แต่ในวงการเอเจนซี่ ทั้งที่บริษัทลินตาส , ซาทชิแอนด์ซาทชิ มาก่อน เนื่องจากเป็นนโยบายของอากู๋ที่ต้องการดึงคนนอกที่ไม่ใช่วงการขายตรงมานั่งบริหาร ส่วนเหตุผลที่ลดาวัลลิ์ ต้องออกจากบริษัทไปก่อนเวลาอันควร เพราะต้องการลงไปเล่นการเมืองอีกครั้ง และ เมื่อเวลาผ่านไป 5-6 เดือน ธิติมา ก็ได้ยื่นใบลาออกจากยู สตาร์ ด้วยเหตุผลปัญหาด้านสุขภาพไม่เอื้ออำนวย สุดท้ายตำแหน่งผู้นำทัพ ก็ต้องตกไปเป็นของ "เซายู ดัลกริช" อดีตกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหไดเร็กชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ SDI บริษัทขายตรงในเครือสหพัฒน์
กระทั่งเมื่อปลายปี 48 ที่ผ่านมา เซายู ก็ยื่นใบลาออกจากยู สตาร์ แล้วบินออกไปนอกประเทศด้วยเหตุผลทำยอดขายให้ยู สตาร์ ได้ไม่ตรงตามเป้าที่วางไว้ รวมทั้งปัญหาภายในองค์กรหลาย ๆ อย่าง สุดท้ายก็เหลือแต่ "ภัทรา ทรัพยะประภา" ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ขึ้นมารับผิดชอบงานแทน และ ล่าสุดก็ได้ลาออกไปเนื่องจากมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ส่งผลให้อากู๋ ต้องลงมากำกับดูแลแทน เพราะยังหาบุคลกรมารับผิดชอบนั่งเป็นเอ็มดีไม่ได้
อย่างไรก็ดี กระแสความแรงของยู สตาร์ เริ่มแผ่วลง ตั้งแต่ช่วงที่คุณลดาวัลลิ์ ได้ลาออก จากนั้นก็ เงียบหายเข้าไปในกลีบเมฆไม่แรงเหมือนช่วงแรก ที่มีการประกาศตัวว่าจะโค่นยักษ์ใหญ่ขายตรงอันดับ 2 เหตุที่เป็นเช่นนั้นส่วนหนึ่งมาจากปัญหาภายในองค์กรซึ่งมีความไม่ลงตัวทั้งตัวแม่ทีมและตัวผู้บริหาร
ไปไม่ถึงฝั่งฝัน "ผู้ทรงอิทธิพลสื่อ"
เส้นทางการขับเคลื่อนธุรกิจในช่วงหลัง โดยเฉพาะ 1-2 ปีมานี้ ดูเหมือน อากู๋ จะยิ่งสับสนกับบทบาทระหว่างความเป็นนักธุรกิจและในฐานะนายทุนอยู่ไม่น้อย ยิ่งกับการอิงแอบไปกับการเมืองพรรคไทยรักไทย ที่ว่ากันว่าความสัมพันธ์ระหว่างอากู๋กับรักษาการนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร สนิทแนบแน่นในระดับมองตารู้ใจ จะให้สนับสนุนอุ้มชูหรือนำตัวเองเป็นบันไดพาดให้รักษาการนายกฯลง เมื่อคราวพลั้งพลาดได้อยู่บ่อยครั้ง
อย่างน้อยก็สองหนในรอบปีที่แล้วที่ อากู๋ ตกเป็นที่วิพากษ์ของสังคมทั้งๆที่ไม่น่าจะมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องตั้งแต่แรก กรณีกระแสข่าวการซื้อสโมสร "ลิเวอร์พูล" สโมสรชั้นแนวหน้าของโลก ที่รักษาการนายกฯเอ่ยปากต้องการควักเงินส่วนตัวนับพันล้านเข้าไปถือหุ้นใหญ่ เพื่อหวังจะให้เป็นเรื่องทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ กลบมรสุมการเมืองที่ตัวเองถูกเล่นงานอยู่หลายเรื่อง เมื่อชนวนติดชนิดบานปลาย จนกลายเป็นเรื่องระดับชาติ โยนกลองไปถึงขั้นจะให้สมาคมฟุตบอลเข้ามามีเอี่ยว สุดท้าย อากู๋ ก็ทะลุกลางปล้องอาสาเข้ามารับเรื่องศึกษาถึงความเป็นไปได้ สุดท้ายก็กลายเป็นเรื่องโอละพ่อ
ฮือฮาไม่แพ้กัน ที่แกรมมี่ กรุ๊ป ของอากู๋ ขันอาสาเข้ารับงานด้วยความเต็มใจ กับการเปลี่ยนทำนองเพลงชาติไทย ที่คุ้นหูกันมานานหลายชั่วคน ให้เป็นทำนองใหม่ที่ทีมงานสร้างสรรค์ในเครือได้จัดทำขึ้นใหม่ถึง 6 เวอร์ชั่น โดยมีนักร้องคู่บุญ ธงไชย เมคอินไตย เป็นผู้ขับขาน ซึ่งก็เป็นไปตามคาดที่แกรมมี่ ได้รับก้อนอิฐมากกว่าดอกไม้ เนื่องเพราะอารมณ์ความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในสังคม ย่อมรับไม่ได้ต่อการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เข้าท่า แม้อากู๋จะออกโรงว่าเป็นเรื่องของแกรมมี่กับทางกองทัพบก แต่ก็ต้องไม่ปฏิเสธว่าได้รับไฟเขียวจากคนโตในรัฐบาลเช่นเดียวกัน และแน่นอนว่างานนี้ตัวอากู๋เองก็เสียรังวัดไปไม่น้อย
การเป็นคนคิดใหญ่และกล้าได้กล้าเสียของ อากู๋ ยังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ ยังเถลิดไปไกลถึงขั้น จะยกระดับองค์กรให้เป็นผู้ทรงอิทธิพลในวงการสื่ออย่างแท้จริง หลังจากเครือข่ายธุรกิจที่มีอยู่ยังพร่องไปแต่เพียงธุรกิจหนังสือพิมพ์ เท่านั้น ด้วยความมั่นใจในขีดความสามารถของตัวเองเต็มเปี่ยม ทั้งยังเป็นความใฝ่ฝันดั้งเดิม เพราะศึกษาจบคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาการหนังสือพิมพ์ จากรั้วจามจุรี ฉะนั้นแล้วจึงเชื่อมั่นว่าในชีวิตนี้ต้องประกอบธุรกิจหนังสือพิมพ์อย่างจริงจัง จะด้วยแนวทางการร่วมทุนหรือเปิดหัวหนังสือพิมพ์ใหม่ก็ตามที
ก้าวแรกในการรุกคืบเข้าสู่ธุรกิจที่ว่า คือ การเข้าไปถือหุ้นในกลุ่มโพสต์ พลับลิสซิ่ง ที่มีหนังสือพิมพ์อยู่ 2 หัว คือ บางกอกโพสต์และโพสต์ทูเดย์ ในสัดส่วนกว่า 20% จากนั้นก็ดอดเข้าซื้อหุ้นแบบไม่เป็นมิตรของกลุ่ม "มติชน" ซึ่งมีหนังสือพิมพ์ในเครือมากถึง 4 หัว คือ มติชนรายวัน, มติชนรายสัปดาห์, ข่าวสด และประชาชาติธุรกิจ ในสัดส่วนราว 32% ซึ่งจะเท่ากับการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ อากู๋ จะถูกตั้งแง่จากหลายฝ่ายว่าวิธีการปฏิบัติในลักษณะนี้เข้าข่าย เป็นการ "ฮุบกิจการสื่อ" ที่ถูกจัดเป็นองค์กรสื่อคุณภาพแห่งหนึ่งของไทย จึงเกิดแรงต้านจากหลายฝ่ายในสังคม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นักวิชาการ และคนชั้นกลาง ออกโรงประณามดีลดังกล่าวอย่างไม่มีชิ้นดี สุดท้าย อากู๋ จำต้องถอยเพราะทนแรงกดดันไม่ไหว ด้วยการลดสัดส่วนการถือครองหุ้นเหลือเพียง 20% พร้อมกับขายหุ้นอีก 12% กลับคืนไปให้กับกลุ่มผู้บริหารมติชนให้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 36%
เมื่อการสานฝันเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในยุทธจักรสื่อหนังสือพิมพ์ไม่สมบูรณ์ การเลี่ยงมารุกในสื่อวิทยุ ซึ่งเป็นช่องทางถนัดก็เป็นทางเลือกในอันดับต่อมา โดยได้เทเงินลงทุนเพิ่มอีก 150 ล้านบาท หันมาปั้นสถานีข่าว "Open Radio" คลื่น 94.0 ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.เป็นต้นมา เนื่องเพราะเล็งเห็นถึงแนวโน้มของคลื่นข่าวที่กำลังมาแรง ประกอบกับการได้ พิรุณ ฉัตรวินิจกุล เพื่อนรักสมัยเรียนอยู่จุฬาลงกรณ์ฯ เข้ามาเป็นแนวร่วม หลังจากที่ พิรุณ ได้ฟอร์มทีมงาน คนข่าวมืออาชีพ ได้อย่างพร้อมสรรพ ภายใต้การเปิดบริษัท ไทยเที่ยงธรรม จำกัด จัดตั้งสถานี ไทยไทม์นิวส์ คอยท่ารองรับไว้ก่อนหน้า พร้อมประกาศจุดยืนในการทำงานว่าจะปลุกปั้นสถานีให้เป็น รอยเตอร์ เมืองไทยในอนาคตอันใกล้
และทันทีที่ โอเพ่น เรดิโอ เริ่มออกอากาศตั้งแต่ต้นปีเรื่อยมา ก็เพิ่มสีสันให้คลื่นข่าวคึกคักขึ้นทันตาเห็น ด้วยแนวนโยบายการรายงานข่าวแบบวิเคราะห์เจาะลึก วิพากษ์วิจารณ์ตรงไปตรงมา พร้อมจัดวางทัพนักข่าวภาคสนามครอบคลุมในทุกพื้นที่ทั่วไทย เรียกได้ว่า 94.0 เป็นคลื่นข่าวดาวรุ่งที่มาแรง ชนิดที่คอการเมืองต้องปรับล็อคคลื่นติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์การแบ่งขั้วการเมืองออกเป็น 2 ฝ่ายเดือนก.พ.-มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ โอเพ่น เรดิโอ ได้รายงานและเกาะติดสถานการณ์ กระทั่งสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง
การโต้ตอบของอำนาจรัฐที่ขึ้นชื่อในเรื่องการแทรกแซงสื่อต่อสถานีแห่งนี้มีมาโดยตลอดเช่นกัน ทั้งการสั่งปลดผู้ดำเนินรายการนักข่าวอาวุโส ยุวดี ธัญญศิริ หรือการดูดเสียงของวิทยากรร่วมรายการ และล่าสุดคือการมีคำสั่งจากคนโตพรรคไทยรักไทย ที่สนิทกับอากู๋ให้เลิกทำคลื่นข่าว ซึ่งเป็นหอกข้างแคร่รัฐบาลลงเสีย และการปฏิบัติก็เป็นไปตามคำร้องขอในทันที เมื่อคลื่น 94.0 จะเปลี่ยนจากการเป็นสถานีข่าว ไปเป็นคลื่นบันเทิง เช่นเดียวกับอีก 4 คลื่นในมือของแกรมมี่ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ศกนี้เป็นต้นไป
"ตลอดระยะเวลา 5 เดือนที่ทำรายการ "โอเพ่น เรดิโอ" ในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.เราไม่สามารถขายพื้นที่โฆษณาได้เลย ส่วนในช่วงหลังเราสามารถขายพื้นที่โฆษณาได้เพียง 10-20% เท่านั้น รวมถึงการโดนตัดงบโฆษณาด้วย และการลงทุนในการผลิตรายการก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง เนื่องจากการผลิตรายการข่าวจะมีการลงทุนที่สูงกว่าการผลิตรายการบันเทิงมาก ไม่ว่าจะเป็นการเช่าพื้นที่ การจ้างบุคคลากร หรือเครื่องมือต่าง ๆ ส่วนเรื่องของสำนักข่าวไทยไทม์ที่ปิดตัวลงนั้น สาเหตุมาจากพิษเศรษฐกิจจริง ๆไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงอย่างที่เป็นข่าว และการปิดลงลงก็ถือเป็นเรื่องสมเหตุสมผล เพราะเราไม่มีความถนัดในการผลิตรายการประเภทนี้ เพราะที่ผ่านมาก็ผลิตแต่รายการบันเทิง" นางสายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา กล่าว
นายพิรุณ ฉัตรวนิชกุล ผู้อำนวยการสำนักข่าวไทยไทม์ และโปรแกรมไดเร็กเตอร์ รายการโอเพ่น เรดิโอ กล่าวว่า ได้เข้ามาทำงานร่วมกับบริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด ซึ่งทางไทยไทม์ได้บริหารในส่วนของเนื้อหา ซึ่งก็ตรงตามอุดมคติและความคิดอย่างที่ต้องการ เหตุนี้จึงได้มีการทำอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการจ้างบุคลากรที่มีประสบการณ์และความสามารถ ร่วมถึงผู้สื่อข่าวภาคสนาม เพื่อให้ข่าวที่ออกมานั้นมีคุณภาพ เพราะไม่ต้องการให้ข่าวในคลื่น 94 เป็นเพียงรายการข่าวที่เป็นการเล่าข่าวที่เอามาจากทางอินเตอร์เน็ตหรือหนังสือพิมพ์เพียงอย่างเดียว "ที่มีข่าวลงว่ารายการ โอเพ่น เรดิโอ มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างรุนแรงนั้น ที่จริงไม่ใช่ เพราะหลักการทำงานของบริษัท คือ การนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา อย่างกรณีที่ฝ่ายค้านมีข่าวแถลงหรือทางฝ่ายรัฐบาลจะมีการแถลง เราก็มีการนำเสนอกันอย่างเต็มที่ หรือการที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีปัญหาขัดแย้งกัน เราก็มีการเปิดให้ทั้ง 2 ฝ่ายมาทำการชี้แจง ซึ่งถ้าเป็นการโดนปิด เพราะเกิดจากการวิพากษ์วิจารณ์ รัฐบาลนั้นไม่ใช่ แต่ที่ปิดเพราะเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจจริงๆ"
http://www.siamturakij.com/book/index.p ... ew&id=5701